ข้ามไปเนื้อหา

โรเบิร์ต สมิธสัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรเบิร์ต สมิธสัน (อังกฤษ: Robert Smithson) เป็นศิลปินชาวอเมริกันในคริสต์ศตวรรษ ที่ 20 ที่เริ่มทำงานศิลปะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950-1973 สมิธสันผลิตผลงานศิลปะออกมาหลากหลายแขนง อาทิ ธรณีศิลป์ (Land art) ลัทธิจุลนิยม (Minimal art) ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม(Abstract Expressionism) ตลอดจนศิลปะเชิงแนวคิด (Conceptual Art) โดยผลงานของเขามักอยู่ในรูปแบบทัศนศิลป์ ไม่ว่าจะเป็น ประติมากรรม ภาพวาดเส้น ภาพถ่าย ภาพยนตร์ แต่ผลงานที่สำคัญของสมิธสันคือ งานประเภท ธรณีศิลป์ (Earth Work) ซึ่งเป็นการแสดงผลงานเกี่ยวกับดินและหิน ณ สถานที่ภายนอกอาคาร มากไปกว่านั้นเขายังเขียนบทความทางวิชาการเพื่อสร้างความเข้าใจในแนวคิดศิลปะของเขาแก่ผู้ชมอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า สมิธสันเป็นศิลปินผู้มีความสามารถหลายด้านคนหนึ่ง

ชีวประวัติ

[แก้]

ชีวิตวัยเด็ก

[แก้]

โรเบิร์ต สมิธสัน เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ.1938 ในเมือง ปาเซอิก รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา สมิธสันเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว ในเวลาต่อมาเขาได้ย้ายไปอาศัยที่เมืองรูเทอร์ฟอร์ด ขณะที่อาศัยอยู่ที่นั่นบิดาของเขาได้ปลูกฝังให้มีความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับพฤกษศาสตร์และสัตวศาสตร์ โดยเขาเริ่มสนใจเก็บสะสมฟอสซิล เปลือกหอย และแมลง ต่างๆ [1]

แรงบันดาลใจในการเป็นศิลปิน

[แก้]

เมื่อเขาอายุ 9 ปี ครอบครัวของเขาได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่เมืองคลิฟตัน เขาเริ่มสนใจที่จะเป็นศิลปินมากขึ้นในเวลานั้น [2]ซึ่งต่อมาเขาได้ศึกษาศิลปะที่ โรงเรียนศิลปะ อาร์ต สติวเดนท์ลีค ในเมืองนิวยอร์ค ตั้งแต่ปี 1955 ถึง 1956 [3] อย่างไรก็ตาม เขาไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษาเท่าไรนัก แต่การได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนดังกล่าวก็ทำให้เขารู้จักกับผู้คนในแวดวงศิลปะจากโรงเรียนมัธยม The High School of Music & Art ในเมืองนิวยอร์คมากขึ้น ในช่วงเวลานั้น ทุกๆ วันเสาร์ เขาจะไปที่สตูดิโอของเพื่อนที่ชื่อ ไอแซค ซอว์เยอร์ (Isaac Soyer) เพื่อรวมกลุ่มกับเพื่อนคนอื่นๆ ไปวาดรูปกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาชอบพูดคุยเกี่ยวกับศิลปะ ไปชมพิพิธภัณฑ์ และออกไปชมบรรยากาศที่ชานเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่า เรียบง่าย และบริสุทธิ์ [4] ในช่วงประมาณปี 1956 – 1957 เขาเข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 6 เดือน หลังออกจากราชการทหาร เขาย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์คในปี 1957

ชีวิตการทำงาน

[แก้]

ช่วงแรกเริ่มของการทำงาน

[แก้]

