ข้ามไปเนื้อหา

ไฟป่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไฟป่าอันเกิดบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 เพราะชาวบ้านจุดเพลิงกระตุ้นการเจริญเติบโตของเห็ดเผาะ เกษตรกรรมลักษณะนี้ทำกันบ่อยมากในภาคเหนือของไทย และก็ลุกลามเป็นไฟป่าดังนี้เสมอ

ไฟป่า (อังกฤษ: wildfire, brush fire, bushfire, forest fire, desert fire, grass fire, hill fire, peat fire, vegetation fire หรือ wildland fire) คือ เพลิงที่ไหม้อย่างเป็นอิสระในชนบทประเทศหรือถิ่นทุรกันดาร (wilderness area)[1][2] ไฟป่าต่างจากอัคคีภัยรูปแบบอื่น เพราะกินอาณาบริเวณกว้างขวาง, ลุกลามรวดเร็ว คาดเดายาก และบางครั้งสามารถไหม้ผ่านแม่น้ำ ถนน หรือแนวกันไฟได้ด้วย[3]

ไฟป่าเกิดได้ในทุกที่ ยกเว้นแอนตาร์กติกา ซากดึกดำบรรพ์และประวัติศาสตร์มนุษยชาติเป็นเครื่องยืนยันความถี่ของไฟป่า และบ่งบอกว่า บางแห่งไฟป่าเกิดขึ้นมีกำหนดแน่นอน[4][5] ไฟป่าอาจสร้างความเสียหายใหญ่หลวงทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ แต่เป็นประโยชน์ต่อพืชพันธุ์บางชนิด เช่น เห็ดเผาะ ซึ่งเจริญดีด้วยไฟ[4] อย่างไรก็ตาม ไฟป่าขนาดใหญ่ย่อมยังผลร้ายสู่ระบบนิเวศถ่ายเดียว[6]

ในแต่ละสมัย มีการคิดยุทธศาสตร์ป้องกันไฟป่ามากมาย แต่ผู้เชี่ยวชาญการควบคุมไฟป่าระหว่างประเทศกระตุ้นให้ช่วยกันพัฒนาและวิจัยมากกว่านี้[7] หนึ่งในเทคนิคการดับไฟป่าที่ถูกโต้แย้งมากที่สุด คือ การเผาคุม (controlled burn) หรือการยอมวางเพลิง เพื่อให้ไหม้ทำลายเชื้อเพลิงเสีย ทำนองใช้ไฟล้างไฟ[8][9]

ลักษณะ

[แก้]

เดิมคำ "wildfire" ในภาษาอังกฤษเป็นไวพจน์ของ "Greek fire" หรือ เพลิงกรีก อันเป็นชื่อเรียกเพลิงที่ใช้ปล่อยใส่คู่รบในสมัยจักรวรรดิไบแซนไทน์ เพลิงกรีกนี้มีอานุภาพมากถึงขนาดที่ไหม้ได้แม้ในน้ำ ทั้งนี้ เพราะคำว่า "wild" นอกจากหมายความว่า ป่า แล้ว ยังหมายความว่า ป่าเถื่อน ก็ได้ แต่บัดนี้ คำ "wildfire" ใช้หมายถึงไฟป่าเท่านั้น[2]

ไฟป่าหมายเอาเพลิงที่เกิดในทุ่งหญ้า, ป่าไม้, ป่าพุ่ม, ป่าละเมาะ, ป่าหินเลน (peatland) และบริเวณอื่นที่ป่าชุก และมีแหล่งเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟ อนึ่ง ไฟป่าอาจลามไปยังสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ก็ได้

