ไซฟอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไซฟอน (Psiphon)
นักพัฒนาบริษัทไซฟอน, the Citizen Lab
วันที่เปิดตัว2004
รุ่นเสถียร
วินโดวส์3.0 / 18 ธันวาคม 2016; 7 ปีก่อน (2016-12-18)
แอนดรอยด์172 / 23 กุมภาพันธ์ 2018; 6 ปีก่อน (2018-02-23)
ไอโอเอส1.1.0 / 16 สิงหาคม 2017; 6 ปีก่อน (2017-08-16)
ที่เก็บข้อมูล
ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ แอนดรอยด์ ไอโอเอส
ขนาด
  • วินโดวส์ - 6 MB
  • แอนดรอยด์ - 7.9 ~ 8.4 MB
ประเภทการหลีกเลี่ยงการตรวจพิจารณาทางอินเทอร์เน็ต
สัญญาอนุญาตสัญญาอนุญาตสาธารณะทั่วไปของกนู
เว็บไซต์psiphon.ca

ไซฟอน[A] (อังกฤษ: Psiphon) เป็นซอฟต์แวร์เสรีและโอเพนซอร์ซเพื่อใช้หลีกเลี่ยงการตรวจพิจารณาทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ปลอดภัยและทำให้คลุมเครือรวมทั้งเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (วีพีเอ็น), Secure Shell (เอสเอสเอช), และ HTTP/SOCKS Proxy[2] ไซฟอนจะต่อกับเครือข่ายพร็อกซีเซิร์ฟเวอร์เป็นพัน ๆ ที่กระจายไปทั่วโลกและจัดการบริหารแบบรวมศูนย์ โดยโครงสร้างพื้นฐานส่วนมากจะเป็นบริการแบบกลุ่มเมฆ ซึ่งโดยปี 2015 สามารถให้บริการต่อผู้ใช้ถึง 2 ล้านคนต่อวัน[3] การสื่อสารจะส่งผ่านพร็อกซีเซิร์ฟเวอร์เพียงเครื่องเดียวเพื่อความรวดเร็วโดยเข้ารหัสลับ ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่สามารถตรวจดูข้อมูลการสื่อสารได้[4] บริษัทอนุญาตให้ใช้โปรแกรมฟรีเป็นการส่วนตัวโดยไม่ให้ใช้เพื่อการค้า แต่ผู้ใช้ก็สามารถติดต่อบริษัทเพื่อรับบริการที่เสียค่าใช้จ่ายได้[5] ในปี 2011 องค์การนอกภาครัฐฟรีดอมเฮาส์ได้จัดไซฟอนเป็นอุปกรณ์หลีกเลี่ยงการถูกเซ็นเซอร์ทางอินเทอร์เน็ตซึ่งดีเป็นอันดับ 1 เมื่อพิจารณาค่าวัดในแล็บเท่านั้น และดีเป็นอันดับ 2 เมื่อรวมความเห็นของผู้ใช้ในประเทศต่าง ๆ ด้วย[B][7]

โปรแกรมผู้ใช้มีให้เลือกสำหรับระบบปฏิบัติการยอดนิยมต่าง ๆ และสามารถส่งข้อมูลสำหรับโปรแกรมหลายประเภทรวมทั้งเว็บเบราว์เซอร์ วิดีโอแบบส่งต่อเนื่อง และการส่งข้อมูลของแอ็ปโทรศัพท์มือถือ โปรแกรมออกแบบให้ใช้ง่ายคือสามารถดำเนินงานได้เลยโดยไม่ต้องตั้งค่าอะไร ๆ[3]

ไซฟอนออกแบบโดยตรงเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ในประเทศที่พิจารณาว่าเป็น "ศัตรูของอินเทอร์เน็ต"[8] บริษัทไซฟอนเป็นผู้พัฒนาและบำรุงรักษารหัสต้นฉบับ และยังเป็นผู้ดำเนินการระบบและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ออกแบบเพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถหลีกเลี่ยงระบบกรองเนื้อหาที่ใช้โดยรัฐบาลเพื่อเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต

ไอเดียเบื้องต้นเกี่ยวกับไซฟอนมาจาก Citizen Lab ที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต[9] ในปี 2007 จึงมีการตั้งบริษัทไซฟอนขึ้นต่างหากในรัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา เพื่อพัฒนาระบบและเทคโนโลยีโดยยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในโปรเจ็กต์งานวิจัยต่าง ๆ[10]

ไซฟอนมี 3 รุ่นซึ่งเป็นโปรเจ็กต์โอเพนซอร์ซที่ต่างกันแต่ก็ยังเกี่ยวข้องกัน

  • 3.0 - เป็นระบบสร้างอุโมงค์เชื่อมต่อกับเครือข่ายแบบกลุ่มเมฆ[11]
  • 2.0 - เป็นระบบพร็อกซีเชื่อมต่อกับเครือข่ายแบบกลุ่มเมฆ[12]
  • 1.0 - เป็นซอฟต์แวร์เริ่มต้นที่ไม่ได้บำรุงรักษาต่อไปแล้ว[13]

การดำเนินการ[แก้]

ไซฟอนเป็นอุปกรณ์หลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ทางอินเทอร์เน็ตที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (วีพีเอ็น), Secure Shell (เอสเอสเอช), และ HTTP/SOCKS Proxy[2] และประกอบด้วยโปรแกรมผู้ใช้/โปรแกรมลูกข่ายบวกกับเครือข่ายเซิฟเวอร์ที่โปรแกรมลูกข่ายสื่อสารด้วย ตราบที่โปรแกรมสามารถติดต่อกับเครือข่ายได้ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการถูกเซ็นเซอร์ได้[14] โปรแกรมผู้ใช้จะเรียนรู้เลขที่อยู่ไอพีใหม่ ๆ ของเซิร์ฟเวอร์ภายในเครือข่ายเพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงการถูกบล็อกไม่ให้เข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ ที่อาจถูกเซ็นเซอร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้การสื่อสารจะเข้ารหัสลับและมีการพิสูจน์ตัวจริงของเซิฟเวอร์ แต่ก็ไม่ได้เพิ่มความเป็นส่วนตัวออนไลน์ และไม่ควรพิจารณาว่าเป็นอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย[2][4][15] อีกทั้งบริษัทก็จะบันทึกข้อมูลการสื่อสารเพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ รวมทั้งการสืบหาปัญหาและการวิเคราะห์การใช้[15] บริษัทแนะนำให้ใช้ทอร์ถ้าผู้ใช้ต้องการความเป็นส่วนตัว/สภาพนิรนามทางอินเทอร์เน็ต[4]

ในระบบวินโดวส์ เมื่อเริ่มใช้โปรแกรม โปรแกรมจะเชื่อมกับเครือข่ายเองโดยอัตโนมัติ โดยผู้ใช้สามารถเลือกการเชื่อมต่อแบบวีพีเอ็น (L2TP over IPSec) หรือเอสเอสเอช หรือเอสเอสเอชพลัส[2] (ซึ่งสื่อสารแบบสร้างความคลุมเครือเพื่อป้องกันการระบุโพรโทคอล โดยเป็นโหมดที่เลือกโดยปริยาย[16]) เมื่อโปรแกรมติดต่อกับเครือข่ายได้ ก็จะแสดงไอคอนการเชื่อมต่อเป็นสีเขียว[2]

เมื่อใช้ในโหมดวีพีเอ็น การสื่อสารกับอินเทอร์เน็ตทั้งหมดจะส่งผ่านอุโมงค์ที่วิ่งผ่านเครือข่าย ในโหมดเอสเอสเอชหรือเอสเอสเอชพลัส โปรแกรมจะตั้งค่าพร็อกซีของระบบวินโดวส์โดยอัตโนมัติ และโปรแกรมที่ใช้ค่าพร็อกซีเช่นนี้ทั้งหมด (เช่น เว็บเบราว์เซอร์ต่าง ๆ) ก็จะส่งผ่านอุโมงค์เช่นกัน โดยผู้ใช้สามารถเลือกแบ่งส่งการสื่อสารไปยังเซิร์ฟเวอร์นอกประเทศผ่านเครือข่าย แต่ส่งการสื่อสารภายในประเทศไปยังเซิร์ฟเวอร์โดยตรง[2]

เมื่อปิดโปรแกรม โปแกรมจะเลิกการเชื่อมต่อและคืนค่าพร็อกซีของระบบวินโดวส์ให้เหมือนเดิม[2]

โปรแกรมผู้ใช้เป็นไฟล์ ๆ เดียวที่สามารถดาวน์โหลดและตรวจสอบว่าเป็นของแท้ได้ ในระบบวินโดวส์ ไฟล์ .exe ที่ดาวน์โหลดจะเซ็นชื่อแบบดิจิทัลโดยบริษัท ซึ่งนอกจากระบบวินโดวส์จะตรวจสอบลายเซ็นโดยอัตโนมัติแล้ว ผู้ใช้ก็ยังสามารถตรวจสอบลายเซ็นเองได้ด้วย[17] เนื่องจากเป็นไฟล์ ๆ เดียว จึงไม่มีการติดตั้งและไม่ต้องถอนการติดตั้ง ผู้ใช้สามารถลบไฟล์ที่ดาวน์โหลดออกได้เลย[18] ส่วนในระบบแอนดรอยด์ ไฟล์ที่ดาวน์โหลดก็เซ็นชื่อแบบดิจิทัลด้วยเช่นกัน แต่ผู้ใช้อาจต้องใช้อุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อตรวจสอบ[19] ในระบบทั้งสอง อัปเดตของโปรแกรมจะดาวน์โหลดและเช็คความเป็นของแท้โดยอัตโนมัติ[17][19] ตราบเท่าที่โปรแกรมที่ดาวน์โหลดเป็นของแท้ จะไม่มีใครสามารถปลอมตัวเป็นเซิฟเวอร์ในเครือข่ายที่โปรแกรมผู้ใช้เชื่อมต่อด้วยได้ เพราะโปรแกรมไม่ได้อาศัย Certificate authority ทั่ว ๆ ไป[20]

ในระบบไอโอเอส ไซฟอนเป็นเพียงแบราว์เซอร์ที่ส่งการสื่อสารสำหรับแบราว์เซอร์ผ่านเครือข่ายไซฟอน แต่โปรแกรมอื่น ๆ ก็จะคงส่งการสื่อสารผ่านระบบไอโอเอสโดยปกติ[21]

การเก็บข้อมูลผู้ใช้[แก้]

บริษัทจะบันทึกข้อมูลการสื่อสารเพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ รวมทั้ง[15]

  • บันทึกข้อมูลเพิ่มเพื่อแก้ปัญหา เมื่อทำการนี้ บริษัทจะประกาศในเว็บเพจกระดานข่าวของบริษัท
  • บริษัทโฆษณาจะติดตามการใช้เว็บเพื่อให้แสดงโฆษณาโดยเฉพาะ ๆ ได้ ผู้ใช้สามารถขอไม่ให้ติดตามการใช้
  • เว็บไซต์ของบริษัทใช้บริการของกูเกิล แอนะลิติกส์ ซึ่งเก็บข้อมูลการเยี่ยมชมเว็บเพจต่าง ๆ
  • ระบบใช้บริการเก็บข้อมูลของ Amazon S3 ซึ่งบริษัทสามารถใช้บันทึกการดาวน์โหลดเพื่อวิเคราะห์การใช้และแก้ปัญหาต่าง ๆ แอมะซอน มีบันทึกข้อมูลของเลขที่อยู่ไอพีและเวลาที่ดาวน์โหลดไฟล์เป็นต้น ซึ่งทั้งแอมะซอนและบริษัทไซฟอนเองก็สามารถเข้าถึงได้
  • เซิร์ฟเวอร์ของบริษัทมีการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เช่น จำนวนข้อความอีเมลที่ดาวน์โหลดเป็นต้น
  • บริษัทเก็บข้อมูลทางสถิติต่าง ๆ เมื่อมีการเชื่อมต่อแบบวีพีเอ็น

