ไฟนอลแฟนตาซี XIV: เฮเวนส์เวิร์ด
Final Fantasy XIV: Heavensward | |
---|---|
ผู้พัฒนา | Square Enix Business Division 5 |
ผู้จัดจำหน่าย | Square Enix |
กำกับ | Naoki Yoshida |
อำนวยการผลิต | Naoki Yoshida |
ออกแบบ |
|
โปรแกรมเมอร์ | Hideyuki Kasuga |
ศิลปิน | Hiroshi Minagawa |
เขียนบท | Kazutoyo Maehiro |
แต่งเพลง | Masayoshi Soken |
ชุด | Final Fantasy |
เครื่องเล่น | |
วางจำหน่าย | 23 มิถุนายน 2015 |
แนว | MMORPG |
รูปแบบ | Multiplayer |
ไฟนอลแฟนตาซี XIV: เฮเวนส์เวิร์ด เป็นส่วนเสริมตัวแรกของเกมไฟนอลแฟนตาซี XIV: อะเรียล์มรีบอร์น ซึ่งเป็นเกมออนไลน์แบบเล่นตามบทบาท (MMORPG) ที่ได้รับการพัฒนาและจัดจำหน่ายโดยบริษัทสแควร์อีนิกซ์ บนแพลตฟอร์มวินโดวส์, แมคโอเอส, เพลย์สเตชั่น 3, และเพลย์สเตชั่น 4 วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นเวลาเกือบสองปีหลังอะเรียล์มรีบอร์นวางจำหน่าย โดยนาโอกิ โยชิดะ กลับมารับหน้าที่เป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างให้กับเกมชุดนี้อีกครั้ง และมีโนบุโอะ อุเมมัตสึ กลับมาประพันธ์ดนตรีประกอบอีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้ร่วมงานกับทีมงานไฟนอลแฟนตาซีตั้งแต่ความล้มเหลวของไฟนอลแฟนตาซี XIV ฉบับแรก โดยประพันธ์ดนตรีประกอบร่วมกันกับมาซาโยชิ โซเคน ส่วนเสริมนี้วางจำหน่ายทั้งฉบับแยกเป็นส่วนเสริม สำหรับผู้เล่นที่มีเกมต้นฉบับเดิมอยู่แล้ว และฉบับสมบูรณ์ที่มีเกมต้นฉบับรวมอยู่ด้วย โดยเกมทั้งสองแบบออกวางขายพร้อมกัน
เนื้อเรื่องของเฮเวนส์เวิร์ดเน้นไปที่สงครามลำนำมังกร (The Dragonsong War) ที่ดำเนินมานับพันปี ระหว่าง Holy See แห่งเมือง Ishgard และเหล่ามังกรแห่ง Dravania หลังเหตุการณ์ในอะเรียล์มรีบอร์นผู้เล่นได้เดินทางมาหลบภัยที่ Ishgard และเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามที่จะยุติสงครามนี้ ซึ่งนำไปสู่การเปิดเผยความลับเกี่ยวกับต้นกำเนิดที่แท้จริงของสงคราม นอกจากพื้นที่ใหม่ๆ แล้ว ผู้เล่นจะยังได้รับการปรับเลเวลสูงสุด (จากเดิมสูงสุดที่ 50 เพิ่มเป็น 60) อาชีพตัวละครใหม่ (3 อาชีพ) มีเผ่าพันธุ์ให้เลือกเพิ่มเติม และสามารถเดินทางด้วยการบินได้
เฮเวนส์เวิร์ดได้รับการตอบรับในทางบวกอย่างล้นหลาม และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล "ส่วนขยายแห่งปี" ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2015 สแควร์อีนิกซ์รายงานว่าขายเกมนี้ไปได้แล้ว 5 ล้านรายชื่อลงทะเบียน แต่ต้องระงับการขายเวอร์ชันสำหรับแมคโอเอสไว้ชั่วคราวเนื่องจากมีรายงานว่ามีปัญหาทางเทคนิก และให้ข้อเสนอคืนเงินแก่ผู้ที่ซื้อเกมเวอร์ชันนี้ ก่อนที่จะกลับมาขายเวอร์ชันปรับปรุงอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 และเช่นเดียวกันกับอะเรียล์มรีบอร์น เกมนี้มีกำหนดว่าจะเผยแพร่ส่วนขยายเนื้อเรื่องหลักทุกๆ 3 เดือน แต่ส่วนขยายตัวแรกถูกเลื่อนกำหนดเผยแพร่ออกไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2016 เพื่อให้ทีมผู้พัฒนาได้พักผ่อน
