ไซโง ทากาโมริ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไซโง ทะคะโมะริ)
ไซโง ทากาโมริ
西郷 隆盛
ไซโง ทากาโมริ
ภาพถ่ายโดย เอโดอาร์โด กีออสโซเน
เกิด23 มกราคม ค.ศ. 1828(1828-01-23)
คาโงชิมะ, แคว้นซัตสึมะ, ญี่ปุ่น
เสียชีวิต24 กันยายน ค.ศ. 1877(1877-09-24) (49 ปี)
คาโงชิมะ, ญี่ปุ่น
ชื่ออื่นไซโง ทากานางะ (西郷 隆永)
ไซโง คิจิโนซูเกะ (西郷 吉之助)
ไซโง โคกิจิ (西郷 小吉)
ไซโง นันชู (西郷 南洲)
อาชีพซามูไร, นักการเมือง
ไซโง ทากาโมริ
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
ชินจิไต西郷 隆盛
คีวจิไต西鄕 隆盛
ฮิรางานะさいごう たかもり
คาตากานะサイゴウ タカモリ
การถอดเสียง
โรมาจิSaigō Takamori

ไซโง ทากาโมริ (ญี่ปุ่น: 西郷 隆盛โรมาจิSaigō Takamori, 23 มกราคม ค.ศ. 1828 - 24 กันยายน ค.ศ. 1877) เป็นซามูไรผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปลายยุคเอโดะ (บากุมัตสึ) ถึงช่วงต้นยุคเมจิ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเมจิและเป็นผู้นำทัพฝ่ายของพระจักรพรรดิฯในสงครามโบะชิง ผู้ได้รับการขนานนามว่า "ซามูไรที่แท้จริงคนสุดท้าย" ("the last true samurai'") [1] ไซโงมีชื่อในวัยเด็กว่า "ไซโง โคกิจิ" และได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า "ไซโง ทากาโมริ" เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้เขายังใช้ชื่อในงานเขียนกวีนิพนธ์ว่า "ไซโง นันชู"[2]

ประวัติ[แก้]

ปฐมวัย[แก้]

ไซโง ทากาโมริ เกิดเมื่อวันที่ 7 เดือน 12 ปีบุงเซที่ 10 ตามปฏิทินจันทรคติเก่าของญี่ปุ่น (ตรงกับวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1828 ตามปฏิทินเกรกอเรียน) ที่เมืองคาโงชิมะ แคว้นซัตสึมะ (ปัจจุบันคือจังหวัดคาโงชิมะของญี่ปุ่น) เป็นบุตรชายของไซโง คิจิเบ (ญี่ปุ่น: 西郷 吉兵衛โรมาจิSaigō Kichibei) ซึ่งเป็นซามุไรระดับล่าง และนางชีอีฮาระ มาซะ (ญี่ปุ่น: 椎原政佐โรมาจิShiihara Masa) ไซโง ทากาโมริ เมื่อแรกเกิดได้รับชื่อว่า โคกิจิ (ญี่ปุ่น: 小吉โรมาจิKokichi) โคกิจิเป็นบุตรชายคนโตสุดมีน้องชายสามคนและน้องสาวสามคนในบรรดาพี่น้องทั้งหมดเจ็ดคนใน เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นโคกิจิได้รับชื่อว่า คิจิโนซุเกะ (ญี่ปุ่น: 吉之助โรมาจิKichi-no-suke) ค.ศ. 1841 คิจิโนซุกะผ่านพิธีเง็มปุกุได้รับชื่อว่า ไซโง ทากานางะ (ญี่ปุ่น: 西郷 隆永โรมาจิSaigō Takanaga) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นไซโง ทากาโมริ

ในช่วงวัยเยาว์ไซโง ทากาโมริ ได้รับการศึกษาเกี่ยวลัทธิขงจื้อสำนักของหวังหยางหมิงที่วัดในเมืองคาโงชิมะ เพื่อนร่วมชั้นเรียนคนสำคัญในวัยเยาว์ของทากาโมริได้แก่โอกูโบะ โทชิมิจิ ในค.ศ. 1852 บิดามารดาของไซโง ทากาโมริ จัดการให้ทากาโมริสมรสกับนางอีจูอิง ซูงะ (ญี่ปุ่น: 伊集院 須賀โรมาจิIjūin Suga) เป็นภรรยาคนแรกของไซโง ทากาโมริ ไซโง คิจิเบ บิดาของทากาโมริเสียชีวิตในค.ศ. 1852 และนางมาซะมารดาของทากาโมริเสียชีวิตในปีต่อมาค.ศ. 1853 ทำให้ไซโง ทากาโมริ ต้องเป็นหัวหน้าของครอบครัว ในค.ศ. 1854 ไซโง ทากาโมริ แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเกษตรภายในแคว้นซัตสึมะ ทำให้ทากาโมริได้รับความสนใจจากชิมาซุ นาริอากิระ ไดเมียวแห่งแคว้นซัตสึมะในขณะนั้น ชิมาซุ นาริอากิระ จึงเรียกตัวไซโง ทากาโมริ เข้ารับราชการในแคว้นซัตสึมะ

