สามสิบหกกลยุทธ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก 36 กลศึก)
กลยุทธ์ตีชิงตามไฟ พระเจ้าหองจูเปียนเสียอำนาจ
กลยุทธ์ล่อเสือออกจากถ้ำ ลิโป้บาดหมางใจกับตั๋งโต๊ะ

สามสิบหกกลยุทธ์ (อังกฤษ: Thirty-Six Stratagems; จีนตัวย่อ: 三十六计; จีนตัวเต็ม: 三十六計; พินอิน: Sānshíliù Jì) เป็นตำรารวบรวมกลยุทธ์ของจีนที่ใช้ในการเมือง การสงคราม และการปกครอง มีเนื้อหามุ่งเน้นเรื่องการใช้ไหวพริบและเล่ห์เพทุบายทั้งในสมรภูมิและวงราชการ มีความสำคัญเทียบเท่ากับพิชัยสงครามซุนจื่อ

การวางกลศึก[แก้]

การวางแผนการศึกในเชิงรบระหว่างทัพ แม่ทัพผู้นำศึกต้องมีความรู้ความสามารถ มีภูมิปัญญาอันเป็นเลิศ มีความมั่นใจในตนเอง มีความเมตตา ความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่และความกล้าหาญชาญชัย รักไพร่พลของตนรวมทั้งมีการแม่นยำในสภาพภูมิศาสตร์ รู้สภาพดินฟ้าอากาศ ธรรมชาติและฤดูกาลต่าง ๆ อันส่งผลให้เกิดขอบเขตขีดจำกัดในการทำศึก ดั่งคำกล่าวของจูกัดเหลียงที่ว่า "อันธรรมดาเป็นชายชาติทหาร ถ้าไม่รู้คะเนการฤกษ์บนแลฤกษ์ต่ำ ก็มิได้เรียกว่ามีสติปัญญา"[1] ถ้าแม่ทัพผู้นำศึกขาดสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ย่อมเพลี่ยงพล้ำหลงกลศึกของแม่ทัพฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย กลศึกทางบกเป็นการคำนวณระยะทางใกล้ไกล สภาพภูมิประเทศ และความยากง่ายต่อการเข้าถึงของพื้นที่ รวมทั้งการให้คุณให้โทษแก่ไพร่พลทหาร การจัดส่งเสบียงอาหารและกองกำลังหนุนยามเพลี่ยงพล้ำ

การวางแผนการศึกในเชิงรบระหว่างทัพเรือ แม่ทัพผู้นำศึกต้องมีความรู้ความสามารถ มีภูมิปัญญาอันเป็นเลิศ มีความมั่นใจในตนเอง มีความเมตตา ความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่และความกล้าหาญชาญชัย รักไพร่พลของตนรวมทั้งมีการแม่นยำในสภาพภูมิศาสตร์ ชำนาญในการเดินเรือ รู้สภาพดินฟ้าอากาศ โขดหินและร่องน้ำตามธรรมชาติ รวมทั้งรู้จักฤดูกาลต่าง ๆ อันส่งผลให้เกิดขอบเขตขีดจำกัดในการทำศึก ถ้าแม่ทัพผู้นำศึกขาดสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว ย่อมหลงกลศึกของแม่ทัพฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย กลศึกทางน้ำเป็นการคำนวณระยะทางใกล้ไกลในการเดินทัพเรือ สภาพภูมิประเทศ และความยากง่ายต่อการเข้าถึงของพื้นที่ รวมทั้งการให้คุณให้โทษแก่ไพร่พลทหาร การจัดส่งเสบียงกรังและกองกำลังหนุนยามเพลี้ยงพล้ำและพ่ายแพ้

ในสามก๊กมีการใช้กลศึกจำนวนมากมายในการหลอกล่อศัตรูเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ การต่อสู้ทางสติปัญญา สุดยอดแห่งกุศโลบายในการแสดงศักยภาพของกองทัพ แม่ทัพที่นำทัพในสนามรบนอกจากจะมีฝีมือในการที่สูงส่งแล้ว จะต้องรู้หลักและเชี่ยวชาญตำราพิชัยสงคราม เสนาธิการที่ปรึกษาทัพจะต้องรอบรู้ในทุก ๆ ด้าน รู้แจ้งในกลศึกต่าง ๆ ของศัตรู รู้ถึงจิตใจของทหารภายใต้บังคับบัญชา และรู้จักฉกฉวยจังหวะสำคัญในการโจมตีจึงจะสามารถเอาชนะศัตรูได้ ตำราพิชัยสงครามซุนวู 13 บท กล่าวไว้ว่า "การบัญชาทัพชั้นเอกคือชนะด้วยอุบาย รองลงมาคือชนะด้วยการทูต รองลงมาอีกคือชนะด้วยการรบ"[2] จูกัดเหลียง จิวยี่ สุมาอี้ ตันฮก ลิบอง ลกซุน ตั๋งโต๊ะ โจโฉ กุยแกและบุคคลอื่นอีกมากมาย ล้วนแต่ชำนาญกลศึกและตำราพิชัยสงครามในการทำศึก ซึ่งกลศึกสำคัญและเป็นมาตรฐานของการทำสงครามสามก๊กในแต่ละครั้งมีดังนี้

  1. กลยุทธ์ชนะศึก (อังกฤษ: Winning Stratagems)
  2. กลยุทธ์เผชิญศึก (อังกฤษ: Enemy Dealing Stratagems)
  3. กลยุทธ์เข้าตี (อังกฤษ: Attacking Stratagems)
  4. กลยุทธ์ติดพัน (อังกฤษ: Chaos Stratagems)
  5. กลยุทธ์ร่วมรบ (อังกฤษ: Proximate Stratagems)
  6. กลยุทธ์ยามพ่าย (อังกฤษ: Defeat Stratagems)

กลยุทธ์ชนะศึก[แก้]

กลยุทธ์ที่ 1 ปิดฟ้าข้ามทะเล[แก้]

กลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเล หรือ หมานเทียนกว้อไห่ (อังกฤษ: Deceive the heavens to cross the ocean; จีนตัวย่อ: 瞒天过海; จีนตัวเต็ม: 瞞天過海; พินอิน: Mán tiān guò hǎi) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่คิดหรือมองข้ามสิ่งใด ๆ ก็ตามที่คิดว่าตนเองนั้นได้ตระเตรียมไว้พร้อมสรรพแล้ว ก็มักจะมีความประมาทมองข้ามศัตรูไปอย่างง่ายดาย พบเห็นสิ่งใดที่มองเห็นเสมอในยามปกติ ก็ไม่เกิดความติดใจสงสัยในสิ่งนั้น เกิดความชะล่าใจในตนเอง การบุกเข้าโจมตีศัตรูโดยที่ศัตรูไม่รู้ตัวนับว่าเป็นการได้ชัยชนะมาแล้วครึ่งหนึ่ง สามารถเอาชนะได้อย่างง่ายดาย การปกปิดอำพรางซ่อนเร้น จึงเป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดในการทำศึกสงคราม ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเลไปใช้ได้แก่ลิบองที่ลอบบุกเข้าโจมตีเกงจิ๋วโดยที่กวนอูไม่รู้ตัวแม้แต่น้อย[3]

กลยุทธ์ที่ 2 ล้อมเวยช่วยจ้าว[แก้]

กลยุทธ์ล้อมเวยช่วยจ้าว หรือ เหวยเวยจิ้วจ้าว (อังกฤษ: Besiege Wèi to rescue Zhào; จีนตัวย่อ: 围魏救赵; จีนตัวเต็ม: 圍魏救趙; พินอิน: Wéi Wèi jiù Zhào) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูรวบรวมกำลังทหารและไพร่พลไว้เป็นจุดศูนย์กลางของกองทัพ ทำให้มีกำลังและความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ควรที่จะใช้กลยุทธ์ในการดึงแยกศัตรูให้แตกออกจากกัน เพื่อให้กำลังไพร่พลทหารกระจัดกระจาย คอยเฝ้าระวังและมีความห่วงหน้าพะวงหลังในการทำศึกสงครามแล้วจึงบุกเข้าโจมตี ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ล้อมเวยจิ้วจ้าวไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่หลอกให้โจโฉนำทัพไปทำศึกสงครามกับซุนกวน และนำทัพบุกเข้ายึดฮันต๋งจากโจโฉมาเป็นของตนได้สำเร็จ[4]

กลยุทธ์ที่ 3 ยืมดาบฆ่าคน[แก้]

