กอล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Gallia Comata)
แผนที่ของกอลราว 100 ปีก่อนคริสต์ศักราช แสดงให้เห็นตำแหน่งสัมพันธ์กับเผ่าชนเคลต์

กอล (อังกฤษ: Gaul) หรือ กัลลิอา (ละติน: Gallia)[1] เป็นภูมิภาคหนึ่งของยุโรปตะวันตกที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกโดยชาวโรมัน[2] เป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าชนเคลต์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 494,000 ตารางกิโลเมตร (191,000 ตารางไมล์)[3] ได้แก่พื้นที่ที่ในปัจจุบันคือประเทศฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก เบลเยียม ส่วนใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ และบางส่วนของอิตาลีตอนเหนือ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี (โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไรน์) ตามคำบอกเล่าของจูเลียส ซีซาร์ กอลแบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ กัลลิอาแก็ลติกา, กัลลิอาแบ็ลกิกา และกัลลิอาอากวีตานิอา ในทางโบราณคดี ชาวกอลเป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมลาแตนซึ่งแผ่ขยายไปทั่วดินแดนกอล และไปทางตะวันออกถึงไรติอา, โนริกูง, ปันนอนิอา และแกร์มานิอาตะวันตกเฉียงใต้ระหว่างศตวรรษที่ 5 ถึงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราช[4] ระหว่างศตวรรษที่ 2 และ 1 ก่อนคริสต์ศักราช ดินแดนกอลตกอยู่ภายใต้การปกครองของโรม โดยกัลลิอากิซัลปีนาถูกพิชิตเมื่อ 203 ปีก่อนคริสต์ศักราช และกัลลิอานาร์โบเนงซิสถูกพิชิตเมื่อ 123 ปีก่อนคริสต์ศักราช กอลถูกเผ่าชนกิมบรีและทิวตันรุกรานหลัง 120 ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่ทั้งสองเผ่าพ่ายแพ้ต่อชาวโรมันเมื่อ 103 ปีก่อนคริสต์ศักราช ท้ายที่สุด จูเลียส ซีซาร์สามารถปราบปรามส่วนที่เหลือของกอลลงได้ระหว่างการรบในช่วง 58 ถึง 51 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ชาวโรมันควบคุมกอลนานถึง 5 ศตวรรษ จนกระทั่งอาณาจักรซัวซงซึ่งเป็นรัฐโรมันตกค้างรัฐสุดท้ายตกเป็นของชาวแฟรงก์ใน ค.ศ. 486 แม้ว่าชาวเคลต์ในกอลได้สูญเสียอัตลักษณ์และภาษาดั้งเดิมของตนไปในสมัยโบราณตอนปลายโดยถูกกลืนเข้าไปในวัฒนธรรมกอล-โรมัน แต่ กัลลิอา ยังคงเป็นชื่อเรียกตามแบบแผนของบริเวณนี้ตลอดสมัยกลางตอนต้น จนกระทั่งได้อัตลักษณ์ใหม่เป็นราชอาณาจักรฝรั่งเศสแห่งราชวงศ์กาเปเซียงในสมัยกลางตอนกลาง

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. หรือ กอลเลีย (เสียงอ่านภาษาอังกฤษ: /ˈɡæliə/)
  2. Polybius: Histories
  3. Arrowsmith, Aaron (1832). A Grammar of Ancient Geography,: Compiled for the Use of King's College School. Hansard London 1832. p. 50. สืบค้นเมื่อ 21 September 2014. gallia .
  4. Bisdent, Bisdent (28 April 2011). "Gaul". World History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ 15 May 2019.

ข้อมูล[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]