ข้ามไปเนื้อหา

ศิลปะบรึงกอเวเนสก์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Brâncovenesc style)
ศิลปะบรึงกอเวเนสก์
ช่วงเวลารัชสมัยของกอนสตันติน บรึงกอเวอานู

ศิลปะบรึงกอเวเนสก์ (อักษรโรมัน: Brâncovenesc, เสียงอ่านภาษาโรมาเนีย: [brɨŋkovenesk]; โรมาเนีย: artă brâncovenească หรือ stil brâncovenesc) หรืออาจเรียกว่า เรนเนสซองส์วัลลาเกีย (Wallachian Renaissance) หรือ เรนเนสซองส์โรมาเนีย (Romanian Renaissance) เป็นรูปแบบศิลปกรรมที่พัฒนาขึ้นในสมัยปกครองของเจ้าชายกอนสตันติน บรึงกอเวอานูในปลายศตวรรษที่ 17 ถึงตนศตวรรษที่ 18[1] บรึงกอเวอานูเป็นดอมน์และวอยวอดแห่งรัฐวัลลาเกียระหว่าวปี 1688 ถึง 1714 ในฐานะขุนนางที่มั่งคั่งและได้สร้างวังและโบสถ์สวยงามมากมาย[1][2] ศิลปกรรมบรึงกอเวเนสก์มุ่งเน้นไปที่สถาปัตยกรรม แต่ก็มีแสดงออกในรูปจิตรกรรมและประติมากรรม เช่นกัน

สถาปัตยกรรม

[แก้]

รูปแบบสถาปัตยกรรมบรึงกอเวเนสก์พัฒนาขึ้นในวัลลาเกีย บริเวณที่ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของประเทศโรมาเนีย โดยเกิดจากการสังเคราะห์สถาปัตยกรรมบีแซนทีน, ออตโตมัน และเรนเนสซองส์ตอนปลาย จึงเป็นการผสมผสานที่แปลกใหม่ระหว่างองค์ประกอบศิลปะของคริสต์ศาสนาแบบออร์ทอดอกซ์โรมาเนีย และรูปแบบสถาปัตยกรรมอิสลามที่วัลลาเกียเคยเป็นรัฐใต้ปกครอง[2] ตัวอย่างชิ้นสำคัญที่สุกของสถาปัตยกรรมบรึงกอเวเนสก์คืออารามฮอเรซู ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก อารามนี้สร้างขึ้นโดยเจ้าชายบรึงกอเวอานูโดยประสงค์ให้ใช้งานเป็นที่ไว้ศพของตนเอง

สถาปัตยกรรมบรึงกอเวเนสก์มีอิทธิพลมากต่อสถาปนิก ยอน มินกู และคนอื่น ๆ ทำให้เกิดขบวนการสถาปัตยกรรมบรึงกอเวเนสก์ใหม่ (Neo-Brâncovenesc) (หรือเรียกว่า สถาปัตยกรรมโรมาเนียใหม่ [Neo-Romanian] หรือ ฟื้นฟูโรมาเนีย [Romanian Revival]) ในปลายศตวรรษที่ 19[1][2] โดยผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมอาร์ตนูโว, บีแซนทีน, อิตาลี และพื้นถิ่น[3] ยอน มินกู, กรีกอเร เชร์เชซ, กริสตอฟี เชร์เชซ, เปเตร อันตอเนสกู และ นีกอลาเอ กีกา-บูเดชต์ ประกาศว่าสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสถาปัตยกรรมมอเดิร์นที่มีความจำเพาะต่อโรมาเนีย ดังที่ปรากฏในบทบรรยายโดยอาเล็กซันดรู ออดอเบสกู ในราวปี 1870[4]

จิตรกรรมและประติมากรรม

[แก้]

แม้ว่าศิลปกรรมแบบบรึงกอเวเนสก์จะมุ่งเน้นไปที่สถาปัตยกรรม แต่ก็ปรากฏในรูปจิตรกรรมและประติมากรรมเช่นกัน ดังที่พบในฉากพระแท่นบูชาและจิตรกรรมฝาผนังของโบสถ์นักบุญนีกอลัสในเฟอเกอรัช[5] ส่วนประติมากรรมมีอิทธิพลของเวนิสอย่างชัดเจน[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Historic Houses of Romania blog: "Brancovenesc Style" เก็บถาวร 2014-08-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน . Valentin Mandache's weblog . accessed 10.8.2013
  2. 2.0 2.1 2.2 Historic Houses of Romania blog: "Brief consideration on the Brancovan style architecture" เก็บถาวร 2013-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Valentin Mandache's weblog . accessed 10.8.2013
  3. Popescu, Raluca Alexandra. "Stilul arhitectural neoromânesc în clădirile din București". historia.ro. สืบค้นเมื่อ May 23, 2021.
  4. Paul, Constantin (1977). Mică Enciclopedie de Arhitectură, Arte Decorative și Aplicate Moderne (ภาษาโรมาเนีย). Editura Științifică și Enciclopedică.
  5. Porumb, Marius (28 July 2014). "Arta brâncovenească - simbol al credinței și al neamului românesc". Ziarul Lumina (ภาษาโรมาเนีย).
  6. Zanea, Roxana (11 April 2017). "Influențele artei venețiene în sculptura decorativă a epocii brâncovenești. Palatele rezidențiale". Matricea Românească (ภาษาโรมาเนีย).