โปเกมอน เรด และ กรีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โปเกมอน เรด และ กรีน
ภาพหน้ากล่องเกมโปเกมอนในโซนประเทศอเมริกา เวอร์ชันเรด แสดงภาพโปเกมอน ลิซาร์ดอน ภาพหน้ากล่อง โปเกมอนภาคบลู แสดงโปเกมอน คาเม็กซ์
ผู้พัฒนาเกมฟรีก
ผู้จัดจำหน่ายนินเท็นโด
กำกับซาโตชิ ทาจิริ
อำนวยการผลิตชิเงรุ มิยาโมโตะ
ทาเคชิ คาวางูจิ
สึเนคาซุ อิชิฮาระ
ออกแบบ
ศิลปินเค็น ซูงิโมริ
เขียนบทซาโตชิ ทาจิริ
เรียวซูเกะ ทานิงูจิ
ฟูมิฮิโระ โนโนมูระ
ฮิโรยูกิ จินไน
แต่งเพลงจุนอิจิ มาสึดะ
ชุดโปเกมอน
เครื่องเล่นเกมบอย
วางจำหน่ายเรดและกรีน
  • JP: 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996[1][2]
บลู (ฉบับญี่ปุ่น)
  • JP: 15 ตุลาคม ค.ศ. 1996[3][4]
(โคโรโคโรคอมมิค)
  • JP: 10 ตุลาคม ค.ศ. 1999
(ขายปลีก)[3][4]
เรดและบลู
  • NA: 28 กันยายน ค.ศ. 1998[5]
  • AUS: 23 ตุลาคม ค.ศ. 1998
  • EU: 5 ตุลาคม ค.ศ. 1999[6][7]
แนววิดีโอเกมเล่นตามบทบาท
รูปแบบผู้เล่นคนเดียว, ผู้เล่นหลายคน

โปเกมอน เรด และ กรีน[a] เป็นวิดีโอเกมเล่นตามบทบาทพัฒนาโดยบริษัทเกมฟรีกและจำหน่ายโดยนินเท็นโดสำหรับเครื่องเล่นเกมบอย เกมโปเกมอนภาคนี้เป็นรุ่นที่หนึ่งของซีรีส์โปเกมอน ออกวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 ในประเทศญี่ปุ่น โดยถูกแบ่งวางจำหน่ายทั้ง 2 เวอร์ชันประกอบไปด้วย พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ สีแดง[b] และ พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ สีเขียว[c] ต่อมาได้เพิ่มเวอร์ชันเพิ่มเติมได้แก่ พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ สีน้ำเงิน[d] และ พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ พิคาชู[e]

ต่อมาได้นำเกมนี้มากลับมาทำใหม่ในชื่อว่า โปเกมอน ไฟร์เรด และ ลีฟกรีน บนเครื่องเกมบอยอัดวานซ์ วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2004

นอกจากนี้ได้ถูกวางจำหน่ายในรูปแบบเวอร์ชวลคอนโซลบนเครื่องนินเท็นโด 3ดีเอส เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016

ประวัติ[แก้]

พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ สีแดง และ สีเขียว เป็นวิดีโอเกมชุดแรกของโปเกมอน โดยหน้าปกของกล่องเกมเป็นรูป ลิซาร์ดอน (สีแดง) และ ฟุชิกิบานะ (สีเขียว)

