โรงงานรถไฟมักกะสัน
โรงงานรถไฟมักกะสัน | |
---|---|
Makkasan Workshop | |
![]() | |
![]() | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | โรงงาน |
เมือง | แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ![]() |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2450 |
โรงงานรถไฟมักกะสัน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า โรงงานมักกะสัน (Makkasan Workshop) ในอดีตเคยเป็นโรงงานผลิตรถไฟและดำเนินงานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ส่วนในปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แก่ งานซ่อมหนักรถจักรดีเซล รถดีเซลราง รถโดยสาร การผลิตและซ่อมดัดแปลงล้อเลื่อนและอุปกรณ์ส่วนประกอบต่างๆ และสนับสนุนงานซ่อมบำรุง ในส่วนภูมิภาค[1]
ประวัติ
[แก้]โรงงานมักกะสันเริ่มสร้าง พ.ศ. 2450 สร้างเสร็จ พ.ศ. 2453[2] ต้นกำเนิดมาจากกรมรถไฟหาพื้นที่สร้างโรงงานรถไฟแห่งใหม่ รองรับโรงงานซ่อมรถจักร และรถพ่วง แทนสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ถูกรื้อลง กระทั่ง พ.ศ. 2481 มีการออกพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติหลายฉบับ เพื่อการเวนคืนที่ดินขยายโรงงานมักกะสัน สร้างโรงซ่อมเครื่องไฟฟ้าใหม่ และโรงงานเพิ่มเติมอีกหลายอาคาร และสร้างโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ บ้านพักคนงาน และบ้านเจ้าหน้าที่ในโรงงานมักกะสัน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482–2488) โรงงานเสียหายเพราะถูกระเบิดหลายจุด เมื่อสงครามสงบจึงสร้างขึ้นใหม่ มีอาคารเก่าที่ไม่โดนระเบิดหลงเหลือเพียงไม่กี่หลัง
พ.ศ. 2494 รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มบูรณะกิจการรถไฟให้กลับเข้าสภาพใช้การได้ดีอย่างเดิม และติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือกลใหม่ เช่น โรงล้อ โรงซ่อมรถจักรดีเซล และเครื่องมือกลรถโดยสาร โรงซ่อมรถบรรทุก 1 และ 2 และเครื่องมือกลรถบรรทุกโรงหล่อและกระสวนโรงช่างไม้ โรงเลื่อย โรงบุหนัง[3]
โรงงานมักกะสันเข้าสู่ยุคขาลงเมื่อ พ.ศ. 2526 รัฐบาลมีคำสั่งให้ยุติการสร้างรถทุกชนิด เนื่องจากมองว่าซื้อถูกกว่าผลิตเอง นับแต่ พ.ศ. 2541 รัฐบาลสั่งให้ลดบุคลากร[4]
อาคาร
[แก้]พื้นที่โรงงานมักกะสันมีขนาด 356.25 ไร่ ประกอบด้วย 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ซ่อมรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ ศูนย์ซ่อมรถโดยสาร ศูนย์ซ่อมรถจักร และศูนย์แผนงานและการผลิต สามารถซ่อมรถจักรและรถโดยสารได้ราวเดือนละ 12 คัน และดัดแปลงรถไฟตามนโยบายประจำปีได้ มีบุคลากร 200 กว่าคน
สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยสำรวจอาคารที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ในพื้นที่ย่านโรงงานมักกะสันพบสิ่งก่อสร้างที่ควรอนุรักษ์ ได้แก่ อาคาร 2465 คลังพัสดุโรงงาน อาคารโรงงานซ่อมรถจักร อาคารโรงหล่อและกระสวน อาคารสถานีรถไฟมักกะสัน บ้านพักไม้ในพื้นที่นิคมรถไฟมักกะสัน และโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร
อาคารพัสดุโรงงาน เป็นอาคารโรงงานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคา 2 ชั้น จั่วหลังคาชั้นบนยกสูงให้มีช่องระบายอากาศตามแนวยาวของอาคาร โครงสร้างอาคารระบบ เสาคานคอนกรีต โครงสร้างภายในของหลังคาทำด้วยไม้ ผนังก่ออิฐ ซึ่งผนังด้านสกัด (ด้านกว้าง) ทำเป็นช่องทางเข้าออก และช่องแสงลักษณะเป็นซุ้มโค้ง ซุ้มทางเข้าออก แบ่งเป็นช่วง ๆ รวม 5 ซุ้มอยู่บริเวณด้านล่างของผนังและออกแบบให้ในหนึ่งช่วงซุ้ม มีช่องแสงอยู่ถัดขึ้นไปด้านบนของซุ้ม แล้วลดทอนขนาดช่องแสงลงเป็น 2 ซุ้มส่วนผนังด้านยาวมีช่องแสงอยู่ตลอดทุกช่วงเสา
โรงเครื่องมือกลรถจักร โรงซ่อมซ่อมรถจักรไอน้ำ เป็นอาคารโรงงานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคา 2 ชั้นจั่วหลังคา ชั้นบนยกสูงให้มีช่องระบายอากาศตามแนวยาวของอาคารโครงสร้างอาคารระบบ เสาคานคอนกรีตโครงสร้างภายในของหลังคาทำด้วยโลหะเหล็กผนังก่ออิฐ ซึ่งผนังด้านกว้างทำเป็นช่องทางเข้าออกส่วนผนังด้านยาวมีช่องแสงอยู่ตลอดทุกช่วงเสา[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "26 มิถุนายน ครบรอบ 114 ปี 'โรงงานมักกะสัน' 1 ในโบราณสถานสำคัญของชาติ". กรุงเทพธุรกิจ.
- ↑ "114 ปี "โรงงานมักกะสัน" เปิดประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า-ความก้าวหน้ารถไฟไทย". ประชาชาติธุรกิจ.
- ↑ "109 ปีโรงงานมักกะสัน ต้นกำเนิดการรถไฟไทย". ไทยรัฐ.
- ↑ "12 Hidden Places ในสถานีรถไฟกรุงเทพและโรงงานรถไฟมักกะสัน". เดอะคลาวด์.
- ↑ กรมศิลปากร. "โรงงานรถไฟมักกะสัน" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2568. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/