สาเหตุของไฟป่านั้นมีมากหลาย แต่ผลลัพธ์ของมันนั้นมีเพียงหนึ่ง คือ ความเสียหายเป็นวงกว้าง ไฟป่าลุกลามและร้ายแรงได้มากถ้ามีเชื้อเพลิงและอากาศเป็นปัจจัยเกื้อหนุน[10][11][12] ไฟป่าอาจมหึมาจนควบคุมมิได้ เพราะมีประวัติว่าใหญ่โตถึงขนาดทำลายอาณาบริเวณตั้งแต่ 0.4 ถึง 400 ตารางกิโลเมตรมาแล้ว และแน่นอนว่า ไฟป่าสามารถใหญ่โตได้มากกว่านี้ ขณะเดียวกัน ไฟป่าก็อาจเล็กราว ๆ 0.0010 ตารางกิโลเมตร หรือน้อยกว่าก็ได้[13][14][15] ไฟป่าขนาดเล็กมักไม่เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน นักวิชาการเห็นว่านี้เป็นปัญหาอย่างยิ่ง เพราะการที่สื่อนำเสนอแต่ไฟป่าขนาดใหญ่นั้น มีอิทธิพลเป็นอันมากต่อนโยบายสาธารณะด้านไฟป่า ซึ่งควรหมายถึงไฟป่าไม่ว่าจะป่าเล็กหรือป่าใหญ่[16][17][18]

สาเหตุ

[แก้]

ไฟป่าอาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติเพราะเหตุสี่ประการ คือ ฟ้าผ่า, ภูเขาไฟระเบิด, ประกายไฟจากหินถล่ม และสันดาปเอง (spontaneous combustion)[19][20] อนึ่ง ถ่านหินจำนวนมากที่อยู่ใต้พิภพรอบโลก เช่น ที่ในเซนทราเลีย, เขาเบิร์นนิง และประเทศจีน บางคราวก็ประทุและติดเพลิงให้แก่วัตถุไวไฟใกล้เคียงได้[21]

ไฟป่าส่วนใหญ่นั้นเกิดเพราะมนุษย์ ตั้งแต่ลอบวางเพลิง, ทิ้งบุหรี่เรื่อยเปื่อย, ประกายไฟจากอุปกรณ์ ไปจนถึงกระแสพลังงานในการเชื่อมโลหะ[22][23] การทำไร่เลื่อนลอย (shifting cultivation) ซึ่งเตรียมดินโดยวิธีถางแล้วเผา (slash and burn) นั้น แม้ประหยัดที่สุด แต่ก็เป็นสาเหตุของไฟป่าได้[24][25] เช่นเดียวกับการโค่นไม้ (logging) ที่จะเพิ่มจำนวนเชื้อเพลิงในป่า อุทาหรณ์เด่นชัดที่สุด คือ ไฟป่าอันเกิดทุกปีในเวียดนามใต้ มีสาเหตุประการหนึ่งถอยหลังไปถึงในสงครามเวียดนาม ที่กองทัพสหรัฐอเมริกาเข้ายึดพื้นที่ แล้วทำลายป่าด้วยเคมี ระเบิด และเครื่องจักรกล[26]

อย่างไรก็ดี เหตุไฟป่านั้นย่อมแตกต่างกันไปตามพื้นที่ เช่น ในสหรัฐอเมริกา, แคนาดา และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ฟ้าผ่าเป็นปัจจัยหลักของการติดเพลิง ส่วนในแม็กซิโก, อเมริกาใต้, แอฟริกา, เอเชียใต้, ฟิจิ และนิวซีแลนด์ ไฟป่าเกิดเพราะกิจกรรมของมนุษย์เป็นหลัก เช่น การบำรุงพันธุ์สัตว์ (animal husbandry), เกษตรกรรม และการปรับปรุงดินด้วยการเผา อนึ่ง ในท้องที่อื่น ๆ ของจีน ความเลินเล่อของมนุษย์ก่อไฟป่าบ่อยครั้ง และในออสเตรเลีย ไฟป่าเกิดเพราะฟ้าผ่าและพฤติกรรมของมนุษย์พอ ๆ กัน โดยเฉพาะการทิ้งบุหรี่ไปเรื่อย และประกายไฟจากเครื่องกล[5]

ผลกระทบจากสภาพอากาศ

[แก้]

ไฟป่าอาจเกิดง่ายขึ้น เมื่อมีอากาศเกื้อหนุน ปัจจัยทางอากาศที่ก่อไฟป่าขนาดใหญ่นั้นรวมถึง คลื่นความร้อน, ความแห้งแล้ง, ความเปลี่ยนแปลงของอากาศเป็นวงรอบ อาทิ เอลนีโญ, ตลอดจนลักษณะอากาศประจำถิ่น เช่น ลิ่มความกดอากาศสูง[27][28]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Federal Fire and Aviation Operations Action Plan, 4.
  2. 2.0 2.1 Cambridge Advanced Learner's Dictionary, Third Edition. Cambridge University Press; 2008. ISBN 9780521858045. เก็บถาวร 2009-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-13. สืบค้นเมื่อ 2011-09-30.
  3. National Interagency Fire Center. The Science of Wildland fire [archived 2011-02-19; cited 2008-11-21].
  4. 4.0 4.1 Stephen J. Pyne. NOVA online. How Plants Use Fire (And Are Used By It) [cited 2009-06-30].
  5. 5.0 5.1 Krock, Lexi. NOVA online - Public Broadcasting System (PBS). The World on Fire; June 2002 [cited 2009-07-13].
  6. Flannigan, M.D.; B.D. Amiro, K.A. Logan, B.J. Stocks, and B.M. Wotton. Forest Fires and Climate Change in the 21st century [PDF]. Mitigation and Adaptation Strategies for Global Change. 2005 [archived 2009-02-26; cited 2009-06-26];11:847. doi:10.1007/s11027-005-9020-7.
  7. Voice of America (VOA) News. International Experts Study Ways to Fight Wildfires; 2009-06-24 [archived 2010-01-07; cited 2009-07-09].
  8. Interagency Strategy for the Implementation of the Federal Wildland Fire Policy, entire text
  9. National Wildfire Coordinating Group Communicator's Guide For Wildland Fire Management, entire text
  10. Graham, et al., 12, 36
  11. National Wildfire Coordinating Group Communicator's Guide For Wildland Fire Management, 4-6.
  12. National Wildfire Coordinating Group. National Wildfire Coordinating Group Fireline Handbook, Appendix B: Fire Behavior [PDF]; April, 2006 [archived 2008-12-17; cited 2008-12-11].
  13. National Interagency Fire Center. Fire Information - Wildland Fire Statistics [archived 2009-05-14; cited 2009-06-26].
  14. US Forest Service MODIS Active Fire Mapping Program. Definition of Map Terms [archived 2014-02-19; cited 2009-07-07].
  15. Glossary of Wildland Fire Terminology, 156
  16. Alvarado, et al., 66-68
  17. Michigan State University Extension. Understanding Wildfire Behavior in Michigan; April 2004 [archived 2010-06-10; cited 2009-07-15].
  18. Olson, et al., 2-3
  19. National Wildfire Coordinating Group. Wildfire Prevention Strategies [PDF]; March 1998 [archived 2008-12-09; cited 2008-12-03]; p. 17.
  20. Scott, A. The Pre-Quaternary history of fire. Palaeogeography Palaeoclimatology Palaeoecology. 2000;164:281. doi:10.1016/S0031-0182(00)00192-9.
  21. Krajick, Kevin. Fire in the hole. Smithsonian Magazine. May 2005 [archived 2010-09-03; cited 2009-07-30].
  22. Pyne, Stephen J.; Andrews, Patricia L.; Laven, Richard D. Introduction to wildland fire. 2nd ed. John Wiley and Sons; 1996 [cited 26 January 2010]. p. 65.
  23. UCAN News. News 8 Investigation: SDG&E Could Be Liable For Power Line Wildfires; 2007-11-05 [archived 2009-08-13; cited 2009-07-20].
  24. The Associated Press. TheStar online. Orangutans in losing battle with slash-and-burn Indonesian farmers; 16 November 2006 [cited 2008-12-01].
  25. Karki, 7.
  26. Karki, 4.
  27. National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) Satellite and Information Service. Chronological List of U.S. Billion Dollar Events [archived 2001-09-15; cited 2011-10-02].
  28. McKenzie, et. al., 893

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]