โรคคาวาซากิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โรคคะวะซะกิ)
โรคคาวาซากิ
ชื่ออื่นKawasaki syndrome,[1] lymph node syndrome, mucocutaneous lymph node syndrome[2]
ผู้ป่วยเด็กแสดงอาการ "strawberry tongue" ซึ่งพบในโรคคาวาซากิ[3]
สาขาวิชากุมารเวช
อาการมีไข้ > 5 วัน, ต่อมน้ำเหลืองโต, มีผื่น, เจ็บคอ, ท้องเสีย[1]
ภาวะแทรกซ้อนหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีโป่งพอง[1]
การตั้งต้นอายุ < 5 ปี[1]
ระยะดำเนินโรค≈ 3 สัปดาห์[1]
สาเหตุไม่ทราบ[1]
วิธีวินิจฉัยขึ้นอยู่กับอาการ, ตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง[1]
โรคอื่นที่คล้ายกันไข้ดำแดง, ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก, กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็กซึ่งเกี่ยวข้องกับ COVID-19[1][4]
ยาแอสไพริน, อิมมูโนโกลบูลิน[1]
ความชุก8–124 ต่อ 100,000 ประชากรที่อายุต่ำกว่า 5 ปี[5]
การเสียชีวิตอัตราการเสียชีวิต 0.2% (โดยมีการรักษา)[3]

โรคคาวาซากิ (ญี่ปุ่น: 川崎病; อังกฤษ: Kawasaki disease) หรือ กลุ่มอาการเยื่อเมือกผิวหนังต่อมน้ำเหลือง[6] (อังกฤษ: Mucocutaneous lymph node syndrome; MCLS, MLNS หรือ MCLNS) เป็นกลุ่มอาการที่ยังไม่ทราบสาเหตุชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีอายุน้อยกว่า 5 ปี และมีอาการเด่นคือมีไข้[7] โรคนี้เป็นโรคหลอดเลือดอักเสบชนิดหนึ่ง[1] ผู้ป่วยมักมีไข้มากกว่า 5 วัน โดยไข้มักไม่ลดลงหลังกินยาลดไข้ทั่ว ๆ ไป[1] อาการอื่นที่พบได้บ่อยคือมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ผื่นตามร่างกายและอวัยวะเพศ ตาแดง ปากแดง ฝ่ามือฝ่าเท้าแดง[1] สามสัปดาห์หลังเริ่มมีอาการผิวหนังบริเวณมือและเท้ามักลอก และผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้น[1] ผู้ป่วยบางรายจะมีหลอดเลือดหัวใจโป่งพองตามมาเป็นภาวะแทรกซ้อน[1]

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุจำเพาะ แต่เชื่อกันว่ากลไกการเกิดอาการของโรคนี้มาจากการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากตอบสนองต่อการติดเชื้อบางประเภทในเด็กที่มีพันธุกรรมไวต่อการเกิดโรค โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน[1] การวินิจฉัยทำได้โดยดูจากอาการและอาการแสดง[1] การตรวจพิเศษอื่น ๆ อาจช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยได้ เช่น การตรวจอุลตราซาวนด์หัวใจ การตรวจเลือด เป็นต้น[1] กระบวนการวินิจฉัยจะต้องพิจารณาถึงโรคอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย เช่น ไข้ดำแดง โรคข้ออักเสบในเด็ก เป็นต้น[8]

การรักษาโรคคาวาซากิในระยะแรกจะใช้ยาแอสไพรินขนาดสูงควบคู่กับอิมมูโนโกลบูลิน[1] หากได้ผลผู้ป่วยมักหายจากอาการไข้ภายใน 24 ชั่วโมง และฟื้นตัวเป็นปกติ[1] ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดกับหลอดเลือดหัวใจจะต้องมีการติดตามรักษาและอาจต้องผ่าตัด[1] หากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยโรคคาวาซากิจะเกิดหลอดเลือดหัวใจโป่งพองได้ 25% และประมาณ 1% จะเสียชีวิต[3][9] ในขณะที่หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอัตราการเสียชีวิตจะลดเหลือ 0.17%[9] รายที่มีหลอดเลือดหัวใจโป่งพองจะต้องได้รับการตรวจหัวใจต่อเนื่องตลอดชีวิตโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ[10]

