ไบเทคบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไบเทค บางนา)
ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
Bitec Buri
แผนที่
ชื่อเดิมศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพ
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์มหรสพ และสนามกีฬาในร่ม
เมือง88 ถนนเทพรัตน กม.1 แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ไทย
เริ่มสร้าง17 สิงหาคม พ.ศ. 2538
เปิดใช้งาน16 กันยายน พ.ศ. 2540
ผู้สร้างบริษัท ภิรัชบุรี จำกัด
เว็บไซต์

ไบเทคบุรี[1] เป็นศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าขนาด 70,000 ตารางเมตร[2] เปิดให้บริการเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2540 ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 88 ถนนเทพรัตน แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร

ในปี พ.ศ. 2549 ไบเทคได้รับการจัดลำดับจากผู้จัดงานทั่วโลกให้เป็น 1 ใน 5 ของศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมที่ดีที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก (ผลสำรวจในนิตยสารซีอีไอฉบับ Industry Survey 2549)[3] และในปี พ.ศ. 2550 ไบเทคได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการปฏิบัติการระดับโลก จากสมาพันธ์อุตสาหกรรมการแสดงสินค้าโลก (UFI)[4]

ประวัติ[แก้]

ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2538 โดย ประสาน ภิรัช บุรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทภิรัชบุรีที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากว่า 30 ปี โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ขนาดใหญ่ในระดับนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากในยุคนั้นประเทศไทยยังไม่มีศูนย์จัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่แบบครบวงจร แม้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เปิดทำการก่อนหน้าใน พ.ศ. 2534 แต่ก็ไม่ตอบโจทย์การใช้งานได้เพียงพอ โดยโครงการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ 16 กันยายน พ.ศ. 2540 ถือเป็นศูนย์จัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่ในระดับนานาชาติแห่งแรกในประเทศไทย และมีการจัดงานครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนปีเดียวกัน

ด้วยความนิยมในการใช้สถานที่จัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่อย่างมาก ทำให้ภิรัชบุรีตัดสินใจขยายอาคารเพิ่มอีกสามหลังคือฮอลล์ 105 ฮอลล์ 106 และฮอลล์ 107 ที่เป็นอาคารกลางแจ้ง ต่อมาเมื่อกรุงเทพมหานครก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส ไบเทคได้ก่อสร้างสกายวอล์กต่อจากโถงต้อนรับชั้น 2 มายังทางเข้าออกบริเวณถนนสุขุมวิท แต่เพราะไม่ได้รับการอนุญาตในการเชื่อมต่อสถานี ภิรัชบุรีจึงก่อสร้างบันไดทางออกมายังประตูด้านข้างเพื่อให้ผู้เข้าชมงานใช้งานชั่วคราว จากนั้นใน พ.ศ. 2557 ภิรัชบุรีได้ก่อสร้างอาคารจัดนิทรรศการเพิ่มอีก 3 หลัง 6 ห้องย่อย พื้นที่รวม 32,000 ตารางเมตร ต่อขยายจากอาคารเดิมที่มีพื้นที่อยู่แล้ว 38,000 ตารางเมตร เป็น 70,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารสำนักงานภิรัชทาวเวอร์ และก่อสร้างสกายวอล์กต่อขยายเข้าไปยังสถานีบางนาจนสำเร็จ

บริเวณด้านหน้าเมื่อปลายปี พ.ศ. 2554
การจัดแสดงนิทรรศการในปี พ.ศ. 2549

โครงสร้างและพื้นที่[แก้]

ไบเทคบุรี ตั้งอยู่บนพื้นที่รวม 170 ไร่ (275,000 ตารางเมตร) ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่จัดงาน 31.5 ไร่ (50,400 ตารางเมตร) ประกอบด้วย