กลยุทธ์ยืมดาบฆ่าคน หรือ เจี้ยเตาซาเหริน (อังกฤษ: Kill with a borrowed knife; จีนตัวย่อ: 借刀杀人; จีนตัวเต็ม: 借刀殺人; พินอิน: Jiè dāo shā rén) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการกำจัดศัตรูที่มีความเข้มแข็งและแข็งแกร่งในศึกสงคราม ไม่จำเป็นที่จะต้องลงมือจัดการด้วยตนเอง พึงยืมกำลังและไพร่พลทหารของผู้อื่นเป็นฝ่ายกำจัดศัตรูโดยไม่ต้องออกแรง เพื่อเป็นการรักษากำลังและไพร่พลทหารของตนเองไว้สำหรับการศึกอื่น ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ยืมดาบฆ่าคนไปใช้ได้แก่จิวยี่ที่หลอกให้โจโฉฆ่าซัวมอและเตียวอุ๋น แม่ทัพเรือของตนเองในคราวศึกเซ็กเพ็ก ระหว่างเล่าปี่และซุนกวนจนโจโฉถูกเผาเรือพ่ายแพ้ย่อยยับ[5]

กลยุทธ์ที่ 4 รอซ้ำยามเปลี้ย[แก้]

กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ย หรือ อี่อี้ไต้เหลา (อังกฤษ: Substitute leisure for labour; จีนตัวย่อ: 以逸待劳; จีนตัวเต็ม: 以逸待勞; พินอิน: Yǐ yì dài láo) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูยังคงมีความเข้มแข็ง กำลังไพร่พลทหารยังคงแข็งแกร่งยากจะต่อสู้ก็ไม่ควรจะเข้าปะทะโดยตรงด้วยกำลังที่มีอยู่ แต่ยามใดที่ศัตรูเกิดความอ่อนแอในกองทัพเมื่อใด ต้องรีบฉวยโอกาสบุกเข้าโจมตีโดยเร็ว เพื่อเป็นการข่มขวัญและป้องกันไม่ให้ศัตรูกลับมาแข็งแกร่งดั้งเดิม กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยเป็นการใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ให้ระยะเวลาเป็นการบั่นทอนกำลังและจิตใจของศัตรู ฉวยโอกาสพลิกสถานการณ์จากเดิมที่กลายเป็นรองหรือเสียเปรียบให้กลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในสามก๊กยามเกิดศึกสงคราม กองทัพทุกกองทัพต่างใช้กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยเพื่อหาโอกาสเหมาะในการบุกเข้าโจมตีศัตรูยามเพลี่ยงพล้ำอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยไปใช้ได้แก่ลกซุนที่แนะนำซุนกวนให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนนำกำลังทหารไปตีลกเอี๋ยง[6]

กลยุทธ์ที่ 5 ตีชิงตามไฟ[แก้]

กลยุทธ์ตีชิงตามไฟ หรือ เชิ่นหว่อต่าเจี๋ย (อังกฤษ: Loot a burning house; จีน: 趁火打劫; พินอิน: Chèn huǒ dǎ jié) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูยังอยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอและย่ำแย่ ควรรีบฉกฉวยโอกาสนำทัพเข้าโจมตีเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ หรือมอบหมายให้แม่ทัพหรือทหารที่มีความเข้มแข็งนำทัพเข้าโจมตี ซึ่งเป็นการฉกฉวยเอาผลประโยชน์จากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงและยุ่งเหยิง นำความดีความชอบมาเป็นของตน ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ตีชิงตามไฟไปใช้ได้แก่ตั๋งโต๊ะที่ฉกฉวยโอกาสยึดเอาเมืองหลวงและราชสำนักของพระเจ้าหองจูเหียบมาเป็นของตน และแต่งตั้งตนเองเป็นมหาอุปราชและเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าหองจูเปียน[7]

กลยุทธ์ที่ 6 ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม[แก้]

กลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม หรือ เซิงตงจีซี (อังกฤษ: Make a sound in the east, then strike in the west; จีนตัวย่อ: 声东击西; จีนตัวเต็ม: 聲東擊西; พินอิน: Shēng dōng jí xī) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการโจมตีศัตรู จะต้องเตรียมการและบุกโจมตีในจุดที่ศัตรูต่างคาดไม่ถึงเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ศัตรูวางแนวการตั้งรับได้ถูก โดยหลอกล่อศัตรูให้เกิดการหลงทิศกับการบุกโจมตีและนำกำลังทหารไปเฝ้าระวังผิดตำแหน่ง เกิดการหละหลวมต่อกำลังทหารและเปิดโอกาสให้สามารถเอาชนะได้โดยง่าย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิมไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่หลอกล่อเฮ็กเจียวให้เกิดความสับสนและหลงทิศในการนำกำลังทหารเฝ้าระวังการบุกเข้าโจมตีด่านตันฉองของจูกัดเหลียงและทหารจ๊กก๊ก[8]

กลยุทธ์เผชิญศึก[แก้]

กลยุทธ์ที่ 7 มีในไม่มี[แก้]

กลยุทธ์มีในไม่มี หรือ อู๋จงเซิงโหย่ว (อังกฤษ: Create something from nothing; จีนตัวย่อ: 无中生有; จีนตัวเต็ม: 無中生有; พินอิน: Wú zhōng shēng yǒu) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้ภาพลวงในการหลอกล่อศัตรูเพียงครั้งคราวให้หลงเชื่อ แปรเปลี่ยนจากลวงเป็นจริงจากจริงเป็นลวง ทำให้ศัตรูเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าการ "ลวง" ก็คือการ "หลอกหลวง" ที่ว่า "มืด" ก็กลายเป็น "เท็จ" แสงสว่างจากมืดน้อยย่อมทวีความมืดไปจนถึงมืดมาก จากมืดมากย่อมแปรเปลี่ยนกลับกลายเป็นสว่าง การใช้ภาพลวงเพื่อเสแสร้งปกปิดภาพจริง การผันผวนคำเท็จจากลวงให้กลายเป็นความจริง ในจริงมีเท็จ ในเท็จมีจริง ทำให้ในการทำศึกสงครามย่อมมีกลลวงข้อเท็จจริงสลับเป็นฟันปลากันอยู่เสมอ ตัวอย่างการทำเอากลยุทธ์มีในไม่มีไปใช้ได้แก่โจโฉที่วางแผนหลอกลิโป้ให้หลงเชื่อว่าตนเองตายและลอบซุ่มบุกตีโจมตีกระหนาบจนลิโป้พ่ายแพ้ยับเยิน[9]

กลยุทธ์ที่ 8 ลอบตีเฉินชาง[แก้]

กลยุทธ์ลอบตีเฉินชาง หรือ อั้นตู้เฉินชาง (อังกฤษ: Openly repair the gallery roads, but sneak through the passage of Chencang; จีนตัวย่อ: 暗渡陈仓; จีนตัวเต็ม: 暗渡陳倉; พินอิน: Àn dù chén cāng) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้โอกาสที่ศัตรูตัดสินใจที่จะรักษาพื้นที่เขตแดนของตนไว้ และแสร้งทำเป็นนำกำลังทหารบุกเข้าโจมตีทางด้านหน้า แต่ลอบนำกำลังทหารบุกเข้าโจมตีในพื้นที่เขตแดนที่ศัตรูไม่ทันคาดคิดและสนใจวางแนวกำลังป้องกัน ในการศึกสงครามการใช้กลวิธีการวกวนลอบเข้าโจมตีย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบ สามารถบุกเข้าโจมตีศัตรูได้โดยที่ไม่ทันระวังตัวและเอาชนะมาเป็นของตนได้โดยง่าย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ลอบตีเฉินชางไปใช้ได้แก่ตันฮกที่ให้กวนอูคุมทหารลอบเข้าบุกยึดห้วนเสีย ทำให้โจหยินที่พ่ายแพ้ต้องหนีกลับฮูโต๋[10]

กลยุทธ์ที่ 9 ดูไฟชายฝั่ง[แก้]

กลยุทธ์ดูไฟชายฝั่ง หรือ เก๋ออั้นกวนหว่อ (อังกฤษ: Watch the fires burning across the river; จีนตัวย่อ: 隔岸观火; จีนตัวเต็ม: 隔岸觀火; พินอิน: Gé àn guān huǒ) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้โอกาสที่ศัตรูเกิดการแตกแยก วุ่นวายและปั่นป่วนอย่างหนักภายในกองทัพ พึงรอจังหวะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสงบ จับตาดูความเคลื่อนไหวของศัตรูทุกฝีก้าว ถ้าศัตรูเกิดความระแวงและใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันเอง เกิดการเข่นฆ่าแย่งชิงความเป็นใหญ่ แนวโน้มความพินาศและวอดวายก็จะเกิดขึ้นภายในกองทัพ ในช่วงระยะเวลานี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของศัตรู เตรียมความพร้อมในกองทัพไว้ล่วงหน้า ช่วงชิงชัยชนะมาเป็นของตนโดยใช้การเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันของศัตรูให้เป็นประโยชน์ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ดูไฟชายฝั่งไปใช้ได้แก่กุยแกที่ให้คำแนะนำแก่โจโฉเพื่อนำกำลังทหารไปตีกิจิ๋วในขณะที่อ้วนซงขึ้นครองกิจิ๋วแทนอ้วนเสี้ยว[11]

กลยุทธ์ที่ 10 ซ่อนดาบในรอยยิ้ม[แก้]

กลยุทธ์ซ่อนดาบในรอยยิ้ม หรือ เสี้ยวหลี่ฉางเตา (อังกฤษ: Hide a knife behind a smile; จีนตัวย่อ: 笑里藏刀; จีนตัวเต็ม: 笑裏藏刀; พินอิน: Xiào lǐ cáng dāo) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการหลอกให้ศัตรูหลงเชื่อถึงความสงบ ไม่ให้ล่วงรู้ถึงความเคลื่อนไหวใด ๆ ของกองทัพ ทำให้ศัตรูเกิดความสงสัยและเกิดความสงบไม่เคลื่อนไหวในกองทัพเช่นกัน ทำให้เกิดความคิดที่มึนชาขึ้น และฉวยโอกาสเตรียมการเป็นความลับ เฝ้าคอยระวังมิให้ศัตรูล่วงรู้ความลับหรือรู้ตัว รอคอยโอกาสเพื่อจะจู่โจมโดยฉับพลันอันจะทำให้สถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นการแสร้งทำเป็นมิตรแต่แท้จริงจ้องหาโอกาสจะกำจัดศัตรูอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ซ่อนดาบในรอยยิ้มไปใช้ได้แก่ชีฮูหยินภรรยาของซุนเซียง น้องสะใภ้ของซุนกวนที่วางแผนลอบฆ่าอิหลำที่คิดข่มเหงตนเองเป็นภรรยาด้วยรอยยิ้มประดุจยินดีจะมีสามีใหม่[12]

กลยุทธ์ที่ 11 หลี่ตายแทนถาว[แก้]

กลยุทธ์หลี่ตายแทนถาว หรือ หลี่ไต้เถาเจียง (อังกฤษ: Sacrifice the plum tree to preserve the peach tree; จีน: 李代桃僵; พินอิน: Lǐ dài táo jiāng) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เสียเปรียบในศึกสงคราม ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ตนเองและกองทัพ เกิดความเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อที่จะแปรเปลี่ยนจากสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบให้เป็นการได้เปรียบ จำต้องยินยอมเสีย "มืด" เพื่อที่จะได้ประโยชน์จาก "สว่าง" ซึ่งหมายความถึงการจะได้ประโยชน์จากการเสียเปรียบในสถานการณ์ขับคัน จำต้องเสียสละส่วนหนึ่งส่วนใดของกองทัพหรือของตน เสียค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับชัยชนะในทุก ๆ ด้าน ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์หลี่ตายแทนถาวไปใช้ได้แก่โจโฉที่ยอมเสียหัวของอองเฮานายทหารชั้นผู้น้อย เพื่อแลกกับขวัญและกำลังของทหารทั้งกองทัพ[13]

กลยุทธ์ที่ 12 จูงแพะติดมือ[แก้]

กลยุทธ์จูงแพะติดมือ จูกัดเหลียงลวงเกาฑัณฑ์จากโจโฉ

กลยุทธ์จูงแพะติดมือ หรือ ซุ่นโส่วเชียนหยาง (อังกฤษ: Take the opportunity to pilfer a goat; จีนตัวย่อ: 顺手牵羊; จีนตัวเต็ม: 順手牽羊; พินอิน: Shùn shǒu qiān yáng) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้ความประมาทเลินเล่อของศัตรูเพียงเล็กน้อยให้เป็นประโยชน์ เมื่อพบเห็นโอกาสให้รีบฉกฉวยมาเป็นของตน แม้จะเป็นเพียงชัยชนะที่เล็กน้อยก็ตาม แต่เมื่อเป็นประโยชน์แก่กองทัพจำต้องช่วงชิงมาเป็นของตนให้ได้ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์จูงแพะติดมือไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่หลอกเอาลูกเกาฑัณฑ์จำนวนมากจากโจโฉ ตามคำสั่งของจิวยี่ที่สั่งให้จูกัดเหลียงทำลูกเกาฑัณฑ์จำนวนสิบหมื่นให้เสร็จภายในระยะเวลาสามวัน เพื่อหาทางกำจัดจูกัดเหลียงด้วยความอิจฉาริษยาที่มีความฉลาดหลักแหลม รู้เท่าทันแผนการของตนเองตลอดเวลา[14]

กลยุทธ์เข้าตี[แก้]

กลยุทธ์ที่ 13 ตีหญ้าให้งูตื่น[แก้]

กลยุทธ์ตีหญ้าให้งูตื่น หรือ ต๋าเฉ่าจิงเสอ (อังกฤษ: Startle the snake by hitting the grass around it; จีนตัวย่อ: 打草惊蛇; จีนตัวเต็ม: 打草驚蛇; พินอิน: Dá cǎo jīng shé) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่มีสิ่งใดพึงสงสัย ผิดแผกไปจากเดิม ควรจักส่งคนไปทำการสอดแนมให้รู้ชัดแจ้งเพื่อเป็นการกุมสภาพศัตรูเอาไว้ เมื่อได้ข่าวคราวศัตรูแล้วจึงนำกำลังทหารบุกเข้าโจมตีให้พ่ายแพ้ย่อยยับ เรียกว่า "สงสัยพึงแจ้ง สังเกตจึงเคลื่อน" คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ใช้มรรควิธีเดิมกลับไปมา 7 วัน เมื่อละเอียดแล้วจึงเข้าใจสิ่งนั้นได้ หากศัตรูสงบนิ่งก็พึงสร้างสถานการณ์ให้ศัตรูเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดช่องโหว่ จากนั้นจึงหาโอกาสเอาชัย" ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ตีหญ้าให้งูตื่นไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่ต้องการดูชั้นเชิงกองกำลังทหารโจโฉเมื่อคราวเล่าปี่นำกำลังทหารไปตีฮันต๋ง[15]

กลยุทธ์ที่ 14 ยืมซากคืนชีพ[แก้]

กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ หรือ เจี้ยซือหวนหุน (อังกฤษ: Borrow a corpse to resurrect the soul; จีนตัวย่อ: 借尸还魂; จีนตัวเต็ม: 借屍還魂; พินอิน: Jiè shī huán hún) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ผู้ที่มีความสามารถและมีบทบาทในหน้าที่ต่าง ๆ จะใช้ความสามารถนั้นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างผลีผลามไม่ได้ ส่วนผู้ที่ไร้ซึ่งความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ก็มักจะขอความช่วยเหลืออยู่เป็นนิจ การที่ใช้ผู้ที่ไร้ซึ่งความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ มิใช่เป็นการที่จะมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติ หากแต่เป็นเพราะผู้ที่ไร้ซึ่งความสามารถต้องการความพึ่งพยายามต้องการความช่วยเหลือ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ยืมซากคืนชีพไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่ให้นำเมล็ดข้าวสารใส่ไว้ในปากเพื่อเป็นการรักษาดาวสำหรับต่ออายุ และหลอกทหารสุมาอี้ให้หลงเชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่[16]

กลยุทธ์ที่ 15 ล่อเสือออกจากถ้ำ[แก้]

กลยุทธ์ล่อเสือออกจากถ้ำ หรือ เตี้ยวหู่หลีซาน (อังกฤษ: Entice the tiger to leave its mountain lair; จีนตัวย่อ: 调虎离山; จีนตัวเต็ม: 調虎離山; พินอิน: Diào hǔ lí shān) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ใช้ภาพลวงที่จงใจสร้างขึ้นเพื่อหลอกล่อให้ศัตรูเกิดความประมาท ชะล่าใจในการทำศึกสงคราม ละทิ้งแนวฐานการป้องกันของกองทัพซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ฉกฉวยจังหวะและโอกาสที่ศัตรูเกิดความอ่อนแอหลงเชื่อในภาพลวงที่สร้างขึ้น นำกำลังบุกเข้าโจมตีหรือทำลายเสียให้สิ้นซากช่วงชิงชัยชนะมาเป็นของตน ดั่งคำกล่าวว่า "อันธรรมดาเสือเมื่ออยู่ในถ้ำย่อมอันตราย จะจับเสือได้ก็ต่อเมื่อล่อให้มาตกในหลุมพรางที่ดักไว้" ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ล่อเสือออกจากถ้ำไปใช้ได้แก่อ้องอุ้นที่ใช้กลยุทธ์สาวงามทำให้ตั๋งโต๊ะผิดใจกับลิโป้และลวงไปฆ่าในวังหลวง[17]

กลยุทธ์ที่ 16 แสร้งปล่อยเพื่อจับ[แก้]

กลยุทธ์แสร้งปล่อยเพื่อจับ หรือ อวี้ฉินกู้จ้ง (อังกฤษ: In order to capture, one must let loose; จีนตัวย่อ: 欲擒故纵; จีนตัวเต็ม: 欲擒故縱; พินอิน: Yù qín gū zòng) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้สติปัญญาในการวางแผน การจับเชลยศึกสงครามได้นั้นถ้าหากบีบคั้นจนเกินไปจนไม่สามารถรีดเอาความต่าง ๆ ได้ เปรียบประหนึ่ง "สุนัขที่จนตรอก ย่อมต่อสู้จนสุดชีวิต" การปล่อยศัตรูให้เป็นฝ่ายหลบหนีก็จักเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจ ความเหิมเกริมของศัตรูได้ การปล่อยศัตรูหลบหนีจะต้องนำกำลังไล่ติดตามอย่าลดละ เพื่อเป็นการบั่นทอนกำลังทหารของศัตรูให้อ่อนแรง กะปลกกะเปลี้ยน ครั้นเมื่อหมดสิ้นเรี่ยวแรง มิได้มีใจคิดต่อสู้ด้วยก็จะยอมจำนนสวามิภักดิ์ เมื่อนั้นจึงจับเอาเป็นเชลยได้โดยง่าย ซึ่งเป็นการทำศึกสงครามที่ไม่เสียเลือดเนื้อและกำลังทหาร อีกทั้งยังเป็นเหตุให้ศัตรูแตกพ่ายยับเยินไปเอง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์แสร้งปล่อยเพื่อจับไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่ทำศึกสงครามกับเบ้งเฮ็ก เมื่อจับได้เป็นเชลยก็ปล่อยตัวเสียเพื่อให้เบ้งเฮ็กไปรวบรวมผู้คนมาต่อสู้อีกครั้ง จนกระทั่งยอมแพ้และสวามิภักดิ์ต่อจูกัดเหลียง[18]

กลยุทธ์ที่ 17 โยนกระเบื้องล่อหยก[แก้]

กลยุทธ์โยนกระเบื้องล่อหยก หรือ เพาจวนอิ่วอวี้ (อังกฤษ: Tossing out a brick to get a jade gem; จีนตัวย่อ: 抛砖引玉; จีนตัวเต็ม: 拋磚引玉; พินอิน: Pāo zhuān yǐn yù) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้สิ่งใดที่มีความคล้ายคลึงกันในการหลอกล่อศัตรู ให้ศัตรูเกิดความสับสนและต้องกลอุบายแตกพ่ายไป การใช้กลยุทธ์โยนกระเบื้องล่อหยกนี้ เป็นกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นตามสภาพรูปธรรมของศัตรู ในยามทำศึกสงครามเมื่อได้รบพุ่งกับศัตรู แม่ทัพหรือขุนศึกฝ่ายตรงข้ามมีแต่ความโง่เง่า มิรู้จักการพลิกแพลงกลยุทธ์ในเชิงรบ จักหลอกล่อด้วยผลประโยชน์ อำนาจวาสนา ถ้าศัตรูหลงในลาภยศต่าง ๆ มิรู้ผลร้าย ขาดการไตร่ตรองใคร่ครวญในกลอุบาย ก็สามารถลอบซุ่มทหารโจมตีเอาชนะมาเป็นของตนได้โดยง่าย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์โยนกระเบื้องล่อหยกไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่พึงพอใจฝีมือเกียงอุยจึงอยากได้ตัวไว้ จึงยอมเสียแฮหัวหลิมซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงบุตรเขยของโจยอยเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งนายทหารที่มีสติปัญญาเป็นเลิศ[19]

กลยุทธ์ที่ 18 จับโจรเอาหัวโจก[แก้]

กลยุทธ์จับโจรเอาหัวโจก หรือ ฉินเจ๋ยฉินหวาง (อังกฤษ: Defeat the enemy by capturing their chief; จีนตัวย่อ: 擒贼擒王; จีนตัวเต็ม: 擒賊擒王; พินอิน: Qín zéi qín wáng) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการทำศึกสงคราม จักต้องบุกเข้าโจมตีศัตรูในจุดที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของกองทัพ เพื่อสลายกำลังของศัตรูให้แตกกระจาย ศัตรูที่มีแม่ทัพฝีมือดีในการทำศึกสงครามย่อมเป็นขวัญและกำลังใจของเหล่าทหาร การวางแผนใช้กลอุบายหลอกล่อเอาชนะแม่ทัพที่มีฝีมือในเชิงยุทธ์ที่เก่งกาจ จักให้ต้องกลอุบายที่สับสน หลอกล่อให้หลงทิศและขจัดไปเสียให้พ้น เสมือน "มังกรสู้บนปฐพี ก็อับจนหมดหนทาง" ซึ่งเปรียบประหนึ่งดุจมังกรในท้องทะเล อาจหาญขึ้นมาต่อสู้กับศัตรูบนผืนแผ่นดิน ก็ย่อมได้รับความปราชัยแก่ศัตรูได้โดยง่าย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์จับโจรเอาหัวโจกไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่มีความกริ่งเกรงต่อสุมาอี้ในการทำศึกสงครามกับวุยก๊กจึงวางกลอุบายขจัดสุมาอี้ ซึ่งเมื่อปราศจากสุมาอี้แล้วจูกัดเหลียงก็ไม่เกรงกลัวต่อความยิ่งใหญ่ของกองทัพวุยก๊กอีกต่อไป[20]

กลยุทธ์ติดพัน[แก้]

กลยุทธ์ที่ 19 ถอนฟืนใต้กระทะ[แก้]

กลยุทธ์ถอนฟืนใต้กระทะ หรือ ฝูตี่โชวซิน (อังกฤษ: Remove the firewood under the cooking pot; จีน: 釜底抽薪; พินอิน: Fǔ dǐ chōu xīn) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการพิเคราะห์เปรียบเทียบกำลังของศัตรูในการทำศึกสงคราม ถ้ากองทัพมีน้อยกว่าควรพึงหาทางบั่นทอนขวัญและกำลังใจ ความฮึกเหิมของศัตรูให้ลดน้อยถอยลง คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ดุจฟ้าอยู่เหนือน้ำ" โดยคำว่า "น้ำ" หมายถึงความแข็งแกร่ง คำว่า "ฟ้า" หมายถึงความอ่อนแอ เมื่อรวมกันแล้ว "ดุจฟ้าอยู่เหนือน้ำ" หมายความถึงความอ่อนชนะความแข็ง คือการพึงใช้วิธีอ่อนพิชิตแข็ง ฉกฉวยจังหวะและโอกาสในการทำลายกองทัพส่วนหนึ่งของศัตรูให้แตกพ่ายย่อยยับในภายหลัง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ถอนฟืนใต้กระทะไปใช้ได้แก่เกียงอุยที่วางกลอุบายให้พระเจ้าโจฮวนหลงเชื่อว่าเตงงายคิดหมายตั้งตนเองเป็นใหญ่และสั่งให้จับไปฆ่า[21]

กลยุทธ์ที่ 20 กวนน้ำจับปลา[แก้]

กลยุทธ์กวนน้ำจับปลา หรือ หุนเสว่ยออวี๋ (อังกฤษ: Catch a fish while the water is disturbed; จีนตัวย่อ: 混水摸鱼; จีนตัวเต็ม: 混水摸魚; พินอิน: Hún shuǐ mō yú) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการรู้จักฉกฉวยจังหวะที่ศัตรูเกิดความปั่นป่วนภายในกองทัพให้เป็นประโยชน์ แย่งยึดเอาผลประโยชน์นั้นมาเป็นของตน นำกำลังทหารบุกเข้าโจมตีเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ การเอาชัยชนะจากศัตรูโดยอาศัยความปั่นปวนภายในกองทัพ เป็นดุจดั่งพายุฝนที่พัดกระหน่ำในยามค่ำคืน ภูมิประเทศที่ต่ำกว่าก็จักขังน้ำฝนไว้เป็นแอ่ง ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อสัมผัสกับไอเย็นและละอองฝนจักเข้าสู่ห้วงนิทรา การเฝ้าระวังเวรยามย่อมหละหลวม กองกำลังป้องแนวสำคัญย่อมเพิกเฉยต่อหน้าที่ ทำให้สามารถบุกเข้าโจมตียึดครองได้โดยง่าย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์กวนน้ำจับปลาไปใช้ได้แก่อ้วนเสี้ยวที่วางกลอุบายหลอกใช้กองซุนจ้านในการนำกองกำลังทหารบุกร่วมเข้าโจมตียึดเอากิจิ๋วจากฮันฮก[22]

กลยุทธ์ที่ 21 จักจั่นลอกคราบ[แก้]

กลยุทธ์จักจั่นลอกคราบ หรือ จินฉานทวอเชี่ยว (อังกฤษ: Slough off the cicada's golden shell; จีนตัวย่อ: 金蝉脱壳; จีนตัวเต็ม: 金蟬脱殼; พินอิน: Jīn chán tuō qiào) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการรักษาไว้ซึ่งตามแบบแผนการจัดแนวรบในรูปแบบเดิม ให้แลดูสง่าและน่าเกรงขาม เป็นการหลอกล่อไม่ให้ศัตรูเกิดความสงสัย ไม่กล้าผลีผลามนำกำลังทหารบุกเข้าโจมตี เมื่อรักษาแนวรบไว้เป็นตั้งมั่นแล้วจึงแสร้งถอยทัพอย่างปกปิด เคลื่อนกำลังทหารให้หลบหลีกไป คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "เลี่ยงเพื่อสลายลวง" โดยคำว่า "เลี่ยง" หมายถึงการหลบหลีก คำว่า "ลวง" หมายถึงการทำให้เกิดความสับสนงงงวย เมื่อรวมกันแล้ว "เลี่ยงเพื่อสลายลวง" หมายความถึงการหลบหลีกโดยมิให้ผู้ใดล่วงรู้ ซึ่งนับว่าเป็นกลยุทธ์ในการถอยทัพโดยไม่เกิดความกระโตกกระตาก เพื่อให้บรรลุยังเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ หรือเป็นการหลีกเลี่ยงความสูญเสียเลือดเนื้อหรือการปะทะที่อาจเกิดขึ้นในกองทัพ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์จักจั่นลอกคราบไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่วางกลอุบายอำพรางการถอยทัพกลับจ๊กก๊กในการบุกวุยก๊กครั้งที่ 5 โดยไม่ให้สุมาอี้ล่วงรู้และนำกำลังทหารติดตามมา[23]

กลยุทธ์ที่ 22 ปิดประตูจับโจร[แก้]

กลยุทธ์ปิดประตูจับโจร หรือ กวนเหมินจวอเจ๋ย (อังกฤษ: Shut the door to catch the thief; จีนตัวย่อ: 关门捉贼; จีนตัวเต็ม: 關門捉賊; พินอิน: Guān mén zhōu zéi) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงเมื่อต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่มีความอ่อนแอแลด้วยจำนวนที่น้อยนิด พึงตีโอบล้อมแล้วบุกทำลายเสียให้สิ้นซาก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นภัยต่อไปในภายหลัง คัมภีร์อี้จิ้งกล่าวว่า "ปล่อยมิเป็นคุณซึ่งติดพัน" โดยคำว่า "ปล่อย" หมายความถึงการแตกกระจายออกเป็นกองเล็กกองน้อยของศัตรู พละกำลังย่อมอ่อนเปลี้ย ไร้สมรรถนะ เสียขวัญและกำลังใจในการต่อสู้ คำว่า "ติดพัน" หมายความถึงการติดตามไล่ล่าอย่างไม่ลดละทั้งระยะทางใกล้หรือไกล ซึ่งคำว่า "มิเป็นคุณติดพัน" ก็คือเมื่อแม้นศัตรูจะแตกออกเป็นกองเล็กกองน้อย หากในการทำศึกสงครามแล้วปล่อยให้หลบหนีไปได้ด้วยเหตุอันใดก็ตาม แม้จะเป็นเพียงกองเล็ก ๆ แต่อาจนำภัยหวนย้อนกลับมาสร้างความยุ่งยากได้ในภายหลังจนต้องไล่ติดตามเพื่อทำลายเสีย เช่นนี้มิเป็นประโยชน์ในการทำศึกสงคราม ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ปิดประตูจับโจรไปใช้ได้แก่ลิบองที่วางกลอุบายดักจับกวนอูและกวนเป๋งที่นำกำลังทหารหวนกลับมาตีเกงจิ๋วคืน หลังจากกวนอูพลาดท่าเสียทีให้แก่ซุนกวน[24]

กลยุทธ์ที่ 23 คบไกลตีใกล้[แก้]

กลยุทธ์คบไกลตีใกล้ หรือ เหวี่ยนเจียวจิ้นกง (อังกฤษ: Befriend a distant state while attacking a neighbour; จีนตัวย่อ: 远交近攻; จีนตัวเต็ม: 遠交近攻; พินอิน: Yuǎn jiāo jìn gōng) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงเมื่อถูกจำกัดโดยสภาพภูมิศาสตร์ ควรจักตีเอาศัตรูที่อยู่ในบริเวณใกล้ตัวจึงจะเป็นประโยชน์ การบุกโจมตีศัตรูที่อยู่ห่างไกลออกไป จักกลายเป็นผลร้ายแก่กองทัพ คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "เปลวไฟลอยขึ้น น้ำบึงไหลลง บุรุษจักร่วมกันเพราะความผิดแผก" หมายความถึงในการหยิบยื่นไมตรีเพื่อผูกมิตรสัมพันธ์นั้น แม้นความคิดเห็นแต่ละฝ่ายอาจไม่ตรงกัน ก็สามารถที่จะยุติความขัดแย้ง และสามารถที่จะจับมือร่วมกันทำศึกสงครามได้ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับศัตรูแม้ใกล้ไกล พึงมีนโยบายที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ผูกมิตรกับแคว้นไกลเพื่อเอาชัยชนะต่อแคว้นใกล้อย่างหนึ่ง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์คบใกล้ตีไกลไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงแนะอุบายให้เล่าปี่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือกังตั๋งของซุนกวนให้รอดพ้นจากเงื้อมมือการบุกโจมตีของโจโฉ[25]

กลยุทธ์ที่ 24 ยืมทางพรางกล[แก้]

กลยุทธ์ยืมทางพรางกล หรือ เจี่ยเต้าฝากว๋อ (อังกฤษ: Obtain safe passage to conquer the State of Guo; จีน: 假道伐虢; พินอิน: Jiǎ dào fá Guó) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการทำศึกสงคราม ประเทศเล็กที่ตั้งอยู่ในระหว่างประเทศใหญ่สองประเทศ เมื่อถูกศัตรูบีบบังคับให้ยอมแพ้ด้วยความจำใจ ยอมสยบอยู่ภายใต้อำนาจ ถูกกดขี่ข่มเหงก็ควรจะให้การช่วยเหลือโดยฉับพลัน เพื่อให้ประเทศเล็กที่ถูกข่มเหงรังแก มีความเชื่อถือต่อประเทศที่ยอมช่วยเหลือประเทศที่ตกอยู่ภายใต้ความยากลำบาก หากการช่วยเหลือแต่เพียงการเจรจามิได้มีการกระทำที่แท้จริง ย่อมจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ที่เฝ้ารอคอยรับความช่วยเหลือ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ยืมทางพรางกลไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่รู้เท่าทันการวางกลอุบายของจิวยี่ที่คิดยืมทางเพื่อไปตีเสฉวน และฉวยโอกาสฆ่าเล่าปี่ที่บิดพลิ้วไม่ยอมคืนเกงจิ๋วให้แก่ซุนกวน[26]

กลยุทธ์ร่วมรบ[แก้]

กลยุทธ์ที่ 25 ลักขื่อเปลี่ยนเสา[แก้]

