ภาวะเสียการคำนวณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Acalculia)
ภาวะเสียการคำนวณ
(Acalculia)
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10F81.2
ICD-9784.69

ภาวะเสียการคำนวณ[1] (อังกฤษ: Acalculia) เป็นภาวะบกพร่องที่ได้รับมา (acquired) ของผู้ป่วย มีอาการบกพร่องในกระบวนการทางคณิตศาสตร์ง่ายๆ เช่น การบวก, การลบ, การคูณ, หรือแม้กระทั่งการเปรียบเทียบระหว่างจำนวนว่าจำนวนใดมากกว่า ภาวะเสียการคำนวณแตกต่างจากภาวะบกพร่องการเรียนรู้การคำนวณ (dyscalculia) ซึ่งเป็นความผิดปกติของพัฒนาการ แต่ภาวะเสียการคำนวณเกิดจากการบาดเจ็บของระบบประสาทเช่นโรคหลอดเลือดสมอง[2]

ความแปรผัน[แก้]

ภาวะเสียการคำนวณเกี่ยวข้องกับรอยโรคที่สมองกลีบข้าง (parietal lobe) (โดยเฉพาะที่ลอนสมองแองกูลาร์ (angular gyrus)) และสมองกลีบหน้า (frontal lobe) ของซีรีบรัม และมีอาการแสดงแรกคือมีภาวะสมองเสื่อม (dementia) ในผู้ป่วยบางคนอาจพบอาการของการเสียการคำนวณเพียงอย่างเดียว แต่โดยทั่วไปจะพบกลุ่มอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะเสียการเขียนสื่อความ (agraphia) , ภาวะเสียการระลึกรู้นิ้วมือ (finger agnosia) , และอาการสับสนทิศทางซ้ายขวา ซึ่งเกิดจากความเสียหายของลอนสมองแองกูลาร์ข้างซ้าย หรือที่เรียกกันว่า กลุ่มอาการเกอรสต์มานน์ (Gerstmann's syndrome) [3][4]

จากการศึกษาผู้ป่วยซึ่งมีรอยโรคที่สมองกลีบข้างแสดงให้เห็นว่ารอยโรคที่ลอนสมองแองกูลาร์จะมีแนวโน้มเกิดความบกพร่องในการจำข้อเท็จจริงทางคณิตศาสตร์มากกว่า เช่น สูตรคูณ โดยไม่มีความบกพร่องในการลบเลข ในทางกลับกันผู้ป่วยที่มีรอยโรคบริเวณร่องอินทราพาไรทัล (intraparietal sulcus) จะมีแนวโน้มเกิดความบกพร่องในการลบเลข แต่ยังมีความสามารถในการคูณเลข[5] จากการศึกษาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าบริเวณต่างๆ ของสมองกลีบข้างทำหน้าที่แตกต่างกันในกระบวนการทางคณิตศาสตร์

อ้างอิง[แก้]

  1. "ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน ข้อมูลเมื่อ 6 ส.ค. 2544". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2010-03-03.
  2. "Acalculia." Stedman's Medical Dictionary, 27th ed. (2000). ISBN 0-683-40007-X
  3. Gerstmann, J. (1940). Syndrome of finger agnosia, disorientation for right and left, agraphia, acalculia. Archives of Neurology and Psychology 44, 398–408.
  4. Mayer, E. et al. (1999). A pure case of Gerstmann syndrome with a subangular lesion. Brain 122, 1107–1120.
  5. Dehaene, S., & Cohen, L. (1997). Cerebral pathways for calculation: Double dissociation between rote verbal and quantitative knowledge of arithmetic. Cortex, 33 (2) , 219-250.