โรงเรียนลาซาล

พิกัด: 13°39′28″N 100°37′55″E / 13.657864°N 100.631820°E / 13.657864; 100.631820
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โรงเรียนลาซาล บางนา)
โรงเรียนลาซาลกรุงเทพ
La Salle School Bangkok
ที่ตั้ง
แผนที่
ข้อมูล
ชื่ออื่นล.ซ. (LSC)
ประเภทเอกชน
คำขวัญมีวินัย​ ​ใฝ่ศึกษา​ ​กิจกรรมก้าวหน้า​ ​รักษาคุณธรรม
สถาปนา10 เมษายน พ.ศ. 2506
รหัส1110100778
ผู้อำนวยการภราดาพงษ์พัฒน์ คาโสจันทร์
สี   สีดำ-สีแดง
เพลงลาซาลตระการยิ่งนัก, หนึ่งเดียวใจเดียว, มาร์ชลาซาล
เว็บไซต์www.lasalleschool.ac.th

โรงเรียนลาซาลกรุงเทพ เป็นโรงเรียนสหศึกษาเอกชนโรมันคาทอลิก ที่คณะภราดาลาซาลตั้งขึ้นเป็นสาขาที่ 3 และสาขาล่าสุดของเครือข่ายโรงเรียนลาซาลในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2506 โดย 2 แห่งก่อนหน้านี้คือโรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์และโรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) ที่ตั้งในปี พ.ศ. 2503 และ พ.ศ. 2505 ตามลำดับ

โรงเรียนลาซาลกรุงเทพ ตั้งอยู่ที่ 752 ถนนลาซาล แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร เปิดสอนในระดับอนุบาล จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก่อตั้งในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2506 โดยมีภราดาพิเอเลต์ ไมเคิล ดำรงตำแหน่ง​ผู้รับใบอนุญาตคนแรก และมีนักบุญยอนห์-บาติสต์ เดอ ลา ซาล เป็นองค์อุปถัมภ์ของโรงเรียน

ประวัติ[แก้]

พัฒนาการของโรงเรียนลาซาล[แก้]

ก่อตั้งในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2506 โดยมีภราดาพิเอเลต์ ไมเคิล ดำรงตำแหน่ง​ผู้รับใบอนุญาตคนแรก เปิดทำการเรียนการสอนวันแรก ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 เป็นโรงเรียนชายล้วน แรกเริ่มมีนักเรียนทั้งหมด 342 คน ครู 11 คน คณะภราดา 4 ท่าน เปิดสอนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 และได้รับอนุญาตให้ใช้อักษรย่อ ล.ซ. เมื่อ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2506

ในปีการศึกษา 2518 มีคณะภคินี(นักบวชที่เป็นสตรี) มาร่วมงาน 4 ท่าน

ในปีการศึกษา 2521 โรงเรียนเปิดรับนักเรียนหญิง

ในปีการศึกษา 2522 โรงเรียนเปิดสอนนักเรียนในระดับอนุบาล และสร้างอาคารใหม่ ความสูง 3 ชั้น สำหรับนักเรียนอนุบาลโดยเฉพาะ ตั้งชื่อว่าอาคารแมรี่แอนน์

ในปีการศึกษา 2524 โรงเรียนเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ในปีการศึกษา 2531 เปิดใช้อาคารมิเกลเพิ่มอีก 1 หลัง เพื่อเพิ่มจำนวนห้องเรียนให้เพียงพอต่อการที่มีนักเรียนเพิ่มขึ้น และต้องการห้องเรียนเพิ่มขึ้น โดยอาคารใหม่มีความสูง 4 ชั้น และเปิดใช้หอประชุมเอนกประสงค์ในโรงเรียน ชื่อ หอประชุม JVK HALL

ในปีการศึกษา 2546 หลังการเปิดโรงเรียนครบ 40 ปี ในปีที่ 41 ได้มีการฉลองการก่อตั้งโรงเรียนครบ 40 ปี

ในปีการศึกษา 2548 อาคารยวง เดอ ลาซาล ซึ่งเป็นอาคารหลังแรกของโรงเรียน ได้เกิดการทรุดตัวเอนไปด้านหน้าอย่างน่าเป็นห่วง โรงเรียนจึงดำเนินการซ่อมแซมฐานอาคาร เป็นการใช้งบประมาณครั้งใหญ่ คือประมาณ 33 ล้านบาท ในการยกตัวตึกขึ้น ซ่อมแซมและเสริมฐานอาคาร และในการเสริมฐานให้สูง ยกตัวฐานขึ้นสูง 1.5 เมตร เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วมชั้นล่างของอาคารในช่วงฤดูฝน และนอกจากนี้ โรงเรียนได้สร้างอาคารใหม่ คืออาคารพระเมตตาซ้อนอยู่หลังอาคารยวง เดอ ลาซาล เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มห้องปฏิบัติการ หรือห้อง lab วิชาต่างๆขึ้น

ในปีการศึกษา 2549 เริ่มนำครูต่างชาติมาสอนวิชาการในโรงเรียน

โรงเรียนลาซาลในปัจจุบัน[แก้]

ในปีการศึกษา 2552 โรงเรียนลาซาลมีนักเรียนทั้งหมด 5,089 คน โดยแบ่งเป็นนักเรียนชาย 2,855 คน นักเรียนหญิง 2,234 คน และมีครูทั้งหมด 264 คน โดยแบ่งเป็นครูชาย 62 คน ครูหญิง 202 คน มีห้องเรียนทั้งหมด 106 ห้อง โดยแบ่งเป็นระดับก่อนประถมศึกษา(อนุบาล) 18 ห้อง ประถมศึกษา 54 ห้อง และมัธยมศึกษา 34 ห้อง

ความหมายของสัญลักษณ์โรงเรียน[แก้]

ตราโรงเรียน[แก้]

  • ดาวที่อยู่ภายในสุด มีความหมายว่า "การศึกษาและการอบรม หล่อหลอมบุคคลให้เป็นผู้ใฝ่ศึกษา มีวินัยและคุณธรรมดุจดาวทอแสงความรุ่งโรจน์ตลอดกาล"

การที่ดาวนี้มีห้าแฉก หมายถึงองค์ประกอบห้าอย่าง ที่มีความหมายต่อโรงเรียน คือ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และชุมชน

  • วงรีที่ล้อมรอบดาวไว้ มีความหมายว่า "ภราดรภาพ เอกภาพ"
  • ช่อชัยพฤกษ์ที่ล้อมวงรีไว้ มีความหมายว่า "เป็นเลิศในด้านความรู้ ความสามารถ บุคลิกภาพดี มีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ยึดมั่นในหลักธรรมของศาสนา วัฒนธรรมและประเพณี"

สีประจำโรงเรียน[แก้]

โรงเรียนลาซาลกรุงเทพ มี สีดำ-แดง เป็นสีประจำโรงเรียน โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้

  • สีดำ มีความหมายว่า "ความหนักแน่น มั่นคง สุขุมเยือกเย็น กล่าวคือ ครูและนักเรียนลาซาล ต้องเป็นผู้ที่มี ความสุขุม รอบคอบ ในการปฏิบัติงาน และมีจิตใจที่หนักแน่น มั่นคงในการตัดสินใจด้วยความสุขุมรอบคอบ"
  • สีแดง มีความหมายว่า "ความรุ่งโรจน์ สดใส มีชีวิตชีวา กล่าวคือ ครูและนักเรียนลาซาล ต้องเป็นผู้ที่มี ความกระตือรือร้นต่อการเรียนการสอน และแสวงหาความรู้เพื่อความเจริญ ก้าวหน้าของโรงเรียน และตนเองด้วยความสดชื่น มีชีวิตชีวาอยู่เสมอ"

อาคารสถานที่[แก้]

โรงเรียนลาซาล มีอาคารสถานที่ต่างๆดังนี้

สถานที่สาธารณะ[แก้]