  • พื้นที่แสดงสินค้านอกอาคาร 4,800 ตารางเมตร สำหรับจัดกิจกรรมนอกอาคารหรือการแสดงสินค้าที่มีความสูงเป็นพิเศษ
  • พื้นที่โถงรับรองกว่า 8,000 ตารางเมตรอยู่บริเวณด้านหน้าติดกับโถงนิทรรศการ
  • พื้นที่โถงนิทรรศการชั้นเดียวแบบไร้เสาค้ำยัน 7 ห้อง (EH 98-104)
  • อาคาร "ไบเทคอะไลฟ์" (ห้องโถงนิทรรศการ EH 106 เดิม) สำหรับใช้จัดงานมหรสพงานแสดงหลายประเภท เช่น คอนเสิร์ต ละครเวที การแข่งขันกีฬา อีสปอร์ต การเปิดตัวสินค้า งานประกวดต่าง ๆ พร้อมติดตั้งที่นั่งแบบอัฒจันทร์ ระบบแสง-เสียงแบบครบวงจร
  • ห้องประชุม สามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้ตามความเหมาะสม พร้อมด้วยระบบแสง-เสียง รองรับผู้เข้าร่วมการประชุมได้ 20,000 คน และผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 100,000 คนต่อวัน
    • ห้องแกรนด์ฮอลล์ 3 ห้อง และภิรัช คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ 3 ห้อง ซึ่งสามารถรวมเป็น 1 ห้องใหญ่
    • ห้องประชุมสัมมนาขนาดเล็ก จำนวน 28 ห้อง สามารถจัดที่นั่งได้ตั้งแต่ 60 ถึง 480 ที่นั่ง
  • บีท แอ็คทีฟ (ห้องโถงนิทรรศการ EH 105 เดิม) ศูนย์กีฬาในร่มขนาดใหญ่ โดยความร่วมมือกับ ไทยไฟต์
  • สมา การ์เดน (ห้องโถงนิทรรศการ EH 107 เดิม) พื้นที่สวนและร้านอาหาร
  • อาคารสำนักงานภิรัชทาวเวอร์ แอท ไบเทค ความสูง 29 ชั้น โดยอาคารนี้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ ฮอนด้า ประเทศไทย
  • ศูนย์บริการธุรกิจ ให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ถ่ายเอกสาร พิมพ์เอกสาร ไปรษณีย์ จองที่พักและตั๋วเครื่องบิน รับฝากกระเป๋า ให้เช่าห้องประชุมย่อย บริการอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น
  • ห้องผู้สื่อข่าว สำหรับเขียนและส่งข่าว

ลานจอดรถ[แก้]

ไบเทคบุรี มีพื้นที่จอดรถทั้งภายในและภายนอกรวมกันทั้งสิ้นจำนวน 5,000 คัน แบ่งเป็นภายในอาคารจำนวน 1,500 คัน และภายนอกอาคารจำนวน 3,000 คัน และมีพื้นที่จอดรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่และรถบรรทุกอีก 500 คัน

การเดินทาง[แก้]

ทางเข้า-ออกไบเทคมี 3 ช่องทาง ได้แก่ ฝั่งถนนเทพรัตน (กม.1) 2 ช่องทาง และฝั่งถนนสุขุมวิท 1 ช่องทาง สามารถเดินทางมาไบเทคได้หลายวิธี ดังนี้

