เห็ดฟาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เห็ดฟาง
เห็ดฟาง บางดอกยังอยู่ในเยื่อหุ้ม บางดอกก็มีหมวกผุดออกมา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Fungi
หมวด: Basidiomycota
ชั้น: Agaricomycetes
อันดับ: Agaricales
วงศ์: Pluteaceae
สกุล: Volvariella
สปีชีส์: V.  volvacea
ชื่อทวินาม
Volvariella volvacea
(Bulliard ex Fries) Singer
ชื่อพ้อง
  • Volvaria volvacea
  • Agaricus volvaceus
  • Amanita virgata
  • Vaginata virgata

เห็ดฟาง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Volvariella volvacea) เป็นเห็ดกินได้ชนิดหนึ่ง มีการเพาะเลี้ยงในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้เป็นส่วนผสมในการประกอบอาหารเอเชียอย่างแพร่หลาย ชื่อเรียกแม้แตกต่างกันไปในหลายประเทศ แต่ยังมีความหมายว่า เห็ดฟาง เหมือนกัน เห็ดฟางมักพบในรูปแบบสด แต่มีพบรูปแบบบรรจุกระป๋องหรืออบแห้งจำหน่ายนอกฤดูเก็บเกี่ยวด้วย

ลักษณะดอกเห็ดอ่อนเป็นรูปทรงไข่มีเปลือกหุ้ม เมื่อเจริญขึ้น เปลือกหุ้มปริแตก คงเหลือเปลือกหุ้มที่โคนก้าน ผิวนอกของเปลือกหุ้มส่วนมากมักเปลี่ยนเป็นสีขาวหม่นหรือสีเนื้อ หมวกเห็ดเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 4–10 เซนติเมตร กลางหมวกมีขนละเอียดสีน้ำตาลดำหรือสีน้ำตาลแดง ครีบสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อน ไม่ยึดติดกับก้าน สั้นยาวไม่เท่ากัน ก้านยาว 4–10 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1 เซนติเมตร ผิวสีขาวนวลมีขนสีขาว เนื้อเป็นเส้นหยาบสีขาวรวมกันแน่น ตรงกลางก้านกลวง สปอร์รูปทรงรี สีชมพู ขนาด 5–6 × 7–9 ไมโครเมตร ผิวเรียบ

เห็ดฟางตามธรรมชาติเจริญเติบโตบนกองฟางข้าวเป็นกลุ่ม 2–6 ดอก และจะถูกเก็บเกี่ยวในระยะที่ยังเจริญไม่เต็มที่ คือยังเป็นตุ่มกลม ๆ ก่อนที่หมวกเห็ดจะผุดออกมา[1] ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4–5 วัน เจริญได้ผลดีที่สุดในภูมิอากาศเขตร้อนที่มีฝนตกชุก เห็ดชนิดนี้ไม่เคยปรากฏประวัติการเพาะปลูกมาก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19[2]

เห็ดฟางมีลักษณะคล้ายกับเห็ดอีกชนิดหนึ่งมากคือ เห็ดระโงกหิน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Amanita phalloides, death cap) ซึ่งเป็นเห็ดพิษ สามารถจำแนกได้ด้วยสีสปอร์ สปอร์ของเห็ดฟางเป็นสีชมพูอ่อน แต่สปอร์ของเห็ดระโงกหินเป็นสีขาว คนจำนวนมากไม่รู้ถึงข้อมูลนี้ เก็บเห็ดระโงกหินที่ขึ้นอยู่ไปกิน โดยเข้าใจว่าเป็นเห็ดฟาง ทำให้เสียชีวิต[3]

ข้อควรระวัง การเข้าอยู่ในโรงเพาะเห็ดฟาง ที่ปิดมิดชิด ห้ามเข้านานเกินไป มักจะมีข่าวการเสียชีวิต ในโรงเห็ดฟางเสมอ เกษตรควรระมัดระวังด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. Tropical Mushrooms: Biological Nature and Cultivation Methods By Shu-ting Chang, T. H. Quimio at 120
  2. Hsiung, Deh-Ta (2006). The Chinese Kitchen. London: Kyle Cathie Ltd. pp. 186–87. ISBN 1-85626-702-4.
  3. The Death Cap: Amanita Phalloides. americanmushrooms.com
  • เห็ดกินได้และเห็ดมีพิษในประเทศจีน ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]