  • อาคารยวง เดอ ลาซาล เป็นอาคารเรียนหลังที่เก่าที่สุดที่อยู่ถึงปัจจุบัน สร้างใน พ.ศ. 2506 ปัจจุบันใช้เป็นอาคารเรียนระดับประถมศึกษา
  • อาคารโยเซฟ อาคารเรียนที่เก่าเป็นอันดับ 2 ที่ยังใช้อยู่ถึงปัจจุบัน ปัจจุบันใช้เป็นอาคารเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
  • อาคารแมรี่แอนน์ เป็นอาคารเรียนที่เก่าเป็นอันดับ 3 ที่ยังใช้ในปัจจุบัน สร้างใน พ.ศ. 2522 ปัจจุบันใช้เป็นอาคารเรียนระดับก่อนประถมศึกษา
  • อาคารมิเกล เป็นอาคารเรียนหลังที่เก่าเป็นอันดับ 4 ที่ยังใช้ในปัจจุบัน สร้างใน พ.ศ. 2531 ปัจจุบันใช้เป็นอาคารเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
  • อาคารพระเมตตา เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 ชั้น และเป็นอาคารเรียนหลังที่ 5 และหลังล่าสุด
  • อาคารห้องสมุด 2 แห่ง
  • JVK Hall ห้องประชุมขนาดยักษ์ใหญ่ จุผู้คนได้ราวๆ 6,000 คน มักใช้เป็นอาคารในการประชุมใหญ่ โรงยิม หรือสถานที่แข่งขันกีฬาในร่ม หลังคาด้านนอกฮอลล์ จะมีอักษร LA SALLE COLLEGE สีขาวเขียนไว้ เป็นสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ในระยะไกล
  • วัดน้อยนักบุญยวง ลาซาล เป็นสถานที่ทางศาสนาคริสต์ที่มักใช้ประกอบพิธีทางศาสนาต่างๆ
  • ลานจอดรถขนาดใหญ่ จุรถได้ประมาณ 500 คัน
  • สนามบาสเกตบอล สนามวอลเลย์บอล สนามฟุตบอล สนามแชร์บอล สโมสรเทเบิลเทนนิส ลานกีฬาเอนกประสงค์ ใกล้ๆอาคารแมรี่แอนน์ และอัฒจรรย์ขนาดความจุ 300 คนที่สนามบาสเกตบอล
  • โรงอาหาร 2 แห่ง
  • สระว่ายน้ำ
  • ห้องโสต ห้อง Science Lab และห้อง Computer เป็นสื่อการสอนนอกห้องเรียน
  • สวนไดโนเสาร์ จัดตั้งหุ่นจำลองไดโนเสาร์พันธุ์ต่างๆ กลางแจ้ง
  • สวนเมาคลี จัดตั้งหุ่นจำลองตัวละครในนิยายเรื่อง เมาคลี และสัตว์ประจำราศีต่างๆ นิยมใช้ทำกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี และในช่วงเทศกาลประจำปีของโรงเรียนปี 2548 เป็นต้นมา โรงเรียนจะใช้สวนเมาคลี ทำเป็นสนาม Paint Ball
  • สหกรณ์โรงเรียน จัดขายอุปกรณ์การเรียน และสิ่งของต่างๆ (Minimart)
  • Kan Mini Hall อาคารขนาดใหญ่ มีการแบ่งการใช้งานเป็น 3 ส่วน คือ
    • ห้องประชุมปรับอากาศขนาดใหญ่ จุคนได้มากกว่า 200 คน มีอุปกรณ์ Multimedia และโปรเจกเตอร์ที่ฉายให้เห็นได้ทั่วถึง สามารถฉายภาพยนตร์ และผลงานแบบ Slideshow ต่างๆ ได้
    • ห้องโยธวาทิต
    • ห้องประชุมคณะผู้บริหาร ลักษณะคล้ายห้องประชุมตามบริษัทต่างๆ โดยทั่วไป จะมักไม่อนุญาตให้นักเรียนเข้าห้องนี้
  • สวนสัตว์ลาซาล มีสัตว์หลากหลายชนิดและป้ายรายละเอียดสำหรับผู้ที่สนใจศึกษา

สถานที่ส่วนบุคคล[แก้]

  • บ้านพักคณะภราดาและภคินี คณะภราดาและภคินีมักจะพักอยู่ในบ้านหลังนี้ จึงเป็นเขตที่บุคคลทั่วไปเข้าไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาต
  • ลาซาลวิลล่า สวนส่วนบุคคล โดยทั่วไปมักไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้า