เนื้อเรื่อง
[แก้]ฉาก
[แก้]เฮเวนส์เวิร์ดดำเนินเรื่องในโลกในจินตนาการแห่งดาวเคราะห์ไฮเดลิน ซึ่งมีทวีปใหญ่ 3 ทวีป มีภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมหลากหลาย บนดาวเคราะห์แห่งนี้มีดินแดนแห่งหนึ่งชื่อว่าเอออร์เซีย เรื่องราวในภาคเสริมนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเทวนครอิชการ์ดบนเทือกเขาหิมะแห่งโคเอร์ธาสและดินแดนรอบๆ สามนครที่เหลือได้แก่กริดาเนีย ลิมซ่าโลมินซ่า และอุลดาห์ ซึ่งบัดนี้จับมือกันเป็นพันธมิตรแห่งเอออร์เซียอย่างแท้จริง ก็มีบทบาทในเรื่องด้วยเช่นกัน รวมไปถึงศัตรูอย่างจักรวรรดิการ์เลียน นอกจากนี้แล้วยังมีชาวแอสเซียน เผ่าพันธุ์อมตะ คอยบงการเหตุการณ์ต่างๆ อยู่เบื้องหลัง ผู้เล่นสามารถสำรวจดินแดนต่างๆ ได้ด้วยการเดินเท้าและบินบนพาหนะต่างๆ และพบกับดินแดนดราวาเนีย (Dravania) บ้านเกิดของเหล่ามังกร และเกาะลอยฟ้าในทะเลเมฆเหนือเทือกเขาอะบาลาเทียสไปน์ ในดราวาเนียยังมีซากปรักหักพังของนครชาร์ลายาน ซึ่งถูกทิ้งร่างหลังจักรวรรดิการ์เลียนรุกราน เกิดเป็นเมืองใหม่นามว่าอิดิลไชร์ (Idyllshire) นครรัฐอิสระที่ปกครองโดยชาวกอบลิน ด้วยระบอบประชาธิปไตยอันเห็นทุกคนเท่าเทียม
ความขัดแย้งหลักของเรื่องราวนี้คือสงครามลำนำมังกรอันยืดเยื้อ เป็นการสู้รบไม่จบสิ้นระหว่างชาวอิชการ์ดและฝูงมังกรแห่งนิดฮอกก์ เหล่าผู้ปกครองในเทวรัฐอิชการ์เดียนเชื่อว่าสงครามอันกินเวลามานับพันปีนี้เริ่มขึ้นนับตั้งแต่วันที่ชาวเอเลเซนเข้ามาอยู่อาศัยในเอออร์เซีย กษัตริย์ธอร์แดนประกาศว่าตนทำทุกสิ่งตามคำบัญชีของเทพฮาโลน นั่นคือสร้างเมืองขึ้นบนเทือกเขาอะบาลาเทียสไปน์ การกระทำนี้สร้างความโกรธกริ้วให้กับมังกรยักษ์นิดฮอกก์ มันเข้าต่อสู้กับธอร์แดนและสิบสองอัศวินจนธอร์แดนเองและอัศวินอีกหลายคนต้องจบชีวิต อัลดราธบุตรแห่งธอร์แดนได้จับหอกของผู้เป็นบิดาควักเอาดวงตาของนิดฮอกก์ออกมาได้ข้างหนึ่งจนต้องหลบหนีไป ดวงตาลูกนั้นกลายเป็นสมบัติศักดิ์สิทธิ์แห่งชาวอิชการ์เดียนและผูกพันเป็นหนึ่งกับตำนานแห่งนักรบดรากูนสีครามซึ่งกลายเป็นนามใช้เรียกนักรบดรากูนที่ได้รับพลังจากดวงตาลูกนี้ นับแต่นั้นเป็นต้นมานิดฮอกก์ยังพยายามต่อสู้เข้ายึดครองดินแดนอิชการ์ดและประชาชนทั้งหลาย ตำนานจุดเริ่มของสงครามดังที่กล่าวมานี้ถูกกล่าวขานซ้ำแล้วซ้ำเล่าในศาสนจักรแห่งอิชการ์ด ซึ่งปัจจุบันนำโดยอาร์คบิชอปธอร์แดนที่เจ็ด
ความยาวนานของสงครามทำให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวอิชการ์ดปฏิเสธการคบค้าสมาคมกับนานาประเทศ ทั้งถอนตัวออกจากพันธมิตรแห่งเอออร์เซียในครั้งก่อน และยังปฏิเสธการเข้าร่วมพันธมิตรที่เกิดขึ้นใหม่อีกด้วย ผลข้างเคียงจากการโดดเดี่ยวตัวเองเช่นนี้ทำให้เกิดมุมมองที่เลวร้ายต่อ "พวกนอกรีต" หรือก็คือใครก็ตามที่คบค้าสมาคมหรือถูกกล่าวหาว่าคบค้าสมาคมกับพวกมังกร ในช่วงก่อนจะเกิดเหตุการณ์ในเกมภาคเสริมนี้ จ้าวมังกรนิดฮอกก์ที่สงบเงียบมาเป็นระยะเวลาหนึ่งได้ส่งเสียงคำรามใหญ่ขึ้นอีกครั้ง เป็นการเรียกระดมไพร่พลฝูงมังกรเพื่อเตรียมเข้าโจมตีอิชการ์ดอีกครั้ง ในขณะนั้นเอง ตัวละครของผู้เล่นคือนักผจญภัยที่ขณะนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นนักรบแห่งแสงจากวีรกรรมการต่อสู้กับการรุกรานของจักรวรรดิการ์เลียน ได้เข้ามาอยู่ในความดูแลของเซอร์อายเมอริก ลอร์ดคอมมานเดอร์แห่งเทมเพิลไนท์ ด้วยต้องการความช่วยเหลือในการป้องกันอิชการ์ดจากการโจมตีนี้ หลังจากที่ผู้เล่นตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากระหว่างการก่อกบฎยึดอำนาจในอุลดาห์จนถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สังหารกษัตริย์ จนต้องลี้ภัยจากเอออร์เซียมาพร้อมกับอัลฟิโน่และตาตารุ ทั้งสามเป็นสมาชิกเท่าที่หลงเหลือของเหล่าผู้สืบทอดแห่งอรุณรุ่งที่เจ็ด เสียงคำรามของนิดฮอกก์จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทั้งสองฟากของสงคราม อายเมอริกและเคานท์เอ็ดมอนต์แห่งบ้านฟอร์ทอมป์ได้เปิดประตูแห่งอิชการ์ดรับคนนอกเข้ามาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ด้วยเป้าหมายเพื่อรับความช่วยเหลือในการสงคราม ขณะเดียวกัน เลดี้ไอซ์ฮาร์ทก็ได้ซ่องสุมกำลังคนนอกรีต และเอสติเนียน ผู้ถือตำแหน่งนักรบดรากูนสีครามคนปัจจุบัน ก็ได้ปรากฎตัวขึ้นอีกครั้งหลังจากหายไปนาน เพื่อตามหานิดฮอกก์ ศัตรูคู่อาฆาต
เนื้อเรื่อง
[แก้]เฮเวนส์เวิร์ดเริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนที่นักรบแห่งแสง (ตัวละครของผู้เล่น) เดินทางมาถึงตัวเมืองอิชการ์ดพร้อมทั้งอัลฟิโน่และทาทารุ พวกเขาถูกเชิญไปยังคฤหาสน์ของเคานท์ฟอร์ทอมป์ ซึ่งมีแนวคิดเชิงก้าวหน้าอย่างมากเกี่ยวกับบทบาทของคนนอกในพลิกชะตาสงครามลำนำมังกร ผู้เล่นได้มีโอกาสช่วยเหลือบุตรชายทั้งสองของเคานท์เอดมอนต์ในดินแดนนอกเมือง ระหว่างการทำภารกิจเหล่านี้ผู้เล่นได้มีโอกาสพบกับเลดี้ไอซ์ฮาร์ท
การตอบรับ
[แก้]การตอบรับ | ||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