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. เลียนเสียงคำว่า siphon ซึ่งแปลว่า กาลักน้ำ[1]
  2. รวมประเทศอาเซอร์ไบจาน พม่า จีน และอิหร่าน[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. "siphon". ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕. (วิทยาศาสตร์) กาลักน้ำ
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Muppala, Purnabhishek (7 กันยายน 2016). "How does psiphon work and what does it do?". Quora.
  3. 3.0 3.1 Fifield D, Lan C, Hynes R, Wegmann P, Paxson V (15 พฤษภาคม 2015). "Blocking-resistant communication through domain fronting". Proceedings on Privacy Enhancing Technologies 2015. doi:10.1515/popets-2015-0009.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Frequently Asked Questions: Can my ISP see what I'm doing on the Internet while I'm using Psiphon?". Psiphon. สืบค้นเมื่อ 2018-07-10.
  5. "Psiphon End-User License Agreement". Psiphon. สืบค้นเมื่อ 2018-07-10.
  6. Freedom House (2011), In-Country Survey Results, p. 46
  7. Callanan, Cormac; Dries-Ziekenheiner, Hein; Escudero-Pascual, Alberto; Guerra, Robert (2011). "Leaping Over the Firewall: A Review of Censorship Circumvention Tools" (PDF). Freedom House. Summary, pp. 28–29.
  8. "Internet Enemies". องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-12. สืบค้นเมื่อ 2012-04-11.
  9. "SafeWeb's Holes Contradict Claims". Wired. 2002-02-12.
  10. "Ronald Deibert | Director, The Canada Centre for Global Security Studies and the Citizen Lab, Munk School of Global Affairs, University of Toronto". Deibert.citizenlab.org. 2009-05-02. สืบค้นเมื่อ 2012-12-12.
  11. Psiphon Circumvention System (2018), Overview
  12. "psiphon in Launchpad". Launchpad.net. สืบค้นเมื่อ 2012-12-12.
  13. "Psiphon - Total Delivery Solution for the Censored Internet". Psiphon.ca. สืบค้นเมื่อ 2012-12-12.
  14. "psiphon / Psiphon Circumvention System / Overview". Psiphon via Bitbucket. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-31. สืบค้นเมื่อ 2018-07-10.
  15. 15.0 15.1 15.2 "Privacy Policy". Psiphon. สืบค้นเมื่อ 2018-07-10.
  16. "Frequently Asked Questions: What protocol does the default Psiphon tunnel use?". Psiphon. สืบค้นเมื่อ 2018-07-10.
  17. 17.0 17.1 "Frequently Asked Questions: Is my Psiphon for Windows authentic?". Psiphon. สืบค้นเมื่อ 2018-07-10.
  18. "Frequently Asked Questions: How do I uninstall Psiphon for Windows?". Psiphon. สืบค้นเมื่อ 2018-07-10.
  19. 19.0 19.1 "Frequently Asked Questions: Is my Psiphon for Android authentic?". Psiphon. สืบค้นเมื่อ 2018-07-10.
  20. Psiphon Circumvention System (2018), Security Properties: Integrity
  21. "Frequently Asked Questions: Does Psiphon Browser for iOS proxy all of my device's Internet traffic?". Psiphon. สืบค้นเมื่อ 2018-07-10.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]