กลยุทธ์ลักขื่อเปลี่ยนเสา หรือ โทวเหลียงห้วนจวู้ (อังกฤษ: Replace the beams with rotten timbers; จีนตัวย่อ: 偷梁换柱; จีนตัวเต็ม: 偷梁換柱; พินอิน: Tōu liáng huàn zhù) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการต่อกำลังที่ร่วมทำศึกด้วยหรือต่อศัตรู จักต้องหาหนทางเปลี่ยนแปลงการจัดเตรียมแนวรบของศัตรูอยู่เสมอ การถอดถอนเคลื่อนย้ายจุดยุทศาสตร์และกองกำลังสำคัญของศัตรูไป รอให้ศัตรูเกิดความอ่อนแอเสียขวัญและกำลังใจ ประสบกับความพ่ายแพ้ จึงฉกฉวยโอกาสพลิกสถานการณ์ที่ศัตรูเกิดความย่ำแย่ให้เป็นประโยชน์แก่ตน นำกำลังบุกเข้าโจมตียึดครองและควบคุมกองทัพของศัตรูไว้ภายใต้การบังคับบัญชาเพื่อประโยชน์ต่อไปในภายหน้า ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ลักขื่อเปลี่ยนเสาไปใช้ได้แก่เทียหยกที่วางกลอุบายหลอกเอาตัวตันฮกมาจากเล่าปี่เพื่อให้เป็นที่ปรึกษาแก่โจโฉ ภายหลังที่ตันฮกวางกลอุบายซุ่มโจมตีกองทัพของโจหยินจนแตกพ่ายยับเยิน[27]

กลยุทธ์ที่ 26 ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว[แก้]

กลยุทธ์ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว หรือ จวื่อซ่างม่าไหว (อังกฤษ: Point at the mulberry tree while cursing the locust tree; จีนตัวย่อ: 指桑骂槐; จีนตัวเต็ม: 指桑罵槐; พินอิน: Zhǐ sāng mà huái) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงเมื่อฝ่ายที่มีความเข้มแข็งมากกว่า หรือแคว้นที่มีกองกำลังทหารภายใต้สังกัดมากมาย ข่มเหงรังแกแคว้นเล็กหรือผู้ที่มีกำลังทหารน้อยกว่า ควรที่จะใช้วิธีการตักเตือนให้เกิดความเกรงกลัวและยำเกรง แม้นหากแสดงความเข้มแข็งให้ได้ประจักษ์ ก็จักได้รับความสนับสนุนจากผู้ที่อ่อนแอกว่า ถ้าหาญกล้าใช้ความรุนแรง ก็จักได้รับความยอมรับนับถือจากผู้ที่อ่อนแอกว่า คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "แกร่งจึงต้อนรับ เสี่ยงจึงยอมสยบ นี่ถือหนทางปกครองแผ่นดินราษฏรจึงขึ้นต่อ" ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหวไปใช้ได้แก่สุมาอี้ที่บุกเข้าควบคุมตัวของครอบครัวโจซองภายหลังจากที่ลิดรอนอำนาจของสุมาอี้เพียงเพื่อหวังในตำแหน่งอุปราช[28]

กลยุทธ์ที่ 27 แสร้งทำบอแต่ไม่บ้า[แก้]

กลยุทธ์แสร้งทำบอแต่ไม่บ้า หรือ เจี่ยชือปู้เตียน (อังกฤษ: Feign madness but keep your balance; จีนตัวย่อ: 假痴不癫; จีนตัวเต็ม: 假痴不癲; พินอิน: Jiǎ chī bù diān) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการแสร้งยอมทำเป็นโง่ มิเคลื่อนไหวอย่าอวดทำเป็นสู่รู้ทำบุ่มบ่าม การอวดรู้ย่อมกลายเป็นผลเสียแก่ตนเองได้ในภายหน้า คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ดุจดั่งอสนีบาตหยุดฟาดฟัน" โดยคำว่า "หยุด" หมายความถึง "อสนีบาตฤดูหนาวแฝงกายอยู่ใต้พื้นพสุธา จักแผดร้องก้องนภาคราฤดูใบไม้ผลิ" ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ที่มีสติปัญญามิพึงแสดงตัว แต่พึงเตรียมการทั้งปวงอย่างลับ ๆ มิให้ผู้ใดล่วงรู้ ประหนึ่งคมดาบที่แอบซ่อนอยู่ภายในฝัก มิปรากฏให้ผู้ใดได้เห็น ครั้นเมื่อถึงเวลาอันสมควรก็จักคำรนคำรามเสมือนสายฟ้า ที่จะกระหน่ำพสุธาให้แตกสลายไป ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์แสร้งทำบอแต่ไม่บ้าไปใช้ได้แก่เล่าปี่ที่แสร้งทำเป็นหวาดกลัวเสียงฟ้าร้องจนตะเกียบหลุดจากมือ เพื่อให้โจโฉตายใจและไม่คิดระแวงเล่าปี่ที่อ่านคิดการใหญ่ในภายหน้า[29]

กลยุทธ์ที่ 28 ขึ้นบ้านชักบันได[แก้]

กลยุทธ์ขึ้นบ้านชักบันได หรือ ซ่างอูโชวที (อังกฤษ: Remove the ladder when the enemy has ascended to the roof; จีน: 上屋抽梯; พินอิน: Shàng wū chōu tī) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการจงใจปกปิดซ่อนเร้นจุดอ่อนเพื่อมิให้ศัตรูมองเห็น สร้างเงื่อนไขและหลอกล่อให้ศัตรูเป็นฝ่ายบุกเข้าโจมตี แล้วตัดขาดส่วนหน้าที่คอยวางกำลังสมทบและส่วนหลังที่วางกองกำลังไว้เป็นกองหนุน ตีโอบศัตรูให้หลบหนีเข้าไปภายในกองทัพ เสมือนถุงที่อ้าปากไว้รับหรือวงล้อมหลุมพรางที่วางดักไว้ คัมภีร์อี้จิงกล่าวไว้ว่า "เจอพิษ มิควรที่" การขบเปรียบประดุจการบดเคี้ยวกระดูกหรือเนื้อที่มีความเหนียว รังแต่จะทำให้ฟันเกิดการชำรุดเสียหาย หรือเสมือนดั่งมักได้ในสิ่งที่มิควรได้ฉันใด ย่อมจักนำมาซึ่งความวิบัติฉันนั้น ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ชักบ้านขึ้นบันไดไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่วางกลอุบายให้ม้าต้ายนำเกวียนที่บรรทุกประทัดและดินดำไปซุ่ม เพื่อช่วยเหลืออุยเอี๋ยนในคราวทำศึกกับลุดตัดกุด[30]

กลยุทธ์ที่ 29 ต้นไม้ผลิดอก[แก้]

กลยุทธ์ต้นไม้ผลิดอก หรือ ซู่ซ่างไคฮวา (อังกฤษ: Deck the tree with false blossoms; จีนตัวย่อ: 树上开花; จีนตัวเต็ม: 樹上開花; พินอิน: Shù shàng kāi huā) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้แนวรบของพันธมิตร มาสร้างแนวรบป้องกันที่จะกลายเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ตนเอง แม้กองกำลังทหารจะเล็กน้อยก็สามารถทำให้แลดูเสมือนกองกำลังทหารที่ใหญ่โตได้ ดุจเดียวกับนกอินทรีที่ผกผินบินอยู่ในอากาศ เมื่อกางปีกทั้งสองข้างออกก็ช่วยทำให้นกอินทรีแลดูมีท่วงท่าที่สง่าและน่าเกรงขราม เฉกเช่นเดียวกับต้นไม้ที่ไร้ซึ่งดอกแลผล เมื่อนำดอกไม้มาเสียบติดไว้ทำให้ดูสวยงามขึ้น ผู้ที่ไม่ทันสังเกตก็จะไม่รู้ว่าดอกไม้ไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงการสร้างสิ่งบังหน้าเพื่อสบโอกาสในการเคลื่อนไหว ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ต้นไม้ผลิดอกไปใช้ได้แก่โจโฉที่ฉวยจังหวะและโอกาสอาศัยพระนามของพระเจ้าหองจูเปียนบังหน้าในการนำกองกำลังทหารปราบปรามแคว้นต่าง ๆ ที่ไม่ยอมขึ้นแก่ตนเอง[31]

กลยุทธ์ที่ 30 สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน[แก้]

กลยุทธ์สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน หรือ ฝ่านเค่อเหวยจวู่ (อังกฤษ: Make the host and the guest exchange roles; จีนตัวย่อ: 反客为主; จีนตัวเต็ม: 反客為主; พินอิน: Fǎn kè wéi zhǔ) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเปิดช่องสบโอกาสให้สอดแทรก ควรสอดแทรกเพื่อกุมจุดสำคัญหรือหัวใจของอีกฝ่ายไว้ คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ค่อยผันสู่ชัยชนะ" โดยคำว่า "รุก" หมายความถึง "สรรพสิ่งใดในใต้หล้า เคลื่อนอย่าใจร้อนจักเสีย สงบแต่คล้อยตามจักได้ ค่อย ๆ ผันไปช้า ๆ จักเป็นคุณ เคลื่อนดังนี้จึงจะมีผล" โดย "ค่อยผันสู่ชัยชนะ" หมายความถึงการตอกลิ่มเข้าไปในฝ่ายตรงข้ามเพื่อยึดครองอำนาจการบังคับบัญชานั้น จักต้องค่อยเป็นค่อยไปจึงจะบรรลุซึ่งชัยชนะ การใช้อารมณ์วู่ว่ามบุ่มบามทำการใหญ่ไม่เป็นผลดีในการทำศึกสงคราม นอกจากจะเป็นการเปิดช่องโหว่ให้ศัตรูแล้ว ยังเสี่ยงต่อการพ่ายแพ้ในการศึกอีกด้วย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์สลับแขกเป็นเจ้าบ้านไปใช้ได้แก่เตียวสิ้วที่วางกลอุบาลลอบฆ่าโจโฉและเตียนอุยโดยใช้อาสะใภ้ตนเองเป็นเหยื่อล่อให้โจโฉหลงกล[32]

กลยุทธ์ยามพ่าย[แก้]

กลยุทธ์ที่ 31 สาวงาม[แก้]

กลยุทธ์สาวงาม เตียวเสี้ยนลวงตั๋งโต๊ะให้ลุ่มหลง

กลยุทธ์สาวงาม หรือ เหม่ยเหรินจี้ (อังกฤษ: The beauty trap; จีนตัวย่อ: 美人计; จีนตัวเต็ม: 美人計; พินอิน: Měi rén jì) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการกำจัดศัตรูที่มีกำลังเข้มแข็ง ในการทำศึกสงครามจำต้องหาหนทางกำจัดแม่ทัพเสียก่อน หากปล่อยไว้จะเป็นภัยในภายหน้า ต่อแม่ทัพที่มีความเฉลียวฉลาด สติปัญญาเป็นเลิศ ชำนาญตำราพิชัยสงคราม รอบรู้ภูมิประเทศและจุดยุทธศาสตร์ เก่งกาจในเชิงยุทธ์ จักต้องโจมตีจุดอ่อนทางใจให้มีอุปสรรค ส่วนแม่ทัพที่หย่อนย่อท้อแท้ กำลังทหารไพร่พลที่กำลังถดถอย ก็จักอ่อนแอแลเสื่อมโทรมพ่ายแพ้ไปเอง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์สาวงามไปใช้ได้แก่อ้องอุ้นที่วางกลอุบายทำลายความสัมพันธ์ของตั๋งโต๊ะและลิโป้บุตรบุญธรรมด้วยการยกเตียวเสี้ยนให้เป็นภรรยา ทำให้ทั้งสองฝ่ายผิดใจกันจนเป็นเหตุให้ลิโป้ฆ่าตั๋งโต๊ะ[33]

กลยุทธ์ที่ 32 เปิดเมือง[แก้]

กลยุทธ์เปิดเมือง หรือ คงเฉิงจี้ (อังกฤษ: The empty fort strategy; จีนตัวย่อ: 空城计; จีนตัวเต็ม: 空城計; พินอิน: Kōng chéng jì) เป็นกลยุทธ์ที่หมายความถึงในยามศึกสงคราม หากกำลังทหารไพร่พลเกิดความอ่อนแอหรือมีกำลังน้อย ยิ่งจงใจแสดงให้ศัตรูเห็นว่าในการศึกมิได้มีการวางแนวป้องกัน ทำให้ศัตรูเกิดความฉงนสนเท่ห์ ไม่กล้าผลีผลามนำกำลังเข้าบุกโจมตี ในสถานการณ์ที่ศัตรูมีกำลังมากกว่า การใช้กลยุทธ์เปิดเมืองเพื่อป้องกันกองทัพตนเองเป็นการเลือกใช้กลยุทธ์ที่มีความพิสดารพันลึกเป็นทวีคูณ คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ท่ามกลางแข็งกันอ่อน" โดยคำว่า "แก้" ใช้ควบคู่กับคำว่า "พิสดาร ซ่อนพิสดาร" ซึ่งหมายความว่า ในขณะที่ศัตรูมีกองกำลังแข็งแรง หากแต่กองกำลังแลไพร่พลอ่อนแอให้จัดกำลังทหารโดยใช้กลยุทธ์ "กลวงยิ่งทำกลวง" เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพิสดารในกลศึกที่ศัตรูคาดการณ์ไม่ถึง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์เปิดเมืองไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่ถอยทัพหลบหนีสุมาอี้หลังจากม้าเจ๊กเสียเมืองเกเต๋ง โดยแสร้งทำเป็นวางเฉยไม่สะดุ้งสะเทือนกับกองกำลังทหารสุมาอี้ที่ยกทัพติดตามมา[34]

กลยุทธ์ที่ 33 ไส้ศึก[แก้]

กลยุทธ์ไส้ศึก หรือ ฝ่านเจี้ยนจี้ (อังกฤษ: Let the enemy's own spy sow discord in the enemy camp; จีนตัวย่อ: 反间计; จีนตัวเต็ม: 反間計; พินอิน: Fǎn jiàn jì) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงเมื่อศัตรูแสร้งวางกลอุบายหลอกล่อให้เกิดการแตกแยกภายในกองทัพ ขาดความไว้ใจ พึงซ้อนกลอุบายสร้างแผนลวงให้ศัตรูเกิดความแตกแยกร้าวฉาน ให้ศัตรูเกิดความระแวงสงสัยซึ่งกันและกัน ใช้ประโยชน์จากความระแวงแล้วฉกฉวยโอกาสบุกเข้าโจมตีแย่งชัยชนะมาเป็นของตน คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "มีผู้แฝงอยู่ภายใน ไม่เสียหายแก่เรา" โดยคำว่า "ช่วย" หมายความถึงเมื่อมีการช่วยเหลือจากภายในของศัตรู ย่อมเป็นประโยชน์ในการทำศึก จึงเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการบุกเข้าโจมตีศัตรูให้ย่อยยับสิ้นซาก ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ไส้ศึกไปใช้ได้แก่จิวยี่ที่แสร้งรับชัวต๋งและชัวโฮนายทหารไส้ศึกของโจโฉไว้ในคราวศึกเซ็กเพ็ก และวางกลอุบายซ้อนแผนเผากองทัพเรือของโจโฉจนวอดวาย[35]

กลยุทธ์ที่ 34 ทุกข์กาย[แก้]

กลยุทธ์ทุกข์กาย อุยกายใช้อุบายเผาทัพเรือโจโฉ

กลยุทธ์ทุกข์กาย หรือ ขู่โร่วจี้ (อังกฤษ: Inflict injury on one's self to win the enemy's trust; จีนตัวย่อ: 苦肉计; จีนตัวเต็ม: 苦肉計; พินอิน: Kǔ ròu jì) เป็นกลยุทธ์ที่หมายความถึงโดยสามัญสำนึกของมนุษย์ทั่วไป ย่อมไม่มีผู้ใดยากทำร้ายตนเอง หากบาดเจ็บก็เชื่อว่าคงเกิดจากการถูกทำร้าย ถ้าหากแม้นสามารถทำเท็จให้กลายเป็นจริง หลอกให้ศัตรูหลงเชื่อโดยไม่ติดใจสงสัย กลอุบายย่อมจะสัมฤทธิ์ผล การแสร้งทำให้ศัตรูหลงเชื่อ ก็พึงเข้าใจในจุดอ่อนของศัตรู ทำเท็จให้จริงจัง ให้เชื่อจริงแท้ คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "อาศัยจุดอ่อนแห่งจิต ลู่ตามจึงพิชิต" โดยคำว่า "ปิด" หมายความถึงการอาศัยความไร้เดียงสาของทารก หลอกล่อโดยโอนอ่อนผ่อนตามไป ก็จักลวงให้ศัตรูหลงเชื่อและบรรลุตามความประสงค์ที่ตั้งไว้ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ทุกข์กายไปใช้ได้แก่อุยกายที่ยอมเสียสละร่างกายให้จิวยี่โบยหนึ่งร้อยที และแสร้งทำเป็นยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉเพื่อให้จิวยี่และจูกัดเหลียงใช้ไฟทำลายกองทัพเรือของโจโฉในคราวศึกเซ็กเพ็ก[36]

กลยุทธ์ที่ 35 ลูกโซ่[แก้]

กลยุทธ์ลูกโซ่ หรือ เหลียนหวนจี้ (อังกฤษ: Chain stratagems; จีนตัวย่อ: 连环计; จีนตัวเต็ม: 連環計; พินอิน: Lián huán jì) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงเมื่อกองกำลังศัตรูมีพละกำลังที่เข้มแข็งกว่าหลายเท่า จักปะทะด้วยกำลังมิได้โดยเด็ดขาด พึงใช้กลอุบายนานาให้ศัตรูต่างถ่วงรั้งซึ่งกันและกัน ทำลายความแข็งแกร่งของศัตรูหรือร่วมมือกับพลังต่าง ๆ ร่วมโจมตีเพื่อขจัดความฮึกเหิมของศัตรูให้หมดสิ้นไป คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "แม่ทัพผู้ปรีชา จักได้ฟ้าอนุเคราะห์" ซึ่งหมายความว่าแม่ทัพผู้ปรีชาสามารถในการศึก ย่อมสามารถจะบัญชาการศึกสงครามได้อย่างคล่องแคล่วดุจดั่งตามคำ "ความประสงค์ของฟ้า" จักต้องได้รับชัยชนะในการศึกสงครามเป็นมั่นคง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ลูกโซ่ไปใช้ได้แก่โจโฉวางกลอุบายลอบโจมตีอ้วนเสี้ยวด้วยการตัดกำลังเสบียงของอ้วนเสี้ยวจนแตกพ่าย[37]

กลยุทธ์ที่ 36 หลบหนี[แก้]

กลยุทธ์หลบหนี หรือ โจ่วเหวยซ่าง (อังกฤษ: If everything else fails, retreat; จีนตัวย่อ: 走为上; จีนตัวเต็ม: 走為上; พินอิน: Zǒu wéi shàng) เป็นกลยุทธ์ที่หมายความถึงเมื่อทำการศึกสงครามกับศัตรู หากศัตรูมีกองกำลังทหารที่เข้มแข็ง มีกองทัพที่แข็งแกร่ง ชำนาญภูมิศาสตร์ อาจจะถอยร่นหลบหนีอย่างรวดเร็วเพื่อหลบเลี่ยงการปะทะและการเผชิญหน้า คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยแห่งสงคราม" ซึ่งเป็นการชี้ชัดว่าการถอยหนีในการทำสงครามนั้น มิใช่ความผิดพลาด หากแต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญในการทำศึก ที่มักจะพบเห็นเสมอ การถอยหนีเป็นการถอยเพื่อหาหนทางหลีกเลี่ยงความเสียหาย แลหาโอกาสชิงตอบโต้ในภายหลัง มิใช่เป็นการถอยหนีอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์หลบหนีไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่ลอบหลบหนีจิวยี่ภายหลังจากทำพิธีเรียกลมสลาตันที่เขาลำปินสานเพื่อใช้ไฟเผากองทัพเรือโจโฉในคราวศึกเซ็กเพ็ก[38]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สามก๊ก. พระคลัง (หน บุญหลง), เจ้าพระยา, กรมศิลปากร. กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร. 2001. p. 622. ISBN 974-419-406-5. OCLC 683083027.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ กลศึกสามก๊ก
  3. หมานเทียนกว้อไห่ กลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเล, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 212, ISBN 978-974-690-595-4
  4. เหวยเวยจิ้วจ้าว กลยุทธ์ล้อมเวยช่วยเจ้า, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 213, ISBN 978-974-690-595-4
  5. เจี้ยเตาซาเหริน กลยุทธ์ยืมดาบฆ่าคน , 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 214, ISBN 978-974-690-595-4
  6. อี่อี้ไต้เหลา กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ย, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 215, ISBN 978-974-690-595-4
  7. เชิ่นหว่อต่าเจี๋ย กลยุทธ์ตีชิงตามไฟ, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 216, ISBN 978-974-690-595-4
  8. เซิงตงจีซี กลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 217, ISBN 978-974-690-595-4
  9. อู๋จงเซิงโหย่ว กลยุทธ์มีในไม่มี, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 218, ISBN 978-974-690-595-4
  10. อั้นตู้เฉินชาง ลอบตีเฉินชาง, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 219, ISBN 978-974-690-595-4
  11. เก๋ออั้นกวนหว่อ ดูไฟชายฝั่ง, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 220, ISBN 978-974-690-595-4
  12. เสี้ยวหลี่ฉางเตา ซ่อนดาบในรอยยิ้ม, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 220, ISBN 978-974-690-595-4
  13. หลี่ไต้เถาเจียง หลี่ตายแทนถาว, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 219, ISBN 978-974-690-595-4
  14. ซุ่นโส่วเชียนหยาง กลยุทธ์จูงแพะติดมือ, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 223, ISBN 978-974-690-595-4
  15. ต๋าเฉ่าจิงเสอ กลยุทธ์ตีหญ้าให้งูตื่น, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 225, ISBN 978-974-690-595-4
  16. เจี้ยซือหวนหุน กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 226, ISBN 978-974-690-595-4
  17. เตี้ยวหู่หลีซาน กลยุทธ์ล่อเสือออกจากถ้ำ, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 227, ISBN 978-974-690-595-4
  18. อวี้ฉินกู้จ้ง กลยุทธ์แสร้งปล่อยเพื่อจับ, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 228, ISBN 978-974-690-595-4
  19. เพาจวนอิ่วอวี้ กลยุทธ์โยนกระเบื้องล่อหยก, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 229, ISBN 978-974-690-595-4
  20. ฉินเจ๋ยฉินหวาง กลยุทธ์จับโจรเอาหัวโจก, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 230, ISBN 978-974-690-595-4
  21. ฝูตี่โชวซิน กลยุทธ์ถอนฟืนใต้กระทะ, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 231, ISBN 978-974-690-595-4
  22. หุนเสว่ยออวี๋ กลยุทธ์กวนน้ำจับปลา, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 232, ISBN 978-974-690-595-4
  23. จินฉานทวอเชี่ยว กลยุทธ์จักจั่นลอกคราบ, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 233, ISBN 978-974-690-595-4
  24. กวนเหมินจวอเจ๋ย กลยุทธ์ปิดประตูจับโจร, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 234, ISBN 978-974-690-595-4
  25. เหวี่ยนเจียวจิ้นกง กลยุทธ์คบไกลตีใกล้, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 235, ISBN 978-974-690-595-4
  26. เจี่ยเต้าฝากว๋อ กลยุทธ์ยืมทางพรางกล, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 237, ISBN 978-974-690-595-4
  27. โทวเหลียงห้วนจวู้ กลยุทธ์ลักขื่อเปลี่ยนเสา, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 238, ISBN 978-974-690-595-4
  28. จวื่อซ่างม่าไหว กลยุทธ์ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 239, ISBN 978-974-690-595-4
  29. เจี่ยชือปู้เตียน กลยุทธ์แสร้งทำบอแต่ไม่บ้า, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 240, ISBN 978-974-690-595-4
  30. ซ่างอูโชวที กลยุทธ์ขึ้นบ้านชักบันได , 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 241, ISBN 978-974-690-595-4
  31. ซู่ซ่างไคฮวา กลยุทธ์ต้นไม้ผลิดอก, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 242, ISBN 978-974-690-595-4
  32. ฝ่านเค่อเหวยจวู่ กลยุทธ์สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 244, ISBN 978-974-690-595-4
  33. เหม่ยเหรินจี้ กลยุทธ์สาวงาม, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 245, ISBN 978-974-690-595-4
  34. คงเฉิงจี้ กลยุทธ์ปิดเมือง, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 246, ISBN 978-974-690-595-4
  35. ฝ่านเจี้ยนจี้ กลยุทธ์ไส้ศึก, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 247, ISBN 978-974-690-595-4
  36. ขู่โร่วจี้ กลยุทธ์ทุกข์กาย, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 248, ISBN 978-974-690-595-4
  37. เหลียนหวนจี้ กลยุทธ์ลูกโซ่, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 249, ISBN 978-974-690-595-4
  38. โจ่วเหวยซ่าง กลยุทธ์หลบหนี, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 251, ISBN 978-974-690-595-4

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]