โหระพา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ใบโหระพา)
โหระพา
ชนิดOcimum basilicum
พันธุ์Ocimum basilicum var. thyrsiflora[1]

โหระพา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Ocimum basilicum Linn.; วงศ์: LABIATAE; ชื่ออื่น: อิ่มคิมขาว, ฉาน - แม่ฮ่องสอน) เป็นไม้ล้มลุก สูง 0.5–1 เมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยมมีกิ่งสีอ่อนม่วงแดง ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรีกว้าง 3–4 เซนติเมตร ยาว 4–6 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนมน ขอบจะเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ ดอกสีขาวหรือชมพูอ่อน ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งยาว 7–12 เซนติเมตร ใบประดับสีเขียวอมม่วงจะคงอยู่เมื่อเป็นผล กลีบดอกโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 2 ส่วน มีเกสรตัวผู้ 4 อัน.

ข้อมูลทั่วไป[แก้]

  • ชื่อวิทยาศาสตร์: Ocimum basilicum Linn.
  • ชื่อภาษาอังกฤษ: Sweet Basil, Thai Basil
  • ชื่ออื่น: ก้อมก้อ (ภาคเหนือและอีสาน), นางพญาร้อยชู้, โหระพาไทย, โหระพาเทศ, ห่อกวยซวย
  • วงศ์ : LABIATAEหรือ LAMIACEAE
  • แหล่งที่พบ: นิเวศวิทยาของโหระพามีถิ่นกำเนิดในเอเชียและแอฟริกา

ประโยชน์[แก้]

ใบสด มีน้ำมันหอมระเหย เช่น methyl chavicol และ linalool ฯลฯ ขับลมแก้ท้องอืดเฟ้อ ใช้เป็นอาหาร แต่งกลิ่นอาหาร แต่งกลิ่นสำอางบางชนิด เมล็ดเมื่อแช่น้ำจะพองเป็นเมือก เป็นยาระบาย เนื่องจากไปเพิ่มจำนวนกากอาหาร (bulk laxative)

ใช้เป็นยาได้หลายชนิด เช่น ปรุงร่วมกับน้ำนมราชสีห์เพื่อกินเพิ่มน้ำนม ตำรวมกับแมงดาตัวผู้ใช้แก้พิษแมลงกัดต่อย นิยมรับประทานร่วมกับอาหารประเภท หลน ลาบ ยำ ส้มตำ ใส่ในแกงเขียวหวาน แกงเผ็ด[2] ก๋วยเตี๋ยวเรือ

ลักษณะพืช[แก้]

พืชล้มลุก อายุหลายปี สูง 0.3–0.9 เมตร ลำต้นกิ่งก้านเป็นเหลี่ยม สีม่วงหรือแดงเข้ม ใบคู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือวงรี ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอกสีขาว ออกที่ปลายยอดลำต้น ผลแห้ง มี 4 ผลย่อย เมล็ดเล็กเท่าเมล็ดงา สีน้ำตาลเข้ม โหระพาเป็นพืชพื้นเมืองของอินเดีย แต่แพร่หลายทั้งในเอเชียและตะวันตก ทางตะวันตกนิยมบริโภคใบแห้ง น้ำสลัดใช้โหระพาเป็นส่วนผสมเป็นน้ำสลัดที่คู่กับอาหารอิตาเลียน ในอเมริกาก็นิยมบริโภค โดยโหระพามาจากอียิปต์ ฝรั่งเศส และแคลิฟอเนีย มีกลิ่นแตกต่างกันกับของไทย สำหรับคุณสมบัติทางยาของโหระพาที่สุดยอดมาก ๆ ก็คือ ช่วยในการย่อยอาหาร แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง เพราะในโหระพาสามารถช่วยขับลมในลำไส้ได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับบางคนที่เกลียดโหระพาละก็ คุณอาจจะแอบชอบผักชนิดนี้ขึ้นมาก็ได้ที่ได้รู้ว่าผักสวนครัวอย่างโหระพาไม่ได้มีดีแค่ใบ แต่เมล็ดยังสามารถนำมาแช่น้ำให้พองรับประทานเป็นยาแก้บิดได้อีกด้วย

การปลูกและขยายพันธุ์[แก้]

