ข้ามไปเนื้อหา

ไฟนอลแฟนตาซี XIV

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Final Fantasy XIV)
ไฟนอลแฟนตาซี XIV
ปกวิดีโอเกม ไฟนอลแฟนตาซี XIV (ฉบับสำหรับนักสะสม)
ผู้พัฒนาSquare Enix Business Division 5
ผู้จัดจำหน่ายSquare Enix
กำกับNaoki Yoshida
อำนวยการผลิตNaoki Yoshida
ออกแบบ
  • Naoki Yoshida
  • Nobuaki Komoto
โปรแกรมเมอร์Hideyuki Kasuga
ศิลปิน
เขียนบทKazutoyo Maehiro
แต่งเพลงMasayoshi Soken
ชุดFinal Fantasy
เครื่องเล่น
วางจำหน่าย
  • Windows, PlayStation 3
  • August 27, 2013
  • PlayStation 4
  • April 14, 2014
  • OS X
  • June 23, 2015
แนวMMORPG
รูปแบบMultiplayer

ไฟนอลแฟนตาซี XIV: อะเรียล์มรีบอร์น เป็นเกมออนไลน์แบบเล่นตามบทบาท (MMORPG) และเป็นส่วนหนึ่งของเกมในชุดไฟนอลแฟนตาซี ผลิตและพัฒนาโดยบริษัทสแควร์อีนิกซ์ กำกับและอำนวยการสร้างโดยนาโอกิ โยชิดะ ออกวางจำหน่ายพร้อมกันทั่วโลกในระบบไมโครซอฟท์วินโดวส์และเพลย์สเตชัน 3 เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2013 แทนการปิดตัวของเกมไฟนอลแฟนตาซี XIV ฉบับเดิม และมีฉบับสำหรับระบบเพลย์สเตชัน 4 กับโอเอสเท็นออกวางจำหน่ายในเวลาต่อมา เกมนี้ดำเนินเรื่องในโลกสมมติเอออร์เซียในช่วงเวลา 5 ปี หลังเหตุการณ์ในตอนท้ายของเกมฉบับเดิมที่ปิดตัวลง เมื่อมังกรบาฮามุตหนีออกมาจากคุกดวงจันทร์และทำให้เกิดภัยพิบัติอัมบราลครั้งที่เจ็ดซึ่งทำลายล้างอาณาจักรเอออร์เซียไปจนเกือบหมด แต่ด้วยพรของเทพ (ตามท้องเรื่อง) ได้ช่วยให้ตัวละครผู้เล่นทั้งหลายรอดจากภัยพิบัติและข้ามเวลามายัง 5 ปีในอนาคต ในขณะที่เอออร์เซียกำลังฟื้นตัว ผู้เล่นจะต้องมีหน้าที่รับมือกับภัยพิบัติการรุกรานครั้งใหม่จากอาณาจักรการ์แลนด์ทางตอนเหนือ

เกมไฟนอลแฟนตาซี XIV ฉบับเดิมที่ออกจำหน่ายเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2010 ประสบความล้มเหลวทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ โยอิชิ วาดะ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานบริษัทสแควร์อีนิกซ์ในขณะนั้นจึงตัดสินใจให้ทีมงานชุดใหม่ซึ่งนำโดยโยชิดะเข้ามาดูแลเกมนี้แทนทีมงานชุดเดิมเพื่อพยายามแก้ไขความผิดพลาด ทีมงานชุดใหม่นี้ผลิตเนื้อหาให้กับเกมฉบับเดิมไปพร้อมๆ กับสร้างเกมฉบับใหม่ซึ่งจะแก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหมด โดยเกมฉบับใหม่นี้แต่เดิมถูกเรียกว่า "เวอร์ชัน 2.0" ใช้เกมเอนจินตัวใหม่ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเซิร์ฟเวอร์ สร้างรูปแบบการเล่น ส่วนติดต่อผู้ใช้ และเนื้อเรื่องขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เกมฉบับเดิมปิดตัวลงเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2012 หลังจากนั้นอัลฟาเทสท์ของเวอร์ชัน 2.0 ก็เริ่มต้นขึ้น

เกมฉบับใหม่นี้ได้รับเสียงตอบรวมในทางบวกเป็นส่วนใหญ่ นักวิจารณ์ชื่นชมกลไกและการดำเนินไปของของเกมที่สอดประสานกันอย่างแน่นหนา และต่างชื่นชมโยชิดะที่สามารถพลิกสถานการณ์ได้ ผู้บริหารบริษัทสแควร์อีนิกซ์มองว่าการที่บริษัทพลิกกลับมามีกำไรใน ค.ศ. 2014 เป็นผลจากการที่เกมนี้มียอดขายและยอดผู้สมัครใช้บริการเป็นจำนวนมาก สถิติเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2021 พบว่ามีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนแล้วกว่า 24 ล้านคน และเป็นเกมไฟนอลแฟนตาซีที่มียอดขายสูงที่สุด[1] หลังจากออกจำหน่ายแล้วเกมนี้ยังมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหาอีกหลายครั้ง ซึ่งในจำนวนนั้นมีภาคเสริมใหญ่อยู่ 4 ภาค ได้แก่ เฮเวนส์เวิร์ด (2015), สตอร์มบลัด (2017), ชาโดว์บริงเกอร์ (2019), เอนด์วอล์คเกอร์ (2021) และ ดอว์นเทรล (2024)

การเล่น

[แก้]

ไฟนอลแฟนตาซี XIV เป็นเกมออนไลน์เล่นตามบทบาทในโลกสมมติ ผู้เล่นสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นคนอื่นๆ และสิ่งแวดล้อมในเกมได้ ผู้เล่นสามารถสร้างตัวละครและปรับแต่งตัวละครตามต้องการได้ โดยสามารถเลือกชื่อ เผ่าพันธุ์ เพศ หน้าตา และคลาสเริ่มต้นได้ มีส่วนที่ต่างกับเกมเวอร์ชันแรกตรงที่ผู้เล่นจะสามารถเลือกคลาสในกลุ่ม "Disciple of War" กับ "Disciple of Magic" ได้เท่านั้น ส่วนคลาสในกลุ่ม "Disciple of the Hand" กับ "Disciple of the Land" จะยังไม่มีให้เลือกในตอนเริ่มเกม[2] นอกจากนี้ผู้เล่นจะต้องเลือกเซิร์ฟเวอร์ให้กับตัวละครที่สร้างขึ้นด้วย แต่ละเซิร์ฟเวอร์ไม่ได้มีกำหนดกลุ่มผู้เล่นหรือภาษาไว้เป็นการเฉพาะ แต่จะมีตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่ผู้สร้างให้การสนับสนุน เช่น อเมริกาเหนือ ยุโรป ญี่ปุ่น เพื่อลดความหน่วงของการเล่นเกม โดยผู้สร้างได้แนะนำให้ผู้เล่นเลือกสร้างตัวละครและเล่นเกมในเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่[3] แม้แต่ละเซิร์ฟเวอร์จะมีผู้เล่นหลากหลายภาษา แต่ในเกมก็มีระบบแปลภาษาให้กับคำและประโยคที่ใช้บ่อย เพื่อให้ผู้เล่นแต่ละภาษาสามารถสื่อสารกันได้[4]

ส่วนติดต่อผู้เล่น

[แก้]

หน้าจอของเกมและการควบคุมจะมีพื้นฐานเดียวกันทั้งการเล่นบนคอมพิวเตอร์และบนเครื่องเกมคอนโซล ผู้เล่นสามารถเลือกควบคุมเกมโดยใช้เมาส์และคีย์บอร์ดหรือใช้คอนโทรลเลอร์ก็ได้ โดยหากต้องการใช้เมาส์และคีย์บอร์ดบนเพลย์สเตชันก็สามารถเชื่อมต่อได้ผ่านการเสียบช่อง USB หรือผ่านการเชื่อมต่อแบบไร้สายก็ได้ การเข้าหน้าต่างๆ ของระบบโดยพื้นฐานบนเกมเวอร์ชันคอมพิวเตอร์จะใช้หน้าต่างที่สามารถลากย้ายได้เหมือนบนวินโดวส์ ส่วนบนเพลย์สเตชันจะใช้หน้าจอที่คล้ายกับ XrossMediaBar ที่ใช้บนเพลย์สเตชันอยู่แล้ว[5] ผู้เล่นสามารถเข้าถึงเมนูทั้งหมด แผนที่ บันทึกข้อความ และการตั้งค่าได้ผ่านบาร์นี้ ส่วนแสดงข้อมูลระหว่างการเล่น (head-up display) ของทั้งสองเวอร์ชันจะประกอบด้วย บันทึกข้อความ, เมนูสถานะปาร์ตี้, แผนที่ย่อส่วน, และแถบการกระทำ (action bar) โดยผู้เล่นสามารถปรับแต่งตำแหน่งและขนาดของส่วนแสดงข้อมูลเหล่านี้ได้ทั้งหมด[6]

แถบคำสั่งการกระทำและการต่อสู้แตกต่างกันเล็กน้อยในเวอร์ชันคอมพิวเตอร์และเวอร์ชันเกมคอนโซล โดยเวอร์ชันคอมพิวเตอร์หากผู้เล่นเลือกควบคุมด้วยเมาส์และคีย์บอร์ด แถบคำสั่งจะเป็นรูปแบบกดเลือกด้วยเมาส์และใช้ปุ่มลัดบนคีย์บอร์ดเพื่อใช้คำสั่ง และสามารถใช้มาโครเพื่อตั้งค่าชุดคำสั่งตามต้องการได้ ส่วนเวอร์ชันเกมคอนโซล (หรือเวอร์ชันคอมพิวเตอร์ กรณีเลือกควบคุมด้วยคอนโทรลเลอร์) ปุ่มคำสั่งและมาโครจะถูกจัดเรียงในรูปกากบาท ผู้เล่นสามารถกดปุ่มไหล่บนคอนโทรลเลอร์และเลือกคำสั่งด้วยการกดปุ่มทิศทางหรือปุ่มคำสั่งได้อย่างรวดเร็ว[5]

การพัฒนาของตัวละคร

[แก้]

ผู้เล่นสามารถพัฒนาความสามารถของตัวละครได้โดยการเก็บค่าประสบการณ์ (EXP) เมื่อสะสมได้ถึงจำนวนหนึ่งตัวละครของผู้เล่นก็จะได้เพิ่มเลเวล และมีค่าสถานะต่างๆ สูงขึ้น ทำให้ต่อสู้ได้เก่งขึ้น ตัวละครผู้เล่นจะสามารถได้รับค่าประสบการณ์ได้จาก 4 ช่องทาง ได้แก่ การทำภารกิจหรือเควส, การลงดันเจี้ยน, การเข้าร่วมเฟต (FATE, Full Active Time Events), และการสังหารมอนสเตอร์ที่พบได้ทั่วไปในโลกของเกม[7]

ในเกมจะมีเควส ทั้งเควสเนื้อเรื่องหลักและเควสรอง เป็นภารกิจสั้นๆ ให้ผู้เล่นทำ โดยผู้เล่นจะต้องรับเคลสจากตัวละครเอ็นพีซี เมื่อทำเควสสำเร็จจะได้รับรางวัลต่างๆ โดยมักเป็นค่าประสบการณ์และเงินในเกม และอาจมีไอเท็มอื่นๆ ด้วย เมื่อผู้เล่นทำเควสเนื้อเรื่องหลักสำเร็จจะเป็นการดำเนินเนื้อเรื่องหลักของเกมไปเรื่อยๆ เควสอีกประเภทหนึ่งคือลีฟส์ เป็นเควสแบบทำซ้ำได้ ให้รางวัลเป็นเงิน ค่าประสบการณ์ และไอเท็ม โดยจำนวนครั้งที่ทำลีฟส์ได้ในแต่ละวันจะมีจำกัด

ระบบดันเจียนในเกมเป็นแบบ instance คือเมื่อผู้เล่นเลือกเข้าเล่นในดันเจียนจะมีการสร้างพื้นที่เฉพาะของดันเจียนนั้นขึ้นมา ผู้เล่นจะต้องทำภารกิจในดันเจียนให้สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด ส่วนใหญ่แล้วเกมจะบังคับให้ผู้เล่นต้องร่วมทีมกับผู้เล่นคนอื่นเป็นปาร์ตีจึงจะสามารถเข้าดันเจียนได้ บางดันเจียนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่องหลักที่ผู้เล่นจะต้องผ่านให้ได้เพื่อดำเนินเนื้อเรื่อง และบางดันเจียนเป็นดันเจียนเสริมสำหรับผู้เล่นที่ต้องการความท้าทายหรือต้องการรางวัลจากดันเจียนนั้นๆ[8]

มีระบบสุ่มภารกิจ (duty roulette) สำหรับให้ผู้เล่นเลือกสำหรับสุ่มทำภารกิจ (ดันเจียน, ไทรอัล, อื่นๆ) ที่เคยปลดล็อกแล้ว โดยผู้เล่นจะได้รับค่าประสบการณ์เพิ่มเติมพิเศษที่ปรับค่าตามเลเวลในขณะนั้น โดยสามารถใช้ระบบสุ่มได้วันละ 1 ครั้งในแต่ละหมวดหมู่ภารกิจ[9]

เฟตเป็นระบบใหม่ที่ให้ผู้เล่นจำนวนมากสามารถทำภารกิจร่วมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในปาร์ตีเดียวกัน มีหลายรูปแบบ เช่น ร่วมกันปราบบอสที่ปรากฏตัว ณ สถานที่นั้นๆ, ป้องกันสถานที่นั้นๆ จากมอนสเตอร์จำนวนมาก, ปราบมอนสเตอร์ในพื้นที่ตามจำนวนที่กำหนด, และบุกโจมตีฐานที่มั่นของศัตรู เป็นต้น[8]

และสุดท้าย การต่อสู้กับมอนสเตอร์เพื่อเก็บค่าประสบการณ์ยังมีระบบเสริมคือบันทึกนักล่า (Hunting Log) เป็นภารกิจย่อยให้ผู้เล่นปราบมอนสเตอร์ชนิดที่กำหนดเพื่อแลกกับค่าประสบการณ์เพิ่มเติมพิเศษ

เมื่อผู้เล่นมีเลเวลสูงถึงระดับหนึ่ง การพัฒนาตัวละครจะเน้นไปที่การเพิ่ม "เลเวลไอเท็ม" ซึ่งจะเพิ่มได้โดยการหาอาวุธและชุดใหม่ๆ มาใส่ให้กับตัวละคร อาวุธและชุดเหล่านี้อาจได้มาโดยหลายวิธีด้วยกัน เช่น การลงดันเจียน ผลิต ซื้อ ได้จากการต่อสู้กับบอสในเหรด ในไทรอัล และจากการล่ามอนสเตอร์ตามหมายจับขั้นสูง (elite mark hunt)[10]

โหมดต่อสู้ระหว่างผู้เล่นด้วยกัน

[แก้]

