ไก่ฟ้าพญาลอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไก่ฟ้าพญาลอ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: อันดับไก่
วงศ์: วงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา
สกุล: Lophura
(Bonaparte, 1856)
สปีชีส์: Lophura diardi
ชื่อทวินาม
Lophura diardi
(Bonaparte, 1856)

ไก่ฟ้าพญาลอ (อังกฤษ: Siamese fireback, Diard's fireback; ชื่อวิทยาศาสตร์: Lophura diardi) เป็นไก่ขนาดกลางในวงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา (Phasianidae) มีขนสวยงาม พบในประเทศไทย, กัมพูชา, ลาว และเวียดนาม

ลักษณะทั่วไป[แก้]

หน้ากากสีแดงบนหน้าของตัวผู้

ไก่ฟ้าพญาลอเป็นไก่ฟ้าที่มีความสวยงามที่สุดชนิดหนึ่งของประเทศไทย เป็นไก่ขนาดกลาง ยาวประมาณ 80 ซม. ตัวผู้มีหน้ากากสีแดงสด บนหัวมีเส้นขนแตกพุ่มตรงปลายสีดำเหลือบน้ำเงินยาวโค้งไปด้านหลัง ปากสีเหลืองขุ่น รอบคางใต้หน้ากากลงมามีขนสีดำ ลำตัวด้านบน อก คอ และปีกมีสีเทา ลักษณะเด่นคือ ขนตอนท้ายของลำตัวใกล้โคนหางจะมีสีเหลืองแกมสีทองเห็นได้ชัดเจนขณะกระพือปีกขนคลุมโคนหางมีสีดำเหลือบน้ำเงินขอบสีแดงอิฐซ้อนกันหลายชั้น หางมีสีดำเหลือบเขียวยาวและโค้งลง ขนคลุมปีกมีลายสีดำขอบขาว ท้องสีดำ แข้งสีแดงมีเดือย ตัวเมียหน้าสีแดง บริเวณหน้าอก คอ หลังมีสีน้ำตาลแกมแดง ท้องมีลายเกล็ดน้ำตาลแดงขอบสีขาว ปีกมีสีดำสลับด้วยลายสีขาวตามแนวขวาง หางคู่บนสีดำสลับขาวส่วนคู่ล่างถัดลงมา สีน้ำตาลแกมแดง แข้งสีแดงไม่มีเดือย

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย[แก้]

ไก่ฟ้าพญาลอพบในประเทศไทย, กัมพูชา, ลาว และเวียดนาม ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาพตะวันออกเฉียงใต้ อาศัยตามป่าทึบเช่นป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น และป่าดงดิบเขา แต่บางครั้งพบอยู่ตามป่าโปร่ง เช่นป่าเต็งรังป่าเบญจพรรณ ในระดับความสูงไม่เกิน 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

พฤติกรรม[แก้]

ในธรรมชาติไก่ฟ้าพญาลอมีนิสัยป้องกันอาณาเขต[2] ตัวผู้ชอบอาศัยอยู่โดดเดี่ยวหรือจับคู่หากินกับตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์ ออกหากินตอนกลางวันและขึ้นคอนนอนตามต้นไม้สูงในเวลากลางคืน เป็นไก่ฟ้าที่เลี้ยงง่ายที่สุด ไม่ขี้อาย มักพบเห็นได้ง่ายตามถนนที่ผ่านป่า

อาหาร[แก้]

ไก่ฟ้าพญาลอกิน ตัวหนอน แมลงต่าง ๆ ไส้เดือน สัตว์ขนาดเล็ก เมล็ดหญ้า เมล็ดพืช เมล็ดข้าวชนิดต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเจ้าหอมนิล และข้าวขาวดอกมะลิ ผลไม้สุกที่หล่นตามพื้น เช่นลูกไทร และพวกขุยไผ่ เป็นอาหาร และชอบกินพวกสัตว์มากกว่าพืช ถ้าเลี้ยงในกรงสามารถเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูบสำหรับไก่เนื้อหรือไก่ไข่ตามช่วงอายุต่างๆที่มีขายตามท้องตลาดแล้วเสริมด้วยอาหารจำพวก หนอนนก ปลวก รวมทั้งผลไม้และวิตามินสำหรับละลายในน้ำ ไก่ฟ้าพยาลอโตเต็มวัยกินอาหารสำเร็จรูปเฉลี่ย 35.00กรัม/ตัว/วัน

การผสมพันธุ์[แก้]

ไข่ของไก่ฟ้าพญาลอ

กล่าวกันว่า ไก่ฟ้าพญาลอในธรรมชาติเป็นสัตว์ที่จับคู่ประเภทผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งต่างจากการนำมาเลี้ยงในกรงที่ตัวผู้ตัวเดียวสามารถผสมพันธุ์กับตัวเมียได้หลายตัว ฤดูผสมพันธุ์อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม ตัวผู้เกี้ยวตัวเมียโดยใช้วิธียืดอก กางปีก และกระพือปีกถี่ๆ การผสมพันธุ์ตัวเมียจะหมอบลงกับพื้น ตัวผู้ขึ้นเหยียบหลังใช้ปากจิกหัวตัวเมียแล้วผสมพันธุ์อย่างรวดเร็ว การวางไข่แต่ละฟองไม่คงที่ขนาดและรูปร่างไข่จะอ้วนป้อมคล้ายลูกข่าง ไม่เรียวยาวเหมือนไก่ฟ้าชนิดอื่น ไข่ใช้เวลาฟัก 23-25 วัน[2] สามารถแยกเพศได้ตั้งแต่แรกเกิดโดยตัวผู้จะมีขอบหนังหน้ากากเด่นชัดกว่าตัวเมีย แต่จะแยกเพศได้แน่นอนจากรูปร่างและสีขนเมื่อมีอายุประมาณ 4-5 สัปดาห์ สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้เมื่ออายุประมาณ 2 ปี

สถานภาพ[แก้]

ปัจจุบันในธรรมชาตหายากมากกฎหมายจัดให้ไก่ฟ้าพญาลอเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและเป็นสัตว์ป่าที่มีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ จึงมีผู้สนใจนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงมาก ปัจจุบันราชการได้มีการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยง โดยมีผู้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. BirdLife International (2016). "Lophura diardi". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T22679274A92808547. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-3.RLTS.T22679274A92808547.en. สืบค้นเมื่อ 11 November 2021.
  2. 2.0 2.1 ไก่ฟ้าพญาลอ เก็บถาวร 2010-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คลังปัญญาไทย
  3. ไก่ฟ้าจากสัตว์ป่าสู่สัตว์เศรษฐกิจ เก็บถาวร 2009-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ศูนย์รวมข่าวสารการเกษตร

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]