  • รถไฟฟ้าบีทีเอส ลงที่สถานีบางนา หรือสถานีอุดมสุข
  • รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ลงที่สถานีศรีเอี่ยม แล้วต่อรถ Shuttle Bus เข้าอาคาร
  • รถยนต์ส่วนตัว ทางเส้นบางนา-ตราดหรือ ลงจากทางด่วนบางนาแล้วกลับรถที่สะพานกลับรถ
  • รถโดยสารประจำทาง ทางเข้า-ออกที่ 1 และ 2 สามารถเดินทางโดยรถประจำทางสาย 180, 365, 1141 ซึ่งรถจะจอดที่ถนนบางนา-ตราด ส่วนทางเข้า-ออกที่ 3 สามารถเดินทางโดยรถประจำทางสาย 2, 23, 45, 102, 116, 129, 142, 507, 508, 511, 536 ซึ่งรถจะจอดที่ถนนสุขุมวิท
  • รถ Shuttle Bus "ALIVE MOVE" ซึ่งให้บริการโดยโตโยต้า ประเทศไทย รับส่งผู้โดยสารจาก สถานีอุดมสุข สถานีบางนา สถานีศรีเอี่ยม และสถานีศรีอุดม เข้าสู่โครงการ แบ่งเป็นสองเส้นทางคือ
    • สายสีเขียว ให้บริการจาก เซ็นทรัล บางนา ผ่าน โตโยต้า ประเทศไทย - โรงพยาบาลไทยนครินทร์ - ป้ายรถเมล์บางนา-ตราด 35 (เชื่อมต่อสถานีศรีเอี่ยม) จากนั้นขึ้นเกือกม้า กม. 5 เข้ารับ-ส่งที่บริเวณชั้น B1 ห้อง 103 ออกถนนสุขุมวิท และรับส่งที่สถานีบางนา-สถานีอุดมสุข
    • สายสีเหลือง ให้บริการจาก เซ็นทรัล บางนา ผ่าน โตโยต้า ประเทศไทย - โรงพยาบาลไทยนครินทร์ - สถานีศรีเอี่ยม - สถานีศรีอุดม จากนั้นขึ้นเกือกม้า กม. 5 เข้ารับ-ส่งที่บริเวณชั้น B1 ห้อง 103 ออกถนนสุขุมวิท และรับส่งที่สถานีบางนา

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

  • พ.ศ. 2552 - เข้าร่วมโครงการ Green Meeting ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
  • พ.ศ. 2550 - รางวัลชนะเลิศระดับโลกด้านปฏิบัติการยอดเยี่ยมจากสมาพันธ์การแสดงสินค้าระดับโลก จาก UFI : The Global Association of the Exhibition industry.
  • พ.ศ. 2549 - ได้รับการลงคะแนนเสียงให้เป็นหนึ่งในห้าของศูนย์การประชุมนิทรรศการที่ดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิค จาก CEI : Magazine industry survey 2006
  • พ.ศ. 2547 - รางวัลสถานที่จัดงานยอดเยี่ยม จากนิตยสารประเทศออสเตรเลีย CIM : Convention and Incentive Marketing magazine
  • พ.ศ. 2547 - รางวัลสถานที่จัดงาน Incentive ยอดเยี่ยมประจำปี จาก TICA (Thailand Incentive and Convention Association)
  • พ.ศ. 2545 - ได้รับการลงคะแนนเสียงให้เป็นหนึ่งในสามของศูนย์การประชุมนิทรรศการที่ดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิค จาก CEI : Magazine industry survey 2002
  • พ.ศ. 2549 - ได้รับรองตราสัญลักษณ์ Q-Mark ทางด้านการให้บริการสถานที่อาคารศูนย์นิทรรศการและการประชุมศูนย์แสดงสินค้า รวมทั้งการบริการ อาหารและเครื่องดื่ม และการบริการสนับสนุนต่าง ๆ ในบริเวณศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ทั้งองค์กร จาก คณะกรรมการร่วม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

อ้างอิง[แก้]

  1. ชื่อภาษาไทยจากเว็บไซต์ทางการ พบได้ทั่วไปเช่นหน้าติดต่อสอบถาม เก็บถาวร 2011-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เดิมใช้ชื่อว่า ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพ
  2. อ้างอิงจากเว็บไซต์ [1] เก็บถาวร 2011-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. อ้างอิงจากเว็บไซต์[2][ลิงก์เสีย]
  4. อ้างอิงจากเว็บไซต์[3][ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°40′14″N 100°36′40″E / 13.670424°N 100.610991°E / 13.670424; 100.610991