นอกเหนือจากเนื้อหาในรูปแบบการเล่นแบบต่อสู้กับศัตรูในเกม (PvE) ดังกล่าวแล้ว เกมนี้ยังมีเนื้อหาในรูปแบบการเล่นแบบต่อสู้กับผู้เล่นด้วยกัน (PvP) ให้เลือกเล่นได้อีก 3 แบบ แบบที่หนึ่ง คือ รังหมาป่า (The Wolves' Den) เป็นสนามประลองให้ต่อสู้ระหว่างทีมผู้เล่นสองทีม ทีมละสี่คน แบบที่สอง คือ แนวหน้าการรบ (Frontlines) เป็นสนามรบขนาดใหญ่ ผู้เล่นจะต้องรวมทีมกับผู้เล่นคนอื่นรวม 24 คน ทีมไหนไปถึงตำแหน่งเป้าหมายได้ก่อนถือว่าเป็นฝ่ายชนะ มีโหมดย่อยหลายโหมด แตกต่างกันในสถานที่และกฎย่อยๆ ตามท้องเรื่องแล้วโหมดนี้คือการซ้อมรบระหว่างเมืองใหญ่ทั้งสามเมืองในเกม ซึ่งในเบื้องหลังแล้วเป็นการถ่วงเวลาไม่ให้มีการครอบครองพื้นที่ที่มีวัตถุเวทมนตร์ฝังอยู่มากมาย และ แบบที่สาม คือ ไรวัลวิงส์ (Rival Wings) เป็นสนามแข่งที่ผู้เล่นจะควบคุมตัวละครลูกสมุน (minion) เข้าต่อสู้กับอีกฝ่ายตามเป้าหมายที่กำหนดในแต่ละรอบ

ระบบเศรษฐกิจในเกม

[แก้]

ระบบเศรษฐกิจเสมือนในเกมไฟนอลแฟนตาซี XIV ขับเคลื่อนโดยผู้เล่นเป็นส่วนใหญ่ การแลกเปลี่ยนไอเท็มระหว่างผู้เล่นจะมีตัวกลางคือ "คนรับใช้" (retainer) ซึ่งเป็น NPC ที่ผู้เล่นสามารถฝากของไปขายบนกระดานค้าขาย (market board), ส่งไปทำภารกิจ (venture) เพื่อเก็บไอเท็ม, และเป็นพื้นที่เก็บไอเท็มเพิ่มเติมจากตัวละครของผู้เล่น[8] เงินจากการค้าขายจะถูกหักค่าธรรมเนียมเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในเกม ผู้เล่นทุกคลาสสามารถขายของเข้าไปในระบบได้ โดย Disciple of the Land สามารถเก็บวัตถุดิบจากจุดเก็บวัตถุดิบ (gathering point) ต่างๆ ในเกมมาขาย, Disciple of the Hand สามารถนำวัตถุดิบมาผลิตเป็นไอเท็มต่างๆ ได้, Disciple of War และ Disciple of Magic สามารถหาวัตถุดิบหายากได้จากการเอาชนะดันเจี้ยนและหาสมบัติในแผนที่ นอกจากนี้ผู้เล่นยังสามารถสังเคราะห์มาเทเรียขึ้นมาจากอาวุธหรือชุดเกราะที่ใช้มานาน และนำไปขายหรือนำไปเพิ่มค่าสมรรถนะของอาวุธหรือชุดเกราะอื่นๆ ได้[11][12]

ระบบการผลิต (crafting) และการเก็บเกี่ยว (gathering) ในเกมเวอร์ชันนี้ถูกปรับปรุงจากเวอร์ชัน 1.0 โดยลดการสุ่มและการบังคับให้ผู้เล่นคาดเดาวิธีการต่างๆ[2] สำหรับอาชีพกลุ่ม Disciple of the Hand ผู้เล่นจะปลดล็อกสูตรผลิตไอเท็มได้ทันทีเมื่อเพิ่มเลเวลถึงระดับที่กำหนด ทักษะต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตไอเท็มก็ถูกปรับปรุงให้สามารถผลิตไอเท็มคุณภาพสูงได้โดยไม่ต้องเอาสกิลจากอาชีพอื่นๆ ที่เป็นสายผลิต ส่วน Disciple of the Land ก็จะสามารถเลือกได้ว่าต้องการจะเก็บไอเท็มชนิดไหนในขณะที่กำลังเก็บจากจุดเก็บเกี่ยว ต่างจากเวอร์ชันก่อนหน้านี้ที่ผู้เล่นจะได้ไอเท็มโดยการสุ่ม นอกจากนี้ยังมีบันทึกการเก็บเกี่ยวที่แสดงชื่อและตำแหน่งที่สามารถเก็บไอเท็มได้ตามจุดต่างๆ ในเกมอีกด้วย[13]

เนื้อเรื่อง

[แก้]

ฉาก

[แก้]

ไฟนอลแฟนตาซี XIV ดำเนินเรื่องในโลกในจินตนาการแห่งดาวเคราะห์ไฮเดลิน (Hydaelyn) ซึ่งมีทวีปใหญ่ 3 ทวีป มีภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมหลากหลาย บนดาวเคราะห์แห่งนี้มีดินแดนแห่งหนึ่งชื่อว่าเอออร์เซีย (Eorzea) ซึ่งประกอบไปด้วยเมืองใหญ่ต่างๆ ได้แก่ นครกริดาเนีย (Gridania) ดินแดนแห่งป่าไม้ ล้อมรอบไปด้วยป่าหนาทึบนามว่าเดอะแบล็กเชราวด์ (The Black Shroud) หรือผ้าคลุมสีนิล ราชนครอุลดาห์ (Ul'dah) เมืองการค้า ตั้งอยู่ในทะเลทรายธานาลาน (Thalanan Desert) เมืองท่าลิมซ่าโลมินซ่า (Limsa Lominsa) ตั้งอยู่บนดินแดนลานอสเซียแห่งอนุทวีปวิลแบรนด์ และเทวนครอิชการ์ด (Ishgard) บนเทือกเขาหิมะแห่งโคเอร์ธาส ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเอออร์เซียเชื่อมต่อกับทวีปใหญ่ซึ่งถูกปกครองโดยจักรวรรดิการ์เลียนและกองทัพ ฝ่ายการเมืองอื่นๆ ในดินแดนแห่งนี้ที่สำคัญได้แก่เหล่าชนเผ่าอมนุษย์ (beastmen) ซึ่งมีเหตุบาดหมางกับชาติต่างๆ อยู่เป็นระยะ ปราชญนครแห่งชาร์ลายาน (Sharlayan) ของผู้ทรงความรู้ทางตะวันตกเฉียงเหนือ และนครอาลามีโก (Ala Mhigo) ที่เคยถูกปกครองโดยจักรวรรดิการ์เลียนเมื่อครั้งเหตุการ์เลียนรุกรานครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 22 ปีก่อนเหตุการณ์ในเรื่อง นครทั้งสี่เคยรวมตัวเป็นปึกแผ่นในนามพันธมิตรแห่งเอออร์เซียก่อนที่จะแตกสลายเมื่ออิชการ์ดถอนตัวอย่างกะทันหัน สามนครที่เหลือจึงคงเป็นพันธมิตรแต่เพียงในนาม ความขัดแย้งนี้ยังทำให้นครมอร์โดนา (Mor Dhona) ถูกทิ้งร้าง ทั้งที่แต่เดิมเคยเป็นดินแดนที่มีสีสันอย่างมาก

ประวัติศาสตร์ของเอออร์เซียคือการวนเวียนระหว่างยุคสว่าง (Astral Era) กับยุคมืด (Umbral Era) โดยยุคมืดคือยุคของหายนะครั้งใหญ่ (Calamity) ยุคมืดที่หนึ่งคือจุดสิ้นสุดของยุคแห่งทวยเทพ หลังหมดยุคนี้เหล่าเทพทั้งสิบสอง (The Twelve) ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์แห่งเอออร์เซียได้ยุติการมีปฏิสัมพันธ์กับชาวโลกทั้งหลาย เมื่อจบยุคมืดก็จะเกิดการรู้แจ้งทั่วและการเจริญทางวัฒนธรรมเรียกว่ายุคสว่าง โดยยุคสว่างที่สามมีความสำคัญเป็นพิเศษเพราะเป็นยุคที่เกิดจักรวรรดิอัลลาแกน (Allagan Empire) ซึ่งมีความเจริญทางเทคโนโลยีสูงมากยิ่งกว่าในสมัยใหม่ ยุคมืดและยุคสว่างแต่ละคู่จะมีความสัมพันธ์กับธาตุพื้นฐานทั้งหก ได้แก่ ลม สายฟ้า ไฟ ดิน น้ำแข็ง และน้ำ เดิมชาวเอออร์เซียเคยเชื่อว่ายุคมืดที่หกจะเป็นยุคมืดครั้งสุดท้าย ความเจริญแห่งยุคสว่างที่หกจะคงอยู่ไปชั่วกาลนาน แต่ห้าปีก่อนเกิดเหตุการณ์ในเรื่องนี้ จักรวรรดิการ์เลียนได้จุดชนวนให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ จนนำไปสู่ยุคมืดที่เจ็ดอันเป็นยุคปัจจุบัน