ในค.ศ. 1854 นางอัตสึฮิเมะซึ่งเป็นบุตรสาวบุญธรรมของชิมาซุ นาริอากิระ ได้สมรสกับโชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะ ไซโง ทากาโมริ จึงได้ร่วมเดินทางจากเมืองคาโงชิมะยังยังนครเอโดะเพื่อช่วยเหลือไดเมียวนาริอากิระในการดำเนินนโยบาย "โคบูกัตไต" (公武合体) หรือการประสานราชสำนักและรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะให้เกิดความปรองดอง รัฐบาลโชกุนบากุฟุขณะนั้นแบ่งออกเป็นสองฝ่ายได้แก่ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสนับสนุนการปกครองของรัฐบาลโชกุนแบบเดิมมีผู้นำคือไทโรอิอิ นาโอซูเกะ และฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปซึ่งชิมาซุ นาริอากิระเป็นผู้นำ

ในค.ศ. 1858 ไดเมียวชิมาซุ นาริอากิระถึงแก่กรรม ทำให้อำนาจของฝ่ายแคว้นซัตสึมะลดลง อิอิ นาโอซุเกะทำการกวาดล้างปีอันเซ (ญี่ปุ่น: 安政の大獄โรมาจิAnsei no taigoku) เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมืองฝ่ายปฏิรูปให้หมดสิ้นไป ไซโง ทากาโมริ หลบหนีกลับมายังแคว้นซัตสึมะ เมื่อสูญเสียอำนาจทางการเมือง ไซโง ทากาโมริ จึงกระโดดลงทะเลเพื่อฆ่าตัวตายและตามไปรับใช้ไดเมียวนาริอากิระผู้ล่วงลับในสัมปรายภพแต่ไม่สำเร็จ ไซโง ทากาโมริ รอดชีวิต ในค.ศ. 1859 ชิมาซุ ฮิซามิตสึ บิดาของไดเมียวคนใหม่แห่งแคว้ตซัตสึมะและผู้มีอำนาจปกครองซัตสึมะที่แท้จริง ทำการเนรเทศไซโง ทากาโมริ ไปยังเกาะอามามิโอชิมะ (ญี่ปุ่น: 奄美大島โรมาจิAmami Ōshima) ซึ่งเป็นเกาะแห่งหนึ่งในหมู่เกาะรีวกีว (จังหวัดโอกินาวะในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นซัตสึมะ

เนรเทศไปหมู่เกาะอามามิ[แก้]

เมื่อถูกเนรเทศมายังเกาะอามามิโอชิมะนั้น ไซโง ทากาโมริมีอายุ 31 ปี เมื่อถูกเนรเทศไซโง ทากาโมริ ขาดการติดต่อกับภรรยาคนแรกชื่อนางซูงะ ซึ่งไม่มีบุตรด้วยกันการสมรสครั้งแรกของทากาโมริจึงสิ้นสุดลง ทากาโมริสมรสใหม่กับสตรีชาวเกาะอามามิชื่อว่านางรีว ไอโกะ (ญี่ปุ่น: 龍愛子โรมาจิRyū Aiko) หรือนางไอกานะ (ญี่ปุ่น: 愛加那โรมาจิAikana) นางไอกานะให้กำเนิดบุตรชายคนแรกให้แก่ไซโง ทากาโมริ ชื่อว่า ไซโง คิกูจิโร่ (ญี่ปุ่น: 西郷 菊次郎โรมาจิSaigō Kikujirō) และให้กำเนิดบุตรสาวชื่อว่าคิกูกูสะ (ญี่ปุ่น: 菊草โรมาจิKikukusa) ไซโง ทากาโมริ ใช้ชีวิตอยู่บนเกาะอามามิโอชิมะเป็นเวลาสองปีแปดเดือน จนกระทั่งชิมาซุ ฮิซามิตสึ เรียกตัวไซโง ทากาโมริ กลับไปรับราชการที่แคว้นซัตสึมะอีกครั้งในค.ศ. 1861 ทากาโมริจึงเดินทางออกจากเกาะอามามิโอชิมะกลับไปยังแคว้นซัตสึมะโดยทิ้งภรรยาและบุตรทั้งสองไว้เบื้องหลัง

อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมายังแคว้นซัตสึมะแล้วนั้นชิมาซุ ฮิซามิตสึ เกิดความแคลงใจต่อไซโง ทากาโมริ เนื่องจากทากาโมริให้การสนับสนุนแก่อดีตไดเมียวนาริอากิระซึ่งเป็นศัตรูทางการเมืองของฮิซามิตสึ หลังจากที่ไซโง ทากาโมริกลับซัตสึมะได้เพียงสี่เดือน ชิมาซุ ฮิซามิตสึจึงเนรเทศ ไซโง ทากาโมริ อีกครั้งไปยังเกาะโทกูโนชิมะ (ญี่ปุ่น: 徳之島โรมาจิTokunoshima) ซึ่งอยู่ถัดจากเกาะอามามิโอชิมะไปทางใต้ และสองเดือนต่อมาทากาโมริถูกย้ายไปยังเกาะโอกิโนเอราบุ (ญี่ปุ่น: 沖永良部島โรมาจิOkinoerabu-jima) ไซโง ทากาโมริ อาศัยอยู่ที่เกาะโอกิโนเอราบุเป็นเวลาสามปี จนกระทั่งได้รับการอภัยโทษและกลับสู่ซัตสึมะในค.ศ. 1864

การฟื้นฟูสมัยเมจิ[แก้]

รัฐบาลโชกุนเปิดประเทศให้แก่ชาวตะวันตกเข้ามาค้าขายในค.ศ. 1854 ทำให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลโชกุนและต่อต้านอิทธิพลของชาวตะวันตกในหมู่ซามูไรผู้มีการศึกษา โดยเฉพาะซามูไรในแคว้นซัตสึมะและแคว้นโชชู ซึ่งซามูไรกลุ่มนี้เชิดชูพระจักรพรรดิญี่ปุ่นและต้องการถวายอำนาจคืนให้แด่พระจักรพรรดิ เรียกว่าแนวความคิดซนโนโจอิ (ญี่ปุ่น: 尊皇攘夷โรมาจิSonnō jōi) ในค.ศ. 1863 พระจักรพรรดิโคเมมีพระราชโองการให้ขับไล่ชาวตะวันตกออกไปจากญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคมปีค.ศ. 1864 กองกำลังของแคว้นโชชูในนครหลวงเกียวโตจึงก่อการเข้ายึดพระราชวังเพื่อคุ้มครององค์พระจักรพรรดิและยึดอำนาจจากรัฐบาลโชกุน ซามูไรของโชชูปะทะกับกองกำลังของฝ่ายโชกุนในเหตุการณ์ประตูคิมมง (ญี่ปุ่น: 禁門の変โรมาจิKinmon no Hen) หรือกบฎประตูฮามางูริ (ญี่ปุ่น: 蛤御門の変โรมาจิHamaguri Gomon no Hen) โดยที่ฝ่ายโชกุนมีชัยชนะเหนือฝ่ายโชชูสามารถป้องกันพระราชวังได้ โชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ จึงส่งกองทัพเข้ารุกรานแคว้นโชชูในเหตุการณ์การรุกรานโชชูครั้งที่หนึ่ง (First Chōshū expedition) ฝ่ายโชกุนขอให้แคว้นซัตสึมะส่งกองกำลังเข้าร่วมในการรุกรานโชชู ชิมาซุ ฮิซามิตสึ จึงส่งไซโง ทากาโมริ ไปในฐานะผู้บัญชาการทัพของฝ่ายซัตสึมะ แม้ว่าฝ่ายซัตสึมะจะช่วยเหลือรัฐบาลโชกุนในการปราบแคว้นโชชูแต่ซัตสึมะตระหนักว่ารัฐบาลโชกุนคือศัตรูของตน ไซโง ทากาโมริ จึงเสนอให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลโชกุนและแคว้นโชชู โดยส่งมอบเฉพาะผู้ก่อการกบฎให้แก่รัฐบาลโชกุนโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อเพื่อปกป้องแคว้นโชชูไว้ การรุกรานโชชูครั้งที่หนึ่งจึงสิ้นสุดลง

ในค.ศ. 1865 ไซโง ทากาโมริ สมรสอีกครั้งกับนางอิโตโกะ (ญี่ปุ่น: 糸子โรมาจิItoko) นางอิโตโกะให้กำเนิดบุตรชายชื่อว่าไซโง โทราทาโร่ (ญี่ปุ่น: 西郷 寅太郎โรมาจิSaigō Toratarō) ในค.ศ. 1866

แคว้นซัตสึมะมีเทคโนโลยีทางการทหารแบบตะวันตกซึ่งรับมาจากอังกฤษ ในขณะที่แคว้นโชชูเป็นศูนย์กลางแนวความคิดต่อต้านรัฐบาลโชกุน ในค.ศ. 1866 ซากาโมโตะ เรียวมะ (ญี่ปุ่น: 坂本龍馬โรมาจิSakamoto Ryōma) เสนอให้แคว้นซัตสึมะและแคว้นโชชูร่วมมือกันเป็นพันธมิตรในการต่อสู้กับรัฐบาลโชกุน โดยซากาโมโตะ เรียวมะ นัดการประชุมระหว่างผู้นำซามูไรของทั้งสองแคว้น แคว้นซัตสึมะทำโดยไซโง ทากาโมริ และโอกูโบะ โทชิมิจิ แคว้นโชชูนำโดย คัตสึระ โคโงโร (ญี่ปุ่น: 桂 小五郎โรมาจิKatsura Kogorō) นำไปสู้การจัดตั้งความร่วมมือระหว่างแคว้นซัตสึมะและแคว้นโชชู เรียกว่า พันธมิตรซัตโช (ญี่ปุ่น: 薩長同盟โรมาจิSatchō dōmei)

