ระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก CDOS)
นิติวิทยาศาสตร์
ขอบเขตนิติวิทยาศาสตร์
นิติเวชศาสตร์นิติวิศวกรรมศาสตร์
นิติทันตวิทยานิติมานุษยวิทยา
การตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์เฉพาะบุคคล
การตรวจพิสูจน์บุคคล
การตรวจหาคราบอสุจิ ตัวอสุจิ
การศึกษาและพิสูจน์บุคคลจากฟัน
เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์
การพิสูจน์หลักฐานการตรวจวัตถุระเบิด
การตรวจภาพเชิงซ้อน
การตรวจทางเคมีการตรวจทางฟิสิกส์
การตรวจทางชีววิทยาการตรวจทางนิติเวช
การตรวจเอกสารการตรวจวัสดุเส้นใย
การตรวจสถานที่เกิดเหตุและการถ่ายรูป
การตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า
การตรวจอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลาง
เทคโนโลยีสารสนเทศ
AFISCDOSPICASSO
หน่วยงานในไทย
กองบังคับการอำนวยการ
พฐ.นิติวิทยาศาสตร์
วิทยาการเขต 1วิทยาการเขต 2
วิทยาการเขต 3วิทยาการเขต 4

ระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร (อังกฤษ: Criminals Database Operating System) หรือ CDOS เป็นการใช้ความรู้ทางด้านวิทยาการและระบบคอมพิวเตอร์ ในการชี้ชัดและระบุตัวผู้กระทำความผิดและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการสืบสวนสอบสวน ทะเบียนประวัติอาชญากรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้ในการตรวจสอบประวัติผู้กระทำความผิด และใช้ในการพิจารณาในการลงโทษ ลดโทษหรือป้องกันปราบปราม ตลอดจนใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยปกติแล้วบุคคลธรรมดาสามารถจดจำและแยกแยะคนร้ายได้เฉพาะภายในท้องที่ของตนเองเท่านั้น การจดจำใบหน้าและลักษณะของคนร้ายทั้งหมดโดยใช้ความทรงจำของแต่ละบุคคล เป็นสิ่งที่จำเป็นในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวน[1]

การเก็บข้อมูลประวัติบุคคล การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลายพิมพ์นิ้วมือแฝง ข้อมูลเกี่ยวกับแผนประทุษกรรมหรือวิธีการของผู้กระทำความผิด ฯลฯ โดยใช้การเก็บแยกข้อมูลออกเป็นประเภทต่าง ๆ เช่นอาจเก็บบันทึกข้อมูลในรูปของสารบบ ดัชนีหรือแฟ้มโดยการเรียงค่าตามรหัสหรือตามลำดับตัวอักษร เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวคือ "การเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างมีระบบ" และเป็นวิธีการดำเนินการทางด้าน "ทะเบียนประวัติอาชญากร" ทำให้ทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งเป็นงานหลักทางด้านวิทยาการที่มีความสำคัญอีกหน่วยงานหนึ่ง ถือกำเนิดขึ้น

ความสำคัญ[แก้]

ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นปัญหาอาชญากรรมที่มีความแตกต่างจากอาชญากรรมในอดีต ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศมีความเจริญก้าวหน้าและมีบทบาทในชีวิตประจำวันแก่ประชาชนทั่วไป ในขณะเดียวกัน อาชญากรรมกลับนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการกระทำความผิด ทำให้ปัญหาอาชญกรรมเกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งรูปแบบและวิธีการ รวมทั้งมีความสลับซับซ้อนมากกว่าเดิม ทำให้ยากต่อการป้องกันและปราบปราม โดยเฉพาะส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวน

ในอดีต พนักงานสอบสวนโดยทั่วไปมักมุ่งเน้นการสอบสวนไปที่การหาพยานและบุคคลสำคัญในที่เกิดเหตุ แต่ในทางกลับกันในบางครั้งผู้กระทำความผิดกระทำความผิดจริง แต่พนักงานสอบสวนไม่มีหลักฐานและพยานด้านเอกสารหรือวัตถุเข้ามาประกอบการพิจารณาคดี ทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับการยกฟ้องหรือปล่อยตัวเนื่องจากขาดพยานหลักฐานที่เพียงพอ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาคดีอาญาต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้ความพยายามในการสืบสวนและติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดมาทำการฟ้องร้องแก่ศาล และนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำการสืบสวนสอบสวนจะต้องใช้วิชาความรู้ทางด้านวิทยาการตำรวจแล้ว ยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิทยาการตำรวจและประวัติความเป็นมา รวมทั้งวิธีการของคนร้ายในประเภทต่าง ๆ อีกด้วย

ลักษณะของการปฏิบัติงาน[แก้]

ระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นสาขาหนึ่งของงานทางด้านวิทยาการ ที่สามารถอำนวยประโยชน์และสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น โดยปกติงานด้านทะเบียนประวัติอาชญากรมักดำเนินการควบคู่กับการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือซึ่งสามารถดำเนินการควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการชี้ระบุตัวบุคคล ต้องอาศัยงานทางด้านพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือเป็นเครื่องยืนยันหลักฐาน และอาศัยวิธีการด้านการทะเบียนประวัติอาชญากรรมเป็นแนวทางในการเอื้ออำนวยในการตรวจสอบ ซึ่งทะเบียนประวัติอาชญากรรม มีลักษณะการปฏิบัติงาน ดังนี้

  • ลักษณะของการเก็บข้อมูล

การเก็บข้อมูล เป็นการเก็บรวบรวมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ โดยนำมาจัดเก็บเป็นบัตรสารบบหรือเก็บแบบแฟ้มและจัดเรียงตามรหัสหรือหมายเลขทะเบียน หรือจัดเรียงตามลำดับตัวอักษร แล้วแต่ตามหลักวิธีการต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ทำการจัดเก็บได้แก่ เอกสารแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ เอกสารรายงานแผ่นประทุษกรรม รูปถ่ายผู้ต้องหา เอกสารหมายจับและตำหนิรูปพรรณผู้กระทำความผิด เป็นต้น

  • ลักษณะของการตรวจสอบและแจ้งผล

การตรวจสอบและแจ้งผลของการตรวจสอบผู้กระทำความผิด ในการปฏิบัติงานด้านทะเบียนประวัติอาชญากร จะมีลักษณะของการเก็บข้อมูลดังกล่าว ทำให้มีข้อมูลภายในฐานข้อมูลเป็นจำนวจมาก และมีการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและมีการตรวจสอบและแจ้งผลตลอดเวลา สำหรับวิธีการตรวจสอบข้อมูลส่วนใหญ่ จะใช้วิธีการตรวจสอบด้วยระบบดัชนีและลายพิมพ์นิ้วมือ ซึ่งเป็นระบบเดียวกับ เอฟ.บี.ไอ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาไมโครฟิล์มและเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานอีกด้วย

  • ลักษณะของการออกประกาศต่าง ๆ

การออกประกาศต่าง ๆ เช่นการประกาศสืบจับ ประกาศรางวัลสินบนนำจับ ประกาศตำหนิรูปพรรณของทรัพย์สิน ประกาศคนหายและพลัดหลง รวมทั้งการประกาศคนตายที่ไม่ทราบชื่อ เป็นต้น

ประโยชน์ของระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร[แก้]

ระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เช่นประวัติบุคคล แผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ หมายจับและตำหนิของผู้กระทำความผิด ตำหนิรูปพรรณทรัพย์หรือแม้แต่ประวัติของผู้ต้องขัง ดังนั้นเจ้าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถใช้ประโยชน์จากงานด้านทะเบียนประวัติอาชญากรได้ ดังนี้

ด้านการสืบสวน[แก้]

ระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร มีประโยชน์ในด้านการสืบสวนในกรณีที่เจ้าทุกข์หรือพยาน สามารถจดจำลักณะและใบหน้าของผู้กระทำความผิดได้ สามารถช่วยสืบค้นหาตัวผู้กระทำความผิดได้จากงานด้านทะเบียนประวัติอาชญากร ในลักษณะของงานด้านสารบบภาพถ่ายคนร้าย (สมุดภาพคนร้าย) การสเก็ตซ์ภาพคนร้ายและการประกอบใบหน้าบุคคลแบบกระเป๋าหิ้ว หรือในกรณีที่ทราบชื่อผู้กระทำคามผิดหรือสามารถจดจำตำหนิรูปพรรณบางอย่างของผู้กระทำความผิดได้ หรือทราบเพียงข้อมูลและวิธีการดำเนินการของผู้กระทำความผิด ก็สามารถใช้งานทะเบียนประวัติอาชญากรในการช่วยสืบค้นได้จากการค้นหาดัชนีชื่อกลาง ดัชนีตำหนิรูปพรรณ ตำหนิแผลเป็น รอยสักหรือสิ่งพิกลพิการภายในร่างกาย หรือค้นหาด้วยดัชนีวิธีการ

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำทรัพย์สินไปจำนำ งานด้านระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรสามารถช่วยตรวจสอบและค้นหาได้จากการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือในต้นขั้วของตั๋วจำนำ ค้นหาด้วยดัชนีลายพิมพ์นิ้วมือเดียวและตรวจสอบรายชื่อได้จากดับชีชื่อกลาง หรือในกรณีที่พบทรัพย์สินของกลางแต่ไม่ทราบตัวผู้เป็นเจ้าของ และถ้ามีการแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจ ก็สามรถสืบค้นหาได้จากดัชนีทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้าย การตรวจสอบตัวผู้กระทำความผิดที่หลบหนีจากการจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ งานด้านทะเบียนประวัติอาชญากรโดยกองทะเบียนประวัติอาชญากร สามารถช่วยสืบหาด้วยการออกประกาศหมายจับและจัดส่งให้แก่สถานีตำรวจทั่วราชอาณาจักรเพื่อติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดต่อไป

