มงแต็สกีเยอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Charles de Secondat, baron de Montesquieu)
มงแต็สกีเยอ
ภาพวาดมงแต็สกีเยอ
เกิด18 มกราคม ค.ศ. 1689
ปราสาทลาแบรด, จังหวัดฌีรงด์ ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
เสียชีวิต10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1755(1755-02-10) (66 ปี)
ปารีส, ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
ยุคปรัชญาศตวรรษที่ 18
แนวทางปรัชญาตะวันตก
สำนักยุคเรืองปัญญา
ความสนใจหลัก
ปรัชญาการเมือง
แนวคิดเด่น
การแบ่งแยกอำนาจ: อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ

ชาร์ล-หลุยส์ เดอ เซอกงดา บารอนแห่งลาแบรดและมงแต็สกีเยอ (ฝรั่งเศส: Charles-Louis de Secondat, baron de La Brède et de Montesquieu) หรือรู้จักกันในชื่อ มงแต็สกีเยอ (ฝรั่งเศส: Montesquieu) เป็นนักวิพากษ์สังคมและนักคิดทางการเมืองชาวฝรั่งเศสผู้มีชีวิตอยู่ในยุคเรืองปัญญา มีชื่อเสียงเกี่ยวกับทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจที่พูดถึงในการปกครองสมัยใหม่และใช้ในรัฐธรรมนูญในหลายประเทศ และเป็นผู้ที่ทำให้คำว่าระบบเจ้าขุนมูลนายและจักรวรรดิไบแซนไทน์ใช้กันอย่างแพร่หลาย

ประวัติ[แก้]

ปราสาทลาแบรด ที่เกิดของมงแต็สกีเยอ
Lettres familieres a divers amis d'Italie, 1767

ชาร์ล-หลุยส์ เดอ เซอกงดา เกิด ณ ปราสาทลาแบรด ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส บิดามีนามว่าฌัก เดอ เซอกงดา เป็นนายทหารซึ่งเกิดในตระกูลผู้ดี ย่าของชาร์ลนามว่ามารี-ฟร็องซวซ เดอ แป็สแนล ซึ่งเสียชีวิตเมื่อบิดาของชาร์ลมีอายุได้เพียง 7 ขวบ เป็นผู้รับมรดกทางการเงินก้อนใหญ่และเป็นผู้ทำให้ตระกูลเซอกงดาได้รับบรรดาศักดิ์ ลาแบรด ของขุนนางบารอน ภายหลังได้เข้ารับการศึกษาจากวิทยาลัยคาทอลิกแห่งฌุยยี ชาร์ลได้แต่งงานกับหญิงชาวโปรเตสแตนต์นามว่าฌาน เดอ ลาร์ตีก ซึ่งได้มอบสินสอดให้แก่ชาร์ลเมื่อเขาอายุได้ 26 ปี ในปีถัดมาชาร์ลได้รับมรดกจากการที่ลุงของเขาที่เสียชีวิตลงและยังได้รับบรรดาศักดิ์ บารงเดอมงแต็สกีเยอ รวมถึงตำแหน่ง เพรซีด็องอามอร์ตีเย ในรัฐสภาเมืองบอร์โดอีกด้วย ในช่วงเวลานี้เองที่อังกฤษประกาศว่าตนเองเป็นประเทศราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นช่วงหนึ่งของการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (ค.ศ. 1688–1689) และได้รวมเข้ากับสกอตแลนด์จากพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ในการก่อตั้งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ถัดมาในปี ค.ศ. 1715 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้ทรงครองราชย์มาอย่างยาวนานสวรรคตและได้รับการสืบทอดราชบัลลังก์โดยโอรสพระชนมายุ 5 พรรษา พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของชาติครั้งนี้เองที่มีผลอย่างมากต่อตัวของชาร์ล และกษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้จะถูกกล่าวถึงในงานเขียนของชาร์ลมากมายในเวลาต่อมา

เวลาต่อมาเพียงไม่นานเขาก็ประสบความสำเร็จทางด้านวรรณกรรมจากการตีพิมพ์ แล็ทร์แปร์ซาน (จดหมายเหตุเปอร์เซีย–ค.ศ. 1721) งานเขียนเสียดสีซึ่งสมมติถึงชาวเปอร์เซียผู้เขียนจดหมายตอบโต้ระหว่างเดินทางมายังปารีส ชี้ให้เห็นถึงความไร้สาระของสังคมร่วมสมัย ต่อมาเขาได้ตีพิมพ์ กงซีเดราซียง ซูร์ เล โกซ เดอ ลา กร็องเดอร์ เด รอแม็ง เอ เดอ เลอร์ เดกาด็องส์ (ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่และความเสื่อมถอยของชาวโรมัน–ค.ศ. 1734) ซึ่งนักวิชาการบางกลุ่มมองว่าเป็นผลงานที่เชื่อมระหว่าง แล็ทร์แปร์ซาน กับผลงานชิ้นเอกของเขา เดอแล็สพรีเดลัว (จิตวิญญาณแห่งกฎหมาย) ซึ่งแต่แรกในปี ค.ศ. 1748 ถูกตีพิมพ์โดยไม่ระบุชื่อผู้เขียน และได้กลายมาเป็นงานเขียนซึ่งมีอิทธิพลมหาศาลต่อสังคมภายในเวลาอันรวดเร็ว ในฝรั่งเศสการตอบรับต่องานเขียนนี้ไม่ค่อยจะเป็นมิตรมากนักทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านระบอบการปกครองปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 1751 โบสถ์คาทอลิกทั่วประเทศประกาศห้ามเผยแพร่ แล็สพรี–รวมไปถึงงานเขียนชิ้นอื่นของมงแต็สกีเยอ–และถูกบรรจุอยู่ในรายชื่อหนังสือต้องห้าม แต่ในส่วนอื่นของยุโรปกลับได้การตอบรับอย่างสูงโดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร

มงแต็สกีเยอได้รับการยกย่องอย่างสูงจากอาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาเหนือ ในฐานะผู้สนับสนุนเสรีภาพแบบอังกฤษ (แม้จะไม่ใช่ผู้สนับสนุนเอกราชของอเมริกา) นักรัฐศาสตร์ โดนัลด์ ลุตซ์ พบว่ามงแต็สกีเยอคือบุคคลทางรัฐศาสตร์และการเมืองที่ถูกเอ่ยถึงมากที่สุดบนแผ่นดินอเมริกาเหนือช่วงก่อนเกิดการปฏิวัติอเมริกา ซึ่งถูกอ้างอิงมากกว่าแหล่งอื่น ๆ โดยผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา เป็นรองก็แต่เพียงคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น[1] ตามมาด้วยการปฏิวัติอเมริกา งานเขียนของมงแต็สกีเยอยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงต่อเหล่าผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเจมส์ แมดิสันแห่งเวอร์จิเนีย , บิดาแห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ปรัชญาของมงแต็สกีเยอที่ว่า "รัฐบาลควรถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อที่จะได้ไม่มีมนุษย์ผู้ใดระแวงกันเอง" ได้ยั้งเตือนแมดิสันและผู้อื่นในคณะว่ารากฐานที่เสรีและมั่นคงของรัฐบาลแห่งชาติใหม่นั้นจำเป็นจะต้องมีการแบ่งแยกอำนาจที่ถ่วงดุลและถูกกำหนดกฎเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจน

นอกจากการประพันธ์งานเขียนเกี่ยวกับการเมืองและสังคมแล้ว มงแต็สกีเยอยังใช้เวลาหลายปีในการเดินทางไปทั่วยุโรป เช่น ออสเตรียและฮังการี ใช้ชีวิตหนึ่งปีเต็มในอิตาลีและอีก 18 เดือนในอังกฤษ ก่อนที่เขาจะกลับมาพำนักในฝรั่งเศสอีกครั้ง เขาทุกข์ทรมานจากสายตาที่ย่ำแย่ลงจนกระทั่งบอดสนิทในช่วงที่เขาเสียชีวิตจากอาการไข้สูงในปี ค.ศ. 1755 มงแต็สกีเยอถูกฝัง ณ สุสานของโบสถ์แซ็ง-ซูลปิสในกรุงปารีส

ปรัชญาแห่งประวัติศาสตร์[แก้]

หลักปรัชญาแห่งประวัติศาสตร์ของมงแต็สกีเยอได้ลดบทบาทของเหตุการณ์ย่อยและปัจเจกบุคคลลง ซึ่งเขาได้อธิบายทรรศนะนี้ไว้ใน กงซีเดราซียง ซูร์ เล โกซ เดอ ลา กร็องเดอร์ เด รอแม็ง เอ เดอ เลอร์ เดกาด็องส์ ว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แต่ละครั้งล้วนแล้วแต่ถูกขับเคลื่อนโดยกระบวนการความเป็นไปของโลก

มันไม่ใช่โชคชะตาที่กำหนดความเป็นไปของโลก ถามชาวโรมันสิ, ผู้ซึ่งประสบกับความสำเร็จสืบเนื่องกันหลายครั้งหลายคราในช่วงที่พวกเขาถูกชักนำโดยแผนการอันชาญฉลาด ในทางกลับกัน, พวกเขาก็เผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายและความเสื่อมถอยเมื่อดำเนินตามอีกแผนการหนึ่ง มันอธิบายได้ว่ามีสาเหตุทั่วไปทั้งทางด้านศีลธรรมและรูปธรรมซึ่งส่งผลต่อกษัตริย์โรมันทุกพระองค์ ทั้งการยกระดับบารมี, การดำรงอยู่ของพระราชอำนาจ หรือแม้แต่การทำให้พระบารมีของกษัตริย์เองนั้นตกต่ำจรดดิน แม้แต่อุบัติเหตุเองก็ถูกควบคุมโดยสาเหตุตัวแปรเหล่านี้ และถ้าหากการรบเพียงครั้งเดียว (ซึ่งเป็นสาเหตุ) ได้นำพารัฐไปสู่ความล่มสลาย ก็จะอธิบายได้ว่าเหตุผลโดยทั่วไปเป็นตัวที่ทำให้ประเทศนั้นถึงกาลสูญสิ้นจากการรบครั้งนั้น ทำให้แนวโน้มความเป็นไปของโลกจึงถูกรังสรรค์ขึ้นจากเหตุการณ์ที่อุบัติสืบเนื่องต่อ ๆ กันมา[2]

ในข้ออภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของโรมันจากสาธารณรัฐไปสู่จักรวรรดิ มงแต็สกีเยอได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า หากจูเลียส ซีซาร์ และปอมเปย์ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะช่วงชิงอำนาจจากรัฐบาลสาธารณรัฐแล้ว อย่างไรก็ดีจะต้องมีบุคคลผู้อื่นมากระทำการนี้แทนเขาสองคนอย่างแน่นอน ชี้ให้เห็นว่าต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เกิดจากตัวจูเลียส ซีซาร์ และปอมเปย์ หากแต่เกิดจากความทะเยอทะยานของมนุษย์ชาวโรมันนั่นเอง

ทรรศนะทางการเมือง[แก้]

มงแต็สกีเยอถือว่าเป็นหนึ่งในนักปรัชญาแถวหน้าของมานุษยวิทยาร่วมกับเฮโรโดตุสและแทซิทัส ที่เป็นหนึ่งในบุคคลกลุ่มแรก ๆ ของโลกที่ตีแผ่ข้อเปรียบเทียบของกระบวนการจำแนกรูปแบบทางการเมืองในสังคมมนุษย์ อันที่จริงแล้วนักมานุษยวิทยาการเมืองชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่ายอร์ช บาล็องดิแยร์ พิจารณามงแต็สกีเยอว่าเป็น "ผู้ริเริ่มองค์กรทางวิทยาศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งเคยมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อวงการมานุษยวิทยาทางวัฒนธรรมและสังคม"[3] ตามคำกล่าวอ้างของดี.เอฟ. โพคอค นักมานุษยวิทยาทางสังคม "จิตวิญญาณของกฎหมายของมงแต็สกีเยอคือความพยายามครั้งแรกในการที่จะสำรวจความหลากหลายของสังคมมนุษย์, เพื่อที่จะจำแนกและเปรียบเทียบ และเพื่อศึกษาระบบการทำงานระหว่างสถาบันในสังคม"[4] และหลักมานุษยวิทยาทางการเมืองนี้เองได้นำเขาไปสู่การคิดค้นทฤษฎีว่าด้วยรัฐบาลในเวลาต่อมา

ผลงานเขียนที่มีอิทธิพลมากที่สุดของเขาได้แบ่งแยกฝรั่งเศสออกเป็นสามชนชั้นได้แก่ พระเจ้าแผ่นดิน, อภิสิทธิ์ชน และราษฎร แล้วเขายังมองเห็นรูปแบบอำนาจของรัฐออกเป็นสองแบบคืออำนาจอธิปไตยและอำนาจบริหารรัฐกิจ ซึ่งอำนาจบริหารรัฐกิจประกอบด้วยอำนาจบริหาร, อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ โดยแต่ละอำนาจควรเป็นอิสระและแยกออกจากกัน ทำให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งไม่สามารถก้าวก่ายอีกสองอำนาจที่เหลือหรือรวมกันเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จได้ หากพิจารณาในแบบยุคสมัยของมงแต็สกีเยอแล้ว แนวคิดนี้จะถูกพิจารณาว่าเป็นแนวคิดหัวรุนแรง เพราะหลักการของแนวคิดดังกล่าวเท่ากับเป็นการล้มล้างการปกครองของฝรั่งเศสในสมัยนั้นที่ยึดถือฐานันดรแห่งราชอาณาจักรอย่างสิ้นเชิง โดยฐานันดรแห่งรัฐประกอบด้วยสามฐานันดรคือ เคลอจี, อภิสิทธิ์ชนหรือขุนนาง และประชาชนทั่วไป ซึ่งฐานันดรสุดท้ายมีผู้แทนในสภาฐานันดรมากที่สุด และท้ายที่สุดแนวคิดนี้จะเป็นแนวคิดที่ทำลายระบบฟิวดัลในฝรั่งเศสลง

ขณะเดียวกันมงแต็สกีเยอได้ออกแบบรูปแบบการปกครองออกเป็นสามแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบถูกสนับสนุนด้วย หลักการทางสังคม ของตัวมันเอง ได้แก่

  • ราชาธิปไตย (รัฐบาลอิสระที่มีประมุขเป็นบุคคลจากการสืบตระกูล เช่น กษัตริย์, จักรพรรดิ หรือราชินี) เป็นระบอบที่ยึดถือบนหลักการของเกียรติยศ
  • สาธารณรัฐ (รัฐบาลอิสระที่มีประมุขเป็นบุคคลที่ได้รับเลือกจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน) เป็นระบอบที่ยึดถือบนหลักการของคุณธรรม
  • เผด็จการ (รัฐบาลกดขี่ที่มีประมุขเป็นผู้นำเผด็จการ) เป็นระบอบที่ยึดถือบนหลักการของความยำเกรง

ซึ่งรัฐบาลอิสระจะขึ้นอยู่กับการเตรียมการทางกฎหมายอันเปราะบาง มงแต็สกีเยอได้อุทิศเนื้อหาสี่บทใน จิตวิญญาณแห่งกฎหมาย ในการอภิปรายประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศรัฐบาลอิสระร่วมสมัยที่ซึ่งเสรีภาพคงอยู่ได้ด้วยการถ่วงดุลอำนาจ และมงแต็สกีเยอยังกังวลว่าอำนาจในฝรั่งเศสที่อยู่กึ่งกลาง (เช่น ระบบขุนนาง) ที่ทัดทานกับอำนาจของราชวงศ์นั้นกำลังเสื่อมสลายลง แนวคิดการควบคุมอำนาจนี้เองที่บ่อยครั้งมักถูกนำไปใช้โดยมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์

อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดที่มงแต็สกีเยอระบุไว้ในจิตวิญญาณแห่งกฎหมายในการสนับสนุนการปฏิรูประบบทาสนั้นค่อนข้างจะล้ำหน้ากว่ายุคสมัยที่เขามีชีวิตอยู่ เขายังได้นำเสนอข้อโต้แย้งสมมติเชิงเสียดสีเกี่ยวกับความเป็นทาสซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในข้อสนับสนุนของเขาไว้ด้วย อย่างไรก็ดีทรรศนะของมงแต็สกีเยอหลายหัวข้ออาจถูกโต้แย้งและถกเถียงในปัจจุบันเช่นเดียวกับทรรศนะอื่น ๆ ที่มาจากบุคคลยุคเดียวกับเขา เขายอมรับถึงบทบาทของตระกูลขุนนางและราชวงศ์ไว้อย่างเหนียวแน่นเช่นเดียวกันกับการยอมรับถึงสิทธิของบุตรหัวปี ในขณะเดียวกันเขาก็รับรองแนวคิดของการมีสตรีเป็นประมุขของประเทศ แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะเป็นหัวหน้าครอบครัวได้

อ้างอิง[แก้]

  1. "The Relative Influence of European Writers on Late Eighteenth-Century American Political Thought," American Political Science Review 78,1(March, 1984), 189-197.
  2. Montesquieu (1734), Considerations on the Causes of the Greatness of the Romans and their Decline, The Free Press, สืบค้นเมื่อ 2011-11-30 Ch. XVIII.
  3. G. Balandier, Political Anthropology, Random House, 1970, p 3.
  4. D. Pocock, Social Anthropology, Sheed and Ward, 1961, p 9.