โชกุนคนสุดท้ายคือ โทกูงาวะ โยชิโนบุ ประกาศสละตำแหน่งโชกุนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1867 และถวายอำนาจการปกครองคืนแด่พระจักรพรรดิเมจิ นำไปสู่การฟื้นฟูเมจิ (Meiji Restoration) ทำให้รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะซึ่งดำรงอยู่มาเป็นเวลากว่าสองร้อยห้าสิบปีสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตามขุนนางภายในรัฐบาลโชกุนยังคงปฏิเสธที่จะสละอำนาจ ไซโง ทากาโมริ มีท่าทีที่รุนแรงต่อรัฐบาลโชกุนและเรียกร้องให้ยึดทรัพย์สินและที่ดินทั้งหมดของตระกูลโทกูงาวะ ถึงแม้ว่าอดีตโชกุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ จะสละอำนาจการปกครองแต่ยังต้องการรักษาทรัพย์สินในส่วนของโทกูงาวะเอาไว้ ท่าทีที่แข็งกร้าวของไซโง ทากาโมริ ในฐานะผู้นำทางทหารของแคว้นซัตสึมะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายโชกุนและฝ่ายซัตสึมะ-โชชูตกต่ำลง นำไปสู่สงครามปีโบชิง

ไซโง ทากาโมริ (สวมหมวกทรงสูง) ตรวจทัพของแคว้นโชชูในยุทธการโทะบะ-ฟุชิมิ

ในเดือนมกราคมค.ศ. 1868 อดีตโชกุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ยกทัพฝ่ายโชกุนจากปราสาทโอซากะเข้ารุกรานนครหลวงเกียวโตจากทางใต้ แม้ว่าทัพของฝ่ายโชกุนจะมีขนาดใหญ่กว่าทัพของฝ่ายซัตสึมะ-โชชูถึงสามเท่า แต่ทัพฝ่ายซัตสึมะมีอาวุธที่ทันสมัยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษได้แก่ปืนไรเฟิล ปืนครก และปืนแก็ตลิง ทัพโชกุนเข้าปะทะทัพซัตสึมะ-โชชูซึ่งนำโดยไซโง ทากาโมริ และโอกูโบะ โทชิมิจิ ที่เมืองโทบะและเมืองฟูชิมิทางตอนใต้ของเกียวโต เรียกรวมกันว่ายุทธการโทบะ–ฟูชิมิ ทัพของฝ่ายซัตสึมะ-โชชูสามารถเอาชนะทัพฝ่ายโชกุนได้ด้วยวิทยาการด้านอาวุธที่เหนือกว่า อิวากูระ โทโมมิ นำพระราชโองการจากพระจักรพรรดิเมจิมามอบให้แก่ไซโง ทากาโมริ ประกาศให้อดีตโชกุนโยชิโนบุเป็นกบฎและมีพระราชานุญาตให้ไซโง ทากาโมริ นำกองกำลังทหารเข้าปราบปรามทัพของโยชิโนบุ รวมทั้งพระราชทานตราสัญลักษณ์ดอกเบญจมาศซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชวงศ์ญี่ปุ่นมานำทัพด้วย ทำให้ทัพฝ่ายซัตสึมะ-โชชูกลายเป็นทัพฝ่ายของพระจักรพรรดิไปในที่สุด

