โพล้ง เลี้ยงประเสริฐ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โพล้ง เลี้ยงประเสริฐ
นายโพล้ง เลี้ยงประเสริฐ นักมวยไทยชาวไทยยุคคาดเชือก แห่งบ้านคุ้งตะเภา ในวัย ๕๐ ปีเศษ ตั้งท่ามวยตามแบบฉบับสำนักท่าเสา
ชื่อจริงโพล้ง เลี้ยงประเสริฐ
ฉายามวยตีนลิง
เกิดประมาณ พ.ศ. 2444
บ้านท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์
เสียชีวิต22 ตุลาคม พ.ศ. 2522
บ้านคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์
ผู้จัดการนายนาวาเอก พระชลัมภ์พิสัยเสนีย์ ร.น.
เทรนเนอร์ครูเอม บ้านท่าเสา

โพล้ง เลี้ยงประเสริฐ เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2444 ที่บ้านท่าเสา จ.อุตรดิตถ์ เป็นบุตรของนายสอน-นางขำ เลี้ยงประเสริฐ มีพี่น้อง 7 คน โดยเป็นชาย 6 คน หญิง 1 คน โดยพี่น้องที่เป็นชาย 5 คนคือ แก้ว เลี้ยงประเสริฐ โต๊ะ เลี้ยงประเสริฐ แพ เลี้ยงประเสริฐ ฤทธิ์ เลี้ยงประเสริฐ และพลอย เลี้ยงประเสริฐ เป็นนักมวยมีชื่อเสียงทั้งหมด

เข้ากรุง[แก้]

โพล้งฝึกมวยจากครูเอม บ้านท่าเสา ซึ่งเป็นลูกศิษย์ในสายของครูเมฆ บ้านท่าเสาที่เป็นครูของพระยาพิชัยดาบหัก เมื่อมีฝีมือจึงตระเวนออกชกมวยตามเวทีต่างๆ จนได้พบกับ หลวงพินิจฯ ข้าราชการศาลเมืองสุพรรณ จึงชักชวนนายโพล้งและนายแพเข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ ต่อมา สองพี่น้องกลับบ้านไปชวนพี่น้องของตนอีก 3 คนเข้ามาชกในกรุงเทพฯด้วยกัน โดยอยู่ในสังกัดของนายนาวาเอก พระชลัมภ์พิสัยเสนีย์ ร.น. ผลงานการชกในกรุงเทพฯของนายโพล้ง เคยชนะนายสร่างจากลพบุรี ชนะ บัว วัดอิ่ม แพ้สุวรรณ นิวาศวัต

กลับบ้าน[แก้]

หลังจากที่นายแพชกนายเจียร์นักมวยชาวเขมรถึงแกความตายและพ้นจากความผิด ทั้ง 5 พี่น้องจึงกลับอุตรดิตถ์ ตระเวนชกมวยในแถบภาคเหนือ ชกชนะนายสิงห์วัน ประตูเชียงใหม่ ยอดมวยเมืองเชียงใหม่ เสมอกับนายจีนไก่ คณะทวีสิทธิ์ ยอดมวยเมืองลำปางแบบน่าชนะ และด้วยที่ฝีมือเก่งเกินนักมวยรุ่นเดียวกัน ในที่สุดจึงไม่มีใครขึ้นเปรียบมวยด้วยจนต้องเลิกมวยโดยปริยาย

บั้นปลายชีวิต[แก้]

เมื่อเลิกมวยแล้ว นายโพล้งยังได้รับเชิญให้ไปชกโชว์ตามที่ต่างๆ เช่น ชกโชว์กับครูชา จุฑาเพชร ครูมวยจากลำปาง เมื่อ พ.ศ. 2488 และได้รับเชิญให้ไปแสดงไหว้ครูมวยไทยในงานพระยาพิชัยดาบหักเป็นประจำ นายโพล้งถึงแก่กรรมเมื่อ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2522 รวมอายุได้ 78 ปี

อ้างอิง[แก้]

  • สมพงษ์ แจ้งเร็ว. 5 ใบเถาแห่งอุตรดิตถ์ ศิษย์ร่วมสำนักพระยาพิชัยดาบหัก. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 (11). [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], กันยายน 2527. หน้า 44-53.