บีเอลซิบูโฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Beelzebufo ampinga)
บีเอลซิบูโฟ
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ครีเตเชียสตอนปลาย, 70Ma
ภาพวาดในจินตนาการที่บีเอลซิบูโฟกินตัวอ่อนไดโนเสาร์จำพวกเทอโรพอด
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Amphibia
อันดับ: Anura
วงศ์: Ceratophryidae
สกุล: Beelzebufo
Evans, Jones, & Krause, 2008
ชนิดต้นแบบ
Beelzebufo ampinga
Evans, Jones, & Krause, 2008
ชนิด

B. ampinga Evans, Jones, & Krause, 2008

บีเอลซิบูโฟ หรือ กบปีศาจ หรือ คางคกปีศาจ[1] หรือ กบจากนรก[2] (อังกฤษ: Beelzebufo) เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกขนาดใหญ่จำพวกกบที่สูญพันธุ์ไปแล้วในยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อกว่า 65-70 ล้านปีก่อน ในยุคครีเตเชียสตอนปลาย

โดยคำว่า Beelzebufo นั้น มาจากคำว่า "บีเอลซิบับ" ซึ่งเป็นปีศาจตนหนึ่งในความเชื่อทางคริสต์ศาสนา เป็นปีศาจแมลงวัน และ bufo เป็นภาษาละตินแปลว่า "คางคก" ส่วนชื่อชนิดนั้น ampinga หมายถึง "โล่" ในภาษามาลากาซี[3]

บีเอลซีบูโฟ ถูกค้นพบครั้งแรกเป็นฟอสซิลในมาดากัสการ์เมื่อปี ค.ศ. 1993 จากคณะนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษและอเมริกัน ก่อนที่จะใช้เวลาศึกษานานกว่า 14 ปี จึงได้มีการอนุกรมวิธานอย่างเป็นทางการ โดยบีเอลซีบูโฟนั้นมีความยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร (16 นิ้ว) และน้ำหนัก 4 กิโลกรัม (9 ปอนด์) ขนาดพอ ๆ กับลูกโบว์ลิ่ง นับเป็นสัตว์จำพวกกบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีการค้นพบมา โดยพบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในยุคปัจจุบัน คือ กบโกไลแอท ในทวีปแอฟริกา ยังมีความยาวเต็มที่เพียง 32 เซนติเมตร (13 นิ้ว) เท่านั้น[3]

ภาพสามมิติของโครงกระดูกขนาดเต็มตัว

บีเอลซีบูโฟ มีส่วนหัวขนาดใหญ่ มีปากที่กว้างและขากรรไกรที่ทรงพลัง รวมทั้งยังมีฟัน และยังมีลักษณะทางกายภาพที่มีกะโหลกค่อนข้างหนา[4] จึงเชื่อว่าสามารถกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก หรือตัวอ่อนของไดโนเสาร์ที่เพิ่งฟักออกมาเป็นอาหาร[5] อีกทั้งในวงจรชีวิตไม่ได้เกี่ยวข้องกับน้ำหรือพงหญ้าเหมือนกับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทั่วไป หากแต่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กึ่งแห้งแล้ง ส่วนรูปแบบการล่าเหยื่ออาจคล้ายกับกบในปัจจุบันคืออำพรางตัวแล้วกระโดดเข้าหาเหยื่อ[3] และเชื่อด้วยว่ามีแรงกัดเทียบเท่ากับสัตว์กินเนื้อและสัตว์นักล่าบนบกในยุคปัจจุบัน เช่น หมาป่า, เสือโคร่ง หรือสิงโต[6]

บีเอลซีบูโฟ จัดอยู่ในวงศ์กบเขา (Ceratophryidae) โดยเฉพาะในสกุล Ceratophrys ซึ่งยังเป็นกบที่มีการสืบสายพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน เป็นกบขนาดใหญ่และพบกระจายพันธุ์ในทวีปอเมริกาใต้ [3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Scientists find 'Devil Toad' fossil". Associated Press. 2008-02-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-20. สืบค้นเมื่อ 2008-02-19.
  2. Hooper, Rowan (2008-02-18). "Giant prehistoric frog hints at ancient land link". New Scientist. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-26. สืบค้นเมื่อ 2008-02-19.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "ฟอลซิลปิศาจ "กบยักษ์โบราณ" กินลูกไดโนเสาร์เป็นอาหาร". ผู้จัดการออนไลน์. 20 February 2008. สืบค้นเมื่อ 2 January 2014.[ลิงก์เสีย]
  4. Evans S et al. (2013), "Big, bad and bizarre: New material of Beelzebufo, a new hyperossified anuran from the Late Cretaceous of Madagascar, yields further surprises", Society of Vertebrate Paleontology: Abstracts of papers, 73rd Annual Meeting, p. 123.
  5. "ท่องโลกกว้าง: อัศจรรย์กบแสนสวย". ไทยพีบีเอส. 2 January 2014. สืบค้นเมื่อ 2 January 2014.[ลิงก์เสีย]
  6. หน้า 14 ประชาชื่น-วิทยาการ-ไอที, กบ"แพคแมน"นักล่าแห่งละตินอเมริกา. มติชนปีที่ 40 ฉบับที่ 14449: วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Beelzebufo ampinga ที่วิกิสปีชีส์