ชาวการ์เลียนได้ศึกษาวิจัยในโครงการเมเทออร์จนค้นพบวิธีที่จะทำให้ดวงจันทร์น้อยดาลามุด (Dalamud) ตกลงมาสู่โลกเป็นอาวุธได้ แผนนี้นำโดยผู้ดำรงตำแหน่งเลกาตัสแห่งจักรวรรดินามว่าเนล วาน ดาร์นัส มีเป้าหมายที่จะทำลายเผ่าอมนุษย์และเทพอสูรของพวกมันด้วยดวงจันทร์น้อยดาลามุดและเข้ายึดครองสิ่งที่หลงเหลือหลังการทำลายล้าง นครทั้งสามเมื่อทราบแผนนี้ก็ได้ส่งกองทัพใหญ่แกรนด์คอมพานีของแต่ละนครมาร่วมต่อสู้ คณะนักผจญภัยคณะหนึ่งได้ปราบวาน ดาร์นัสลงสำเร็จแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการร่วงตกของดาลามุดได้ เกิดการสู้รบระหว่างกองทัพแกรนด์คอมพานีและกองทัพรุกรานแห่งการ์เลียนที่สิ้นผู้นำบนที่ราบคาร์เทอโนในมอร์โดนา ขณะนั้นเองที่ดวงจันทร์น้อยดาลามุดแตกตัวออกเปิดเผยว่าแท้จริงแล้วดวงจันทร์น้อยนี้คือคุกโบราณของอัลลาแกนที่คุมขังเทพอสูรมังกรบาฮามุต เมื่อบาฮามุตถูกปลดปล่อยจากคุกนี้ก็ออกอาละวาดทำให้เกิดเป็นหายนะครั้งใหม่ที่นำไปสู่ยุคมืดที่เจ็ด นักปราชญ์ชาวชาร์ลายานผู้หนึ่งนามว่าหลุยซวา เลเวเลอ ได้พยายามใช้พลังของเทพทั้งสิบสองในการคุมขังบาฮามุตอีกครั้งแต่ก็ล้มเหลว จึงได้ใช้พลังนั้นส่งเหล่านักผจญภัยข้ามเวลามายังอนาคต ที่เอออร์เซียจะต้องการพวกเขาอีกครั้ง

ตัวละคร

[แก้]

ผู้เล่นรับบทบาทเป็นนักผจญภัยในเอออร์เซียระหว่างยุคมืดที่เจ็ด ที่ได้เข้าร่วมกับกองทัพ Grand Company หนึ่งในสามกองทัพ ได้แก่ The Order of the Twin Adder แห่งกริดาเนีย นำโดยคานอีเซนนาผู้ดำรงตำแหน่ง Elder Seedseer และเป็นผู้นำเหล่าเด็กแห่งพงไพร มีความสามารถหยั่งรู้คำพยากรณ์ได้, Immortal Flames แห่งอุลดาห์ นำโดยราบาน อัลดิน มนุษย์ชาวไฮแลนเดอร์จากอาลามีโก องครักษ์แห่งสุลต่านหญิงนานาโม อุล นาโม ราบานต่อสู้จนหลุดพ้นจากความยากจนด้วยฝีมือการต่อสู้ในโคลิเซียม, The Maelstorm แห่งลิมซ่าโลมินซ่า นำโดยพลเรือเอกเมิร์ลวิบ โบลฟิสวิน อดีตโจรสลัด ผู้กะเกณฑ์เหล่าโจรสลัดทั้งหลายมาอยู่ใต้บังคับบัญชาได้สำเร็จ พันธมิตรอื่นๆ ได้แก่มินฟิเลีย (Minfilia) และเหล่าไซออนแห่งอรุณรุ่งที่เจ็ด (Scions of the Seventh Dawn) ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นใหม่จากการควบรวมคณะวิถีสิบสองเทพ (Path of the Twelve) และคณะแห่งการรู้แจ้ง (Circle of Knowing) ของอาร์คอนหลุยสวา ซึ่งเคยมีบทบาทในยุคสว่างที่หก สมาชิกของเหล่าไซออนได้แก่ ธานเครด (Thancred), อีดา (Yda), ปาปาลีโม (Papalymo), อูริอันเจร์ (Urianger), และยัชโตลา (Y'shtola) นอกจากนี้ยังมีหลานฝาแฝดชายหญิงของหลุยสวาที่เดินทางจากชาร์ลายาน ได้แก่ อัลฟิโน่ (Alphinaud) และอลิเซ (Alisaie) โดยมีเป้าหมายดำเนินตามเส้นทางของหลุยสวาเพื่อช่วยเหลือเหล่าชนชาติต่างๆ แห่งเอออร์เซีย สุดท้ายคือซิด การ์ลอนด์ หัวหน้าโรงตีเหล็กการ์ลอนด์ ซึ่งมีความรู้ทางเทคโนโลยีขั้นสูง สามารถสร้างเรือเหาะและอาวุธต่างๆ ให้กับคณะพันธมิตรต่างๆ ได้

ศัตรูของเอออร์เซียคือจักรวรรดิการ์เลียนทางตอนเหนือ นำโดยเลกาตัสไกอัส วาน เบลซาร์ แห่งกองทัพที่สิบสี่ และเหล่าร้อยโทลูกน้อง ได้แก่ ลิเวีย ซาส จูนิอัส, ริทาทิน ซาส อาร์วินา, และ เนโร ทอล สเควา รวมไปถึงเผ่าคนป่าต่างๆ ที่พยายามอัญเชิญเทพอสูร จนทำให้เกิดความปั่นป่วนไปทั่ว ทั้งจักรวรรดิและเผ่าคนป่าต่างถูกบงการโดยชาวแอสเซียน เผ่าพันธุ์ที่มีชีวิตอมตะผู้ลึกลับ มีเป้าหมายจะปลุกจอมเทพโซดิอาร์คให้คืนชีพ ซึ่งอาจทำลายล้างทุกสิ่งบนไฮเดลิน

เนื้อเรื่อง

[แก้]