ในช่วงปีค.ศ. 1950 เวอร์จีเนีย ดอว์น ผู้ประกอบการค้าด้านศิลปะ ได้ประกาศให้สมิธสันเป็นที่รู้จักต่อวงการศิลปะ ซึ่งต่อมาสมิธสันก็ได้รับรางวัลจากผลงานโชว์เดี่ยวที่ Artists’ Gallery ในปี ค.ศ.1959 และในห้วงเวลานั้น สมิธสันได้ผลิตผลงานจิตรกรรม ภาพวาด และภาพตัดแปะ (ในตอนนั้นเขายังไม่ได้สร้างผลงานประติมากรรม) ออกมาในรูปแบบแอ๊บแสตร็กเอ็กเพรสชั่นนิสม์ โดยผลงานของสมิธสันจะใช้สื่อมีเดีย และยังสร้างผลงานที่ใช้กาวน้ำ สีเทียน ดินสอ และภาพถ่ายเช่นกัน การใช้ดอว์นเป็นสื่อกลางทำให้เขาได้รู้จักกับประติมากรที่เป็นผู้บุกเบิกงานศิลปะจุลนิยม (Minimalism) ที่เริ่มเคลื่อนไหวในช่วงปี ค.ศ.1960 ประกอบไปด้วยศิลปินที่ชื่อเสียงเช่น คาร์ล อองเดรย์ โดนัล จัดด์ โรเบิร์ต มอริส และแนนซี โฮลต์ นอกเหนือจากงานศิลปะที่กล่าวข้างต้น เขายังสร้างสรรค์ผลงานภาพตัดแปะ (Collages) ขึ้นในช่วงปีค.ศ.1960 ประกอบกับผลงานพวกเปลือกหอย ยานอวกาศ และพื้นดิน ในช่วงปี ค.ศ. 1962-1963 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานด้านความงามแห่งแอ๊บแสร็คเอ็กเพรสชั่นนิสม์ อย่าง Algae ขึ้นในปี ค.ศ.1962 อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ได้แสดงให้เห็นพัฒนาการของศิลปินที่ใช้ดินเป็นแรงบันดาลใจและเป็นส่วนหนึ่งในรูปแบบของงานศิลปะที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติ รวมทั้งที่ไม่เป็นธรรมชาติ และงานศิลปะที่ใช้พื้นที่เจาะจง

ในปี ค.ศ. 1964 สมิธสันได้สร้างสรรค์งานประติมากรรมโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดจุลนิยมที่กำลังนำสมัยในช่วงนั้น ช่วงระยะแรกผลงานค่อนข้างออกมาดี แต่ทว่าสมิธสันรู้สึกอึดอัดที่จะเก็บตัวทำงานอยู่แต่ในสตูดิโอ ทำให้ในช่วงกลางปี ค.ศ. 1960 เขาเลือกที่จะเดินทางไปที่รัฐนิวเจอร์ซี เพื่อชมเหมืองหินและเขตอุตสาหกรรมที่รกร้าง อีกทั้งเขายังได้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเพื่อเดินทางไปยังอเมริกาฝั่งตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งสถานที่เหล่านั้นจุดประกายให้เขามีความสนใจในทะเลทรายและผืนแผ่นดินนอกเมืองที่ยังไม่เคยมีมนุษย์เข้ามาปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์[5]

การเป็นศิลปินเต็มตัว

[แก้]

ปี ค.ศ. 1967-1968 สมิธสันได้มุ่งไปที่งานประติมากรรมรูปร่างประหลาดสองแบบ คือ ไซท์และนันไซท์ โดยใช้กระจกและวัสดุที่เป็นธรรมชาติในการสร้างงานสามมิติรูปแบบใหม่ สำหรับงานไซท์นั้น เขาได้เดินทางไปยัง นิวเจอร์ซี่ แม็กซิโก อังกฤษ และเยอรมันตะวันตก และอื่นๆ โดยมีภรรยาของเขา แนนซี โฮลต์ และ ผู้ประกอบการค้าศิลปะ ชื่อ เวอร์จิเนีย ดอว์น เดินทางไปด้วย ระหว่างที่เขากำลังเลือกไซท์อยู่นั้น สมิธสันจัดวางชุดกระจกลงสู่การติดตั้งแบบธรรมชาติ และถ่ายภาพ ที่ดินกว้างที่ถูกปรับเปลี่ยน ผลลัพธ์ของการกระทำดังกล่าวได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อความงาม ที่เกิดจากการแทรกวัสดุปรุงแต่งเข้าไปสู่การพื้นที่ที่บริสุทธิ์นั่นเอง ในขณะที่สมิธสันทำงานไซท์ และนันไซท์ เขายังสร้างสรรค์ชุดงานที่รู้จักกันในชื่อ โฟโต้ เมคเกอร์ ซึ่งมีลักษณะในทางตรงข้ามกับงานไซท์ และนันไซท์อย่างสิ้นเชิง โฟโต้ เมคเกอร์ ยังเป็นการสำรวจผลกระทบจากการที่มนุษย์เข้าไปรบกวนธรรมชาติ ซึ่งวิธีดังกล่าวคือสมิธสันจะถ่ายรูปพื้นที่แต่ละแห่ง นำรูปนั้นมาขยาย และนำไปแปะลงบนภูมิทัศน์จริงที่ได้กล่าวถึงไว้ จากนั้นจะทำการถ่ายรูปซ้ำอีกครั้ง เพื่อสร้างรูปคู่ของธรรมชาติและภาพถ่าย เพื่อให้ดูเหมือนกับว่า ธรรมชาติกำลังอ้างอิงถึงตัวมันเอง

งานเอิร์ธเวิคของสมิธสันเป็นมากกว่าภาพร่างธรรมดา งานเหล่านี้เปรียบเสมือนข้อเสนอการใช้พื้นที่เฉพาะที่ปรากฏอยู่บนกระดาษเสียมากกว่า ช่วงปี ค.ศ. 1969-1970 สมิธสันได้สร้างภาพวาดที่จะเป็นโครงการคร่าวๆ ขึ้นจำนวนมาก ซึ่งในงานเอิร์ธเวิร์คระยะแรก อย่าง Asphalt Rundown (ตุลาคม 1969) และ เทกาว (ธันวาคม 1969) นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากความสนในเรื่อง เอนโทรปี และ นามธรรม โดยเริ่มตั้งแต่วัสดุระบายความร้อนที่ถูกทิ้งแล้วให้กลายมาเป็นรูปแบบนามธรรม ที่เป็นผลมาจากการสูญเสียความร้อน

ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่และผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา คือ สไปรัล เจตตี (Spiral Jetty) ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1970 หลังจากนั้นเขาได้ซื้อที่ดินบนชายฝั่งทางตอนเหนือของทะเลสาบเกรตซอลต์ ในรัฐยูทาห์ และใส่สสารสีม่วงแดงลงไปในน้ำ ที่ซึ่งประกอบด้วยดินประมาณ 6560 ตัน งาน Jetty ต่างจากกงานเอิร์ธเวิร์คงานก่อนๆ มันเป็นการรวบรวมความกลมกลืนของสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติมาไว้ด้วยกัน และในปีต่อๆมา สมิธสันได้ลงมือทำผลงานเอิร์ธเวิร์คโดยใช้ทฤษฎีบทเดิม จนกระทั่งในปิ ค.ศ. 1971 เขาได้ทำงาน Broken Circle/Spiral Hill ซึ่งตั้งอยู่ในเหมืองใกล้อ็อมม็อง ประเทศฮอลแลนด์ หลังจากนั้น สมิธสันก็กลับมาที่สหรัฐอเมริกาเพื่อทำผลงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของเขา[6]

ชีวิตคู่

[แก้]

โรเบิร์ตสมิธสันพบกับ แนนซี โฮลต์ เมื่อสมัยยังเด็ก และต่อมาได้กันอีกครั้งที่นิวยอร์คในปีค.ศ.1959 แล้วพวกเขาได้ย้ายไปอาศัยอยู่ด้วยกันที่หมู่บ้านแมนแฮตตันตะวันตก (West Manhattan) และตัดสินใจแต่งงานกันในฤดูร้อนปีค.ศ. 1963 หลังจากนั้น โรเบิร์ตและแนนซีได้เดินทางไปทั่วโลก ร่วมมือกันสร้างผลงานด้านภูมิศิลป์มากมาย

การเสียชีวิต

[แก้]

เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1973 ด้วยวัย 35 ปี ที่เมืองอมาริลโล รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตกในขณะที่กำลังบินสำรวจพื้นที่สำหรับทำงานศิลปะ [7] และถ่ายภาพสถานที่งานชิ้นใหม่ ชื่อ อมาริลโล แรมป์ (Amarillo Ramp) ซึ่งหลังจากที่เขาเสียชีวิตลง ภรรยาของเขา แนนซี โฮลต์ รวมทั้งเพื่อนศิลปินริชาร์ด เซอรา และคนอื่นๆ ได้ช่วยกันสานต่อผลงานชิ้นนี้จนเสร็จสิ้น

แนวคิดในการสร้างผลงาน

[แก้]

แนวคิดลัทธิจุลนิยม

[แก้]

สมิธสันเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงศิลปะที่มีชื่อเสียงจากการทำงานแนว แอ๊บสแตร็ก เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ และ มินิมอลลิสม์ และเป็นที่รู้จักในฐานะ โพสมินิมอลลิสต์ แม้ว่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากการใช้วัสดุทางอุตสาหกรรมในการสร้างงานจุลนิยม และความน่าสนใจในประสบการณ์ที่ผู้ชมจะได้รับจากงานศิลปะและวัตถุ แต่สมิธสันก็ละทิ้งมุมมองของศิลปะแบบดั้งเดิม ผลงานของสมิธสันเป็นงานที่มีแนวทางเป็นต้นแบบของงานในกลุ่มนี้ เขาสร้างประติมากรรมจากเศษวัสดุต่างๆ และสอดแทรกแนวทางที่ทำให้ผู้เข้าชมงานเข้าใจได้ยาก (มักจะด้วยการใช้กระจก หรือขนาดที่น่าสับสน) ในบางงานของเขาก็อ้างอิงถึงสถานที่ภายนอก และผลงานที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในแกลลอรี่ เป็นการตั้งคำถามแก่ผู้ชมงานว่า แท้จริงแล้วศิลปะวัตถุต่างๆนั้นควรจะตั้งอยู่ในที่ใด [8]

แนวคิดเอนโทรปี

[แก้]

ผลงานส่วนมากของสมิธสันทำขึ้นโดยผ่านแนวคิดที่เขาสนใจ เกี่ยวกับ เอนโทรปี กฏข้อที่สองของระบบอุณหภูมิศาสตร์ ที่ทำนายถึงความเสื่อมและการล่มสลายของระบบต่างๆ [9] กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับสู่สภาวะเดิมของมัน หากเปรียบเทียบกับระบบทุนนิยมในโลกปัจจุบัน ที่มีการผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ ทำให้คุณค่าของสินค้านั้นๆลดลง จนเสื่อมไปในที่สุดเช่นเดียวกับแนวคิด เอนโทรปี แนวคิดนี้ยังเป็นการแสดงทัศนะคติของเขาเกี่ยวกับวัฒนธรรม และอารยธรรม จากในบทความเรื่อง เอนโทรปี และอนุสาวรีย์ใหม่ ของสมิธสัน ในปี 1969 แสดงการเปรียบเทียบระหว่าง เหมืองแร่ แถบห้าง และแถบที่อยู่อาศัยในนิวเจอร์ซี และเป็นการบอกเป็นนัยๆว่า ในที่สุดทุกสิ่งจะแตกดับลงและกลายเป็นซากปรักหักพัง[10]

แนวคิดไซท์และนันไซท์

[แก้]

นอกจากนี้ สมิธสันยังเป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า ไซท์ หรือ ศิลปะเฉพาะที่ และ นันไซท์ เพื่อบอกถึงความแตกต่างระหว่างพื้นที่ภายนอก(ไซท์) และภายในแกลลอรี่(นันไซท์) งานประเภทนันไซท์ สร้างส่วนมากในช่วงปี 1968[11] เป็นการนำวัสดุที่เก็บได้จากสถานที่ต่างๆใส่กล่องเหล็ก และนำมาตั้งไว้ในแกลลอรี่ โดยมีแนวคิดที่ใกล้เคียงกับมินิมอลลิสม์ คือลดทอนสัดส่วนของงานให้เล็กลง และอยู่ให้ในรูปเรขาคณิต

ผลงานด้านศิลปะ

[แก้]

สมิธสันสร้างผลงานศิลปะไว้หลากหลายประเภท และมีงานหลายชิ้นในแต่ละประเภท ดังจะกล่าวถึงต่อไป โดยเป็นการยกตัวอย่างผลงานเพียงบางชิ้นเท่านั้น

