ไบเบิลบาป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไบเบิลบาป  
ชื่อเรื่องต้นฉบับคัมภีร์ไบเบิล
ประเทศอังกฤษ
ภาษาอังกฤษ
สำนักพิมพ์รอเบิร์ต บาร์เกอร์ กับมาร์ติน ลูคัส
วันที่พิมพ์1631
ชนิดสื่อพิมพ์

ไบเบิลบาป (อังกฤษ: Wicked Bible), ไบเบิลคนบาป (อังกฤษ: Sinners' Bible), หรือ ไบเบิลแห่งการล่วงประเวณี (อังกฤษ: Adulterous Bible) เป็นชื่อเรียกคัมภีร์ไบเบิลที่รอเบิร์ต บาร์เกอร์ (Robert Barker) กับมาร์ติน ลูคัส (Martin Lucas) ผู้พิมพ์หลวงแห่งลอนดอน จัดพิมพ์ใน ค.ศ. 1631 โดยเป็นการนำฉบับพระเจ้าเจมส์มาพิมพ์ซ้ำ ไบเบิลฉบับนี้ได้ชื่อดังกล่าวเพราะพิมพ์ผิดในส่วนพระบัญญัติสิบประการ (หนังสืออพยพ บทที่ 20 ข้อที่ 14) โดยตกคำว่า "อย่า" (not) ในประโยค "เจ้าจงอย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา" (Thou shalt not commit adultery) กลายเป็น "เจ้าจงล่วงประเวณีผัวเมียเขา" (Thou shalt commit adultery) ราวหนึ่งปีหลังจากการพิมพ์ ผู้จัดพิมพ์ถูกเบิกตัวขึ้นสตาร์แชมเบอร์ (Star Chamber) ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ และถูกปรับ 300 ปอนด์ (ราว 45,844 ปอนด์เมื่อเทียบกับค่าเงินใน ค.ศ. 2016) ทั้งยังถูกเพิกถอนใบอนุญาตการพิมพ์[1] การพิมพ์ผิดนี้ยังไม่เป็นที่สบอารมณ์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 (Charles I) พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ และจอร์จ แอบบอต (George Abbot) อัครมุขนายกแห่งแคนเทอร์เบอรีผู้กล่าวว่า

สมัยฉัน เวลาตีพิมพ์หนังสือ โดยเฉพาะพระคัมภีร์ เขาจะใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง คนเรียงพิมพ์ต้องดี คนตรวจทานต้องเยี่ยม ต้องเอาคนจริงจัง มีความรู้ มาทำ กระดาษและตัวพิมพ์ก็ต้องเอาของดี เป็นของชั้นเลิศทุกจุด แต่เดี๋ยวนี้ กระดาษก็แย่ คนเรียงพิมพ์ก็เป็นเด็ก คนตรวจทานก็ไม่รู้หนังสือ[2]

ไบเบิลที่พิมพ์ในครั้งนั้นส่วนใหญ่ถูกยกเลิกและเผาทิ้งในไม่ช้า เหลือรอดมาถึงปัจจุบันเพียงไม่กี่เล่มซึ่งนักสะสมถือกันว่ามีค่าสูงยิ่ง[3] ฉบับหนึ่งอยู่ในชุดหนังสือหายากของหอสมุดประชาชนนิวยอร์กและเปิดให้ใช้ไม่บ่อยนัก อีกฉบับหนึ่งมีให้ชมที่พิพิธภัณฑ์ไบเบิลดันแฮมในเท็กซัส สหรัฐ[4] หอสมุดบริติชเคยจัดแสดงฉบับหนึ่งโดยไม่คิดค่าเข้าชม แต่เลิกไปเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2009[5] สถานที่อื่น ๆ ก็จัดแสดงไบเบิลที่พิมพ์ผิดนี้ในบางโอกาส เช่น หอสมุดมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เปิดให้เข้าชมจนถึงวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2011 เนื่องในโอกาสครบรอบ 400 ปีของไบเบิลฉบับพระเจ้าเจมส์

ประวัติ[แก้]

ข้อความที่พิมพ์ผิด
ปกหน้าของฉบับที่พิมพ์ผิด

ในทางประวัติศาสตร์ การพิมพ์ตกคำว่า "not" นั้นถือเป็นข้อผิดพลาดทั่วไป จนกระทั่ง ค.ศ. 2004 ระเบียบงานสารบรรณหลายสำนัก เช่น ของสำนักข่าวร่วม (Associated Press) แนะนำให้เลี่ยงไปใช้คำอื่นแทนคำที่มี "not" เช่น ให้ใช้ "innocent" (บริสุทธิ์) แทน "not guilty" (ไม่ผิด) เพื่อไม่ให้เกิดกรณีพิมพ์ตกหล่นดังกล่าว[6]

ไบเบิลบาปนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดของข้อผิดพลาดในไบเบิลที่เปลี่ยนความหมายของพระคัมภีร์ไปโดยสิ้นเชิง[7]

ปฏิกิริยา[แก้]

ค.ศ. 1631[แก้]

นอกจากถูกคริสตจักรหยามเหยียดแล้ว ไบเบิลบาปนี้ยังถูกวิจารณ์จากนักประวัติศาสตร์ไม่ช้าไม่นานหลังจากตีพิมพ์ บทวิจารณ์บทหนึ่งว่า[8]

เจ้าของโรงพิมพ์หลวงสมัยนี้หรือราว ๆ สมัยนี้ได้กระทำความผิดพลาดอันน่าอดสูไว้ในพระคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษของชาวเรา โดยตกคำว่า "อย่า" ในพระบัญญัติข้อที่เจ็ด มุขนายกแห่งลอนดอนได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบแล้ว มีรับสั่งให้เบิกเจ้าของโรงพิมพ์มาหาคณะข้าหลวงใหญ่ เอาพยานหลักฐานมายันข้อเท็จจริง เอาหนังสือชุดที่พิมพ์ทั้งหมดมาตรวจ แล้วเจ้าของโรงพิมพ์ก็โดนปรับอย่างหนักสมแก่พฤติการณ์ หลวงพ่อลอด (Laud) นำค่าปรับนี้บางส่วนไปจัดทำอักษรกรีกอย่างดี เพื่อที่การจัดพิมพ์เอกสารตัวเขียนอย่างเรื่อง ไทม์แอนด์อินดัสทรี (Time and Industry) จะได้พร้อมให้ชาวประชาได้ชม

ปัจจุบัน[แก้]

ใน ค.ศ. 2008 มีการสำเนาไบเบิลฉบับนี้ออกขายทางอินเทอร์เน็ต ราคาชุดละ 89,500 ดอลลาร์[9] ราคาขึ้นเป็น 99,500 ดอลลาร์ใน ค.ศ. 2015[10]

ใน ค.ศ. 2015 บอนแฮมส์ (Bonhams) นำไบเบิลบาปฉบับหนึ่งออกขายทอดตลาด[11] ราคาที่ชนะประมูล คือ 31,250 ปอนด์[12]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Kohlenberger, III, John R (2008). NIV Bible Verse Finder. Grand Rapids MI: Zondervan. p. viii. ISBN 978-0310292050.
  2. Ingelbart, Louis Edward (1987). Press Freedoms. A Descriptive Calendar of Concepts, Interpretations, Events, and Courts Actions, from 4000 B.C. to the Present, p. 40, Greenwood Publishing. ISBN 0-313-25636-5
  3. Gekoski, Rick (23 November 2010). "The Wicked Bible: the perfect gift for collectors, but not for William and Kate". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 25 November 2010.
  4. Turner, Allan. "Historic Bibles ‑ even a naughty one ‑ featured at Houston's Dunham Museum". Houston Chronicle. Hearst Newspapers. สืบค้นเมื่อ 21 July 2016.
  5. Wicked Bible on free public display in British Library, London
  6. Stockdale, Nicole (12 May 2004). "AP style updates". A Capital Idea. Blogspot. สืบค้นเมื่อ 25 November 2010.
  7. Russell, Ray (October 1980). "The Wicked Bibles". Theology Today. 37 (3): 360–363. doi:10.1177/004057368003700311.
  8. Timperley, Charles Henry (1842). Encyclopaedia of Literary and Typographical Anecdote. p. 484 ourcivilisation.com
  9. Greatsite.com platinum room เก็บถาวร 2008-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน retrieved June 20, 2008.
  10. "Platinum Room". December 15, 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-16.
  11. Flood, Alison (21 October 2015). "Extremely rare Wicked Bible goes on sale". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 18 November 2015.
  12. "Bonhams : BIBLE, IN ENGLISH, AUTHORIZED VERSION [The Holy Bible: Containing the Old Testament and the New], THE 'WICKED BIBLE', 2 parts in 1 vol., Robert Barker... and by the assignes of John Bill, 1631". www.bonhams.com.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Eisenstein, Elisabeth L Rewolucja Gutenberga, translated by: Henryk Hollender, Prószyński i S-ka publishing, Warsaw 2004, ISBN 83-7180-774-0
  • Ingelbart, Louis Edward. Press Freedoms. A Descriptive Calendar of Concepts, Interpretations, Events, and Courts Actions, from 4000 B.C. to the Present, Greenwood Publishing 1987, ISBN 0-313-25636-5