ด้านการสอบสวน[แก้]

ในด้านการสอบสวน ระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร จะช่วยในการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา เพื่อที่ต้องการทราบว่าผู้ต้องหานั้น เคยกระทำความผิดหรือมีคดีเคยต้องโทษมาก่อนหรือไม่ และช่วยในการตรวจสอบประวัติการทำแผนประทุษกรรมของผู้ต้องหา เพื่อตรวจสอบผู้ต้องหาว่าเคยกระทำความผิดมาก่อนด้วยวิธีการใด และเคยต้องโทษคดีความใดบ้าง นอกจากนั้นระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร ยังช่วยตรวจสอบดัชนีการประกาศสืบจับตัวผู้กระทำความผิดทางคดีอาญา หรืออยู่ในระหว่างหลบหนีจากการจับกุม และช่วยตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือของศพ เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดต่อไป

ด้านการป้องกันปราบปราม[แก้]

ในด้านการป้องกันปราบปราม ได้กำหนดให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร กองกำกับการวิทยาการหรือวิทยาการจังหวัดแล้วแต่กรณี มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดทำประวัติบุคคลที่พ้นโทษ พร้อมจัดส่งไปยังสถานนีตำรวจท้องที่ ที่บุคคลที่พ้นโทษมีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อเป็นการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่รับทราบ และจัดเก็บข้อมูลของบุคคลที่พ้นโทษเอาไว้ พร้อมกับคอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมและความเคลื่อนไหว ถ้าหากบุคคลที่พ้นโทษไปแล้วกระทำความผิดอีกครั้ง ก็สามารถนำเอาข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ มาใช้ในการสืบสวนและปราบปรามต่อไป

ระบบคอมพิวเตอร์กับทะเบียนประวัติอาชญากร[แก้]

ในการป้องกันปราบปรามการเกิดอาชญากรรม ซึ่งเป็นภารกิจและหน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งมีข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากร ที่สามารถให้การสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะของการสืบสวนสอบสวน เพื่อติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิด แม้บางครั้งการออกติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดนั้น ยังไม่สามารถจับกุมตัวได้สำเร็จ ตลอดจนไม่ทราบข้อมูลเพื่อเป็นการยืนยันประวัติของผู้กระทำความผิดที่ควบคุมตัวไว้ได้

ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามขั้นตอนของกฎหมาย ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องสามารถตรวจสอบกลับและสรุปผลรายงานได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และรวดเร็วทันต่อเวลาในการปฏิบัติงาน เนื่องจากความยุติธรรมและความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน เป็นสิ่งสำคัญที่จะเกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติงานและเกิดความล่าช้าไม่ได้ กองทะเบียนประวัติอาชญากรจึงเป็นหน่วยงานกลางของสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีหน้าที่ในการจัดระบบข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้งาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน โดยมีระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความแตกต่างกันตามลักษณะของการปฏิบัติงานและลักษณะของข้อมูล รวมทั้งวิธีการปฏิบัติงาน โดยระบบคอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้ภายในกองทะเบียนประวัติอาชญากร มีดังนี้

  • ระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร
  • ระบบตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมืออัตโนมัติ
  • ระบบคอมพิวเตอร์ประกอบภาพใบหน้าคนร้าย

ระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร[แก้]

ระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร (Criminals Database Operating System) หรือ CDOS เป็น e-Government ประเภทหนึ่งที่ใช้ในการแกะรอยติดตามตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษตามกฎหมาย แบ่งระบบข้อมูลออกตามแต่ภาระหน้าที่ในการปฏิบัติงานเป็น 5 ระบบ ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เชื่อมโยงกันโดยอัตโนมัติ เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานซึงกันและกัน รวมทั้งเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาจากการประสานงานระหว่างบุคคล

ปัจจุบัน "รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์" (e-Government) คือวิธีการในการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ โดยการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครื่อข่ายสื่อสาร เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของภาครัฐ รวมทั้งปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน บริการงานทางด้านข้อมูลและสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประชาชนได้รับการบริการจากภาครัฐที่ดีขึ้น มีความใกล้ชิดกับภาครัฐมากขึ้น อีกทั้งทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ดีขึ้นด้วย[2] ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวน สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างรวดเร็ว