เมื่อเริ่มเกมจะเป็นฉากนิมิตของผู้เล่น กำลังถืออาวุธแห่งแสงตามอาชีพที่เลือกไว้เข้าต่อสู้กับชายชุดดำสวมหน้ากาก นิมิตนี้เป็นความฝันที่ผู้เล่นฝันถึงระหว่างเดินทางไปยังเมืองเริ่มต้นตามที่เลือกไว้ ได้แก่ กริดาเนีย อุลดาห์ และลิมซ่าโลมินซ่า (ส่วนผู้เล่นที่เล่นเกมต่อจากเวอร์ชัน 1.0 ตัวละครจะปรากฏตัวขึ้นท่ามกลางแสงสว่างในป่าแห่งหนึ่ง หลังจากที่เวทมนตร์สุดท้ายของหลุยสวาได้ช่วยชีวิตผู้เล่นเอาไว้จากเหตุหายนะที่คาร์เทอโน ส่งตัวผู้เล่นข้ามเวลามายังปัจจุบัน) หลังจากที่ผู้เล่นได้ช่วยเหลืองานต่างๆ ให้กับคนในเมือง ก็ได้พบและเข้าร่วมกับคณะนักผจญภัยแห่งเมืองนั้นๆ และได้รับการยกย่องเทียบเคียงกับนักรบแห่งแสง ผู้เคยเข้าร่วมต่อสู้ในสมรภูมิคาร์เทอโน ซึ่งตัวตนของนักรบแห่งแสงถูกทุกคนลืมเลือนไปอย่างเป็นปริศนา ภารกิจต่างๆ หลังจากนี้ทำให้ผู้เล่นเริ่มพบจุดร่วมคือมีเหตุร้ายหลายครั้งที่มีชายสวมหน้ากากอยู่เบื้องหลัง และยังได้พบกับสมาชิกไซออนแห่งอรุณรุ่งที่เจ็ดซึ่งเชื่อว่ารู้ที่มาของนิมิตที่ผู้เล่นได้เห็น ในที่สุดผู้เล่นก็ได้พบกับผู้นำองค์กรลึกลับอันนี้ คือ มินฟิเลีย ซึ่งเปิดเผยว่านิมิตที่ผู้เล่นเห็น ก็คือผลของเสียงสะท้อน (The Echo) ซึ่งบ่งบอกว่าผู้เล่นเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากไฮเดลิน คริสตัลมารดร

ในฐานะสมาชิกใหม่เหล่าไซออน ผู้เล่นได้ติดตามธานเครดไปสืบหาเบื้องหลังของเหตุการณ์ลักพาตัวและการขโมยคริสตัลตามเส้นทางค้าขาย จนได้พบว่าคนร้ายคือคนของเผ่าคนป่าอะมาลจา (Amalj'aa) ที่คอยจับตัวนักผจญภัยคนแล้วคนเล่าไปสังเวยให้กับเทพอสูรอิฟริต (Ifrit) ผู้เล่นก็พลาดท่าถูกจับตัวมาสังเวยเช่นกัน แต่พลังเสียงสะท้อนได้ปกป้องผู้เล่นเอาไว้ไม่ให้ถูกพลังของอิฟริตล้างสมองได้ ทั้งผู้เล่นยังสามารถต่อสู้และเอาชนะอิฟริตได้ จนได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ กองทัพแกรนด์คัมพานีแต่ละกองทัพได้ส่งทูตมาเชิญชวนผู้เล่นให้เข้าร่วม ในขณะที่เดินทางไปยังเมืองต่างๆ เพื่อร่วมพิธีรำลึกถึงวีรบุรุษผู้ล่วงลับแห่งคาร์เทอโน ผู้เล่นก็ได้พบกับหลานฝาแฝดชายหญิงของหลุยสวา คืออัลฟิโน่และอลิเซ ทั้งสองมีความเห็นไม่ตรงกันว่าเป้าหมายของพิธีกรรมชาตินิยมเช่นนี้คืออะไรกันแน่ จนทั้งสองเลือกจะแยกกันเดินทาง ภารกิจต่อไปของผู้เล่นคือการสานสัมพันธ์กับเหล่าคนป่าเผ่าซิลฟ์แห่งเดอะแบล็กเชราวด์ผู้รักสันติ แต่มีชาวซิลฟ์บางกลุ่มพยายามจะอัญเชิญเทพอสูรรามูห์มาปกป้องผืนป่าจากการรุกรานของจักรวรรดิการ์เลียน ในขณะที่ต้องตามหาผู้อาวุโสชาวซิลฟ์ผู้เล่นก็ได้พบกับลาฮาเบรอา ตัวจริงของชายสวมหน้ากาก ชาวแอสเซียนผู้เป็นอมตะ และมีเป้าหมายจะทำลายคริสตัลมารดร เหล่าไซออนโดยเฉพาะธานเครดตั้งใจจะสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับศัตรูคนใหม่นี้

คนป่าเผ่าโคโบลด์ในลานอสเซียสั่งสมความโกรธเคืองต่อชาวโลมินซ่าที่บุกรุกดินแดนของพวกเขามาเนิ่นนาน จนในที่สุดก็ได้รวบรวมคริสตัลเพื่ออัญเชิญเทพอสูรประจำเผ่าของพวกตน คือไททัน ผู้เล่นได้รับมอบหมายให้ไปสอบถามข้อมูลการต่อสู้กับเทพอสูรนี้จากสมาชิกคณะผู้กล้าที่เคยปราบไททันและเลไวอาธันลงได้ในยุคสว่างที่หก หลังจากผ่านบททดสอบที่ดูผิวเผินเหมือนเป็นกิจธุระเล็กน้อยผู้นำคณะผู้กล้าก็ได้เปิดเผยวิธีเข้าถึงถิ่นของไททันให้กับผู้เล่น ซึ่งทำได้โดยย้อนกระแสอีเธอร์ในคริสตัลสำหรับเทเลพอร์ตของเผ่าคนป่า แม้ผู้เล่นจะปราบไททันกลับไปสู่กระแสอีเธอร์ลงเป็นผลสำเร็จแต่ชัยชนะนี้ก็อยู่ให้ยินดีได้เพียงไม่นาน ลิเวีย ซาส จูนิอัส ผู้เป็นไทรบูนแห่งจักรวรรดิการ์เลียน ได้บุกเข้ามาในฐานที่มั่นของไซออน ที่เวคกิ้งแซนด์ด้วยความช่วยเหลือของชาวแอสเซียน นางได้จับตัวมินฟิเลียไปและสังหารสมาชิกไซออนที่อยู่ที่นั่นทั้งหมด ในขณะที่ผู้เล่นและสหายกำลังทำพิธีศพให้กับสหายผู้ล่วงลับ อัลฟิโน่ก็ทราบข่าวว่าเผ่าอิกซาลกำลังเตรียมอัญเชิญเทพอสูรการูด้า เขาเสนอแผนต่อกรกับการูด้าในที่มั่นของมัน แต่แผนนี้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากวิศวกรเรือเหาะ ซิด การ์ลอนด์ ผู้สูญเสียความทรงจำ และทำงานเป็นผู้ช่วยในงานฝังศพ

ด้วยความช่วยเหลือของอัลฟิโน่และซิด ผู้เล่นเดินทางไปยังเทือกเขาหิมะโคเอร์ธาสเพื่อตามหาเรือเหาะเอนเตอร์ไพรส์ของซิดที่หายสาบสูญ ผู้เล่นได้ช่วยเหลือชาวอิชการ์ดด้วยการเปิดเผยแผนชั่วร้ายของพวกนอกรีตจนได้รับความไว้วางใจจากชาวอิชการ์ดผู้ซึ่งปกติจะไม่ไว้วางใจใครง่ายๆ และได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไปยังป้อมหินผา (the Stone Vigil) ที่ถูกยึดครองโดยเหล่ามังกรเพื่อค้นหาเรือเหาะเอนเตอร์ไพรส์เป็นผลสำเร็จ ซิดซ่อมแซมเรือเหาะและฟื้นความทรงจำมาได้ด้วยความช่วยเหลือของพลังเสียงสะท้อนของผู้เล่น เขาจึงจดจำได้ว่าเขาเป็นวิศวกรแห่งจักรวรรดิการ์เลียน เป็นผู้ทรยศมาอยู่ฝั่งเอออร์เซีย และเป็นนักประดิษฐ์อัจฉริยะ เรือเหาะเอนเตอร์ไพรส์ตัดผ่านพายุหมุนเข้าไปยังที่อยู่ของการูด้า และผู้เล่นก็เอาชนะการูด้าได้สำเร็จ แต่สุดท้ายก็เหมือนจะไร้ผล เมื่อเผ่าอะมาลจาและโคโบลด์อัญเชิญเทพอสูรของพวกตนมาอีกครั้ง และในขณะที่เทพอสูรทั้งสามกำลังจะเผชิญหน้ากันนั้นเอง เลกาตัสแห่งจักรวรรดิการ์เลียน ไกอัส วาน เบลซาร์ ก็นำจักรกลสงครามแห่งจักรวรรดิอัลลาแกนคืออัลติม่าเวพอนเข้ามาขวางไว้ และได้ให้เวพอนกลืนกินเทพอสูรทั้งสามตนลงไปเพื่อเพิ่มพลัง