  • พันธุ์การค้า-จัมโบ้ เป็นพันธุ์ที่มีใบใหญ่ นิยมทั่วไป พันธุ์พื้นเมืองมักมีกลิ่นหอมแรง
  • การเตรียมดิน ไถดินให้ลึก 30-40 ซม. ตากดิน 2 อาทิตย์ ย่อยดินให้ละเอียดใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ให้มีอินทรียวัตถุสูง ดินร่วน มีความชื้นในดินสูง และแสงแดดปานกลาง การปลูกใช้ระยะปลูก ระยะระหว่างต้น 25 ซม. ระหว่างแถว 50 ซม. ให้น้ำสม่ำเสมอ
  • ใช้กิ่งปักชำในกระบะทราย หรือแกลบดำชื้นในที่ ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็ย้ายปลูกได้ หรือเพาะด้วยเมล็ด อาจใช้วิธีหว่านเมล็ดให้ทั่วแปลง ใช้ฟางกลบ หรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้วโรยทับบาง ๆ รดน้ำตามทันทีด้วยบัวรดน้ำตาถี่ในกระบะเพาะชำ กล้าเจริญเติบโดสูงประมาณ 10-15 ซม. จึงย้ายปลูก
  • การเก็บเกี่ยว ใช้มีดคม ๆ ตัดกิ่งที่เจริญเติบโตเต็มที่ อายุเก็บเกี่ยว 50 วัน หลังหยอดเมล็ดสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง ผลผลิต 4-6 ตัน

การใช้ประโยชน์[แก้]

ใบโหระพาเป็นแหล่งบีตา-แคโรทีน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการป้องกันโรค เช่น มะเร็ง ใบโหระพามีกลิ่นเฉพาะใช้เป็นผักสด ใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาหารและมีธาตุแคลเซียมสูงด้วย

น้ำมันโหระพา[แก้]

น้ำมันโหระพา เป็นน้ำมันหอมระเหยที่พบในใบโหระพามีร้อยละ 1.5 องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญ คือ Methyl Chavicol และสกัดได้จากใบโหระพาพันธุ์ไทย โดยการกลั่นด้วยไอน้ำ เป็นของเหลวใสสีเหลืองอ่อน หรือเหลืองอมน้ำตาลปราศจากตะกอนและสารแขวนลอย ไม่มีการแยกชั้นของน้ำ มีกลิ่นเฉพาะตัว มีคุณสมบัติแก้จุกเสียดแน่นท้อง น้ำมันหอมระเหยช่วยการย่อยอาหารเนื้อสัตว์ ช่วยคลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงช่วยให้สบายท้องขึ้น มีกลิ่นหอมหวาน มีคุณสมบัติช่วยให้สงบ มีสมาธิ ลดอาการซึมเศร้า ข้อควรระวังในการใช้คือ ทำให้เกิดอาการแพ้ง่าย สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยง

การใช้เป็นยาสมุนไพร[แก้]

โหระพามีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่หลากหลาย ใบสดของโหระพามีสรรพคุณแก้ท้องอืด เฟ้อ ขับลมจากลำไส้ ต้มดื่มแก้ลมวิงเวียน ช่วยย่อยอาหาร ใช้ตำพอกหรือประคบแก้ไขข้ออักเสบ แผลอักเสบ ต้มใบและต้นสดเข้าด้วยกัน ต้มเอาน้ำดื่ม แก้หวัด ขับเหงื่อ ถ้าเด็กปวดท้อง ใช้ใบโหระพา 20 ใบ ชงน้ำร้อนและนำมาชงนมให้เด็กดื่มแทนยาขับลมได้ ใบโหระพาแห้งต้มกับน้ำ มีสรรพคุณต้านเชื้อก่อโรค

โหระพาช้าง[แก้]

โหระพาช้าง กะเพราควาย กะเพราญวน จันทร์หอม เนียมตัน หรือเนียมยี่หร่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Ocimum gratissimum Linn.) เป็นไม้พุ่มสูงคล้ายโหระพาแต่มีขนาดใหญ่กว่า ใบโหระพาช้างมีข้อแตกต่างจากโหระพาเนื่องจากมีสารสำคัญในน้ำมันหอมระเหยต่างกัน ใบโหระพาช้างมียูจีนอลเป็นสารหลัก ทำให้ไม่นิยมใช้ประกอบอาหารเท่าโหระพา

อ้างอิง[แก้]

  1. Simon, James E.; Morales, Mario R.; Phippen, Winthrop B.; Vieira, Roberto Fontes; Hao, Zhigang (1999). Janick, Jules (บ.ก.). "Basil: A Source of Aroma Compounds and a Popular Culinary and Ornamental Herb". Perspectives on New Crops and New Uses. Alexandria, VA: ASHS Press: 499–505.
  2. อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี. กทม. แม่บ้าน. มปป.หน้า 120

ดูเพิ่ม[แก้]