โรคคาวาซากิถือเป็นโรคหายาก[1] พบได้ประมาณ 8-67 ต่อ 100,000 ประชากรเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ยกเว้นในประเทศญี่ปุ่นซึ่งพบโรคนี้ประมาณ 124 ต่อ 100,000 ประชากร[5] พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง[1] โรคนี้ได้รับการบรรยายไว้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1967 โดยนายแพทย์โทมิซากุ คาวาซากิ (ญี่ปุ่น: 川崎 富作โรมาจิKawasaki Tomisaku) ที่ประเทศญี่ปุ่น[5][11]

สาเหตุ[แก้]

ยังไม่ทราบแน่นอนถึงสาเหตุที่แท้จริง[7] แต่มีการระบาดเป็นครั้งคราวในชุมชน ทำให้น่าจะเชื่อว่าเป็นสาเหตุมาจากจุลชีพได้มีการเสนอถึงสาเหตุจากจุลชีพหลายชนิด ที่อาจจะสัมพันธ์กับโรคนี้เช่น ริกเก็ตเซีย (Rickettsia), ไวรัสเอ็ปสไตน์-บาร์, จากไรฝุ่นบ้าน (Dermatophagoides), หัด, หัดเยอรมัน และอื่น ๆ อีก แต่ยังไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าจุลชีพชนิดไหนเป็นสาเหตุของโรคคาวาซากิ แต่เป็นไปได้ที่จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยบางคนตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) ผิดปกติทำให้เกิดโรค[1]

อาการ[แก้]

อาการแสดงของผู้ป่วยโรคคาวาซากิ[3]
  1. ไข้สูงเฉียบพลันทันทีทันใด สูงเกิน 104 องศาฟาเรนไฮต์ ไข้จะขึ้น ๆ ลง ระยะเวลา 4-14 วัน แต่บางราย อาจถึง 30 วัน
  2. ตาแดงทั้ง 2 ข้าง ไม่มีขี้ตา (ocular conjunctival injection) เป็นหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน และเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์
  3. การเปลี่ยนแปลงของริมฝีปากและในช่องปาก ซึ่งอาจพบได้ดังนี้คือ ริมฝีปากแห้ง แดงแตก ลิ้นอาจมีลักษณะหนาขึ้นและออกเป็นสีชมพูคล้ายผลสตรอเบอรี (strawberry tongue) และเยื่อบุในช่องปากแดง
  4. ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต โตข้างเดียวเป็นส่วนใหญ่แต่อาจโตหลายต่อมก็ได้ เมื่อกดที่ต่อมไม่มีอาการเจ็บ
  5. มีผื่นที่ลำตัวหน้าแขน ขา ผื่นเป็นปื้น ๆ หลายรูปแบบบางครั้งพบว่ามีผิวหนังแดง และลอกที่บริเวณก้น (perineal) มักเกิดหลังมีไข้ 1-2 วัน และมีได้หลายแบบ และผื่นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์
  6. มีการเปลี่ยนแปลงที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า โดยจะบวมแดง ไม่เจ็บ หลังจากนั้นจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายนิ้วมือ และนิ้วเท้า (ประมาณ 10-20 วันหลังมีไข้) และลามไปที่ฝ่ามือฝ่าเท้าบางรายเล็บอาจหลุดได้ หลังจากนั้นบางราย 1-2 เดือนจะมีรอยขวางที่เล็บ (Beau's line)
  7. อาการแสดงอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย ได้แก่ ปวดตามข้อ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ท้องเสีย เป็นต้น[1]

โรคแทรกซ้อน[แก้]

ถ้าเกิดโรคแทรกซ้อนมาก และรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ (ประมาณร้อยละ 1-2)

ในสัปดาห์แรกมือเท้าบวมและเจ็บ

ในสัปดาห์ที่สอง ผิวหนังลอกที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า มีข้ออักเสบมักเป็นทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน เป็นได้ทั้งข้อใหญ่ข้อเล็กในระยะแรกอาจจะมีอาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง กล้ามเนื้ออักเสบ

นอกจากนี้ยังพบแก้วหูอักเสบ แผลในปาก ไอ เมื่อมีอาการแทรกซ้อนคือ ปอดอักเสบรุนแรง ถึงเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กซึม ตับโต ม้ามโต และกระสับกระส่าย ความผิดปกติที่หัวใจพบได้ร้อยละ 10-40 ของเด็กซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ ต้องปรึกษาแพทย์ที่รักษาอย่างใกล้ชิด

โรคแทรกซ้อนที่หัวใจ และหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (coronary artery) ได้แก่

หากเกิดมีอาการมากอาจทำให้เสียชีวิตภายใน สัปดาห์ที่ 2-4 เกิดจาก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocardial ischemia), กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) จากหลอดเลือดโป่งแตกออก หรือลิ่มเลือดอุดตัน (thrombosis) พบประมาณร้อยละ 20-30 ถ้าไม่ได้รับการรักษาโรคแทรกซ้อน ที่หัวใจ และหลอดเลือด ได้แก่ เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว และหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (coronary artery) อักเสบเกิดเป็นหลอดเลือดแดงโป่งพอง (aneurysm) ซึ่งอาจเกิดที่หลอดเลือดเส้นเดียว ตำแหน่งเดียว หรือเกิดหลายเส้นเลือด และหลายตำแหน่งก็ได้ โดยพบความผิดปกติดังกล่าวได้ในช่วง 10-28 วันของโรค

ในผู้ป่วยที่ไม่พบโรคแทรกซ้อนของหลอดเลือดหัวใจจะมีการหายขาดจากโรค (complete recovery) ในเด็กส่วนใหญ่ที่มีโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ มักจะสบายดีไม่มีอาการ จากการรวบรวมในญี่ปุ่นพบว่า 1-2 % ของผู้ป่วยด้วยโรคคาวาซากิ เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนทางหัวใจซึ่งมักเกิดใน 1-2 เดือน แต่การพยากรณ์โรคในระยะยาวยังไม่ทราบ

ความสัมพันธ์กับ COVID-19[แก้]

ตั้งแต่เมษายน พ.ศ. 2563 อาการป่วยในเด็กที่เพิ่มขึ้นซึ่งคล้ายคลึงกับโรคคาวาซากิได้รับการสังเกตพบในสหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรป[13][14] องค์การอนามัยโลกกำลังตรวจสอบความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้กับโรค COVID-19[13][15] ราชวิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์และสุขภาพเด็กแห่งสหราชอาณาจักรได้ออกเอกสารคำแนะนำและได้ตั้งชื่อว่า "กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก"[4]

การวินิจฉัย[แก้]

Angiography showing ectatic LAD, with largest aneurysm = 6.5 mm in diameter

โรคคาวาซากิวินิจฉัยจากอาการและอาการแสดงทางคลินิกร่วมกับผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ยังไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการตัวใดตัวหนึ่งที่จำเพาะต่อโรคนี้[8] การวินิจฉัยโรคนี้ให้ทันเวลาจึงต้องอาซัยการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด[16] ซึ่งอาจทำได้ยากโดยเฉพาะในช่วงต้นของการดำเนินโรค ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้รับการวินิจฉัยแม้ไปรับบริการที่สถานพยาบาลมาแล้วหลายแห่ง มีโรคอื่น ๆ อีกหลายโรคที่มีอาการคล้ายกันและเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องถูกนำมารวมอยู่ในการวินิจฉัยแยกโรค เช่น ไข้ดำแดง กลุ่มอาการช็อกจากพิษ ข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก และภาวะพิษจากปรอท[17]

อาการตามแบบฉบับในการวินิจฉัยโรคคาวาซากิคือ มีไข้ห้าวันขึ้นไป[18] และมีอาการตามเกณฑ์วินิจฉัยต่อไปนี้อย่างน้อย 4 จาก 5 ข้อ ได้แก่[19]

  1. ริมฝีปากหรือช่องปากแดง หรือริมฝีปากแตก
  2. มีผื่นตามตัว
  3. มือเท้าบวมหรือแดง
  4. ตาแดง
  5. ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ขนาดไม่ต่ำกว่า 15 มิลลิเมตร

มีผู้ป่วยโรคคาวาซากิจำนวนมากโดยเฉพาะที่เป็นเด็กเล็กไม่ได้แสดงอาการครบตามเกณฑ์ในช่วงแรก ปัจจัยผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งแนะนำให้เริ่มการรักษาโรคคาวาซากิไปเลยในผู้ป่วยที่มีเกณฑ์วินิจฉัย 3 ข้อ และมีไข้มา 3 วัน โดยเฉพาะในรายที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เข้าได้กับโรคคาซากิ นอกจากนี้แล้วยังอาจวินิจฉัยโดยการตรวจเจอหลอดเลือดหัวใจโป่งพองได้อีกทาง

การรักษา[แก้]

