เขายอดราบใต้สมุทร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Guyot)
เขายอดราบใต้สมุทร

เขายอดราบใต้สมุทร (อังกฤษ: guyot) คือภูเขาใต้ทะเลชนิดหนึ่งมีลักษณะพิเศษคือบนยอดเขานั้นจะเป็นพื้นที่ราบเรียบมักพบในมหาสมุทรที่มีความลึก 1,200-1,800 เมตรบางแห่งอาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 10 กิโลเมตร[1] มีเขายอดราบใต้สมุทรกว่า 283 แห่งในทะเลทั่วโลกโดยแบ่งเป็นมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือมี 119 แปซิฟิกใต้ 77 แห่ง มหาสมุทรแอตแลนติกใต้ 43 แห่ง มหาสมุทรอินเดีย 28 แห่ง มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ 8 แห่ง มหาสมุทรใต้ 6 แห่งและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 2 แห่งส่วนในมหาสมุทรอาร์กติกไม่มีการค้นพบ เขายอดราบใต้สมุทรมีพื้นที่เฉลี่ยรวมประมาณ 3,313 ตารางกิโลเมตร[2]

คำว่าเขายอดราบใต้สมุทรในภาษาอังกฤษได้มาจากชื่อของอาร์โนลด์ เฮนรี กีโอ (Arnold Henry Guyot) นักภูมิศาสตร์และนักธรณีวิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายสวิส

เขายอดราบใต้สมุทรมักเกิดจากการกัดเซาะของกระแสน้ำ การพังทลายของแนวหินปะการัง หรืออาจเป็นภูเขาไฟใต้ทะเลที่ดับไปแล้วหรือเกาะที่จมลงสู่ทะเล โดยพบภูเขาลักษณะนี้มากในมหาสมุทรแปซิฟิก ความสูงชันของเขายอดราบใต้สมุทรจะมีความลาดเอียง 20 องศา และสูง 914 เมตร แต่ก็มีบางส่วนที่สูงไม่ถึง 91 เมตร[3] แม้เขายอดราบใต้สมุทรส่วนมากจะมีอายุหลายล้านปี แต่จากการศึกษาก็ค้นพบเขายอดราบใต้สมุทรที่เพิ่งเกิดขึ้นเพียงช่วง 1 ล้านปีด้วยเช่นกันในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก ประเทศแคนาดา ประเทศโคลอมเบีย และหมู่เกาะบริเตน

เมื่อ พ.ศ. 2488 เขายอดราบใต้สมุทรได้เป็นที่รู้จักโดยแฮร์รี แฮมมอนด์ เฮสส์ผู้รวบรวมข้อมูลโดยใช้เครื่องหยั่งน้ำบนเรือที่เขาสั่งไว้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[4]ซึ่งข้อมูลที่เขาได้มาแสดงให้เห็นว่าภูเขาใต้ทะเลบางลูกมียอดที่มีลักษณะแบนราบ เขาจึงเรียกภูเขาลักษณะนี้ว่ากูโยต์เพราะภูเขานี้มีลักษณะคล้ายกูโยต์ฮอล์ซึ่งเป็นอาคารเกี่ยวกับชีววิทยาและธรณีวิทยาที่มีหลังคาแบนในมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันและตั้งชื่อตามภูมิศาสตร์ในศตวรรษที่ 19 นามว่าอาร์โนลด์ เฮนรี กีโอ[5]เขาได้ตั้งสมุมติฐานว่าพวกมันเคยเป็นเกาะภูเขาไฟแต่ถูกทำยอดให้ราบด้วยการกระทำของคลื่นและจมลงใต้ระดับน้ำทะเลซึ่งสมุมติฐานนี้นำมาใช้เพื่อช่วยเสริมทฤษฎีการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. Guyot Encyclopædia Britannica Online, 2010. Retrieved January 14, 2010.
  2. Harris, P.T., MacMillan-Lawler, M., Rupp, J., Baker, E.K., 2014. Geomorphology of the oceans. Marine Geology 352, 4-24.
  3. "Seamount and guyot". Access Science. McGraw Hill Education. สืบค้นเมื่อ 2 February 2016.
  4. 4.0 4.1 Bryson, Bill. A Short History of Nearly Everything. New York: Broadway, 2003. pg. 178
  5. http://etcweb.princeton.edu/CampusWWW/Companion/guyot_arnold.html เก็บถาวร 2018-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Guyot, Arnold in A Princeton Companion