ห้องสารภัณฑ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Cabinet of curiosities)
“พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เวอร์มิเนีย” แสดงให้เห็นถึงลักษณะของห้องสารภัณฑ์

ห้องสารภัณฑ์ (อังกฤษ: cabinet of curiosities หรือ cabinets of Wonder หรือ Kunstkammer หรือ Wunderkammer) คือการสะสมสิ่งของที่น่าสนใจที่เนื้อหาของสิ่งที่อยู่ในข่ายการสะสมในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของยุโรปไม่ได้ให้คำจำกัดความที่แน่นอน ในสมัยปัจจุบัน “ห้องสารภัณฑ์” หมายถึงสิ่งที่อาจจะเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา (ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นของปลอมก็ได้), ธรณีวิทยา, ชาติพันธุ์วรรณนา, โบราณคดี, รำลึกวัตถุทางศาสนาหรือประวัติศาสตร์, งานศิลปะ (รวมทั้งจิตรกรรมตู้) และวัตถุโบราณ “ห้องสารภัณฑ์ถือว่าเป็น “โลกย่อ” (microcosm) หรือ “เวทีโลก” (theater of the world) และ “เวทีแห่งความทรงจำ” ห้องสารภัณฑ์เป็นการสะท้อนถึงการพยายามควบคุมโลกภายนอกของผู้สะสมในรูปแบบของสิ่งที่สะสมในโลกส่วนตัว”[1] ตามความเห็นของปีเตอร์ ทอมัสเกี่ยวกับสิ่งสะสมในห้องสารภัณฑ์ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษเป็นรูปการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่ง[2] นอกจากนั้นแล้วห้องสารภัณฑ์ของนักสะสมผู้มีชื่อเสียงหลายคนที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐานในยุโรปของชนชั้นปกครอง, ขุนนาง, พ่อค้า หรือ นักวิทยาศาสตร์ ก็เป็นต้นตอของสิ่งที่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ต่อมา

ประวัติ[แก้]

คำว่าตู้ (Cabinet) ในทางสถาปัตยกรรมหมายถึง “ห้อง” มิใช้ “ตู้” ที่เป็นเฟอร์นิเจอร์เช่นที่เข้าใจกัน ห้องสารภัณฑ์เริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่การสะสมอย่างง่ายๆ มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว ห้องสารภัณฑ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ครองราชย์ ค.ศ. 1576-ค.ศ. 1612) ที่ตั้งอยู่ที่ ปราสาทปรากเป็นตู้ที่ไม่มีผู้ใดเทียมได้ทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ ที่นอกจากจะทรงใช้เป็นที่หาความสงบจากโลกภายนอก[3] แล้วก็ยังทรงใช้เป็นเครื่องแสดงความมีอำนาจของพระองค์ จากวิธีการจัดตั้งสิ่งที่แสดงอย่างมีความหมาย ต่อราชทูตและขุนนางต่างที่มาเฝ้า[4] พระปิตุลาของพระองค์เฟอร์ดินานด์ที่ 2 อาร์คดยุคแห่งออสเตรียก็ทรงมีห้องสารภัณฑ์ของตนเอง ที่เน้นการสะสมภาพเขียนของผู้มีลักษณะพิการต่างๆ ซึ่งยังคงรักษาไว้โดยแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใน “ห้องศิลปะและสิ่งน่ารู้” (Chamber of Art and Curiosities) ที่ ปราสาทอัมบราส์ในออสเตรีย

ห้องสารภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา แฟร์รันเต อิมเพอราโต (เนเปิลส์ ค.ศ. 1599) ตัวอย่างแรกๆ ของห้องสารภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

ตัวอย่างแรกของห้องสารภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเป็นภาพพิมพ์ของแฟร์รันเต อิมเพอราโต ที่เนเปิลส์จากปี ค.ศ. 1599 ซึ่งเป็นเครื่องแสดงความมีความรู้จริงของเจ้าของห้องทางด้านความรู้ทางธรรมชาติวิทยา ในภาพทางขวาเป็นชั้นเปิดที่เต็มไปด้วยหนังสือ ที่วางเป็นตั้งๆ ตามแบบการวางหนังสือบนชั้นหนังสือในยุคกลาง หรือวางโดยให้สันหนังสืออยู่ตอนบนเพื่อกันจากฝุ่น ซึ่งไม่เป็นที่น่าข้องใจว่าบางเล่มก็คงจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา เนื้อที่ทุกตารางนิ้วในห้องเต็มไปด้วยสิ่งของต่างๆ ที่รวมทั้ง ปลา หอย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยมีจระเข้แขวนกลางเพดานกลางห้อง ทางด้านซ้ายของห้องเป็น “studiolo”[5] ที่เป็นตู้ฝังผนัง ด้านหน้าปิดเปิดได้ ภายในเป็นตัวอย่างแร่ธาตุ และสิ่งของต่างๆ อีกมากมาย[6] เหนือตู้รายด้วยนกสตัฟหน้าแผ่นหินฝังตัวอย่าง ที่คงจะเป็นหินอ่อน และแจสเปอร์ หรืออาจจะเป็นลิ้นชักเล็กๆ สำหรับตัวอย่างสิ่งของ ตอนล่างเป็นตู้เก็บกล่องตัวอย่างและโหลเก็บตัวอย่าง

ห้องสารภัณฑ์สองห้องที่มีชื่อเสียงที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก็ได้แก่ห้องโอลเวิร์ม (Ole Worm) ของโอเลาส์ เวอร์เมียส (ค.ศ. 1588-1654) นายแพทย์และนักสะสมของโบราณชาวเดนมาร์ก และของ อทานาเซียส เคอร์เชอร์ (Athanasius Kircher) (ค.ศ. 1602-1680) ผู้คงแก่เรียนและนักบวชเยซูอิดชาวเยอรมัน ห้องสารภัณฑ์ของคริสต์ศตวรรษที่ 17 สองห้องนี้เต็มไปด้วยสัตว์สตัฟ, เขาสัตว์, งาช้าง, โครงกระดูก, แร่ธาตุ และ สิ่งอื่นๆ ที่น่ารู้น่าเห็นที่สร้างโดยมนุษย์ ที่รวมทั้งประติมากรรมโบราณ, หุ่นกล (automaton) ; ตัวอย่างของใช้ที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์วรรณนาต่างๆ จากแดนแปลกแดนไกล สิ่งของเหล่านี้เป็นการสะสมที่ไม่ใช่การสะสมทางหลักวิทยาศาสตร์/ประวัติศาสตร์เช่นที่ทำกันในปัจจุบัน แต่เป็นการสะสมที่ผสมระหว่างสิ่งที่เป็นความจริงและสิ่งที่สร้างความพิศวงให้แก่ผู้ดูที่อาจจะเป็นสิ่งที่คิดขึ้นโดยปราศจากมูลความจริง หรือ รวมทั้งสัตว์จากตำนานลึกลับ เช่นงานสะสมของโอลเวิร์มรวมทั้ง ต้นแกะแห่งทาทารี (Vegetable Lamb of Tartary) ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เชื่อกันว่าออกผลเป็นแกะที่พบกลางทวีปเอเชีย แต่ในขณะเดียวกันโอลเวิร์มก็เป็นผู้ระบุว่างาของนาร์วาฬ (narwhal) เป็นงาของวาฬแทนที่จะเป็นเขาของยูนิคอร์นตามที่เจ้าของผู้อื่นเชื่อกัน ตัวอย่างที่แสดงในห้องสารภัณฑ์มักจะได้มาจากการเดินทางสำรวจ หรือ การเดินทางค้าขาย

A corner of a cabinet, painted by ฟรันส์ แฟรงเค็นผู้เยาว์ (Frans Francken the Younger) ในปี ค.ศ. 1636 แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ควรสะสมของคอผนักสะสมตู้สารภัณฑ์ในสมัยบาโรก

ตู้สารภัณฑ์มักจะเป็นอุปกรณ์ประกอบความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เมื่อมีการพิมพ์ภาพเนื้อหาของห้อง “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เวอร์มิเนีย” (ค.ศ. 1655) ใช้สิ่งที่สะสมเป็นจุดเริ่มต้นของการเล็งของเวิร์มเกี่ยวกับปรัชญา, วิทยาศาสตร์, ธรรมชาติวิทยา และ อื่นๆ

