ปลาช่อนเจ็ดสี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Channa bleheri)
ปลาช่อนเจ็ดสี
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Anabantiformes
วงศ์: Channidae
สกุล: Channa
สปีชีส์: C.  bleheri
ชื่อทวินาม
Channa bleheri
Vierke, 1991

ปลาช่อนเจ็ดสี หรือ ปลาช่อนสายรุ้ง (อังกฤษ: Rainbow snakehead) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa bleheri เป็นปลาช่อนแคระชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะถิ่น บริเวณลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรในรัฐอัสสัมและรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย[2] เป็นหนึ่งในปลาช่อนชนิดที่มีสีสันสวยงามมากที่สุด[3]

การกระจายพันธุ์และนิรุกติศาสตร์[แก้]

ในธรรมชาติสายพันธุ์นี้อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำในรัฐอัสสัมของอินเดียเป็นหลัก โดยมีชื่อเรียกในภาษาอัสสัมว่า sengeli หรือ chengeli (อัสสัม: চেঙেলী) ชื่อทวินามเป็นเกียรติแก่นักสำรวจและผู้ค้าปลาต่างถิ่น ไฮโค เบลเฮอร์ (Heiko Bleher) ชาวเยอรมัน[4] ที่ช่วยเหลือในการรวบรวมชนิดและมอบตัวอย่างให้กับนักมีนวิทยา เยิร์ค เฟียร์เค (Jörg Vierke)[5]

เป็นปลาเฉพาะถิ่นของลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร ปลาชนิดนี้มีถิ่นที่อยู่ที่เมืองดิบรูการห์ (ডিব্ৰুগড়) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐอัสสัม[3] สายพันธุ์ที่ใกล้ชิดที่สุดคือ Channa burmanica ซึ่งมีถิ่นกำเนิดทางตอนเหนือของพม่า[3]

ลักษณะและความนิยมเป็นปลาตู้[แก้]

จัดเป็นปลาในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) ขนาดเล็กเช่นเดียวกับปลาก้าง (C. limbata) และปลาก้างอินเดีย (C. gachua) คือ ขนาดเมื่อโตเต็มที่มีขนาดไม่เกิน 20 เซนติเมตร แต่ได้ชื่อว่าเป็นปลาช่อนแคระที่มีสีสันสวยงามมาก โดยมีหลากหลายสีในตัวเดียวกัน ทั้ง ขาว, น้ำเงิน, แดง, ส้ม สลับกันไปบนพื้นลำตัวสีน้ำตาล อีกทั้งครีบต่าง ๆ โดยเฉพาะครีบหูก็มีลวดลายเป็นริ้ว ๆ สีดำอีกด้วย

นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเช่นเดียวกับปลาช่อนชนิดที่มีลวดลายสวยงามอื่น โดยสามารถเลี้ยงรวมกับปลาช่อนสวยงามขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ ได้ เนื่องด้วยปลาในกลุ่มนี้จัดว่ามีอุปนิสัยไม่ดุร้ายก้าวร้าว อีกทั้งยังมีพฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยเริ่มจากปลาวัยอ่อนที่มีความยาวประมาณหนึ่งเซนติเมตร (0.4 นิ้ว) ซึ่งจะมีลำตัวสีเหลือง และเมื่อโตเต็มวัยจึงจะมีจุดสีส้มหรือสีแดงขนาดใหญ่บนลำตัว[3]

พฤติกรรมในธรรมชาติ ปลาช่อนกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่ในสภาพที่มีอุณหภูมิหลากหลายเปลี่ยนแปลงต่างขั้วกันในรอบปี ตั้งแต่ฤดูที่มีฝนตกหนัก ฤดูร้อนที่อุณหภูมิร้อนจัด ไปจนถึงฤดูหนาวที่มีการละลายของหิมะจากเทือกเขาสูงตามแนวเทือกเขาหิมาลัย จึงมีพฤติกรรมขุดโพรงลึกตามรากไม้เพื่อจำศีลจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูที่เหมาะสมต่อการหากินและแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป[6]

พฤติกรรมในการขยายพันธุ์[แก้]

ปลาช่อนเจ็ดสี วัยอ่อนในอควาเรียม

ในบรรดาปลาช่อนแคระ ชนิดนี้เป็นเพียงชนิดพันธุ์เดียวที่ทำรัง ขณะที่ชนิดอื่น ๆ จะอมไข่ไว้ในปาก ตัวเมียซึ่งมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ดูเหมือนจะเริ่มการเกี้ยวพาราสีแม้ว่าตัวผู้จะเป็นผู้เลือกสถานที่ทำรัง และปลาพ่อแม่ทั้งสองจะคอยช่วยกันดูแลตัวอ่อน[3]

ตัวผู้และตัวเมียที่โตเต็มวัยจะขยับเข้าใกล้ผิวน้ำเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์[3] ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่หากินบริเวณหน้าดิน (benthopelagic) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใกล้กับบริเวณพื้นแหล่งน้ำ[7]

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและกฎหมายในสหรัฐ[แก้]

รัฐบาลกลางสหรัฐกังวลว่าการปล่อยปลาชนิดนี้ลงในแหล่งน้ำในประเทศอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม นักล่าชนิดนี้สามารถฆ่าสัตว์พื้นเมืองได้โดยเฉพาะในพื้นที่ทางใต้ เช่น ฟลอริดา, เท็กซัส และฮาวาย ที่มีอากาศอบอุ่นคล้ายกับสภาพอากาศของรัฐอัสสัม[3]

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมายในสหรัฐที่จะครอบครอง, นำเข้า หรือจำหน่ายปลาชนิดนี้รวมทั้งไข่ของมัน[8][9] แต่การละเมิดกฎหมายนี้เกิดขึ้นในหลายรัฐ (เช่น เคนทักกี และจอร์เจีย)[3]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Chaudhry, S. (2010). "Channa bleheri". IUCN Red List of Threatened Species. 2010: e.T168567A6516424. doi:10.2305/IUCN.UK.2010-4.RLTS.T168567A6516424.en. สืบค้นเมื่อ 22 December 2019.
  2. SeriouslyFish: Channa bleheri. Retrieved 11 February 2019.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 Courtenay, Walter and Williams, James. Snakeheads (Pisces, Channidae): A Biological Synopsis and Risk Assessment, p. 63 (U.S. Department of the Interior, U.S. Geological Survey, Jan 1, 2004).
  4. Freshwater and Marine Aquarium, Volume 16, Issues 1-4, p. 56 (1993).
  5. Christopher Scharpf; Kenneth J. Lazara (21 October 2019). "Order ANABANTIFORMES: Families ANABANTIDAE, HELOSTOMATIDAE, OSPHRONEMIDAE, CHANNIDAE, NANDIDAE, BADIDAE, and PRISTOLEPIDIDAE". The ETYFish Project Fish Name Etymology Database. Christopher Scharpf and Kenneth J. Lazara. สืบค้นเมื่อ 22 December 2019.
  6. ชวิน ตันพิทยคุปต์; ชัยพัทธ์ งามบุษบงโสภิน (December 2013). "CHANNA CRAZY คนคลั่งช่อน, "Wild Ambition"". Aquarium Biz. Vol. 4 no. 42. สนพ. ชบาเงิน. p. 103. ISSN 1906-9243.
  7. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2006). "Channa bleheri" in FishBase. January 2006 version.
  8. South Carolina Invasive Species Management Plan (September 2008).
  9. Code of Federal Regulations, 50 CFR 16.13 (2010).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Channa bleheri ที่วิกิสปีชีส์
  • snakeheads.org