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคคาวาซากิ ควรจะเป็นการดูแลร่วมกันระหว่างกุมารแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจเด็ก พบว่าการบำบัดโดยการฉีดอิมมูโนโกลบูลิน Intravenous gammaglobulin (IVIg)[20][21] ในขนาดสูงสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจของผู้ป่วย โดยให้ในขนาด 2 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ครั้งเดียว ในกรณีที่ไข้ไม่ลงใน 48 ชั่วโมง สามารถให้ซ้ำได้อีกครั้ง และให้แอสไพริน 80-100 มก./กก. ในระยะเฉียบพลันของโรค และลดเป็น 5 มก./กก. ต่อวัน อีก 6-8 สัปดาห์

แนวทางการให้การรักษา

  1. แกมมา โกลบูลิน (Gamma globulin) ร่วมกับยากลุ่มซาลิไซเลต (Salicylates)[22]
  2. ยาลดไข้และลดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจและผนังหลอดเลือด
  3. ยาป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เพื่อลดอุบัติการของเส้นเลือดอุดตัน
  4. ให้สารภูมิต้านทาน เพื่อลดอุบัติการณ์การการเกิดการโป่งพองและการอักเสบของหลอดเลือดโคโรนารี
  5. IVIg (intravenous gammaglobulin) เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหลอดเลือดหัวใจ โดยจะให้ผลดีมาก ในระยะ 10 วันแรกของโรค (ยามีราคาสูงมาก)

การพยากรณ์โรค[แก้]

โรคนี้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีหลอดเลือดแดงโคโรนารีอักเสบจะหายขาดจากโรค พบป่วยเป็นครั้งที่ 2 น้อยมาก[23][24] เด็กที่ป่วยแล้วพิการหรือเสียชีวิตจะพบในผู้ที่มีความผิดปกติที่หัวใจ เช่น หลอดเลือดโคโรนารีโป่งพอง

การป้องกัน[แก้]

