รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Armoured personnel carrier)
เอ็ม113 หนึ่งในรถลำเลียงพลหุ้มเกราะที่พบมากที่สุดในช่วงสงครามเวียดนาม
เกเทคา บ็อกแซร์ แห่งกองทัพบกเยอรมันเป็นรถลำเลียงพลหุ้มเกราะสมัยใหม่ ซึ่งมีการสั่งซื้อจากหลายประเทศ

รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ (อังกฤษ: armoured personnel carrier; อักษรย่อ: APC) เป็นยานพาหนะทางทหารหุ้มเกราะแบบกว้าง ที่ออกแบบมาเพื่อการขนส่งบุคลากรและอุปกรณ์ในเขตสู้รบ บางครั้งได้รับการเรียกขานในภาษาอังกฤษว่า "แบตเทิลแท็กซี่" (รถแท็กซี่ต่อสู้) หรือ "แบตเทิลบัส" (รถบัสต่อสู้) ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รถลำเลียงพลหุ้มเกราะได้กลายเป็นเครื่องมือทางทหารที่พบได้ทั่วไปทั่วโลก

ตามคำนิยามในสนธิสัญญาจำกัดกำลังทหารและอาวุธในยุโรป รถลำเลียงพลหุ้มเกราะคือ "ยานเกราะต่อสู้ที่ออกแบบและติดตั้งเพื่อส่งกองทหารราบต่อสู้ และซึ่งเป็นกฎ ติดอาวุธเป็นองค์ประกอบหรือเป็นส่วนประกอบสำคัญของขนาดลำกล้องปืนน้อยกว่า 20 มม."[1] เมื่อเทียบกับรถรบทหารราบ ซึ่งใช้ในการขนส่งทหารราบเข้าสู่สนามรบ รถลำเลียงพลหุ้มเกราะมีอาวุธยุทโธปกรณ์น้อยกว่า และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้การยิงสนับสนุนโดยตรงในการต่อสู้

ประวัติ[แก้]

รถถังมาร์ก IX ของอังกฤษเป็นรถลำเลียงพลหุ้มเกราะที่ได้รับการระบุคันแรก
โอที-64 สกอต ของเชโกสโลวาเกียและโปแลนด์

จุดเริ่มต้นของรถลำเลียงพลหุ้มเกราะอยู่ในแนวรบด้านตะวันตกของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในช่วงต่อมาของสงคราม รถถังของฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถบุกทะลวงแนวข้าศึกได้ แต่ทหารราบที่ตามมา—ซึ่งจำเป็นต้องรวมเป็นหนึ่ง—ยังต้องเผชิญกับอาวุธเล็กและการยิงปืนใหญ่ ซึ่งหากไม่มีทหารราบสนับสนุน รถถังก็ถูกแยกเดี่ยวและถูกทำลายได้ง่ายขึ้น ในการตอบสนอง อังกฤษได้ทำการทดลองโดยขนส่งทหารปืนกลในรถถังมาร์ก V* แต่พบว่าสภาพภายในรถถังทำให้ทหารไม่เหมาะสมสำหรับการรบ ทางอังกฤษจึงออกแบบยานเกราะขนส่งกองทหารที่สร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์คันแรกคือมาร์ก IX แต่สงครามได้สิ้นสุดลงก่อนที่จะนำมาใช้

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รถกึ่งสายพาน เช่น เอ็ม3 สัญช่าติอเมริกัน และเอ็สเด.เคเอฟเซท 251 สัญชาติเยอรมัน ได้มีบทบาทคล้ายกับรถลำเลียงพลหุ้มเกราะหลังสงคราม ส่วนกองกำลังเครือจักรภพบริเตนได้พึ่งพารถสายพานเต็มรูปแบบอย่างยูนิเวอร์เซล แคริเออร์ ตลอดช่วงสงคราม รถลำเลียงพลหุ้มเกราะได้พัฒนาจากรถหุ้มเกราะที่มีความสามารถในการขนส่ง สู่ยานพาหนะที่สร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ ยานเกราะที่ล้าสมัยยังถูกนำมาใช้ใหม่ในฐานะรถลำเลียงพลหุ้มเกราะ เช่น "แคงกะรู" ต่าง ๆ ที่ดัดแปลงจากปืนอัตตาจรเอ็ม7 พรีสท ตลอดจนจากรถถังเชอร์ชิล, เอ็ม3 สจวต และแรม

ในช่วงสงครามเย็น ได้มีการพัฒนารถลำเลียงพลหุ้มเกราะเฉพาะทางมากขึ้น สหรัฐได้มุ่งเสนอซีรีส์รถของพวกเขา รวมถึงรุ่นสืบทอดของยานพาหนะสายพานยกพลขึ้นบก แต่ที่มีมากที่สุดคือรถลำเลียงพลหุ้มเกราะเอ็ม113 ซึ่งมีการผลิตกว่า 80,000 คัน[2] ตั้งแต่นั้นมา ประเทศตะวันตกได้ปลดประจำการเอ็ม113 เป็นส่วนใหญ่ โดยแทนที่พวกมันด้วยรถลำเลียงพลหุ้มเกราะที่ใหม่กว่า ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ล้อยาง ส่วนตัวอย่างสงครามเย็นของ "แคงกะรู" คืออัคซาริตของอิสราเอลที่มีเกราะหนา ซึ่งดัดแปลงมาจากรถถังที-55 ที่ยึดมาได้ โดยแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้เกิดรถลำเลียงพลหุ้มเกราะนาเมร์

อ้างอิง[แก้]

  1. Treaty on conventional armed forces in Europe. Organization for Security and Co-operation in Europe. 1989. p. 3. สืบค้นเมื่อ 4 April 2013.
  2. "M113A1 Armored Personnel Carrier". Federation of American Scientists. 5 February 2000. สืบค้นเมื่อ 19 April 2019.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bishop, Chris (2006). The Encyclopedia of Tanks and Armored fighting vehicles: From World War I to The Present Day. Grange Book. ISBN 978-1-59223-626-8
  • O'Malley, T. J., Hutchins, Ray (1996). Fighting Vehicles: Armoured Personnel Carriers & Infantry Fighting Vehicles. Greenhill Books. ISBN 1-85367-211-4