เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก 7 ผู้กล้า 5 ผู้ทรงธรรม)

สามผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม (จีน: 三俠五義; พินอิน: Sān Xiá Wǔ Yì; อังกฤษ: The Three Heroes and Five Gallants) เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์จีนแนวสืบสวนสอบสวนและกำลังภายใน ฉือ ยฺวี่คุน (石玉昆; Shí Yùkūn) แต่งขึ้น และได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเผยแพร่เมื่อปลายศตวรรษที่ 19[1] นิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยมมาก ต่อมา หยู เยฺว่ (俞樾; Yú Yuè) ปรับปรุงจนเป็นวรรณกรรมชั้นสูง เรียกชื่อเสียใหม่ว่า เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม (七俠五義; Qī Xiá Wǔ Yì; The Seven Heroes and Five Gallants) เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1889[2]

ประวัติ[แก้]

ในราชวงศ์ชิง รัชสมัยเสียนเฟิงถึงถงจื้อ ซึ่งเป็นช่วงที่พระพันปีฉือสี่เถลิงอำนาจ ฉือ ยฺวี่คุน บัณฑิตจากเมืองเทียนจิน มีชื่อเสียงมากจากการเล่าเรื่องราวของเปา เจิ่ง ข้าราชการจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง เขาเล่าเรื่องไปด้วย เล่นซอสามสายไปด้วย ทำให้แต่ละครั้งมีผู้ชมหลายพัน ร้านหนังสือจึงเริ่มบันทึกเรื่องเล่าของเขาเป็นลายลักษณ์อักษร โดยตัดเพลงและถ้อยคำที่ไม่เป็นภาษาออก กลายเป็นหนังสือชื่อว่า หลงถูเอ่อร์ลู่ (龍圖耳錄; Lóngtú Ěr Lù) แปลว่า "บันทึกเรื่องหลงถูที่ฟังมา" (Aural Record of Longtu) ทั้งนี้ "หลงถู" เป็นฉายาของเปา เจิ่ง แปลว่า มังกรให้วาดขึ้น เพราะเนื้อเรื่องตอนหนึ่งว่า พระเจ้าแผ่นดินสุบินว่า จะมีเทพยดามาจุติเป็นข้าราชการ และรับสั่งให้วาดรูปข้าราชการผู้นั้นตามพระสุบินแล้วออกติดตามหา[3]

ครั้นถึงรัชสมัยกวังซวี่ มีผู้หนึ่งใช้นามแฝงว่า "เวิ่นจู๋จู่เหริน" (問竹主人; Wèn Zhú Zhǔrén) แปลว่า "อาจารย์สอบไผ่" (Master Bamboo Questioner) ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่า เป็นฉือ ยฺวี่คุน นั้นเอง ได้ปรับปรุงหนังสือข้างต้นโดยตัดเรื่องภูตผีออกบางส่วน แล้วประมวลเนื้อหาเข้าเป็นหนังสือเล่มใหม่ มีหนึ่งร้อยยี่สิบบท ชื่อ จงเลี่ยเสียอี้ฉวน (忠烈俠義傳; Zhōngliè Xiáyì Chuán) แปลว่า "เรื่องราวเหล่าทแกล้วทกล้าผู้จงรักและใจหาญ" (Biographies of Loyal, Courageous Heroes and Gallants)[3][4]

ภายหลัง หนังสือนั้นมีผู้ใช้นามแฝงว่า "รู่หมีเต้าเหริน" (入迷道人; Rùmí Dàorén) แปลว่า "นักพรตมีสุข" (Captivated Taoist) ปรับปรุง และอีกบุคคลซึ่งใช้นามแฝงว่า "ทุ่ยซือจู่เหริน" (退思主人; Tuìsī Zhǔrén) แปลว่า "อาจารย์ใฝ่วิเวก" (Master of Retiring Thought) ปรับปรุงอีกชั้นหนึ่ง เรียกชื่อว่า สามผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม ที่ว่า "สามผู้กล้า" นี้ความจริงแล้วหมายถึงบุคคลสี่คน คือ จั่น เจา จอมยุทธใต้ โอวหยาง ชุน จอมยุทธเหนือ กับติง เจ้าหลัน และติง เจ้าฮุ่ย จอมยุทธแฝด ต่อมา ร้านขุมทรัพย์ (聚珍堂; Jùzhēn Táng) ร้านหนังสือในกรุงปักกิ่ง จัดพิมพ์ สามผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1879 หนังสือเป็นที่นิยมในกรุงทันที[3]

ราวสิบปีให้หลัง หยู เยฺว่ ข้าราชการซึ่งชำนาญภาษาศาสตร์ ปรับปรุงหนังสือนั้นอีก แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม ร้านกวั๋งไป่ซ่งไจ (廣百宋齋; Guǎng Bǎi Sòng Zhāi) ในเซี่ยงไฮ้ พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1889 และในไม่ช้าก็ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศจีน[3]

ตัวละคร[แก้]

ชื่อ หมายเหตุ
ไทย จีน พินอิน
ศาลไคเฟิง
เปา เจิ่ง 包拯 Bāo Zhěng เจ้าเมืองไคเฟิง
กงซุน เช่อ 公孫策 Gōngsūn Cè ผู้ช่วยของเปา เจิ่ง
เปา ซิ่ง 包興 Bāo Xìng คนรับใช้ของเปา เจิ่ง
หวัง เฉา 王朝 Wáng Cháo สี่พี่น้องร่วมสาบาน นายตำรวจของเปา เจิ่ง
หม่า ฮั่น 馬漢 Mǎ Hàn
จาง หลง 張龍 Zhāng Lóng
จ้าว หู่ 趙虎 Zhào Hǔ
เจ็ดผู้กล้า
จั่น เจา 展昭 Zhǎn Zhāo ฉายาสามัญ "จอมยุทธ์ใต้" (南俠; Nán Xiá; Southern Hero)
ฉายาพระราชทาน "แมวหลวง" (御貓; Yù Māo; Royal Cat)
โอวหยาง ชุน 歐陽春 Ōuyáng Chūn ฉายา "จอมยุทธ์เหนือ" (北俠; Běi Xiá; Northern Hero)
ติง จ้าวหลาน 丁兆蘭 Dīng Zhàolán ฉายา "จอมยุทธ์แฝด" (双侠; Shuāng Xiá; Twin Heroes)
ติง จ้าวฮุ่ย 丁兆蕙 Dīng Zhàohuì
จื้อ ฮว่า 智化 Zhì Huà ฉายา "จิ้งจอกดำ" (黑狐妖; Hēi Hú Yāo; Black Demon Fox)
เฉิน จ้ง-ยฺเหวียน 沈仲元 Chén Zhòngyuán ฉายา "ขงเบ้งน้อย" (小诸葛; Xiǎo Zhūgé; Little Zhuge)
อ้าย หู่ 艾虎 Ài Hǔ ฉายา "จอมยุทธ์น้อย" (小侠; Xiǎo Xiá; Little Hero)
ห้าผู้ทรงธรรม
หลู ฟาง 盧方 Lú Fāng ฉายา "หนูทะลวงฟ้า" (鑽天鼠; Zuān Tiān Shǔ; Sky-Penetrating Rat)
หัวหน้ากลุ่มห้าหนูแห่งเกาะสุญญตา (陷空島五鼠; Five Rats of the Hollow Island)
หาน จาง 韓彰 Hán Zhāng ฉายา "หนูดำดิน" (徹地鼠; Chè Dì Shǔ; Earth-Piercing Rat)
สฺหวี ชิ่ง 徐慶 Xú Qìng ฉายา "หนูทลายผา" (穿山鼠; Chuān Shān Shǔ; Mountain-Boring Rat)
เจี่ยง ผิง 蔣平 Jiǎng Píng ฉายา "หนูตะลุยบาดาล" (翻江鼠; Fān Jiāng Shǔ; River-Overturning Rat)
ไป๋ อฺวี้ถัง 白玉堂 Bái Yùtáng ฉายา "หนูขนแพร" (錦毛鼠; Jǐn Máo Shǔ; Brocade-Coated Rat)

อ้างอิง[แก้]

  1. Lu Hsun; Yang Hsien-yi (trans.); Gladys Yang (trans.) (1964). A Brief History of Chinese Fiction (2nd ed.). Beijing: Foreign Languages Press. ISBN 1135430608.
  2. Blader, Susan (1998). Tales of Magistrate Bao and His Valiant Lieutenants: Selections from Sanxia Wuyi. Chinese University Press. ISBN 9622017754.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Deng Shaoji; Wang Jun; Wen Jingen (trans.) (1996). Preface to The Seven Heroes and Five Gallants. In Shi Yukun; Yu Yue; Song Shouquan (trans.) (2005). The Seven Heroes and Five Gallants. Esther Samson (ed.), Lance Samson (ed.). Beijing: Foreign Languages Press. ISBN 7507103587.
  4. Blader, Susan (1997). Tales of Magistrate Bao and His Valiant Lieutenants: Selections from Sanxia Wuyi. Hong Kong: The Chinese University Press. ISBN 9622017754.