ระบบงานย่อยของระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร มีชื่อเรียกตามหน้าที่ของงานแต่ละประเภทคือ

  1. ระบบข้อมูลหมายจับ
  2. ระบบข้อมูลบุคคลพ้นโทษ
  3. ระบบข้อมูลบัญชีประวัติการกระทำความผิด
  4. ระบบข้อมูลแผนประทุษกรรม
  5. ระบบข้อมูลประวัติอาชญากร

ระบบข้อมูลหมายจับ[แก้]

ระบบข้อมูลหมายจับ ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้บันทึกและจัดเก็บข้อมูลหมายจับของผู้กระทำความผิด และแบบงดสืบจับเพื่อออกประกาศให้แก่สถานีตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธรและตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาทั่วราชอาณาจักร ในการใช้ประกาศจับเพื่อติดตามตัวผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ระบบข้อมูลหมายจับ ยังสามารถให้บริการในการสืบค้นข้อมูลหมายจับ ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสืบสวนสอบสวนหรือเจ้าพนักงานในแผนกต่าง ๆ ภายในกองทะเบียนประวัติอาชญากร

ระบบข้อมูลบุคคลพ้นโทษ[แก้]

ระบบข้อมูลบุคคลพ้นโทษ ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้บันทึกและจัดเก็บข้อมูลของบุคคลพ้นโทษ โดยรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติส่วนบุคคล ภูมิลำเนาของบุคคลพ้นโทษจะกลับไปอาศัย รวมทั้งพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของบุคคลพ้นโทษ นอกจากใช้เก็บบันทึกประวัติบุคคลพ้นโทษแล้ว ระบบข้อมูลบุคคลพ้นโทษยังสามารถใช้ในการสืบค้นประวัติของบุคคลพ้นโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสืบสวนสอบสวนรวมทั้งให้บริการแก่แผนกต่าง ๆ ภายในกองทะเบียนประวัติอาชญากร

ระบบข้อมูลบัญชีประวัติการกระทำความผิด[แก้]

ระบบข้อมูลบัญชีประวัติการกระทำความผิด ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้บันทึกประวัติของผู้กระทำความผิด หรือเก็บบันทึกประวัติผู้ขออนุญาตเกี่ยวกับอาวุธ เฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติมาแล้วมากกว่า 1 ครั้ง นำมายุบรวมกันแล้วใช้อ้างอิงถึงกันได้ว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน นอกจากนั้นระบบข้อมูลบัญชีประวัติการกระทำความผิด ยังสามารถใช้ในการออกจดหมายสอบถามผลคดีและบันทึกผลคดีที่เข้ามา เพื่อช่วยให้ประวัติของผู้กระทำความผิดมีความสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ระบบข้อมูลแผนประทุษกรรม[แก้]

ระบบข้อมูลแผนประทุษกรรม ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้บันทึกและจัดเก็บข้อมูลแผนประทุษกรรม และประวัติตำหนิรูปพรรณของผู้กระทำความผิด เพื่อประโยชน์ในการให้ข้อมูลและสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานสอบสวน ในการหาตัวผู้กระทำความผิดที่หลบหนีและติดตามตัวยังไม่ได้ การสืบค้นแผนประทุษกรรมโดยการค้นหาวิธีการกระทำความผิดที่มีความเหมือนหรือคล้าย ๆ กัน หรือสืบค้นตัวผู้กระทำความผิดที่มีลักษณะและความชำนาญในการกระทำความผิดและตำหนิรูปพรรณที่คล้ายคลึงกัน

ระบบข้อมูลประวัติอาชญากร[แก้]

ระบบข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้บันทึกและจัดเก็บประวัติของผู้ต้องหา ผู้ขออนุญาตเกี่ยวกับอาวุธและใช้ในการตรวจสอบประวัติของผู้ต้องหา ผู้ขออนุญาตเกี่ยวกับอาวุธและผู้สมัครงาน รวมทั้งผู้ขออนุญาตในรูปแบบอื่น ที่ถูกจัดส่งเข้ามาจัดเก็บและสอบถามประจำวัน นอกจากนี้ระบบข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร ยังมีความสามารถในการออกจดหมายสอบถามยังผลคดีและบันทึกผลคดี เพื่อเป็นการแจ้งผลคดีที่ถูกต้องและสมบูรณ์ เพื่อเป็นประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ความสำคัญของงานทะเบียนประวัติอาชญากร, พ.ต.อ.ดนัย ตังธนกานนท์ รศ.(สบ.4) ภาควิชาวิทยาการตำรวจ ส่วนวิชาการสืบสวนและสอบสวน บก.วก.รร.นรต., หน้า 9, พ.ศ. 2543
  2. "รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-20. สืบค้นเมื่อ 2008-04-01.