ผู้บริหารโรงเรียน[แก้]

ผู้รับใบอนุญาต (อธิการ)[แก้]

นาม วันที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ วันที่ลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
ภราดาพิเอเลต์ ไมเคิล 23 เมษายน พ.ศ. 2506 19 เมษายน พ.ศ. 2509
ภราดาเหงียน วันได อัลเบิร์ต 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2510
ภราดาโยเซฟ เหงียน วันคอย เรโนด์ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519
ภราดาอำนวย ปิ่นรัตน์ 22 มีนาคม พ.ศ. 2519 20 กันยายน พ.ศ. 2522
ซิสเตอร์สุนันทา เจียรนัยกุล 21 กันยายน พ.ศ. 2522 20 สิงหาคม พ.ศ. 2533
ภราดากันย์ วงษ์ชีรี 21 สิงหาคม พ.ศ. 2534 31 มีนาคม พ.ศ. 2546
ภราดาชัยพร กิจมงคล 1 มีนาคม พ.ศ. 2546 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2547
ภราดาบุญเชิด เกตุรัตน์ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2547 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
ภราดาประภาส ศรีเจริญ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
ภราดาบุญเชิด เกตุรัตน์ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ----ปัจจุบัน----

ผู้จัดการ[แก้]

นาม วันที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ วันที่ออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
นายยงยุทธ โชติระวี 10 เมษายน พ.ศ. 2506 12 ธันวาคม พ.ศ. 2522
นายคงศักดิ์ ชลหาญ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2522 31 มกราคม พ.ศ. 2523
ภราดากันย์ วงษ์ชีรี 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2526
ซิสเตอร์สุนันทา เจียรนัยกุล 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 ---ปัจจุบัน---

ครูใหญ่[แก้]

นาม วันที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ วันที่ออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
นายชิน ประกอบกิจ 10 เมษายน พ.ศ. 2506 23 มีนาคม พ.ศ. 2510
นายสีถา รัตนตรัยภพ 24 มีนาคม พ.ศ. 2510 28 สิงหาคม พ.ศ. 2512
นายคงศักดิ์ ชลหาญ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2512 15 เมษายน พ.ศ. 2516
นายสัมพันธ์ งามดี 16 เมษายน พ.ศ. 2516 3 ธันวาคม พ.ศ. 2523
ภราดากันย์ วงษ์ชีรี 18 ธันวาคม พ.ศ. 2523 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2526
ซิสเตอร์สุนันทา เจียรนัยกุล 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 3 สิงหาคม พ.ศ. 2526
นายวิรัตน์ คำเจริญ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2526 ---ปัจจุบัน---

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

ในปีการศึกษา 2539 ได้รับรางวัลโรงเรียนดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน

ในปีการศึกษา 2548 ได้รับรางวัลการอ่านคิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความดีเด่น ในนักเรียนระดับประถม และมัธยมศึกษา

ในปีการศึกษา 2548 ได้รับรางวัลประกาศนียบัตร การเป็นประธานคณะกรรมการวัดผล และประเมินผลงานเวทีวิชาการ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ 1 กรุงเทพมหานคร

ในปีการศึกษา 2548 ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโครงการแมกไม้มิ่งเมือง ประเภทสวนสวยโรงเรียนงาม ของกรุงเทพมหานคร

ในปีการศึกษา 2548 ได้รับโล่รางวัลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสที่ผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ผ่านทางมูลนิธิประชานุเคราะห์


อ้างอิง[แก้]

http://www.lasalleschool.ac.th/home/executive.php ทำเนียบคณะผู้บริหารโรงเรียน ในอดีต ถึงปัจจุบัน

http://www.lasalleschool.ac.th/home/history.php ประวัติโรงเรียน ตั้งแต่เริ่มต้น ถึงปัจจุบัน

http://www.lasalleschool.ac.th/home/symbol.php ความหมายของสัญลักษณ์โรงเรียน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°39′28″N 100°37′55″E / 13.657864°N 100.631820°E / 13.657864; 100.631820