เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
(Allergic rhinitis)
ชื่ออื่น"โรคภูมิแพ้", ไข้ละอองฟาง (Hay fever), pollinosis
ภาพขยาย 500 เท่า ของละอองเกสร ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบเป็นสาเหตุของเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้บ่อยที่สุดชนิดหนึ่ง
สาขาวิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน
อาการคัดจมูก, จาม, ตาแดง, คันตา, น้ำตาไหล, ตาบวม[1]
การตั้งต้นอายุ 20-40 ปี[2]
สาเหตุพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม[3]
ปัจจัยเสี่ยงโรคหืด, เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้, ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้[2]
วิธีวินิจฉัยวินิจฉัยจากอาการ, การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง, การตรวจเลือดดูแอนติบอดีแบบจำเพาะ[4]
โรคอื่นที่คล้ายกันโรคหวัด[3]
การป้องกันการสัมผัสสัตว์ตั้งแต่วัยเด็ก[3]
ยายาสเตอรอยด์แบบฉีดพ่นเข้าจมูก, ยาต้านฮิสตามีน เช่น ไดเฟนไฮดรามีน, โครโมลินโซเดียม, ยาต้านลิวโคไทรอีน เช่น มอนทีลูคาสท์, การทำภูมิคุ้มกันบำบัดต่อสารก่อภูมิแพ้[5][6]
ความชุก~20% (กลุ่มประเทศตะวันตก)[2][7],
23-30% (ประเทศไทย)[8]

เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (อังกฤษ: allergic rhinitis) เป็นภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อจมูก ซึ่งเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาไวเกินกับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ[6] ผู้ป่วยอาจมีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก จาม ตาแดง คันตา น้ำตาไหล และตาบวม[1] น้ำมูกของผู้ป่วยมักเป็นน้ำมูกใส[2] อาการมักเริ่มกำเริบภายในไม่กี่นาทีหลังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ อาการเหล่านี้อาจส่งผลต่อการนอน การทำงาน และการเรียนได้[2] ผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรมักมีอาการในช่วงใดช่วงหนึ่งของปี[3] ผู้ป่วยโรคนี้หลายรายจะมีโรคอื่น ๆ ในกลุ่มภูมิแพ้ร่วมด้วย ได้แก่ โรคหืด เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ และผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้[2]

ผู้ป่วยมักถูกกระตุ้นให้มีอาการเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม เช่น ละอองเกสร ขนสัตว์เลี้ยง ฝุ่น หรือเชื้อรา[3] การเกิดภูมิแพ้เหล่านี้เป็นผลจากทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมประกอบกันทำให้เกิดโรค[3] ปัจจัยบางอย่างช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ เช่น การใช้ชีวิตวัยเด็กในฟาร์ม การมีพี่น้องหลายคน เป็นต้น[2] กลไกของการเกิดโรคที่สำคัญอยู่ที่สารภูมิคุ้มกันชนิดไอจีอี ซึ่งสามารถจับกับสารก่อภูมิแพ้และกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสารการอักเสบหลาย ๆ อย่างออกมาภายในร่างกาย เช่นมีการปล่อยฮิสตามีนออกมาจากเม็ดเลือดขาวชนิดแมสท์เซลล์[2] การวินิจฉัยทำได้โดยดูจากประวัติผู้ป่วย ร่วมกับการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือตรวจเลือดหาไอจีอีที่จำเพาะต่อการก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ[4] การทดสอบเหล่านี้บางครั้งอาจให้ผลบวกลวง (ผลการทดสอบบ่งชี้ว่าเป็นโรค แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นโรค) ได้[4] อาการของเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะคล้ายคลึงกับโรคหวัด แต่ต่างกันตรงนี้ภูมิแพ้จะเป็นนานกว่าคือเป็นมากกว่า 2 สัปดาห์ และมักจะไม่มีไข้[3]

การได้มีโอกาสสัมผัสสัตว์ในวัยเด็กอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยโรคนี้ในตอนโตได้[3] ยาที่ช่วยบรรเทาอาการของโรคได้มีหลายอย่าง เช่น สเตอรอยด์ ยาต้านฮิสตามีน เช่น ไดเฟนไฮดรามีน โครโมลินโซเดียม และยาต้านลิวโคไทรอีน เช่น มอนทีลูคาสท์[5] ผู้ป่วยบางรายอาจใช้ยาแล้วลดอาการได้ไม่ดีนัก หรือใช้แล้วมีผลข้างเคียง[2] การทำภูมิคุ้มกันบำบัดต่อสารก่อภูมิแพ้เป็นวิธีหนึ่งที่อาจได้ผล ทำโดยค่อย ๆ ให้สารก่อภูมิแพ้ในขนาดน้อยแก่ผู้ป่วย แล้วค่อย ๆ เพิ่มขนาดขึ้นไปตามแนวทางที่กำหนด[6] อาจให้ด้วยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือเป็นเม็ดอมใต้ลิ้นก็ได้[6] ผลการรักษามักคงอยู่ได้ 3-5 ปี และอาจมีประโยชน์อื่นคงอยู่นานกว่านั้น[6]

เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุด[9] ในประเทศตะวันตกพบว่าปีหนึ่ง ๆ จะมีผู้ป่วยถึง 10-30% ในประชากร[2][7] ส่วนในไทยพบ 23-30%[8] พบบ่อยที่สุดในคนอายุ 20-40 ปี[2] โรคนี้ถูกบรรยายไว้อย่างถูกต้องเป็นครั้งแรกเมื่อคริสตศตวรรษที่ 10 โดยแพทย์และปราชญ์ชาวเปอร์เซียชื่อมุฮัมหมัด อัล-รอสี[10] ต่อมา ค.ศ. 1859 นายแพทย์ชาร์ลส์ แบล็คลีย์ชาวอังกฤษจึงได้พบว่าละอองเกสรเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดอาการในโรคไข้ละอองฟางเมื่อ ค.ศ. 1859[11] ส่วนกลไกที่ทำให้เกิดอาการของโรคนั้นค้นพบโดยแพทย์เคลเมนส์ ฟอน เปอร์เกต์ ชาวออสเตรีย[9] ชื่อโรค "ไข้ละอองฟาง" (Hay Fever) มีที่มาจากทฤษฎีเก่าที่เคยเชื่อว่าอาการของโรคนี้เกิดจากการสูดดมกลิ่นของฟางใหม่เข้าไป ซึ่งทฤษฎีนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง[12][13]

อาการและอาการแสดง[แก้]

อาการตามแบบฉบับของผู้ป่วยเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ได้แก่ น้ำมูกไหล คัน จาม คัดจมูก จมูกตัน[14] อาการแสดงตามแบบฉบับได้แก่ เยื่อตาบวมแดง หนังตาบวม ขอบตาดำ (allergic shiner) เยื่อจมูกบนปุ่มกระดูกเทอร์บิเนตบวม และมีน้ำขังในหูชั้นกลาง[15]

การขยี้จมูกโดยเอามือดันสันจมูก (allergic salute)

นอกจากอาการทางกายเหล่านี้แล้วผู้ป่วยยังอาจมีอาการทางพฤติกรรมได้ เช่น อาจขยี้จมูกโดยเอามือดันสันจมูก (allergic salute, nasal salute) บางรายอาจทำบ่อยจนเกิดเป็นรอยที่ดั้งจมูก (transverse nasal crease) หากทำบ่อยมากรอยนี้อาจคงอยู่ถาวรได้[16]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Environmental Allergies: Symptoms". NIAID. April 22, 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 June 2015. สืบค้นเมื่อ 19 June 2015.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 Wheatley, LM; Togias, A (29 January 2015). "Clinical practice. Allergic rhinitis". The New England Journal of Medicine. 372 (5): 456–63. doi:10.1056/NEJMcp1412282. PMC 4324099. PMID 25629743.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 "Cause of Environmental Allergies". NIAID. April 22, 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 June 2015. สืบค้นเมื่อ 17 June 2015.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Environmental Allergies: Diagnosis". NIAID. May 12, 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 June 2015. สืบค้นเมื่อ 19 June 2015.
  5. 5.0 5.1 "Environmental Allergies: Treatments". NIAID. April 22, 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 June 2015. สืบค้นเมื่อ 17 June 2015.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 "Immunotherapy for Environmental Allergies". NIAID. May 12, 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 June 2015. สืบค้นเมื่อ 19 June 2015.
  7. 7.0 7.1 Dykewicz MS, Hamilos DL (February 2010). "Rhinitis and sinusitis". The Journal of Allergy and Clinical Immunology. 125 (2 Suppl 2): S103–15. doi:10.1016/j.jaci.2009.12.989. PMID 20176255.
  8. 8.0 8.1 เบญจพลพิทักษ์, ส. (2018). โรคภูมิแพ้ในเด็ก ตอนที่ 1. [online] สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย. Available at: http://www.allergy.or.th/2016/resources_expert_detail.php?id=92 [Accessed 20 Jan. 2018].
  9. 9.0 9.1 Fireman, Philip (2002). Pediatric otolaryngology vol 2 (4th ed.). Philadelphia, Pa.: W. B. Saunders. p. 1065. ISBN 9789997619846.
  10. Colgan, Richard (2009). Advice to the young physician on the art of medicine. New York: Springer. p. 31. ISBN 9781441910349. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-08.
  11. Justin Parkinson (1 July 2014). "John Bostock: The man who 'discovered' hay fever". BBC News Magazine. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 July 2015. สืบค้นเมื่อ 19 June 2015.
  12. "Dr. Marshall Hall on Diseases of the Respiratory System; III. Hay Asthma". The Lancet: 245. May 19, 1838. doi:10.1016/S0140-6736(02)95895-2. With respect to what is termed the exciting cause of the disease, since the attention of the public has been turned to the subject an idea has very generally prevailed, that it is produced by the effluvium from new hay, and it has hence obtained the popular name of hay fever. [...] the effluvium from hay has no connection with the disease.
  13. History of Allergy. Karger Medical and Scientific Publishers. 2014. p. 62. ISBN 9783318021950. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-10.
  14. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ AFP10
  15. Valet RS, Fahrenholz JM (2009). "Allergic rhinitis: update on diagnosis". Consultant. 49: 610–3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 14, 2010.
  16. Pray WS (2005). Nonprescription Product Therapeutics. Lippincott Williams & Wilkins. p. 221. ISBN 978-0781734981.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก