โรมันคาทอลิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระศาสนจักรคาทอลิก (อังกฤษ: Catholic Church) หรือ คริสตจักรโรมันคาทอลิก (Roman Catholic Church) เป็นคริสตจักรที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีศาสนิกชนกว่าพันล้านคน[1] มีพระสันตะปาปาเป็นประมุข มีพันธกิจหลักคือ การประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูคริสต์[2] โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์[3] และปฏิบัติกิจเมตตา[4] ศาสนจักรคาทอลิกเป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์อารยธรรมตะวันตก[5] คริสตจักรนี้สอนว่าศาสนจักรคาทอลิกเป็นคริสตจักรแท้เพียงแห่งเดียวที่ก่อตั้งโดยพระเยซู โดยมีมุขนายกเป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากอัครทูตของพระคริสต์ และมีพระสันตะปาปาที่สืบตำแหน่งมาจากนักบุญเปโตร[6] ชาวคาทอลิกถือว่าศาสนจักรคาทอลิกเป็นคริสตจักรแท้ ดั้งเดิม สอนหลักความศรัทธาและศีลธรรมไม่มีผิดพลาด ศาสนจักรยังเน้นความสำคัญของพิธีบูชาขอบพระคุณ[7] สอนว่าขนมปังและเหล้าองุ่นในพิธีศีลมหาสนิทเมื่อเสกแล้วเปลี่ยนสารเป็นพระมังสะและพระโลหิตจริง ๆ ของพระเยซู ทั้งยังให้ความสำคัญกับพระนางมารีย์พรหมจารีเป็นพิเศษ คือเชื่อว่าพระแม่ทรงปฏิสนธินิรมลและได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ภายหลังมรณกรรม[8]

ในประเทศไทยเรียกคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกว่า "คริสตัง" หรือ "คริสตชน"

ประวัติ

นิกายโรมันคาทอลิกมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่นักบุญเปโตร ได้รับการสถาปนาจากพระเยซูให้เป็นผู้ดูแลพระศาสนจักร อาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นสันตะปาปาคนแรกที่ทุกคนต้องยอมรับนับถือและมีศรัทธาเชื่อฟังในฐานะ "ผู้ดูแลฝูงแกะ" ของพระเจ้า ความคิดแบบนี้ได้สืบทอดกันต่อมาจนปัจจุบัน

พระสันตะปาปาจึงมิได้อยู่ในฐานะนักบวชเท่านั้น แต่เป็นประมุขสูงสุดของศาสนจักรที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามคำสั่ง นิกายโรมันคาทอลิกจึงเป็นนิกายที่มุ่งมั่นให้สัตบุรุษมีศรัทธา และปฏิบัติตามพระศาสนจักร เพราะศาสนจักรเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแห่งสวรรค์ และเป็นองค์การที่สามารถนำประชาชนไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามภารกิจ ที่พระเจ้าได้มอบไว้

เดิมทีศาสนาคริสต์ยังไม่แบ่งแยกเป็นนิกาย ต่อเมื่อเกิดการแยกตัวของนิกายใหม่ ผู้ปฏิบัติในแนวทางเดิม (ที่ผ่านการเติบโตและดัดแปลงจากสมัยนักบุญเปโตร) จึงได้รับการแยกแยะว่าเป็นนิกายดั้งเดิม แตกต่างจากนิกายใหม่ เหตุการณ์แบ่งแยกครั้งแรกเกิดในรัชสมัยจักรพรรดิคอนสตันไทน์มหาราช เมื่อพระองค์ได้ตั้งราชธานีใหม่ในภาคตะวันออก แถบประเทศตุรกีในปัจจุบัน พระราชทานนามว่า "คอนสแตนติโนเปิล" หรือโรมันตะวันออกซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิไบแซนไทน์ อาณาจักรนี้มีความอิสระแยกออกจากโรมันตะวันตกซึ่งมีกรุงโรมเป็นศูนย์กลาง แต่เมื่อนานวันอาณาจักรโรมันตะวันออกมีความเข้มแข็งและเป็นอิสระในทุกด้าน จึงตีตนออกห่าง แยกการปกครองเป็นเอกเทศ รวมถึงการปกครองทางศาสนามีความเป็นอิสระจากกรุงโรม ไม่ยอมรับในพระราชอำนาจของพระสันตะปาปา จึงทำให้เกิดการแตกแยกออกเป็นนิกาย กล่าวคืออาณาจักรโรมันตะวันตกได้รับอิทธิพลจากสำนักวาติกัน ซึ่งการศาสนามีบทบาทกลมกลืนกับสังคมและการเมืองนับถือนิกายโรมันคาทอลิก ส่วนอาณาจักรโรมันตะวันออกได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของเอเชียนับถือนิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์

อ้างอิง

  1. "Factfile: Roman Catholics around the world". BBC. 1 April 2005. สืบค้นเมื่อ 2011-08-19. The Roman Catholic Church - the largest branch of Christianity - says there are a total of 1.086 billion baptised members around the globe. This figure is expected to exceed 1.1 billion in 2005, with rapid growth in Africa and Asia. However, there are no reliable figures for the number of practising Catholics worldwide.
  2. "Compendium of the CCC, 11". Vatican.va. สืบค้นเมื่อ 2011-06-30.
  3. "Compendium of the CCC, 226". Vatican.va. สืบค้นเมื่อ 2011-06-30.
  4. "Compendium of the CCC, 388". Vatican.va. สืบค้นเมื่อ 2011-06-30.
  5. O'Collins, p. v (preface). Woods, T., How the Catholic Church Build Western Civilization.
  6. "The Apostolic Tradition". Catechism of the Catholic Church. Vatican. สืบค้นเมื่อ 2011-07-22.
  7. Catechism of the Catholic Church, "The Eucharist - Source and Summit of Ecclesial Life"
  8. Apostolic Constitution of Pope Pius XII: "Munificentissimus Deus: Defining the Dogma of the Assumption". November 1, 1950. Retrieved 2011-06-15.

ดูเพิ่ม