เมื่อกลับมาถึงเวคกิ้งแซนด์ ผู้เล่นและคณะก็ได้พบกับเหล่าไซออนที่รอดชีวิต รวมไปถึงสถานที่ที่มินฟิเลียและคนอื่นๆ ถูกจับตัวไป ผู้เล่นและคณะตามไปช่วยเหลือได้สำเร็จ แต่ระหว่างนั้นก็ได้รับรู้ว่าธานเครดถูกลาฮาเบรอาเข้าสิงร่างระหว่างที่ออกสืบเรื่องราว มินฟิเลียและอัลฟิโน่บุกเข้าไปในที่ประชุมระหว่างผู้นำแกรนด์คัมพานีทั้งสามซึ่งกำลังถกเถียงกันว่าควรยอมแพ้ต่อจักรวรรดิการ์เลียนหรือไม่ สุดท้ายแล้วทั้งสามชาติตัดสินใจร่วมมือกันกับคณธพันธมิตรอื่นๆ เกิดเป็นพันธมิตรแห่งเอออร์เซีย ร่วมดำเนินปฏิบัติการอาร์คอนเพื่อตอบโต้ฐานที่มั่นจักรวรรดิการ์เลียนทุกที่พร้อมๆ กัน ผู้เล่นรับหน้าที่นำทีมจู่โจมเข้าไปยังเดอะเพรทอเรียมซึ่งเป็นที่อยู่ของอัลติม่าเวพอน ด้วยพรแห่งแสงจากไฮเดลิน ผู้เล่นประสบความสำเร็จในการแยกเอาอีเธอร์เทพอสูรออกจากตัวอัลติม่าเวพอนและทำลายมันลงได้สำเร็จ จากนั้นจึงดำเนินรอยตามนิมิตตอนต้นเกมด้วยการปราบลาฮาเบรอาในร่างของธานเครดลงด้วยดาบแห่งแสง เมื่อภัยคุกคามจากการรุกรานของจักรวรรดิการ์เลียนสิ้นสุดลง เหล่าผู้นำของแกรนด์คัมพานีก็ได้ประกาศการเริ่มต้นของยุคสว่างที่เจ็ดแห่งเอออร์เซีย โดยผู้เล่นได้รับการยกย่องเสมอเหมือนนักรบแห่งแสงในตำนาน

ยุคสว่างที่เจ็ด

[แก้]

คณะไซออนเผชิญกับแรงกดดันให้เข้าร่วมกับกองกำลังของนครใดนครหนึ่ง จึงเลือกที่จะย้ายฐานที่มั่นไปยังเรฟแนนท์โทลล์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมตัวของนักผจญภัยในมอร์โดนาซึ่งเป็นดินแดนที่เป็นกลางทางการเมือง เพียงไม่นานก็มีข่าวว่ามีมูเกิ้ลกลุ่มหนึ่งพยายามอัญเชิญเทพอสูรพระเจ้ามูเกิ้ลม็อกที่สิบสองมหาราช โดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวแอสเซียน หลังจากปราบมูเกิ้ลยักษ์ลงได้ ผู้เล่นในฐานะนักรบแห่งแสงก็ได้พบกับชาวแอสเซียนชุดคลุมขาวนามว่าเอลิดิบัส ซึ่งมาทดสอบความแข็งแกร่งของผู้เล่นก่อนจะหายตัวไป หลังจากนั้นไม่นานผู้ลี้ภัยจากนครโดม่าก็มาถึงมอร์โดนา นครแห่งนี้ถูกปกครองโดยจักรวรรดิการ์เลียน พวกเขาจึงเดินทางมายังอุลดาห์เพื่อขอลี้ภัย แต่กลับถูกปฏิเสธ อัลฟิโน่แนะนำให้เหล่าผู้ลี้ภัยมาอยู่อาศัยและทำงานในการก่อสร้างเรฟแนนท์โทลล์ ยูกิริ ผู้นำผู้ลี้ภัยชาวโดม่า แสดงความขอบคุณด้วยการร่วมเดินทางไปกับคณะผู้กล้าแห่งแสงเพื่อไปร่วมสืบลาดตระเวนถิ่นฐานชาวซาฮากินซึ่งกำลังอัญเชิญเทพอสูรเลไวอาธาน ผู้เล่นปราบเลไวอาธานลงสำเร็จโดยใช้คริสตัลมีตำหนิหนึ่งลำเรือ และได้รับความช่วยเหลือจากเรือรบเดอะเวิร์ลอีตเตอร์แห่งนครโลมินซ่า

อัลฟิโนสืบหาสาเหตุของการก่อจลาจลในหมู่ผู้ลี้ภัยชาวอาลามีโกในอุลดาห์ และพบกับสายลับของเทเลดจี อาเดเลดจี ซึ่งเป็นสมาชิกที่มีอิทธิพลคนหนึ่งในกลุ่มซินดิเคตที่ปกครองอุลดาห์อยู่ ราบานตั้งข้อสงสัยว่าอาเดเลดจีกำลังวางแผนลวงเพื่อจะเข้าครอบครองสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกพบในซากปรักหักพังของสนามรบคาร์เทอโน หนึ่งในนั้นคือซากที่หลงเหลือของโอเมกา สุดยอดอาวุธของอัลลาแกน ในป่าเดอะแบล็กเชราด์ พวกซิลฟ์ได้อัญเชิญเทพอสูรรามูห์เพื่อตัดสินว่านักรบแห่งแสงมีค่าคู่ควรจะเป็นผู้พิทักษ์แห่งโลกนี้หรือไม่ ก่อนจะจากไปอย่างเป็นมิตร ขณะเดียวกัน อัลฟิโนได้ก่อตั้งเดอะคริสตัลเบรฟส์ขึ้นเพื่อให้เป็นองค์กรที่เป็นกลางและมีกำลังทางทหารเพื่อพิทักษ์เอออร์เซีย ภารกิจแรกคือการสืบหาตัว "ไอวี" สายลับการ์เลียนทีทแทรกซึมเข้ามาอยู่ในระดับสูงของอิมมอร์ทัลเฟลม อีกด้านหนึ่งเซอร์อายเมอริกแห่งเทมเพิลไนท์ของอิชการ์ดได้เดินทางมาพบกับไซออนและคริสตัลเบรฟส์เพื่อขอความช่วยเหลือในการเฝ้าระวังผู้พิทักษ์แห่งทะเลสาบ-ซึ่งเป็นซากที่ผูกติดกันอย่างแยกไม่ออกระหว่างยานรบการ์เลียนกับจอมมังกรมิดการ์ดซอมนร์ที่เคยต่อสู้กันเมื่อครั้งการ์เลียนบุกเอออร์เซียเมื่อสิบห้าปีก่อน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเทมเพิลไนท์อาสาจะกู้เสบียงและวัสดุก่อสร้างที่ต้องถูกส่งให้กับเรฟแนนท์โทล แต่โดนปล้นสะดมโดยผู้ติดตามของเลดี้ไอซ์ฮาร์ท คนทรยศแห่งอิชการ์ด

การสร้าง

[แก้]
นาโอกิ โยชิดะ เข้ามารับหน้าที่กำกับและอำนวยการสร้างหลังจากเกมเวอร์ชันแรกประสบความล้มเหลว

