วาฬหัวคันศร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Bowhead whale)
วาฬหัวคันศร
วาฬหัวคันศรคู่ในทะเลโอค็อตสค์ใกล้ชายฝั่ง
ขนาดเมื่อเทียบกับมนุษย์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
อันดับฐาน: Cetacea
อนุอันดับ: Mysticeti
วงศ์: Balaenidae
สกุล: Balaena
Linnaeus, 1758
สปีชีส์: B.  mysticetus
ชื่อทวินาม
Balaena mysticetus
Linnaeus, 1758
สถานที่ ๆ อยู่อาศัยของวาฬหัวคันศร

วาฬหัวคันศร หรือ วาฬโบว์เฮด (อังกฤษ: bowhead whale; ชื่อวิทยาศาสตร์: Balaena mysticetus) เป็นสัตว์เลี้ยงด้วยนมในทะเลขนาดใหญ่ จำพวกวาฬชนิดหนึ่ง จัดเป็นวาฬไม่มีฟัน หรือวาฬบาลีนชนิดหนึ่ง

วาฬหัวคันศร จัดเป็นวาฬที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่มีความยาวได้ถึง 20 เมตร น้ำหนักกว่า 100 ตัน วาฬหัวคันศรมีจุดเด่น คือ มีส่วนหัวที่ใหญ่ ใต้คางหรือกรามเป็นสีขาว มีปากกว้างใหญ่คล้ายหัวคันธนู มีรูจมูกขนาดใหญ่อยู่ด้านบนหัว ส่วนหัวที่ใหญ่นี้สามารถใช้กระแทกน้ำแข็งที่หนาเป็นเมตรให้แตกแยกออกจากกันได้ ซึ่งต้องใช้แรงมากถึง 30 ตัน เพราะเป็นวาฬที่อาศัยอยู่แถบอาร์กติก ซึ่งเป็นสถานที่ ๆ หนาวเย็นและห่างไกลมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้แล้ววาฬหัวคันศรยังถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุยืนที่สุดในโลกอีกด้วย โดยตัวที่มีอายุมากที่สุดมีบันทึกว่ามากถึง 211 ปี

ลูกวาฬหัวคันศร เมื่อแรกเกิดจะมีผิวหนังที่ย่นและมีสีอ่อนกว่าตัวเต็มวัย มีน้ำหนักราว 3-4 ตัน ลูกวาฬจะดูดกินนมแม่ภายในขวบปีแรก โดยหัวนมแม่จะอยู่ใกล้กับหาง แม่วาฬและลูกวาฬจะมีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น ลูกวาฬบางครั้งจะกลัวแผ่นน้ำแข็งซึ่งที่จริงแล้วใช้เป็นแหล่งกำบังตัวจากศัตรูได้ดีที่สุด แม่วาฬจะว่ายนำลูก เพื่อให้ลูกวาฬหายกลัว ภายใน 1 ปี ลูกวาฬจะมีความยาวเพิ่มขึ้น 2 เท่า (ราว 10 เมตร) จากแรกเกิด และเข้าวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 25 ปี

วาฬหัวคันศร กินแพลงก์ตอนสัตว์ เช่น ไรทะเล หรือเคย เป็นอาหาร โดยกินได้เป็นปริมาณมากถึง 30 ตันภายในเวลา 1-2 เดือน และจะกินเช่นนี้ไปตลอดทั้งปี สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 500 เมตร และกลั้นหายใจได้นานถึง 50 นาที

วาฬหัวศร เป็นวาฬที่มีพฤติกรรมว่ายอพยพไปมาระหว่างทะเลและมหาสมุทรต่าง ๆ ตามแต่ละฤดูกาล ปริมาณของวาฬหัวคันศรในช่วงฤดูหนาวในอ่าวฮัดสัน มีจำนวนนับพัน และจะว่ายน้ำออกสู่มหาสมุทรเปิดไปยังน่านน้ำแคนาดาเพื่อหาอาหาร เช่น อ่าวแลงคาสเตอร์ซาวด์ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงจะว่ายลงใต้เพื่อหาอาหารในช่วงฤดูหนาว รวมระยะทางราว 4,000-5,000 กิโลเมตร สามารถว่ายน้ำได้นับพันกิโลเมตรภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ โดยพักเป็นระยะ ๆ โดยลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ เหมือนว่าหลับ ในฤดูใบไม้ผลิเมื่อน้ำแข็งแตกออก จะว่ายข้ามอ่าวดิสโค เพื่อไปใช้ชีวิตในช่วงฤดูร้อนที่น่านน้ำแคนาดา อาจจะมีจำนวนประชากรวาฬที่มาจากอ่าวอลาสกาเข้ามาผสมรวมอยู่กับวาฬที่อาศัยอยู่บริเวณอาร์กติกด้วย ทำให้เหมือนมีปริมาณวาฬที่มากขึ้น คาดการว่ามีประชากรวาฬหัวคันศรนอกอลาสกาประมาณ 12,000 ตัว

วาฬหัวคันศร เมื่อโตเต็มที่บางครั้งจะมีพฤติกรรมรวมตัวกันเป็นกลุ่มอย่างมีแบบแผน โผขึ้นเหนือผิวน้ำ รวมถึงสะบัดครีบหาง ดำผุดดำว่ายเช่นนั้นเหมือนเล่นหรือเกี้ยวพาราสีกัน แม้กระทั่งพ่นลมจากรูบนหัว วาฬหัวคันศรเป็นวาฬที่สื่อสารกันเองและนำทางโดยใช้เสียง สามารถที่รับฟังเสียงของวาฬชนิดอื่นรวมถึงพวกเดียวกันเองได้ไกลนับหลายร้อยหรือพันกิโลเมตร เนื่องจากเสียงสามารถเดินทางไปได้ไกลกว่าในอากาศ จากการศึกษาพบว่าวาฬหัวคันศรสามารถส่งเสียงร้องได้มากถึง 2 เสียงในเวลาเดียวกัน และยังสามารถเลียนเสียงวาฬชนิดอื่น เช่น วาฬเบลูกา ได้อีกด้วย รวมถึงเปลี่ยนเสียงร้องไปในทุก ๆ ปี แต่ก็เป็นวาฬที่มีพฤติกรรมการระแวดระวังภัยสูง แม้ได้ยินเสียงน้ำกระเพื่อมเพียงเล็กน้อยก็จะหลบหนีไปจากบริเวณนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงทำให้มนุษย์เข้าใกล้ได้ยากมาก[2]

วาฬหัวคันศร
ลักษณะของกรามที่เป็นสีขาว

วาฬหัวคันศร ถือเป็นวาฬชนิดหนึ่งที่มีการล่าเป็นอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 19 แม้จะมีรูปร่างที่ใหญ่โตและมีพละกำลังมหาศาล แต่วาฬหัวคันศรเมื่อถูกล่าจะหนีเพียงอย่างเดียว โดยนักล่าจะใช้ฉมวกยิงพุ่งไปยังหลังวาฬเพื่อให้มันลากเรือไป จนกระทั่งหมดแรงและลอยน้ำอยู่นิ่ง ๆ หรือกระทั่งถูกยิงอย่างรุนแรง ก็สามารถทำให้ส่วนหัวตกลงกระแทกกับพื้นทะเลทำให้กรามหักและตายลงได้ โดยนักล่าวาฬจะดักรอวาฬที่ว่ายอพยพไปมาในทะเลแถบอาร์กติก ซึ่งวาฬหัวคันศรสามารถให้ไขมันและน้ำมันเพื่อการบริโภคและนำไปทำเป็นสบู่หรือเนยเทียม รวมถึงไขวาฬต่าง ๆ โดยวาฬหัวคันศรถือเป็นวาฬชนิดที่มีไขมันมากที่สุด เป็นวาฬที่มีรูปร่างอ้วนที่สุด มีชั้นไขมันที่หนามาก น้ำหนักตัวกว่าร้อยละ 50 เป็นไขมัน[2] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1823 เรือล่าวาฬสัญชาติอังกฤษลำหนึ่งมีบันทึกว่า ในอ่าวแลงคาสเตอร์ซาวด์ วาฬหัวคันศรถูกฆ่าตายและทิ้งซากลอยอยู่เต็มไปหมดนับร้อย ๆ ตัว ซากวาฬอยู่ทิ้งเกลื่อนทั้ง ๆ ที่ยังมีเนื้อติดอยู่ เพราะไม่มีตลาดรองรับ ในปีนั้นมีวาฬหัวคันศรถูกฆ่าตายไปมากถึง 1,406 ตัว

อุตสาหกรรมการล่าวาฬมาหยุดเอาเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 เมื่อก๊าซเข้ามาแทนที่น้ำมันวาฬ ในปี ค.ศ. 1935 วาฬหัวคันศรถูกจัดให้เป็นสัตว์ชนิดแรกของโลกที่ถูกจัดเป็นสัตว์คุ้มครอง และเริ่มมีกำหนดข้อบังคับเพื่อคุ้มครองสัตว์[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Reilly, S.B., Bannister, J.L., Best, P.B., Brown, M., Brownell Jr., R.L., Butterworth, D.S., Clapham, P.J., Cooke, J., Donovan, G.P., Urbán, J. & Zerbini, A.N. (2012). "Balaena mysticetus". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.1. สืบค้นเมื่อ 18 October 2012.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 "ชีวิตมหัศจรรย์: ยักษ์สมุทร (2)". นาว26. 2 June 2016. สืบค้นเมื่อ 3 June 2016.[ลิงก์เสีย]
  3. "ท่องโลกกว้าง: ยักษ์ใหญ่แห่งอาร์กติก". ไทยพีบีเอส. 30 June 2014. สืบค้นเมื่อ 1 July 2014.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Balaena mysticetus ที่วิกิสปีชีส์