นักวิจารณ์มองว่าเฮเวนส์เวิร์ดจะเป็นตัวตัดสินทิศทางของโครงการพัฒนาเกมชุดไฟนอลแฟนตาซี XIV ว่าจะเป็นการต่อยอดความสำเร็จของอะเรียล์มรีบอร์นหรือล้มเหลวแล้วทำให้ทั้งโครงการเสียหายไปด้วย[3][9][6] คำวิจารณ์ของภาคเสริมนี้โดยภาพรวมออกมาเป็นที่น่าพอใจ ("generally favorable") ทั้งเวอร์ชันพีซีและเวอร์ชันเพลย์สเตชัน 4 อ้างอิงจากเวบไซต์รวบรวมบทวิจารณ์เมตาคริติก โดยรวบรวมจากบทวิจารณ์จำนวน 14 และ 20 บทวิจารณ์ตามลำดับ[1][2] ยอดขายของเฮเวนส์เวิร์ดในสัปดาห์แรกที่ประเทศญี่ปุ่นรวมกันทั้งเวอร์ชันเพลย์สเตชัน 3 และเพลย์สเตชัน 4 อยู่ที่ 47,000 ชุด ถือเป็นวิดีโอเกมที่มียอดขายในสัปดาห์นั้นสูงเป็นอันดับ 3 ในประเทศญี่ปุ่น[10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Final Fantasy XIV: Heavensward for PC Reviews". Metacritic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-26. สืบค้นเมื่อ January 27, 2017.
- ↑ 2.0 2.1 "Final Fantasy XIV: Heavensward for PlayStation 4 Reviews". Metacritic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-15. สืบค้นเมื่อ January 27, 2017.
- ↑ 3.0 3.1 Davison, Pete (2015-07-10). "Final Fantasy XIV: Heavensward Review". Gamespot. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-28. สืบค้นเมื่อ 2017-01-27.
- ↑ Lucas, Daniella (2015-07-03). "Final Fantasy XIV: Heavensward Review". GamesRadar. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-05. สืบค้นเมื่อ 2017-01-27.
- ↑ Johnson, Leif (2015-06-29). "Final Fantasy XIV: Heavensward Review". IGN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-09. สืบค้นเมื่อ 2017-01-27.
- ↑ 6.0 6.1 den Ouden, Adriaan (2015-07-22). "Final Fantasy XIV: Heavensward - Review". RPGamer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-24. สืบค้นเมื่อ 2017-01-27.
- ↑ Williams, Mike (2015-08-14). "Final Fantasy XIV Heavensward PC Review: Onward and Upward". USgamer. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-05. สืบค้นเมื่อ 2017-01-27.
- ↑ Langshaw, Mark (2015-07-10). "Final Fantasy XIV Heavensward review: New expansion pack reaches for the sky". Digital Spy. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-24. สืบค้นเมื่อ 2017-01-27.
- ↑ 9.0 9.1 Salbato, Mike (2015-11-05). "Final Fantasy XIV Review Journal Book XIII: To the Heavens". RPGFan. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-05. สืบค้นเมื่อ 2017-01-27.
- ↑ Romano, Sal (2015-07-01). "Media Create Sales: 6/22/15 – 6/28/15". Gematsu. สืบค้นเมื่อ 2017-01-27.