งานเอิร์ธเวิร์ค หรือแลนด์อาร์ต

[แก้]

ฟลอตติ้ง ไอแลนด์ ทู ทราเวล (Floating island to travel) รอบเกาะแมนฮัตตัน ค.ศ.1970

อามมาริลโล แรมป์ (Amarillo Ramp) ที่ทะเลสาบเทโควาส แอมมาริโล รัฐเท็กซัส ค.ศ. 1973

แอสฟาล์ท รันดาวน์ (Asphalt rundown) ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ตุลาคม ค.ศ. 1969

โบร์คเคน เซอร์เคิล และ สไปรัล ฮิลล์ (Broken circle/Spiral hill) ที่เอมเมน ประเทศฮอลแลนด์ ค.ศ. 1971

คอนกรีต พัวร์ (Concrete pour) ที่ชิคาโก รัฐอิลินอยส์ พฤศจิกายน ค.ศ. 1969

กลู พัวร์ (Glue pour) ที่แวนคูเวอร์ แคนาดา ธันวาคม ค.ศ. 1969

พาร์ทเชียลี่ บูรี่ วู้ดเช็ด(Partially buried woodshed) ที่เคนท์ รัฐโอไฮโอ มกราคม ค.ศ. 1970

สไปรัล เจตตี้ (Spiral jetty)ที่โรสเซนท์ พอยท์ ทะเลสาบเกร็ทซอล์ท รัฐยูทาห์ ค.ศ. เมษายน 1970

งาน สไปรัล ฮิลล์ ค.ศ. 1971

งานประติมากรรม

[แก้]

แอเรียล (Aerial)

เดด ทรี (Dead tree)

มิลเลอร์ แอนด์ ครัชท์ เชลล์ (Mirror and crushed shell)

มิลเลอร์ แอนด์ เชลลี แซนด์ (Mirror and shelly sand)

นันไซท์ (Nonsite)

ปลักค์ (Plunge)

ควิก มิลเลียนส์ (Quick millions)

เรด แซนด์ สโตน (Red sand stone)

งาน โบร์คเคน เซอร์เคิล ค.ศ. 1971


งานภาพเขียน

[แก้]

อัลแก (Algae)

บลายด์ อิน เดอะ วอลเล่ห์ (Blind in the valley)

เอนไซโคล (Encyclo)

แวนเดอร์ลิ่ง เอิร์ท มาวด์ (Wandering earth mounds)

เวิลด์ โอเชียน แมพ (World ocean map)


งานภาพถ่าย

[แก้]

โฟโต้ มาร์คเกอร์ (Photo-Markers) ลอเรล ฮิลล์ รัฐนิวเจอร์ซี่ ค.ศ. 1968

ฟอร์คกิ้ง ไอแลนด์ (Forking Island) ค.ศ.1971

อิทธาคา มิลเลอร์ เทรลล์ (Ithaca Mirror Trail) อิทธาคา รัฐนิวเจอร์ซี ค.ศ. 1969

ยูคาตัน มิลเลอร์ ดิสเพลสเมนต์ (Yucatan Mirror Displacement) (1-9) ยูคาตัน เม็กซิโก ค.ศ. 1969

มานูเมนต์ ออพ ปาซาอิก (Monument of Passaic) รัฐนิวเจอร์ซี ค.ศ. 1967

งานเขียน

[แก้]

สมิธสันได้เขียนงานวิจารณ์ เรียงความ และทฤษฎีต่างๆ ในช่วงตั้งแต่ ปีค.ศ. 1967-1970 เขาได้ทำงานให้กับนิตยสาร อาร์ต ฟอร์ม และ อาร์ต แม็กกาซีน (Arts Magazine) ระหว่างทำงานที่นั่น เขามีผลงานชื่อ การตกตะกอนของสภาวะจิต: โครงการดิน หรือ (A Sedimentation of the Mind: Earth Project) [12] ซึ่งเป็นการเสนอผลงานที่เรียกว่า นันไซด์ (non-side) เกี่ยวกับการนำตู้คอนเทนเนอร์รวบรวมสิ่งของต่างๆ พร้อมด้วยแผนที่ รูปถ่าย และข้อความมาจัดแสดง สมิธสันต้องการนำข้อความที่ขัดแย้งกันมาสะท้อนให้เห็น การไม่สามารถรักษาความสมดุลระหว่างพื้นที่ภายนอกและภายในดังที่เห็นในงานนิทรรศการ “งานดินในสถานที่” เขาเริ่มทำงานเขียนในช่วงค.ศ. 1965-1966 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการศึกษาด้วยตัวของเขาเอง ผลงานด้านการเขียนของเขามีทั้งหมด 20 บทความ [13]

บทความสำคัญ

[แก้]

อีลิมิเนเตอร์ (The Eliminator) ค.ศ. 1964 การอธิบายโดยย่อเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมกระจกคริสตัลทั้งสอง (A short description of two mirrored crystal structures) ค.ศ. 1965

เอนโทรปี และอนุสาวรีย์ใหม่ (Entropy and the new monuments) ค.ศ. 1966

ทฤษฎีชั่วคราวของนันไซท์ (A Provisional theory of Non-Sites) ค.ศ. 1968

การพันธนาการทางวัฒนธรรม (Cultural confinement) ค.ศ. 1972 [14]

บทสัมภาษณ์

[แก้]

ส่วนหนึ่งของการสนทนา โดย วิลเลียม ซี ลิปคี (Fragment of a conversation) ค.ศ. 1969

บทสัมภาษณ์ โรเบิร์ต สมิธสัน สำหรับหอจดหมายเหตุศิลปะอเมริกัน โดย พอล คัมมิงส์(Interview with Robert Smithson for the archives of American art) ค.ศ. 1972

เห็นได้ด้วยเอนโทรปี โดย อลิสัน สกาย (Entropy made visible) ค.ศ. 1973 [15]

งานภาพยนตร์

[แก้]

นอกจากนี้ สมิธสันยังได้สร้างผลงานทางด้านภาพยนตร์ อาทิ สไปรัล เจตตี้ (Spiral jetty) แอสฟัลต์ รันดาวน์(Asphalt Rundown) และสแวมป์ (Swamp)

อ้างอิง

[แก้]
  1. Smithson Robert, The writings of Robert Smithson : essays and illustrations, (New York : New York University Press), 1979, 137.
  2. Smithson Robert, The writings of Robert Smithson : essays and illustrations, (New York : New York University Press), 1979, 137.
  3. http://www.aaa.si.edu/collections/interviews/oral-history-interview-robert-smithson-12013]
  4. http://www.aaa.si.edu/collections/interviews/oral-history-interview-robert-smithson-12013
  5. http://www.saylor.org/site/wp-content/uploads/2011/10/ARTH408-2.3.2.3-Robert-Smithson.pdf
  6. http://www.saylor.org/site/wp-content/uploads/2011/10/ARTH408-2.3.2.3-Robert-Smithson.pdf
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-28. สืบค้นเมื่อ 2014-11-26.
  8. http://www.saylor.org/site/wp-content/uploads/2011/10/ARTH408-2.3.2.3-Robert-Smithson.pdf
  9. http://www.saylor.org/site/wp-content/uploads/2011/10/ARTH408-2.3.2.3-Robert-Smithson.pdf
  10. http://www.saylor.org/site/wp-content/uploads/2011/10/ARTH408-2.3.2.3-Robert-Smithson.pdf
  11. ไลลัค มิชาเอล, แลนด์อาร์ต = Land art / มิชาเอล ไลลัค เขียน ; ออตโต ฟอน โกลบ, อณิมา ทัศจันทร์ แปล, (กรุงเทพฯ : เดอะเกรทไฟน์อาร์ท), 2552, 86.
  12. ไลลัค มิชาเอล, แลนด์อาร์ต = Land art / มิชาเอล ไลลัค เขียน ; ออตโต ฟอน โกลบ, อณิมา ทัศจันทร์ แปล, (กรุงเทพฯ : เดอะเกรทไฟน์อาร์ท), 2552, 14.
  13. http://www.aaa.si.edu/collections/interviews/oral-history-interview-robert-smithson-12013
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-27. สืบค้นเมื่อ 2014-11-28.
  15. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-27. สืบค้นเมื่อ 2014-11-28.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]