ฝ่ายอดีตโชกุนโยชิโนบุเมื่อทราบพระราชโองการแล้วเกิดสูญเสียกำลังใจว่าตนเองถูกตราว่าเป็นกบฎ จึงล่าถอยทัพกลับไปตั่งมั่นที่ปราสาทโอซากะ โยชิโนบุหลบหนีออกจากปราสาทโอซากะไปยังเมืองเอโดะ ทัพฝ่ายโชกุนเมื่อทราบว่าโยชิโนบุหลบหนีไปแล้วจึงสลายตัวไป ทัพฝ่ายพระจักรพรรดิจึงเข้ายึดปราสาทโอซากะโดยง่าย ญี่ปุ่นภาคตะวันตกจึงอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายพระจักรพรรดิ ไซโง ทากาโมริ ยกทัพติดตามอดีตโชกุนโยชิโนบุไปทางตะวันออก เข้ายึดเมืองโคฟุจังหวัดยามานาชิในปัจจุบันในเดือนมีนาคม และต่อสู้กับทัพของฝ่ายโชกุนซึ่งนำโดยคนโด อิซามิ อดีตผู้นำกลุ่มชินเซ็งงูมิ ที่เมืองคัตสึนุมะ ในยุทธการโคชู-คัตสึนุมะ (Battle of Kōshū-Katsunuma) ทัพฝ่ายพระจักรพรรดิมีกองกำลังมากกว่าฝ่ายโชกุนถึงสิบเท่า ทัพฝ่ายโชกุนจึงพ่ายแพ้ ไซโง ทากาโมริ ยกทัพถึงเมืองเอโดะซึ่งมีคัตสึ ไคชูเป็นผู้รักษาเมืองอยู่ในเดือนพฤษภาคมและเข้าล้อมเมืองไว้ ไซโง ทากาโมริยื่นคำขาดให้ฝ่ายโชกุนยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข นางเท็นโชอิงอัตสึฮิเมะซึ่งเป็นชาวแคว้นซัตสึมะเดิมเขียนจดหมายถึงไซโง ทากาโมริ ขอให้มีการเจรจาสงบศึก ไซโง ทากาโมริ จึงพบกับคัตสึ ไคชู เพื่อทำการเจรจาสงบศึก นำไปสู่การเข้ายึดครองเมืองเอโดะของฝ่ายพระจักรพรรดิโดยปราศจากเลือดเนื้อ

หลังจากที่เมืองเอโดะเป็นของฝ่ายพระจักรพรรดิแล้ว กลุ่มผู้สนับสนุนโชกุนยังคงรวมกลุ่มต่อต้านฝ่ายพระจักรพรรดิที่ภูมิภาคโทโฮกุและเกาะฮกไกโด แม้ว่าสงครามโบชิงยังไม่สิ้นสุดลง ไซโง ทากาโมริ ถอนตัวจากสงครามและมอบการบัญชาการทัพฝ่ายพระจักรพรรดิให้แก่ผู้อื่น

ร่วมรัฐบาลเมจิ[แก้]

(ซ้าย) ไซโง (นั่งกลางภาพ) ในการอภิปราย "เซกังรง" (ขวา) ไซโงในเครื่องแบบนายทหารสมัยใหม่

หลังจากสิ้นสุดสงครามโบชิงญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคเมจิ ซึ่งกลุ่มซามูไรแห่งแคว้นซัตสึมะและโชชูเดิมขึ้นมามีอำนาจในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองของญี่ปุ่น เรียกว่า คณาธิปไตยยุคเมจิ (Meiji oligarchy) โอกูโบะ โทชิมิจิซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของไซโง ทากาโมริ ขึ้นมาเป็นผู้นำในการจัดตั้งระบอบการปกครองใหม่ ไซโง ทากาโมริร่วมกับโอกูโบะ โทชิมิจิ ร้องขอให้ไดเมียวคนสุดท้ายแห่งซัตสึมะคือชิมาซุ ทาดาโยชิ ยกแคว้นซัตสึมะถวายคืนให้แด่พระจักรพรรดิเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่แคว้นอื่นๆในญี่ปุ่น นำไปสู่การยกเลิกระบบแว่นแคว้นศักดินา (Abolition of Han system) ของญี่ปุ่นทั้งหมด อย่างไรก็ตามไซโง ทากาโมริ มีแนวความคิดอนุรักษ์นิยมและยึดถือกับหลักการของซามูไรเดิม ไซโงไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยและการเปิดการค้ากับชาติตะวันตก คัดค้านการสร้างระบบทางรถไฟ และเห็นว่าควรนำเงินดังกล่าวมาใช้ในการบำรุงกองทัพให้มีความทันสมัยมากกว่า[3]

ในค.ศ. 1871 คณะทูตญี่ปุ่นนำโดยอิวากูระ โทโมมิ และโอกูโบะ โทชิมิจิ เดินทางไปดูงานยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป เรียกว่า คณะทูตของอิวากูระ (Iwakura Mission) โดยที่ไซโง ทากาโมริ เป็นผู้รักษาการณ์รัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงนั้น ในค.ศ. 1869 รัฐบาลเมจิใหม่ส่งสาสน์ไปยังเกาหลีราชวงศ์โชซ็อนเพื่อสร้างความสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ตามในยุคเอโดะนั้นอาณาจักรโชซ็อนมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลโชกุนโดยผ่านทางตระกูลโซแห่งเกาะซึชิมะ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาของสาสน์จากญี่ปุ่นซึ่งไม่ได้ผ่านตระกูลโซและไม่ได้มาจากโชกุนแต่มาจากพระจักรพรรดิโดยตรง ทำให้ราชสำนักโชซ็อนปฏิเสธไม่รับไมตรีจากรัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่น สร้างความโกรธเคืองให้แก่รัฐบาลญี่ปุ่นโดยเฉพาะไซโง ทากาโมริ

ในค.ศ. 1873 ไซโง ทากาโมริ และอิตางากิ ไทซูเกะ (ญี่ปุ่น: 板垣 退助โรมาจิItagaki Taisuke) เรียกร้องให้มีการรุกรานโชซ็อนเพื่อแสดงศักยภาพทางการทหาร บรรดาซามูไรซึ่งไม่มีงานให้การสนับสนุนแก่ไซโง ทากาโมริ ในการรุกรานเกาหลี ทากาโมริเสนอตนเองเป็นทูตไปยังโชซ็อนและยั่วยุให้ฝ่ายโชซ็อนทำร้ายตัวทากาโมริเพื่อเป็นข้ออ้างที่ญี่ปุ่นจะส่งทัพเข้ารุกรานโชซ็อน ซึ่งแนวความคิดของไซโง ทากาโมรินี้ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากโอกูโบะ โทชิมิจิเพื่อนสนิท และอิวากูระ โทโมมิ ซึ่งเพิ่งกลับจากการดูงานที่ต่างประเทศเพียงไม่นาน โอกูโบะ โทชิมิจิและอิวากูระ โทโมมิ เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นยังไม่พร้อมที่จะก่อสงครามในระดับนานาชาติหากยังไม่พัฒนาเทคโนโลยีทางทหารอย่างเพียงพอ แม้แต่น้องชายของทากาโมริคือไซโง ซึงูมิจิ (ญี่ปุ่น: 西郷 従道โรมาจิSaigō Tsugumichi) ซึ่งมียศพลโทก็ไม่เห็นด้วยกับการรุกรานเกาหลีของทากาโมริ เหตุการณ์การถกเถียงประเด็นเรื่องการรุกรานเกาหลีในครั้งนี้เรียกว่า "เซกันรง" (ญี่ปุ่น: 征韓論โรมาจิSeikanron) ซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างไซโง ทากาโมริและโอกูโบะ โทชิมิจิ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาอย่างยาวนาน และทำให้ไซโง ทากาโมริ ถอยห่างจากรัฐบาลเมจิ

ไซโง ทากาโมริ และอิตางากิ ไทซูเกะ ลาออกจากรัฐบาลเมจิเพื่อเป็นการประท้วง โดยไซโง ทากาโมริ กลับไปอาศัยอยู่ที่เมืองคาโงชิมะในแคว้นซัตสึมะซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน

กบฏซัตสึมะ (1877)[แก้]

ไซโง ทากาโมริ (นั่งเก้าอี้ สวมเครื่องแบบทหารแบบตะวันตก) และคณะนายทหารฝ่ายกบฏซึ่งอยู่ในชุดซามูไร (ภาพจากหนังสือพิมพ์ Le Monde Illustré, ค.ศ. 1877)

ในยุคเมจิมีการยกเลิกระบอบชนชั้นศักดินาเดิมของญี่ปุ่นซึ่งมีมาแต่ยุคเอโดะ ทำให้ชนชั้นซามูไรสูญสิ้นไปในทางนิตินัย เดิมที่มีเพียงชามูไรเท่านั้นที่สามารถครอบครองอาวุธได้ แต่ในยุคเมจิมีการจัดตั้งระบบการฝึกทหารแบบตะวันตก ทำให้ซามูไรถูกลดบทบาทลงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มซามูไรแคว้นซัตสึมะ เมื่อไซโง ทากาโมริ กลับไปอาศัยที่เมืองคาโงชิมะแล้วนั้น ได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกทหารขึ้นหลายแห่งในแคว้นซัตสึมะ รัฐบาลเมจิจับตามองกิจกรรมทางทหารของซัตสึมะอย่างใกล้ชิด ไซโง ทากาโมริ และกลุ่มซามูไรซัตสึมะไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีการแต่งกายของชาวญี่ปุ่นให้เข้ากับตะวันตก เป็นการทรยศต่อคติ "โจอิ" หรือ ขับไล่ชาวต่างชาติ ไซโง ทากาโมริ เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ซามูไรแคว้นซัตสึมะอย่างมาก

ในค.ศ. 1877 รัฐบาลเมจิยกเลิกการจ่ายเบี้ยหวัดเป็นข้าวให้แก่ซามูไรทั่วประเทศ ในเดือนมกราคมค.ศ.1877 รัฐบาลเมจิส่งเรือรบมาทำการริบอาวุธไปจากคลังแสงของรัฐบาลที่เมืองคาโงชิมะเพื่อป้องกันไม่ให้ซามูไรซัตสึมะนำไปใช้ บรรดาทหารซึ่งเป็นลูกศิษย์ของทากาโมริจึงเข้าโจมตีคลังแสงและยึดอาวุธไปได้สำเร็จ เกิดเป็นกบฏซัตสึมะ (Satsuma Rebellion) หรือสงครามภาคหรดี (ญี่ปุ่น: 西南戦争โรมาจิSeinan Sensō) บรรดาผู้นำกบฏได้แก่ชิโนฮาระ คูนิโมโตะ (ญี่ปุ่น: 篠原国幹โรมาจิShinohara Kunimoto) และคิริโนะ โทชิอากิ (ญี่ปุ่น: 桐野利秋โรมาจิKirino Toshiaki) ร้องขอให้ไซโง ทากาโมริ ขึ้นมาเป็นผู้นำกบฏ แม้ว่าจะไม่เต็มใจแต่ทากาโมริตัดสินใจขึ้นมาเป็นผู้นำการต่อต้านรัฐบาลเมจิในครั้งนี้ ไซโง ทากาโมริ