เกมไฟนอลแฟนตาซี XIV เวอร์ชันแรกถูกพัฒนาภายใต้ชื่อรหัสแรปเจอร์ตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 2004 ถึงต้นปี ค.ศ. 2005 และประกาศตัวเมื่อ ค.ศ. 2009[14][15] กำกับโดยโนบุอากิ โคโมโตะ และอำนวยการสร้างโดยฮิโรมิจิ ทานากะ ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการสร้างให้กับไฟนอลแฟนตาซี XI และใช้เอนจินคริสตัลทูลส์ซึ่งสแควร์อีนิกซ์พัฒนาขึ้นเองและใช้กับไฟนอลแฟนตาซี XIII[15][16] หลังจากผ่านพ้นช่วงเบต้าเทสที่มีขึ้นเพียงสั้นๆ และพบข้อผิดพลาดมากมาย[16][17] เกมนี้ก็วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2010 โดยได้รับคำวิจารณ์ในทางลบอย่างแทบจะเป็นเอกฉันท์[18] หลังจากพัฒนาส่วนเสริมออกมา 2 ชุดในช่วงทดลองเล่นฟรี โยอิจิ วาดะ ซึ่งเป็นประธานบริษัทสแควร์อีนิกซ์ในขณะนั้น ได้ออกหนังสือขอโทษผู้ปล่นอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2010 และประกาศว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทีมพัฒนาเกม ที่สำคัญได้แก่ การถอดนาทากะออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสร้าง การลดตำแหน่งโคโมโตะจากผู้กำกับเป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบ การยกเลิกค่าธรรมเนียมรายเดือนของเกมโดยยังไม่มีกำหนด และการยกเลิกแผนการพัฒนาเกมลงเครื่องเพลย์สเตชัน 3[19] หลังจากการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว ทางบริษัทได้เชิญนาโอกิ โยชิดะ ซึ่ง ณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวางแผนงานพัฒนาเกมดรากอนเควสท์ X มาควบคุมโครงการนี้ โดยรับตำแหน่งทั้งผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้าง[20][21]

เพื่อพัฒนาไฟนอลแฟนตาซี XIV ให้ดีขึ้น โยชิดะวางแผนและกำหนดงานสำคัญที่ต้องรีบทำมาจำนวนหนึ่ง แรกสุด เขาต้องการเรียกคืนความเชื่อใจคืนจากผู้เล่น พร้อมกับพัฒนาเกมให้อยู่ในระดับพอเล่นได้[22] โดยออก "จดหมายจากผู้อำนวยการสร้าง" เป็นระยะ ซึ่งโยชิดะเองจะมาพูดถึงแนวทางการออกแบบเกม การเปลี่ยนแปลงในอนาคต การตอบรับจากผู้เล่น และทำให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการพัฒนาเกม[23] อย่างไรก็ดี ในโค้ดเกมมีการเขียนโปรแกรมบางอย่างที่ล้าสมัยและเปลี่ยนแปลงยาก ทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้มากพอที่จะทำให้เกมดีขึ้นได้ ดังนั้นตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 2011 ทีมงานจึงเริ่มวางแผนสร้างเกมขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้น และเริ่มทำจริงช่วงเดือนเมษายนปีเดียวกัน โดยเริ่มจากการสร้างเกมเอนจินใหม่ และวางโครงสร้างเซิร์ฟเวอร์ใหม่[6] ในระหว่างนี้ ความพยายามของทีมงานในการพัฒนาเกมฉบับแรกให้ดีขึ้นก็เริ่มเห็นผลในแพตช์ 1.18 เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงระบบการต่อสู้ขนานใหญ่ เพิ่มระบบโจมตีอัตโนมัติ (auto-attack) เพิ่มดันเจียนแบบอินสแตนซ์ ถอดระบบ "ความอ่อนล้า" ที่เป็นที่ถกเถียงมาตั้งแต่เริ่มเกม และเพิ่มเนื้อเรื่องของแกรนด์คอมพานีเข้ามาแทนที่เนื้อเรื่องหลัก[24] แพตช์ต่อๆ มาได้แก้ไขการเล่นเกมและวางพื้นฐานเพื่อเตรียมรับเหตุการณ์สำคัญในเกม คือการมาถึงของยุคมืดที่เจ็ด[25]

การตอบรับ

[แก้]
การตอบรับ
คะแนนรวม
ผู้รวมคะแนน
เมทาคริติกPC: 83/100[26]
PS3: 78/100[27]
PS4: 86/100[28]
คะแนนปฏิทรรศน์
สิ่งพิมพ์เผยแพร่คะแนน
แฟมิซือ39/40[29]
เกมสปอต7.0/10[30]
เกมเรดาร์+4.5/5 stars[31]
ไอจีเอ็น8.6/10[32]
โพลีกอน9/10[33]
ยูเอสเกมเมอร์5/5 stars[34]
Forbes.com9.5/10[35]

ในขณะที่เกมเวอร์ชัน 1.0 ได้รับคำวิจารณ์ในทางลบอย่างหนัก เกมเวอร์ชัน 2.0 ได้รับการตอบรับในทางบวกเป็นส่วนใหญ่ และมียอดขายที่ดี ก่อนที่เกมจะออกวางขายอย่างเป็นทางการ สื่อมวลชนเกี่ยวกับเกมและเหล่าผู้ชื่นชอบที่ได้มีโอกาสเล่นเกมก่อนต่างพบว่าเกมมีคุณภาพและการเก็บรายละเอียดที่ดีอย่างคาดไม่ถึง นักวิจารณ์ของไอจีเอ็นได้ลงรายละเอียดถึงจุดที่มีการปรับปรุงจากเกมเวอร์ชันแรกหลายจุด และมองว่า "ดูเหมือนว่าสแควร์จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ที่แก้ไขข้อผิดพลาดหลายๆ อย่างที่มาพร้อมกับการออกแบบเกมไฟนอลแฟนตาซี XIV ฉบับดั้งเดิม"[36] หลังจากการเปิดตัวอย่างน่าประทับใจที่งานเกมส์คอม 2012 เกมนี้ก็ได้รับรางวัลขวัญใจมวลชน (community choice award) จากเวทีเกมส์คอมของเดสทรักตอยด์ ทีม บก. เห็นว่า "มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อเอนจินเกม ส่วนติดต่อผู้ใช้ และระบบการต่อสู้ ทำให้เกมนี้กลายเป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเกมเดิมที่ทำให้หลายคนต้องผิดหวัง"[37] อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ของเกมสปอตยังไม่ค่อยมีความมั่นใจเท่าไหร่ เขาชื่นชมความเปลี่ยนแปลงต่างๆ แต่ยังให้ความเห็นว่าฟีเจอร์ต่างๆ ของเกมนี้ มีความคล้ายคลึงกับเกมออนไลน์สวมบทบาทเกมอื่นๆ ในยุคใหม่ มากเกินไป[38]

นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ชื่นชมเป็นเสียงเดียวกันว่าเกมฉบับใหม่นี้นำฟีเจอร์สำคัญๆ ของเกมออนไลน์สวมบทบาทมาใช้ได้อย่างน่าชื่นชม และแก้ไขปัญหาในฉบับดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี นักวิจารณ์จากเกมสปอตมองว่านี่เป็นข้อวิจารณ์สำคัญข้อหนึ่ง คือ "เกมนี้ยังไม่สามารถก้าวข้ามไปอยู่เหนือเกมอื่นๆ ที่มีมาก่อนได้" แต่ในขณะเดียวกันก็ยังชื่นชมว่าเนื้อเรื่องของเกมถูกเขียนมาเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจารณ์คนอื่นๆ ก็ชื่นชมอย่างมากเช่นกัน นักวิจารณ์ของยูเอสเกมเมอร์กล่าวไว้ว่าเขาหลงรักเนื้อเรื่องและการที่ตัวละครผู้เล่นมีบทบาทสำคัญอย่างมากในเรื่อง โดยกล่าวว่าเป็นวิธีสร้างโลกในเรื่องแต่งที่ได้ผลดีอย่างมาก นักวิจารณ์อีกหลายคนสนุกกับการที่สามารถใช้ตัวละครเดียวแต่เล่นได้หลายอาชีพ ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่เคยมีอยู่ในเกมฉบับดั้งเดิม และยังนำมาใช้ต่อในเกมฉบับใหม่ นักวิจารณ์ของยูเอสเกมเมอร์ยังกล่าวว่าแต่ละอาชีพมีวิธีการเล่นที่แตกต่างกันไป ทำให้รูปแบบการเล่นมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร นักวิจารณ์ของฟอร์บส์ดอตคอมมองว่ามินิเกมอย่างการคราฟท์ไอเท็มเป็นแง่มุมที่น่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งของเกมนี้

