โพยม เสนีณรงค์ฤทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โพยม เสนีณรงค์ฤทธิ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด20 มีนาคม พ.ศ. 2450
เสียชีวิต4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 (102 ปี)
คู่สมรสพระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์
บุตร5 คน

ท่านผู้หญิงโพยม เสนีณรงค์ฤทธิ์ อดีตนางกำนัลในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ประวัติ[แก้]

ท่านผู้หญิงโพยม เสนีณรงค์ฤทธิ์ สกุลเดิม "ณ นคร" เกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2450 เป็นธิดาของ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) กับ คุณพริ้ง ณ นคร ขณะที่เรียนถึงชั้นมัธยม 8 โรงเรียนราชินี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งนางพระกำนัล ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเข็ม ป.ป.ร. และเข็มพระนามาภิไธย ร.พ. ประดับเพชรบนพื้นลงยาสีเขียวอ่อน (พระราชทานเฉพาะนางพระกำนัลเท่านั้น) และเหรียญรัตนาภรณ์ ป.ป.ร.๔

เมื่ออายุได้ 20 ปี กราบบังคมทูลลาออกมาเพื่อแต่งงาน กับ นายพันเอก พระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์ (หม่อมหลวงเล็ก สนิทวงศ์) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานการสมรส ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงน้ำชาและของขวัญ อีกทั้ง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ แต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์และใช้คำนำหน้าชื่อว่า "คุณหญิง" และมีบุตรธิดา 5 คน

ในปี พ.ศ. 2476 เป็นช่วงเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช นายพันเอก พระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์ ถูกทหารดักจับตัวไป เพราะคิดว่าจะมีส่วนรู้เห็น แต่ก็ถูกปล่อยในที่สุด ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ คุณหญิงโพยมต้องเป็นหลักให้ครอบครัว ปรับตัวให้เป็นผู้หญิงแกร่งเพราะมีลูกเล็กๆ ในการอบรมเลี้ยงดูบุตรธิดาทั้ง 7 คน ให้เติบโตได้รับการศึกษา และเข้ารับราชการใต้เบื้องพระยุคลบาทในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้แก่

กระทั่งในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า ทุติยจุลจอมเกล้า และทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ แก่คุณหญิงโพยม เสนีณรงค์ฤทธิ์ ในปี พ.ศ. 2504 พ.ศ. 2528 และพ.ศ. 2533 ตามลำดับ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมรสและพระราชทานนามแก่บุตร ธิดา และหลานๆ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

ในปี พ.ศ. 2533 คุณหญิงโพยม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เปลี่ยนคำนำหน้านางเป็น "ท่านผู้หญิง" พร้อมกับบุตรสาวคนโต คือ ท่านผู้หญิงดร.อภิรดี ยิ่งเจริญ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ในยามลูก ๆ มีหน้าที่การงานที่มั่นคง มีครอบครัวสมบูรณ์พร้อมกันแล้ว ท่านผู้หญิงโพยมก็หมดห่วง จึงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในสิ่งที่ท่านรัก ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ ศาสนา บริจาคเงินเพื่อองค์กรสงเคราะห์ต่าง ๆ เช่น สภากาชาด โรงพยาบาล โรงเรียน ตลอดจนซ่อมสร้างศาสนสถานและกิจกรรมเพื่อพระศาสนา กล่าวได้ว่าท่านผู้หญิงโพยม ใช้ชีวิตแบบ "พอเพียง" และเดินทางสายกลาง เป็นปกติตั้งแต่เด็กจนชรา เป็นผู้มีจิตใจเมตตา เป็นที่รักคนรอบข้างเป็นพรหมของบุตรและเป็น "ผู้ให้" โดยแท้

ท่านผู้หญิงโพยม เสนีณรงค์ฤทธิ์ ถึงอนิจกรรมในวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 รวมสิริอายุ 102 ปี ด้วยอาการสงบ ในวาระสุดท้ายของชีวิต ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงโพยม เสนีณรงค์ฤทธิ์ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2552 เวลา 15.30 น. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ประจำปี 2533" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 107 (74 ง ฉบับพิเศษ): 4. 4 พฤษภาคม 2533. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)