ในเดือนกุมภาพันธ์ไซโง ทากาโมริ ยกทัพเข้าโจมตีปราสาทคูมาโมโตะ บรรดาทหารผู้ป้องกันปราสาทคูมาโมโตะแปรพักตร์มาเข้าพวกกับทากาโมริเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะโจมตีปราสาทสร้างความเสียหายอย่างมาก แต่ทากาโมริไม่สามารถเข้ายึดตัวปราสาทได้ การล้อมปราสาทคูมาโมโตะจึงยืดเยื้อ ในเดือนมีนาคมรัฐบาลเมจิส่งเจ้าชายอาริซูงาวะ ทารูฮิโตะ (Arisugawa Taruhito) และยามางาตะ อาริโตโมะ (ญี่ปุ่น: 山縣 有朋โรมาจิYamagata Aritomo) นำทัพหลวงเข้าปิดเส้นทางออกจากปราสาทคูมาโมโตะ ทำให้ทากาโมริจำต้องแบ่งกองกำลังไปป้องกันทางออกในยุทธการทาบารูซากะ (Battle of Tabaruzaka) ทัพหลวงมีชัยชนะเหนือทัพฝ่ายซัตสึมะและสามารปิดทางออกได้สำเร็จ ถึงเดือนเมษายนคูโรดะ คิโยตากะ (ญี่ปุ่น: 黑田 清隆โรมาจิKuroda Kiyotaka) นำกองกำลังเสริมมาถึงปราสาทคูมาโมโตะในที่สุด เมื่อเห็นฝ่ายตรงข้ามมีกำลังมากกว่าไซโง ทากาโมริ จึงมีคำสั่งให้ฝ่ายซัตสึมะถอยจากปราสาทคูมาโมโตะข้ามเขาไปยังจังหวัดมิยาซากิทางตะวันออก ความล้มเหลวในการเข้ายึดปราสาทคูมาโมโตะทำให้ไซโง ทากาโมริ สูญเสียปืนใหญ่และอาวุธไปจำนวนมาก ทัพเรือของรัฐบาลเมจิขึ้นฝั่งที่เมืองโออิตะทางเหนือเพื่อเข้าโจมตีทากาโมริอีกทางหนึ่ง ทำให้ทากาโมริต้องเผชิญกับการโจมตีทั้งจากทิศเหนือและทิศตะวันตก

ทัพฝ่ายซัตสึมะตั้งมั่นที่เขาเอโนดาเกะ ทัพฝ่ายรัฐบาลเข้าโจมตีจากทั้งสองด้านในเดือนสิงหาคมค.ศ. 1877 ทหารของฝ่ายซัตสึมะกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิตไปจำนวนมาก ฝ่ายซัตสึมะพ่ายแพ้ ไซโง ทากาโมริ หลบหนีออกมาจากสนามรบได้อย่างหวุดหวิด ทากาโมริพร้อมทั้งกำลังพลที่เหลือเพียงเล็กน้อยเดินทางไปยังเขาชิโรยามะ ซึ่งเป็นภูเขาที่อยู่ชานเมืองคาโงชิมะและสามาารถมองเห็นเมืองคาโงชิมะได้จากที่สูง ยามางาตะ อาริโตโมะ นำทัพบกและคาวามูระ ซูมิโยชิ (ญี่ปุ่น: 川村 純義โรมาจิKawamura Sumiyoshi เป็นอาเขยของไซโง ทากาโมริ) นำทัพเรือบุกขึ้นโจมตีเขาชิโรยามะในเดือนกันยายน นำไปสู่ยุทธการเขาชิโรยามะ (Battle of Shiroyama) ฝ่ายกบฏขาดแคลนอาวุธและยุทธปัจจัยอย่างมากจึงย้อนกลับไปใช้อาวุธเป็นดาบ หอก และธนูแทน

ไซโง ทากาโมริ (มุมขวาบน แต่งกายชุดดำ) บัญชาการรบในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายที่ภูเขาชิโรยามะ

ในระหว่างการรบ ไซโงได้รับบาดเจ็บสาหัสที่บริเวณสะโพก ทว่าไม่มีผู้ใดทราบสาเหตุการเสียชีวิตของเขา คำให้การของผู้ใกล้ชิดไซโงกล่าวอ้างว่า ไซโงได้ยันตัวตรงและกระทำการเซ็ปปูกุหลังจากได้รับบาดเจ็บ หรืออีกอย่างหนึ่งคือไซโงได้ขอให้สหายของของเขาชื่อ เบ็ปปุ ชินซูเกะ เป็นผู้ช่วยในการลงมือทำอัตนิวิบาตกรรม ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนได้ให้ทัศนะว่าไม่น่าจะใช่ทั้งสองกรณี และไซโงนั้นอาจหมดสติเพราะอาการบาดเจ็บไปแล้ว จึงไม่อาจพูดได้ด้วย สหายของไซโงหลายคนหลังจากได้เห็นสภาพของเขาแล้วคงช่วยตัดศีรษะของเขา เพื่อให้เขาได้ตายในฐานะนักรบดังที่ได้ปรารถนาไว้ ภายหลังคนเหล่านั้นจึงได้กล่าวว่าไซโงได้กระทำการเซ็ปปูกุ เพื่อรักษาสถานะความเป็นซามูไรที่แท้จริงของเขาไว้[4] ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดอีกด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นกับศีรษะของไซโงหลังจากที่เขาเสียชีวิต บางตำนานกล่าวว่าคนรับใช้ของไซโงได้ซ่อนศีรษะของเขาไว้ และถูกพบในภายหลังโดยทหารของฝ่ายรัฐบาลคนหนึ่ง แต่จะอย่างไรก็ตาม ส่วนศีรษะของไซโงได้ถูกฝ่ายรัฐบาลค้นพบด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งและได้นำมารวมกับร่างกายของไซโง ซึ่งนอนเคียงข้างกับศพผู้ช่วยของเขาอีก 2 คน เหตุการณ์ดังกล่าวนี้มีพยานผู้พบเห็นกัปตันเรือชาวอเมริกันชื่อ จอห์น คาเพน ฮับบาร์ด (John Capen Hubbard) ตำนานอีกเรื่องหนึ่งกล่าวว่าไม่เคยมีการค้นพบศีรษะของไซโงแต่อย่างใด แต่ไม่ว่าเหตุการณ์ที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร การเสียชีวิตของไซโง ทากาโมริก็ได้นำมาซึ่งจุดจบของกบฏซัตสึมะในที่สุด

ตำนานเกี่ยวกับไซโง[แก้]

การตายของไซโงได้ทำให้เกิดตำนานมากมายที่ปฏิเสธเรื่องการเสียชีวิตของเขา คนญี่ปุ่นจำนวนมากหวังว่าเขาจะเดินทางกลับมาจากบริติชราช (อินเดีย) หรือประเทศจีน หรือล่องเรือกลับมาพร้อมกับซาร์เรวิชอเล็กซานเดอร์แห่งรัสเซียเพื่อขจัดความอยุติธรรมภายในประเทศ มีแม้กระทั่งบันทึกกล่าวว่าภาพของไซโงได้ปรากฏอยู่บนดาวหางในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันเป็นลางร้ายแก่พวกศัตรูของเขา

ความรักเคารพของประชาชนญี่ปุ่นที่มีต่อไซโง ซึ่งถูกนับถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ธำรงไว้ซึ่งจริยธรรมของซามูไร ทำให้รัฐบาลยุคเมจิไม่อาจฝืนกระแสมหาชน และได้ทำการอภัยโทษย้อนหลังให้เขาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1889

อนุสรณ์[แก้]

อนุสาวรีย์ของไซโง ทากาโมริ ในสวนสาธารณะอูเอโนะ กรุงโตเกียว

อนุสาวรีย์ของไซโง ทากาโมริ ที่มีชื่อเสียงคือ ประติมากรรมสำริดของไซโงในชุดล่าสัตว์พร้อมด้วยสุนัข ผลงานของทากามูระ โคอุง ซึ่งตั้งอยู่ที่สวนอูเอโนะ กรุงโตเกียว และได้ทำพิธีเปิดผ้าคลุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1898 รูปปั้นดังกล่าวนี้ได้มีการจำลองและนำไปติดตั้งไว้ที่เกาะโอกิโนเอราบุจิมะ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไซโงเคยถูกเนรเทศ[5]

หมายเหตุ[แก้]

  1. History Channel The Samurai, video documentary
  2. Ravina, Mark. The Last Samurai: The Life and Battles of Saigo Takamori. John Wiley and Sons, 2011. Names, Romanizations, and Spelling (page 1 of 2). Retrieved from Google Books on August 7, 2011. ISBN 1-118-04556-4, ISBN 978-1-118-04556-5.
  3. "On Saigō and the establishment of a railway". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-27. สืบค้นเมื่อ 2012-08-30.
  4. Andrew M. Beierle (บ.ก.). "The Real Last Samurai". Emory Magazine. Emory University. สืบค้นเมื่อ 10 April 2009.
  5. Man, John. "In the Footsteps of the Real Last Samurai." SOAS World. 37 (Spring 2011). p30.

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]