ดูแลร่างกายให้แข็งแรง โรคนี้หายได้เอง แต่มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือดที่สำคัญ คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายตั้งแต่อายุน้อย ๆ ได้ การรักษาด้วยยาตั้งแต่ระยะต้น ๆ ของโรค ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนได้มาก เด็กที่เป็นโรคคาวาซากิจำเป็นต้องได้รับการติดตาม เพื่อระวังภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือดต่อเนื่อง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนแล้ว 2-3 เดือนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยมีข้อปฏิบัติเพิ่มเติมเพียงการปรับระยะเวลาการให้ยาให้เหมาะสมในแต่ละรายเท่านั้น อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือดเหล่านี้ไม่แสดงอาการให้เห็นจนกว่าจะรุนแรงมากแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพบกุมารแพทย์โรคหัวใจเป็นระยะ ๆ ตามนัดอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี[25]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 "Kawasaki Disease". PubMed Health (ภาษาอังกฤษ). NHLBI Health Topics. 11 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 September 2017. สืบค้นเมื่อ 26 August 2016. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "NIH21014" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  2. Rapini, Ronald P.; Bolognia, Jean L.; Jorizzo, Joseph L. (2007). Dermatology: 2-Volume Set. St. Louis: Mosby. pp. 1232–4. ISBN 978-1-4160-2999-1.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Kim DS (December 2006). "Kawasaki disease". Yonsei Medical Journal. 47 (6): 759–72. doi:10.3349/ymj.2006.47.6.759. PMC 2687814. PMID 17191303.
  4. 4.0 4.1 Guidance - Paediatric multisystem inflammatory syndrome temporally associated with COVID-19 (PDF), The Royal College of Paediatrics and Child Health, 2020
  5. 5.0 5.1 5.2 Lai, Wyman W.; Mertens, Luc L.; Cohen, Meryl S.; Geva, Tal (2015). Echocardiography in Pediatric and Congenital Heart Disease: From Fetus to Adult (ภาษาอังกฤษ) (2 ed.). John Wiley & Sons. p. 739. ISBN 9781118742488. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-11. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "La2015" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  6. บัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ ฉบับประเทศไทย (อังกฤษ-ไทย) ฉบับปี 2009. สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2552.
  7. 7.0 7.1 McCrindle BW, Rowley AH, Newburger JW, Burns JC, Bolger AF, Gewitz M, Baker AL, Jackson MA, Takahashi M, Shah PB, Kobayashi T, Wu MH, Saji TT, Pahl E (2017). "Diagnosis, Treatment, and Long-Term Management of Kawasaki Disease: A Scientific Statement for Health Professionals From the American Heart Association". Circulation. 135 (17): e927–e999. doi:10.1161/CIR.0000000000000484. PMID 28356445."Correction". Circulation. 140 (5): e181–e184. 2019. doi:10.1161/CIR.0000000000000703. PMID 31356128.
  8. 8.0 8.1 de Graeff N, Groot N, Ozen S, และคณะ (2019). "European consensus-based recommendations for the diagnosis and treatment of Kawasaki disease - the SHARE initiative" (PDF). Rheumatology (Oxford). 58 (4): 672–682. doi:10.1093/rheumatology/key344. PMID 30535127.
  9. 9.0 9.1 "Merck Manual, Online edition: Kawasaki Disease". 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-02. สืบค้นเมื่อ Aug 26, 2016.
  10. Brogan P, Burns JC, Cornish J, และคณะ (2020). "Lifetime cardiovascular management of patients with previous Kawasaki disease". Heart. 106 (6): 411–420. doi:10.1136/heartjnl-2019-315925. PMC 7057818. PMID 31843876.
  11. Kawasaki T (March 1967). "[Acute febrile mucocutaneous syndrome with lymphoid involvement with specific desquamation of the fingers and toes in children]". Arerugi. 16 (3): 178–222. PMID 6062087.
  12. Ravekes WJ, Colan SD, Gauvreau K, Baker AL, Sundel RP, van der Velde ME, และคณะ (April 2001). "Aortic root dilation in Kawasaki disease". The American Journal of Cardiology. 87 (7): 919–22. doi:10.1016/S0002-9149(00)01541-1. PMID 11274955.
  13. 13.0 13.1 Sample, Ian; Campbell, Denis (29 April 2020). "More cases of rare syndrome in children reported globally". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 10 May 2020.
  14. "Paediatric inflammatory multisystem syndrome and SARS-CoV-2 infection in children" (PDF). สืบค้นเมื่อ 16 May 2020.
  15. "Multisystem inflammatory syndrome in children and adolescents with COVID-19". www.who.int (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 16 May 2020.
  16. Newburger JW, Takahashi M, Burns JC (2016). "Kawasaki Disease". Journal of the American College of Cardiology. 67 (14): 1738–49. doi:10.1016/j.jacc.2015.12.073. PMID 27056781.
  17. "Kawasaki disease - Diagnosis and treatment - Mayo Clinic". mayoclinic.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-10-05.
  18. Shulman, Stanford T.; Taubert, Kathryn A. (June 1999). "Kawasaki Disease - June 1999 - American Academy of Family Physicians". American Family Physician. 59 (11): 3093–102, 3107–8. PMID 10392592. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-17.
  19. "Kawasaki Disease Diagnostic Criteria" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-07. สืบค้นเมื่อ 2016-05-30.
  20. Kobayashi T, Inoue Y, Morikawa A (February 2008). "[Risk stratification and prediction of resistance to intravenous immunoglobulin in Kawasaki disease]". Nihon Rinsho. Japanese Journal of Clinical Medicine (ภาษาญี่ปุ่น). 66 (2): 332–7. PMID 18260333.
  21. Harada K (December 1991). "Intravenous gamma-globulin treatment in Kawasaki disease". Acta Paediatrica Japonica. 33 (6): 805–10. doi:10.1111/j.1442-200X.1991.tb02612.x. PMID 1801561.
  22. Hsieh KS, Weng KP, Lin CC, Huang TC, Lee CL, Huang SM (December 2004). "Treatment of acute Kawasaki disease: aspirin's role in the febrile stage revisited". Pediatrics. 114 (6): e689-93. doi:10.1542/peds.2004-1037. PMID 15545617.
  23. Saha A, Sarkar S (August 2018). "Recurrent Kawasaki Disease". Indian Journal of Pediatrics. 85 (8): 693–694. doi:10.1007/s12098-017-2567-y. PMID 29238944.
  24. Brasington, Richard D. (2014). Cardiovascular Rheumatic Diseases, An Issue of Rheumatic Disease Clinics, E-Book (ภาษาอังกฤษ). Elsevier Health Sciences. p. 66. ISBN 9780323296991.
  25. "Who Kawasaki Disease Affects". Children's Hospital Boston. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-23. สืบค้นเมื่อ 2009-01-04.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]


การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก