นกอีวาบตั๊กแตน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Cacomantis merulinus)
นกอีวาบตั๊กแตน
นกอีวาบตั๊กแตนที่หาดในยาง จังหวัดภูเก็ต
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Cuculiformes
วงศ์: Cuculidae
สกุล: Cacomantis
สปีชีส์: C.  merulinus
ชื่อทวินาม
Cacomantis merulinus
(Giovanni Antonio Scopoli, 1786)

นกอีวาบตั๊กแตน (อังกฤษ: plaintive cuckoo ชื่อวิทยาศาสตร์: Cacomantis merulinus) เป็นนกสกุล Cacomantis ในวงศ์ Cuculidae (วงศ์นกคัคคู) เป็นนกประจำถิ่นของทวีปเอเชีย มีที่อยู่ตั้งแต่อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และไทย

ลักษณะ[แก้]

นกที่ยังไม่โตเต็มที่ในเมืองโกลกาตา รัฐเบงกอลตะวันตก อินเดีย
นกตัวเมียสีออกเป็นน้ำตาลมากกว่าตัวผู้

อีวาบตั๊กแตนเป็นนกคัคคูที่ค่อนข้างเล็ก ยาวประมาณ 21-23.5 ซม. นกตัวผู้ที่โตเต็มที่แล้วมีสีเทา-น้ำตาลด้านบนและสีส้มด้านล่าง มีหัว คอ และอกด้านบนเป็นสีเทา ปลายขนหางมีสีขาว ขาและเท้ามีสีเหลือง ตามีสีแดง ปากด้านบนสีแดงและด้านล่างสีเหลือง ตัวเมียที่โตเต็มที่แล้วบางครั้งคล้ายกับตัวผู้ แต่บ่อยครั้งปรากฏออกเป็นสีน้ำตาลมากกว่า (hepatic morph) คือ ด้านบนออกเป็นสีแดง-น้ำตาลโดยมีแถบเข้ม ด้านล่างสีจางกว่าโดยมีแถบที่จางกว่าด้วย มีริ้วจางเหนือตาและหาง มีแถบสีเข้มยาวตลอดหาง ส่วนนกวัยเยาว์จะคล้ายกับตัวเมียที่ออกเป็นสีน้ำตาล แต่จะจางกว่า และจะมีริ้วลายเข้มแทนที่จะเป็นแถบบนยอดศีรษะและคอ

ตัวผู้มีเสียงหวีดหวิวที่ฟังดูละห้อยโหยหวน ซึ่งรวมการร้องเป็นชุดวลีมีสามโน้ตที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และชุดเสียงเป็น 11-12 โน้ตที่ต่ำลงเรื่อย ๆ

การกระจายพันธุ์และพันธุ์ย่อย[แก้]

มีพันธุ์ย่อย 4 อย่างคือ พันธุ์ต้นแบบ C. m. merulinus อยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีอยู่อย่างสามัญในเกาะใหญ่ ๆ ส่วนพันธุ์ย่อย C. m. querulus เป็นพันธุ์ที่สามัญที่สุด มีอยู่ทางอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ จีนใต้ พม่า ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เป็นนกเยี่ยมเยียนสำหรับถิ่นฐานในประเทศจีน และอพยพมาทางใต้ในหน้าหนาว ส่วนพันธุ์ย่อย C. m. threnodes พบในคาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และพันธุ์ย่อย C. m. lanceolatus ในเกาะชวา เกาะบาหลี และเกาะซูลาเวซี

ส่วนนกพันธุ์ C. passerinus (grey-bellied cuckoo) ก่อนหน้านี้จัดเป็นพันธุ์ย่อย แต่ปัจจุบันมักจะจัดเป็นพันธุ์ต่างหาก

นิเวศ[แก้]

นกอยู่ตามชายป่า ป่าไม้เปิด ป่าไม้พุ่ม ทุ่งหญ้า พื้นที่ที่สามารถทำเกษตรกรรมได้ อุทยาน และสวน นกกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร ปกติอยู่โดด ๆ และบ่อยครั้งยากที่จะเห็น เป็นนกปรสิตไข่ให้นกอื่นเลี้ยง คือไข่ในรังของนกยอดข้าวหางแพน นกกระจิบหญ้า และนกกระจิบกัมพูชา ไข่จะเหมือนของนกอื่นยกเว้นใหญ่กว่า นกเล็ก ๆ บางครั้งจะรุมตีนกอีวาบตั๊กแตนเพื่อไล่ไปจากรังของพวกมัน

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. BirdLife International (2012). "Cacomantis merulinus". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 2013-11-26.

เสียงนก[แก้]

อ้างอิงอื่น ๆ[แก้]

  • Kennedy, Robert S.; Gonzales, Pedro C.; Dickinson, Edward C.; Miranda, Hector C. & Fisher, Timothy H. (2000) A Guide to the Birds of the Philippines, Oxford University Press, Oxford.
  • MacKinnon, John & Phillipps, Karen (2000) A Field Guide to the Birds of China, Oxford University Press, Oxford.
  • Robson, Craig (2002) A Field Guide to the Birds of South-East Asia. New Holland, London.