ในปี ค.ศ. 1587 กาเบรียล คาลเทอมารคท์ให้คำแนะนำแก่คริสเตียนที่ 1 แห่งแซกโซนีสามประการพื้นฐานอันจำเป็นของการสร้างงานสะสมสำหรับ “ตู้สารภัณฑ์” หรืองานสะสมศิลปะ: ประการแรกคือการสะสมประติมากรรม ประการที่สอง “สิ่งที่น่าสนใจจากแดนไกล” และประการที่สาม “หัว, เขา, อุ้งตีน, ขน และสิ่งอื่นๆ ที่เป็นของสัตว์ที่แปลกที่เป็นที่น่ารู้น่าเห็น”[7] เมื่ออัลเบรชท์ ดือเรอร์เดินทางไปเที่ยวในเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1521 นอกจากงานจิตรกรรมที่ส่งกลับมายังNurembergแล้ว ดือเรอร์ก็ยังส่งสิ่งอื่นที่รวมทั้งเขาสัตว์ ชิ้นปะการัง, ครีบปลาขนาดใหญ่ และอาวุธที่ทำด้วยไม้จากอีสต์อินดีสกลับมาด้วย[8] ลักษณะที่บ่งถึงความสนใจทั่วไปของการสะสมสิ่งของแบบต่างสำหรับตู้สารภัณฑ์เห็นได้จากภาพเขียนโดยฟรันส์ แฟรงเค็นผู้เยาว์ที่เขียนในปี ค.ศ. 1636 แสดงให้เห็นภาพเขียนที่สะสมบนผนังที่มีตั้งแต่ภาพภูมิทัศน์ที่รวมทั้งภาพคืนที่มีพระจันทร์ส่องสว่าง ไปจนถึงภาพเหมือน และ ภาพทางศาสนา (“การชื่นชมของแมไจ”) ผสมเผสกับปลาสตัฟจากประเทศร้อน, สร้อยลูกปัดที่อาจทำจากไพลิน ซึ่งเป็นทั้งอัญมณีอันมีค่าและสิ่งที่น่าสนใจทางธรรมชาติวิทยา ประติมากรรมทั้งฆราวัสศิลป์และศาสนศิลป์

"นาร์วาฬตัวผู้หรือ ยูนิคอร์น"

พิพิธภัณฑ์แอชโมเลียนที่ออกซฟอร์ดได้รับมรดกจากอีไลอัส แอชโมล (Elias Ashmole) ที่มาจากงานสะสมส่วนใหญ่ที่เป็นของจอห์น เทรดสแคนท์ผู้อาวุโส (John Tradescant the elder) และบุตรชาย จอห์น เทรดสแคนท์ผู้เยาว์ (John Tradescant the younger) บางส่วนของงานสะสมยังคงตั้งแสดงอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นการแสดงถึงภาพพจน์ของความหลายหลายของสิ่งที่สะสม สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่สมบูรณ์คือนกโดโด้สตัฟที่ตกไปเป็นของพิพิธภัณฑ์พิทท์ริเวอร์สในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่งานหัตถกรรมของชาวอเมริกันอินเดียนที่เป็นเสื้อคลุมของชีพเพาว์ฮาทันผู้เป็นพ่อของโพคาฮอนทัสยังเป็นส่วนหนึ่งของงานสะสม

ห้องที่ตกแต่งอย่างงดงามของห้องสารภัณฑ์ฟรานเชสโคที่ 1ใน วังเวคโค, ฟลอเรนซ์

ตู้สารภัณฑ์เป็นสิ่งที่เป็นของผู้มีฐานะดีพอที่จะสะสมและรักษาสิ่งที่แสวงหามาได้ พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ต่างก็มีงานสะสมขนาดใหญ่ เช่นห้องสารภัณฑ์ฟรานเชสโคที่ 1 ที่เป็นของฟรานเชสโคที่ 1 เดอ เมดิชิผู้เป็นแกรนด์ดยุคคนแรกของทัสเคนี พระ เจ้าเฟรเดอริคที่ 3 แห่งเดนมาร์กก็เป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ทรงมีงานสะสมขนาดใหญ่ ผู้ทรงผนวกงานสะสมเวอร์เมียสเข้ามาเป็นของพระองค์ หลังจากการเสียชีวิตของเวอร์เมียส ตัวอย่างที่สามก็ได้แก่ พิพิธภัณฑ์คุนสท์คาเมราที่ก่อตั้งขึ้นโดยซาร์ปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซียในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี ค.ศ. 1727 สิ่งของที่สะสมหลายชิ้นซื้อมาจากอัมสเตอร์ดัมจากอัลเบอร์ทัส เซบา และ เฟรเดอริค รุยสช์ งานสะสมอันอลังการของราชวงศ์ฮับส์บวร์กรวมงานหัตถกรรมหลายชิ้นของแอซเท็คที่รวมทั้งขนนกประดับพระเศียรหรือมงกุฎของจักรพรรดิม็อคเตซูมาที่ 2 ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงเวียนนา

งานสะสมที่คล้ายคลึงกันแต่มีขนาดเล็กกว่าก็ได้แก่งานสะสมอันซับซ้อน “Kunstschränke” (ตู้ศิลปะ) ที่สร้างขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยพ่อค้า, นักการทูต และ นักสะสมศิลปะชาวออกสเบิร์กชื่อฟิลิปป์ เฮนโฮเฟอร์ งานสะสมที่ว่านี้เป็น “ตู้” ที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สร้างจากวัสดุหลากหลายที่ทั้งแปลกและมีราคาสูง และภายในตู้ก็เต็มไปด้วยสิ่งของต่างๆ ที่ตั้งใจที่จะให้เป็นโลกย่อของโลกทั้งหมด งานสะสมที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีนี้เป็นงานที่ออกสเบิร์กถวายแด่พระเจ้ากุสตาฟ อดอล์ฟัสแห่งสวีเดนในปี ค.ศ. 1632 ที่เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์กุสตาฟ ใน อุปซอลา

งานสะสมสำคัญที่เริ่มด้วยการเป็นห้องสารภัณฑ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Francesaco Fiorani, reviewing Bredecamp 1995 in Renaissance Quarterly 51.1 (Spring 1998:268-270) p 268.
  2. Thomas, "Charles I of England: The tragedy of Absolutism", A.G. Dickens, ed. The Courts of Europe (London) 1977:201.
  3. This is the secretive aspect emphasised by R.J.W. Evans, Rudolf II and His World: A Study in Intellectual Hisory (Oxford) 1973.
  4. Thomas DaCosta Kaufmann, "Remarks on the Collections of Rudolf II: The Kunstkammer as a Form of Representatio", Art Journal 38.1 (Autumn 1978:22-28.
  5. The small retreats in the palaces of Urbino and Gubbio were inlaid with intarsia that figured such fitted cabinets with feigned lattice doors and shelves filled with scientific instruments, books and small sculptures in trompe-l'oeil perspective. The Gubbio studiolo has been reassembled at the Metropolitan Museum; the Urbino studiolo remains in situ.
  6. Cabinet-makers serving the luxury trades of Florence and Antwerp were beginning to produce moveable cabinets with similar architectural interior fittings, which could be set upon a carpet-covered table or on a purpose-built stand.
  7. Gutfleish B and Menzhausen J, "How a Kunstkammer should be formed", Journal of the History of Collections, 1989 Vol I: p. 11.
  8. A Hyatt Mayor, Prints and People, Metropolitan Museum of Art/Princeton, 1971, nos 48.ISBN 0-691-00326-2
  • Under the Sign: John Bargrave as Collector, Traveler, and Witness, Stephen Bann, Michigan, 1995
  • The Origins of Museums: The Cabinets of Curiosities in Sixteenth- and Seventeenth-Century Europe, ed. Oliver Impey and Arthur MacGregor, 2001, paperback, 431 pages, ISBN 1-84232-132-3
  • Cabinets for the curious: looking back at early English museums, Ken Arnold, Ashgate, 2006, ISBN 0-7546-0506-X.
  • Mr. Wilson's Cabinet Of Wonder: Pronged Ants, Horned Humans, Mice on Toast, and Other Marvels of Jurassic Technology, Lawrence Weschler, 1996, trade paperback, 192 pages, ISBN 0-679-76489-5 (see website link above)
  • The Cabinet of Curiosities (novel), Douglas Preston and Lincoln Child, Warner Books, 2003, paperback, ISBN 0-446-61123-9.
  • Helmar Schramm et al. (ed.). Collection, Laboratory, Theater. Scenes of Knowledge in the 17th Century, Berlin/New York 2005, ISBN 978-3110177367
  • The Lure of Antiquity and the Cult of the Machine: The Kunstkammer and the Evolution of Nature, Art and Technology Horst Bredekamp (Allison Brown, translator) (Princeton: Marcus Weiner) 1995.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ห้องสารภัณฑ์