อ้างอิง

[แก้]
  1. pm, Matt KimPosted: 13 Oct 2021 12:00, Final Fantasy 14 Surpasses 24 Million Players, Becomes Most Profitable Final Fantasy Game In the Series - IGN (ภาษาอังกฤษ), สืบค้นเมื่อ 2021-10-13
  2. 2.0 2.1 Yoshida, Naoki (September 27, 2012). "Letter from the Producer LIVE Part III & Q&A Summary (09/27/2012)". Square Enix. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 13, 2012. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  3. Yoshida, Naoki (September 14, 2012). "Data Centers/World Locations Info from the LIVE Letter". Square Enix. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 26, 2012. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  4. Square Enix (August 27, 2013). Final Fantasy XIV: A Realm Reborn (Microsoft Windows). Square Enix. Auto-translation Dictionary Active Help: The world of Eorzea is home to adventurers of various cultural and linguistic backgrounds. In order to facilitate communication in this diverse environment the game includes a feature known as the auto-translation dictionary. [...] The auto-translation dictionary contains a list of everyday words and expressions as well as game-specific terms.
  5. 5.0 5.1 Ashcraft, Brian (October 10, 2012). "Final Fantasy XIV Wants To Be the Standard for MMORPG Console Gaming". Kotaku. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 27, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  6. 6.0 6.1 Yoshida, Naoki (October 14, 2011). "Final Fantasy XIV Version 2.0" (ภาษาญี่ปุ่น). Square Enix. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 15, 2015. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  7. Cunningham, Michael A. (2012). "Final Fantasy XIV: A Realm Reborn Interview with Naoki Yoshida". RPGamer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 2, 2015. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  8. 8.0 8.1 8.2 Yoshida, Naoki (November 19, 2012). "Letter from the Producer LIVE Part IV & Q&A Summary". Square Enix. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 9, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  9. Inc, SQUARE ENIX. "Patch 2.1 Notes (12/14/2013)". FINAL FANTASY XIV, The Lodestone (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 24, 2021. สืบค้นเมื่อ 2021-04-04.
  10. Lefebvre, Eliot (January 5, 2015). "The Mog Log: Final Fantasy XIV's year in review". Joystiq. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 3, 2016. สืบค้นเมื่อ January 3, 2016.
  11. NOC_NA (September 29, 2011). "Patch 1.19 Notes". Square Enix. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 4, 2016. สืบค้นเมื่อ January 3, 2016.
  12. Gildrein (April 17, 2013). "Letter from the Producer LIVE Part VI Q&A Summary (04/17/2013)". Square Enix. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 4, 2016. สืบค้นเมื่อ January 3, 2016.
  13. Ishaan (December 13, 2012). "Gathering And Crafting Demonstrated In Final Fantasy XIV". Siliconera. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 16, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  14. Tong, Sophia (June 2, 2009). "Final Fantasy XIV Online Trailer Impressions". GameSpot. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 26, 2014. สืบค้นเมื่อ January 3, 2016.
  15. 15.0 15.1 Copeland, Andrew (October 19, 2011). "Gamer Escape Interviews Naoki Yoshida- "The Truth Is Out There!"". Gamer Escape. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 4, 2018. สืบค้นเมื่อ December 27, 2020.
  16. 16.0 16.1 Dunham, Jeremy (June 4, 2009). "E3 2009: Final Fantasy XIV - What We Know". IGN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 31, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  17. Fahey, Mike (August 31, 2010). "Final Fantasy XIV Beta Is No Go". Kotaku. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 15, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  18. "Final Fantasy XIV Online for PC Reviews, Ratings, Credits, and More at Metacritic". Metacritic. September 30, 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 7, 2015. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  19. Wada, Yoichi (December 10, 2010). "An Important Announcement for Final Fantasy XIV Fans". Square Enix. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 6, 2014. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  20. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Kotaku
  21. 『ファイナルファンタジーXIV』新プロデューサー兼ディレクターに直撃インタビュー. Famitsu. January 20, 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 4, 2016. สืบค้นเมื่อ May 22, 2013.
  22. Gifford, Kevin (November 21, 2012). "The death and rebirth of Final Fantasy 14". Polygon. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 16, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  23. Yoshida, Naoki (January 21, 2011). "Letter from the Producer, I". Square Enix. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 13, 2013. สืบค้นเมื่อ May 18, 2015.
  24. NOC_NA (July 21, 2011). "Patch 1.18 Notes". Square Enix. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 19, 2012. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  25. Yoshida, Naoki (January 1, 2012). "New Year's Greetings (01/01/2012)". Square Enix. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 30, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
  26. "Final Fantasy XIV Online: A Realm Reborn for PC Reviews". Metacritic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 9, 2013. สืบค้นเมื่อ September 12, 2013.
  27. "Final Fantasy XIV Online: A Realm Reborn for PlayStation 3 Reviews". Metacritic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 26, 2013. สืบค้นเมื่อ September 12, 2013.
  28. "Final Fantasy XIV Online: A Realm Reborn for PlayStation 4 Reviews". Metacritic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 1, 2013. สืบค้นเมื่อ May 15, 2014.
  29. Gifford, Kevin (September 25, 2013). ""I'm glad I'm back home": Famitsu reviews FF14: A Realm Reborn". Polygon. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 26, 2013. สืบค้นเมื่อ September 26, 2013.
  30. VanOrd, Kevin (September 21, 2013). "Final Fantasy XIV Online: A Realm Reborn Review (PC)". Gamespot. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 14, 2013. สืบค้นเมื่อ September 21, 2013.
  31. Harshberger, Adam (September 23, 2013). "Final Fantasy XIV: A Realm Reborn for PC". GamesRadar+. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 22, 2013. สืบค้นเมื่อ September 23, 2013.
  32. Johnson, Leif (September 11, 2013). "Final Fantasy XIV: A Realm Reborn for PC". IGN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 13, 2013. สืบค้นเมื่อ September 12, 2013.
  33. Kollar, Philip (September 20, 2013). "Final Fantasy 14: A Realm Reborn review: life after death". Polygon. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 21, 2014. สืบค้นเมื่อ February 22, 2014.
  34. Davison, Pete (September 5, 2013). "Final Fantasy XIV Review". USgamer. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 10, 2014. สืบค้นเมื่อ February 22, 2014.
  35. Tack, Daniel (September 9, 2013). "'Final Fantasy XIV: A Realm Reborn' Review (PC)". Forbes. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 11, 2013. สืบค้นเมื่อ September 12, 2013.
  36. Onyett, Charles (February 21, 2013). "Relaunching Final Fantasy XIV: A Realm Reborn". IGN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 3, 2013. สืบค้นเมื่อ May 12, 2013.
  37. Caine, Beccy (August 22, 2012). "FFXIV wins Destructoid's gamescom community choice award". Destructoid. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 20, 2012. สืบค้นเมื่อ November 14, 2012.
  38. Toyad, Jonathan (May 3, 2013). "Changes That Seem All Too Familiar". Gamespot. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 13, 2013. สืบค้นเมื่อ May 12, 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน