ไปรษณีย์อืดอาด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไปรษณีย์อืดอาด ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติจากภาษาอังกฤษว่า "snail mail" หรือ "smail" (จาก snail + mail)[1] เป็นคำที่ประดิษฐ์กันขึ้นในทางเสียดสีระบบการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ว่ากว่าจะบริการส่งถึงผู้รับนั้นช่างอืดอาดเหลือใจ โดยเฉพาะในภาษาอังกฤษนั้นว่าอืดอาดอย่าง "snail" คือหอยทาก เทียบไม่ได้กับไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ไปรษณีย์อืดอาดนี้ความจริงแล้วก็หมายถึงไปรษณียภัณฑ์ที่ไม่ได้ส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง คือเป็นไปรษณียภัณฑ์ทั่วไปซึ่งบางทีภาษาอังกฤษก็เรียก "ไปรษณีย์กระดาษ" (paper mail) หรือ "ไปรษณีย์บก" (land mail) นอกจากนี้ คำ "ไปรษณีย์อืดอาด" ยังหมายถึง มิตรสัมพันธ์ทางไปรษณีย์ (อังกฤษ: pen pal) อีกด้วย

คำ "ไปรษณีย์อืดอาด" มีการใช้ครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 2513 ในเรื่องสั้น "เดอะเลตเทอร์" (อังกฤษ: The Letter) ที่นายอาร์โนลด์ โลเบล (Arnold Lobel) เขียนไว้ในหนังสือ "ฟรอกแอนด์โทดอาร์เฟรนส์" (อังกฤษ: Frog and Toad are Friends) แต่มิใช่ในความหมายดังข้างต้น แต่หมายถึงไปรษณีย์ที่อืดอาดเพราะมีหอยทากจริง ๆ เป็นพนักงานไปรษณีย์ โดยในเรื่องสั้นนั้น เจ้ากบฝากจดหมายให้เจ้าหอยทากนำไปส่งให้แก่เจ้าคางคก พนักงานไปรษณีย์หอยทากใช้เวลาสี่วันในการนำพาจดหมายไปถึงจุดหมาย

ต่อมายังมีการใช้คำนี้โดยหมายถึงไปรษณีย์ที่หอยทากจริง ๆ เป็นพนักงานไปรษณีย์อีกด้วย โดยในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง "สตรอว์เบอร์รีชอร์ตเค้กอินบิ๊กแอปเพิลซิตี" (อังกฤษ: Strawberry Shortcake in Big Apple City) ฉายเมื่อ พ.ศ. 2524 เป็นมุกตลกซึ่งผลสตรอว์เบอร์รีได้รับจดหมายของเธอช้ากว่าปรกติถึงสามสัปดาห์ เพราะหอยทากเป็นพนักงานไปรษณีย์ และก็ยอมรับว่า "ไปรษณีย์หอยทาก (snail mail) อืดอาดเป็นธรรมดา"

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน. (ม.ป.ป.). ศัพท์บัญญัติ ราชบัณฑิตยสถาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <http://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 มีนาคม 2552).