ผู้เล่นได้ควบคุมตัวละครหลักจากมุมมองด้านบนและพาเขาท่องภูมิภาคคันโตในภารกิจเพื่อเป็นสุดยอดนักต่อสู้โปเกมอน เป้าหมายของเกมคือการเป็นแชมเปียนของโปเกมอนลีกโดยเอาชนะหัวหน้ายิม 8 คน และโปเกมอนเทรนเนอร์ยอดเยี่ยม 4 คนในภูมิภาค หรือเรียกว่า "จตุรเทพทั้งสี่" (Elite Four) อีกเป้าหมายหนึ่งของเกมคือเติมเต็มสมุดภาพโปเกมอนหรือโปเกเดกซ์ (Pokédex) สารานุกรมภายในเกมให้สมบูรณ์ โดยครอบครองโปเกมอนให้ครบ 150 ตัว ทีมร็อกเก็ตเป็นกองกำลังปฏิปักษ์ เช่นเดียวกับคู่แข่งวัยเด็กของตัวละครผู้เล่นด้วย ทั้งนี้เวอร์ชัน สีแดง และ สีเขียว มีอุปกรณ์เสริมคือสายเกมลิงก์เคเบิล สำหรับเชื่อมต่อเครื่องเกมบอยสองเครื่องและสามารถแลกเปลี่ยนโปเกมอนหรือต่อสู้ระหว่างกันได้ เกมทั้งสองภาคเป็นอิสระจากกันแต่มีเนื้อเรื่องเหมือนกัน[8] และขณะที่ผู้เล่นสามารถเล่นแยกกันได้ ผู้เล่นจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนโปเกมอนกันเพื่อครอบครองให้ได้ครบ 150 ตัว โปเกมอนตัวที่ 151 (มิว) จะได้มาผ่านความผิดพลาดหรือกลิตช์ (glitch) ในเกมหรือการจำหน่ายอย่างเป็นทางการจากนินเท็นโด

ต่อมาในปี ค.ศ. 1998 ได้มีการวางจำหน่ายนอกประเทศทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรป และออสเตรเลีย โดยใช้ชื่อว่า โปเกมอน เรดเวอร์ชัน และ บลูเวอร์ชัน (อังกฤษ: Pokémon Red Version and Blue Version) โดยเอนจินภาพกราฟิกอ้างอิงมาจาก พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ สีน้ำเงิน ของประเทศญี่ปุ่น[9]

พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ ได้รับการตอบรับที่ดี นักวิจารณ์ยกย่องทางเลือกในการเล่นหลายคน โดยเฉพาะแนวคิดการแลกเปลี่ยนโปเกมอน เกมได้คะแนน 89% จากเว็บไซต์เกมแรงกิงส์ และติดอันดับหนึ่งในเกมที่ดีที่สุดเป็นเวลาอย่างน้อย 4 ปีในรายชื่อเกม 100 เกมยอดเยี่ยมตลอดกาลของไอจีเอ็น การจำหน่ายเกมนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แฟรนไชส์ทำยอดขายได้หลายพันล้านดอลลาร์ ขายรวมกันได้หลายล้านหน่วยทั่วโลก ใน ค.ศ. 2009 เกมเคยถูกบันทึกในบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ หัวข้อ "เกม RPG สำหรับเกมบอยที่ขายดีที่สุด" และ "เกม RPG ที่ขายดีที่สุดตลอดกาล"

ระบบเกม[แก้]

ฟุชิงิดาเนะ เลเวล 5 ของผู้เล่น (ล่าง) ต่อสู้กับฮิโตคาเงะ เลเวล 5 ของคู่แข่ง (บน)

พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ แสดงภาพในมุมมองบุคคลที่สาม เหนือศีรษะ และประกอบด้วยหน้าจอพื้นฐานสามหน้าจอ ได้แก่ โลกของเกม (Overworld) ที่ผู้เล่นใช้นำทางตัวละครหลัก[10] ฉากต่อสู้แบบมองข้าง[11] และหน้าจอเมนู ซึ่งผู้เล่นใช้ปรับแต่งค่าให้โปเกมอน ไอเทม หรือการตั้งค่าของระบบเกม[12]

ผู้เล่นสามารถใช้โปเกมอนต่อสู้กับโปเกมอนของคนอื่น เมื่อผู้เล่นเผชิญหน้ากับโปเกมอนป่าหรือได้รับคำท้าจากเทรนเนอร์ หน้าจอจะสลับไปเป็นฉากต่อสู้แบบผลัดกันโจมตี (Turn-based) ที่แสดงโปเกมอนที่ใช้ต่อสู้ ระหว่างต่อสู้ ผู้เล่นอาจเลือกท่าโจมตีให้โปเกมอนหนึ่งในสี่ท่า ใช้ไอเทม สลับเปลี่ยนโปเกมอนเป็นตัวอื่น หรือพยายามหนี โปเกมอนมีค่าฮิตพอยต์ (HP) เมื่อค่าฮิตพอยต์ของโปเกมอนลดลงเหลือศูนย์ มันจะหมดสติและไม่สามารถต่อสู้ได้จนกว่ามันจะฟื้น เมื่อโปเกมอนของศัตรูหมดสติ โปเกมอนของผู้เล่นที่ได้เข้าฉากต่อสู้จะได้รับค่าประสบการณ์ (EXP) หลังสะสมค่าประสบการณ์ได้มากพอ โปเกมอนจะขึ้นเลเวลใหม่[11] เลเวลของโปเกมอนจะควบคุมคุณสมบัติทางกายภาพของโปเกมอน เช่น ค่าสถิติในการต่อสู้ และท่าโจมตี หากถึงเลเวลที่กำหนด โปเกมอนอาจพัฒนาร่าง วิวัฒนาการของโปเกมอนนี้จะกระทบค่าสถิติและเลเวลที่โปเกมอนจะเรียนรู้ท่าใหม่ (เลเวลสูงจะได้รับค่าสถิติต่อเลเวลเพิ่มมากขึ้น แต่พวกมันอาจไม่ได้เรียนท่าใหม่ได้เร็ว หากเทียบกับเลเวลต่ำ ๆ)[13]

การจับโปเกมอนการจับโปเกมอนเป็นอีกสิ่งสำคัญในการเล่นเกม ระหว่างต่อสู้กับโปเกมอนป่า ผู้เล่นอาจโยนมอนสเตอร์บอลที่โปเกมอน ถ้าจับโปเกมอนสำเร็จ โปเกมอนจะกลายเป็นของผู้เล่น ปัจจัยความสำเร็จในการจับสำเร็จ ได้แก่ ค่าฮิตพอยต์ของโปเกมอนเป้าหมาย และชนิดของมอนสเตอร์บอลที่ใช้ ยิ่งโปเกมอนเป้าหมายมีฮิตพอยต์น้อยลงและมอนสเตอร์บอลที่มีโอกาสจับได้ ยิ่งมีอัตราสำเร็จสูง[14] เป้าหมายสูงสุดของเกมคือการเติมเต็มโปเกเดกซ์ (Pokédex) สารานุกรมโปเกมอนแบบเบ็ดเสร็จ โดยการจับ พัฒนาร่าง และแลกเปลี่ยนโปเกมอนครบ 151 สายพันธุ์[15]

นอกจากนี้ยังให้ผู้เล่นแลกเปลี่ยนโปเกมอนระหว่างตลับรอมสองตลับได้ผ่านสายเชื่อมเกมลิงก์เคเบิล[16] การแลกเปลี่ยนด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องทำเพื่อให้สมุดภาพโปเกมอนครบสมบูรณ์ เนื่องจากโปเกมอนบางตัวจะพัฒนาร่างต่อเมื่อถูกแลกเปลี่ยน และเกมแต่ละเวอร์ชันจะมีโปเกมอนที่หาไม่ได้ในอีกเวอร์ชันหนึ่ง[8] สายลิงก์เคเบิลทำให้ผู้เล่นสามารถต่อสู้กับโปเกมอนของผู้เล่นอีกคนได้ด้วย[16] เมื่อเล่นภาคเรดและบลูบนเกมบอยอัดวานซ์ หรือเอสพี เกมไม่รองรับสายเชื่อมมาตรฐาน GBA/SP ผู้เล่นต้องใช้สายเชื่อมนินเท็นโดยูนิเวอร์ซัลเกมลิงก์เคเบิลแทน[17] ยิ่งกว่านั้น เกมภาคภาษาอังกฤษจะเข้ากันไม่ได้กับภาคภาษาญี่ปุ่น และการแลกเปลี่ยนระหว่างกันจะทำให้ไฟล์เซฟเกมมีปัญหา เนื่องจากเกมทั้งสองภาษาใช้ภาษาต่างกันและชุดอักขระคนละชุดกัน[18]

ทั้งนี้ตัวเกมสามารถแลกเปลี่ยนกับโปเกมอนเวอร์ชันเดียวกันได้ทั้งสีแดง, สีเขียว, สีน้ำเงิน, พิคาชู และสามารถแลกเปลี่ยนกับเกมโปเกมอนเจเนอเรชันที่สอง โปเกมอน โกลด์ ซิลเวอร์ และคริสตัล ได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัด เช่น เกมจะไม่สามารถเชื่อมกันได้หากผู้เล่นคนใดคนหนึ่งมีโปเกมอนหรือท่าโจมตีที่เริ่มมีในเจเนอเรชันที่สอง[19] ใน โปเกมอนสเตเดียม และ โปเกมอนสเตเดียม 2 ของเครื่องนินเท็นโด 64 สามารถใช้ข้อมูล เช่น โปเกมอนและไอเทมจากโปเกมอนเวอร์ชันหลักได้ผ่านอุปกรณ์ทรานสเฟอร์แพ็ก (Transfer Pak)[20][21] แต่ว่าเกมเวอร์ชันแรกไม่สามารถเข้ากันได้กับเกมโปเกมอนตั้งแต่รุ่น "แอดวานซ์เจเนอเรชัน" ของเครื่องเกมบอยอัดวานซ์ หรือเกมคิวบ์ เป็นต้นไป[22]

โครงเรื่อง[แก้]

โปเกมอน เรดและบลู เกิดขึ้นที่ภูมิภาคคันโต สร้างตามแบบภูมิภาคคันโตจริงของประเทศญี่ปุ่น

ฉากท้องเรื่อง[แก้]

ฉากท้องเรื่องในเกมโปเกมอน เรดและบลูคือภูมิภาคคันโต การออกแบบคันโตได้แรงบันดาลใจมาจากภูมิภาคคันโตที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เป็นภูมิภาคโดดเด่นกว่าเกมหลายภาคต่อมา เนื่องจากเป็นที่อยู่ของโปเกมอน 151 สายพันธุ์ รวมถึงมีเมืองและนครที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ และเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง บางบริเวณจะเข้าได้เฉพาะเมื่อผู้เล่นเรียนรู้ความสามารถพิเศษหรือได้รับไอเทมพิเศษ[23] บริเวณที่ผู้เล่นสามารถจับโปเกมอนได้มีตั้งแต่ถ้ำไปจนถึงทะเล ซึ่งชนิดของโปเกมอนที่จับได้จะแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เมโนคุราเงะ (Tentacool) จะจับได้โดยวิธีการตกปลาหรือเมื่อผู้เล่นอยู่บนผิวน้ำ ขณะที่ซูแบต (Zubat) จะจับได้เฉพาะในถ้ำ

เนื้อเรื่อง[แก้]

หลังจากเสี่ยงเดินทางเข้าไปในกอหญ้าสูงคนเดียว มีเสียงเสียงหนึ่งเตือนผู้เล่นให้หยุด ซึ่งเผยว่าเป็นศาสตราจารย์ออคิดส์ หรือโอ๊ก (Professor Oak) นักวิจัยโปเกมอนชื่อดัง ศาสตราจารย์ออคิดส์อธิบายผู้เล่นว่าโปเกมอนป่าอาจอาศัยอยู่ในกอหญ้านั้น และหากเผชิญหน้าโปเกมอนตามลำพังอาจเป็นอันตราย[24] เขาพาผู้เล่นไปที่ห้องปฏิบัติการ และเขาได้พบกับหลานชายของศาสตราจารย์ ซึ่งจะเป็นคู่แข่งของผู้เล่น ผู้เล่นและคู่แข่งจะได้เลือกโปเกมอนเริ่มต้นที่จะเดินทางไปกับเขา ได้แก่ ฟุชิงิดาเนะ เซนิกาเมะ และฮิโตคาเงะ[25] หลานชายของศาสตราจารย์จะเลือกโปเกมอนที่ได้เปรียบกว่าโปเกมอนของผู้เล่นเสมอ จากนั้นเขาจะท้าสู้กับผู้เล่นหลังได้รับโปเกมอนใหม่ และจะต่อสู้อีก ณ จุดที่กำหนดไว้ตลอดเกม[26]

ขณะเยี่ยมเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาค ผู้เล่นจะได้พบกับสถานที่พิเศษเรียกว่า ยิม ภายในอาคารเหล่านั้นจะมีหัวหน้ายิม ซึ่งผู้เล่นจะต้องเอาชนะแต่ละคนเพื่อให้ได้เข็มกลัดครบแปดอัน เมื่อสะสมเข็มกลัดครบแล้ว ผู้เล่นจะได้รับอนุญาตให้เข้าโปเกมอนลีกที่มีโปเกมอนเทรนเนอร์ที่ดีที่สุดในภูมิภาค ผู้เล่นจะได้ต่อสู้กับสี่จตุรเทพ (Elite Four) และแชมเปียนคนใหม่คือ คู่แข่งของผู้เล่น[27] ตลอดทั้งเกม ผู้เล่นยังได้ต่อสู้กับกองกำลังของแก๊งร็อกเก็ต องค์กรอาชญากรรมที่ใช้โปเกมอนในทางที่ผิด[13] พวกเขาคิดแผนขโมยโปเกมอนหายาก และผู้เล่นจะต้องขัดขวางให้ได้[28][29]

การพัฒนา[แก้]

แนวคิดของเกมโปเกมอนเกิดจากงานอดิเรกสะสมแมลง กิจกรรมที่ผู้ออกแบบเกม ซาโตชิ ทาจิริ เคยชอบสะสมในเวลาว่างเมื่อครั้งเป็นเด็ก[30] เมื่อเติบโตขึ้น เขาสังเกตความเจริญในเมืองที่เขาอาศัยอยู่มากขึ้น และการสะสมแมลงเริ่มลดลง ทาจิริสังเกตว่าเด็ก ๆ มักเล่นในบ้านแทนนอกบ้าน และเกิดความคิดที่จะสร้างวิดีโอเกที่มีสิ่งมีชีวิตที่คล้ายแมลง เรียกว่า โปเกมอน เขาคิดว่าเด็ก ๆ จะผูกพันกับโปเกมอนได้โดยตั้งชื่อให้มัน และควบคุมมันเพื่อทดแทนความกลัวและความโกรธ เป็นการคลายเครียดในทางที่ดี อย่างไรก็ตามโปเกมอนจะไม่เลือดออกและไม่ตาย เพียงแค่หมดสติเท่านั้น แนวคิดนี้เป็นประเด็นที่ทาจิริจริงจังมาก เนื่องจากเขาไม่ต้องการให้โลกของเกมมี "ความรุนแรงที่ไร้ประโยชน์"[31]

เมื่อเกมบอยวางจำหน่าย ทาจิริคิดว่าระบบของเครื่องเหมาะสมกับสิ่งที่เขาคิดไว้ โดยเฉพาะลิงก์เคเบิล ซึ่งเขามองไว้ว่าจะให้ผู้เล่นแลกเปลี่ยนโปเกมอนกันได้ แนวคิดการแลกเปลี่ยนสารสนเทศเป็นสิ่งใหม่ในอุตสาหกรรมวิดีโอเกม เพราะก่อนหน้านี้ การเชื่อมต่อด้วยสายเคเบิลมีไว้แข่งขันกันเท่านั้น[32] "ผมจินตนาการถึงชุดสารสนเทศที่ส่งหากันได้ระหว่างเกมบอยสองเครื่องด้วยสายเคเบิลชนิดพิเศษ และผมร้องว้าว มันจะต้องมีบางอย่างเกิดขึ้นแน่" ทาจิริกล่าว[33] ทาจิริยังได้รับแรงบันดาลใจจากเกม เดอะไฟนอลแฟนตาซีเลเจนด์ ของบริษัทสแควร์ โดยเขากล่าวในบทสัมภาษณ์ว่าเกมให้แนวคิดกับเขาว่าไม่ใช่แค่เกมแอ็กชันที่สามารถพัฒนาขึ้นเพื่อเกมเครื่องมือถือได้[34]

ตัวละครหลักตั้งชื่อตามทาจิริเองว่า ซาโตชิ โดยเขาพรรณาให้เป็นตนเองในวัยรุ่น และตั้งอีกชื่อหนึ่งตามเพื่อนสนิท ต้นแบบ ที่ปรึกษา และนักพัฒนาของนินเท็นโด ชิเงรุ มิยาโมโตะ ให้ชื่อตัวละครนั้นว่า ชิเงรุ[31][35] เค็น ซุงิโมริ ศิลปินและเพื่อนของทาจิริพัฒนาภาพวาดและแบบของโปเกมอน โดยทำงานกับทีมงานน้อยกว่าสิบคนเพื่อออกแบบโปเกมอนทั้งหมด 151 ตัว ซุงิโมริตรวจสอบแบบครั้งสุดท้าย และวาดโปเกมอนออกมาในหลายมุมเพื่อช่วยให้ฝ่ายกราฟิกเรนเดอร์โปเกมอนให้[36][37] ดนตรีในเกมแต่งโดยจุนิชิ มาสุดะ โดยเขาใช้ประโยชน์จากช่องเสียงสี่ช่องของเกมบอยในการสร้างทำนองและเสียงประกอบ และ "เสียงร้อง" ของโปเกมอนที่จะได้ยินเมื่อเผชิญหน้ากับมัน เขากล่าวว่าชื่อฉากเปิดเกมคือ "มอนสเตอร์" ผลิตด้วยภาพฉากต่อสู้ที่มาจากความคิด ใช้สัญญาณรบกวนสีขาวเพื่อให้ฟังคล้ายดนตรีสวนสนามและเลียนแบบเสียงกลองเล็ก[38]

ในช่วงแรกที่เริ่มพัฒนาเกมได้ใช้ชื่อว่า แคปซูลมอนสเตอร์ส (Capsule Monsters) และเนื่องจากความลำบากเรื่องเครื่องหมายการค้า เมื่อชื่อเกมผ่านการซื้อขายหลายธุรกรรมมาก ทำให้ชื่อกลายเป็น คาปูมอน (CapuMon และ KapuMon) ก่อนจะได้เปลี่ยนชื่อเป็น พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ส (Pocket Monsters)[39][40] ทาจิริมักคิดเสมอว่านินเท็นโดจะปฏิเสธเกมของเขา เนื่องจากบริษัทยังไม่เข้าใจแนวคิดของเกมอย่างแท้จริงตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม เกมกลายเป็นความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ เป็นสิ่งที่ทาจิริและนินเท็นโดไม่เคยคาดคิด เพราะขณะนั้นความนิยมของเกมบอยเริ่มลดลงแล้ว[31] เมื่อได้ยินแนวคิดเกมโปเกมอน มิยาโมโตะแนะว่าให้ทำให้โปเกมอนแต่ละตลับมีโปเกมอนไม่เหมือนกัน เพื่อที่จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนโปเกมอนได้[41]

ในญี่ปุ่น พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ส เรด และ กรีน วางจำหน่ายเป็นภาคแรก เกมขายได้รวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากความคิดของนินเท็นโดที่ให้ผลิตออกมาเป็นสองภาคย่อยแทนที่จะทำเป็นภาคเดียว เพื่อให้ผู้ซื้อซื้อทั้งสองภาค หลายเดือนต่อมา ได้เพิ่มเวอร์ชัน บลู โดยได้วางจำหน่ายในญี่ปุ่นเป็นรุ่นพิเศษที่ให้สั่งซื้อทางจดหมายเท่านั้น[9] โดยได้เพิ่มเติมงานศิลป์ในเกมและบทพูดใหม่ ๆ[42] ทาจิริเปิดเผยโปเกมอนพิเศษชื่อ มิว ที่ซ่อนไว้ในเกมเพื่อสร้างความตื่นเต้นและความท้าทายให้กับเกม โดยเขาเชื่อว่า "สร้างข่าวลือและตำนานให้กับเกม" และ "ทำให้ความน่าสนใจในเกมยังคงอยู่"[31] ชิเงกิ โมริโมโตะเพิ่มมิวลงในเกมเพื่อเป็นเรื่องล้อเล่นภายในและไม่ตั้งใจจะเปิดเผยสู่ลูกค้า[43] ต่อมา นินเท็นโดตัดสินใจแจกมิวผ่านกิจกรรมส่งเสริมกิจกรรมหนึ่งของนินเท็นโด จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2003 มีกลิตช์อันหนึ่งที่คนทั่วไปรู้จัก และใครก็ตามสามารถใช้กลิตช์นี้เพื่อให้ได้มิวมา[44]

ในช่วงปรับวิดีโอเกมให้เข้ากับลูกค้าในทวีปอเมริกาเหนือ ทีมเล็ก ๆ ทีมหนึ่งนำโดยฮิโระ นะกะมุระ ลงรายละเอียดที่โปเกมอนแต่ละตัว และเปลี่ยนชื่อโปเกมอนให้กับลูกค้าฝั่งตะวันตกตามลักษณะรูปร่างและลักษณะพิเศษหลังจากนินเท็นโดอนุมัติ โดยในระหว่างนั้น นินเท็นโดทำเครื่องหมายการค้าชื่อโปเกมอนทั้งหมด 151 ตัวเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นเอกลักษณ์กับแฟรนไชส์[45] ในระหว่างการแปลชื่อนั้นพบชัดเจนว่า การเปลี่ยนข้อความภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษง่าย ๆ นั้นเป็นไปไม่ได้ เกมจะต้องโปรแกรมใหม่ตั้งแต่ต้นเนื่องจากรหัสต้นฉบับมีสถานะที่ไม่เสถียร เป็นผลข้างเคียงจากการพัฒนาที่ยาวนานผิดปกติ[37] ดังนั้น เกมจึงยึดตามเวอร์ชัน บลู ภาษาญี่ปุ่นที่เป็นรุ่นใหม่กว่า โดยออกแบบโปรแกรมและงานศิลป์ใหม่ แต่ใช้โปเกมอนชุดเดิมกับตลับเกมเวอร์ชัน เรด และ กรีน ภาษาญี่ปุ่น ตามลำดับ[9]

ขณะที่เวอร์ชัน เรด และ บลู ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วกำลังเตรียมตัววางจำหน่าย นินเท็นโดจ่ายเงินมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์เพื่อส่งเสริมเกม เกรงว่าเกมชุดนี้จะไม่ดึงดูดเด็ก ๆ ชาวอเมริกัน[46] ทีมที่ปรับเกมให้เข้ากับชาวตะวันตกเตือนว่า "สัตว์ประหลาดที่น่ารัก" อาจไม่เป็นที่ยอมรับจากลูกค้าชาวอเมริกัน และแนะนำให้ออกแบบใหม่และ "เสริมความแข็งแกร่ง" ให้โปเกมอนแทน ฮิโระชิ ยะมะอุชิ ประธานบริษัทนินเท็นโดในขณะนั้นปฏิเสธและมองว่าการตอบรับของชาวอเมริกันเป็นสิ่งที่น่าท้าทายที่ต้องเผชิญ[47] แม้จะมีอุปสรรคเช่นนี้ ในที่สุด ภาคเรดและบลูที่ปรับโปรแกรมใหม่โดยการออกแบบโปเกมอนใหม่ได้วางจำหน่ายในอเมริกาเหนือ หลังภาคเรดและกรีนวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาสองปีครึ่ง[48] เกมได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากลูกค้าต่างชาติและโปเกมอนได้กลายเป็นแฟรนไชส์ที่ทำกำไรได้ดีในอเมริกา[47]

ดนตรี[แก้]

จุนอิจิ มาสึดะ แต่งดนตรีประกอบที่บ้านของตน[49] ด้วยคอมพิวเตอร์รุ่นคอมโมดอร์ อามิกา ที่มีเพลย์แบ็กแบบการกล้ำรหัสของพัลส์ และแปลงเข้ากับเกมบอยด้วยโปรแกรมที่เขาเขียนเอง[50]

การตอบรับและสิ่งสืบทอด[แก้]

การตอบรับ
คะแนนรวม
ผู้รวมคะแนน
เกมแรงกิงส์(เรด) 88%[51]
(บลู) 88%[52]
คะแนนปฏิทรรศน์
สิ่งพิมพ์เผยแพร่คะแนน
ออลเกม(บลู) 4.5/5 stars[53]
อิเล็กทรอนิกเกมมิงมันทลี(เรด) 8.5/10[51]
แฟมิซือ29/40[54]
เกมสปอต(บลู) 8.8/10[13]
ไอจีเอ็น(เรด) 10/10[8]
นินเท็นโดเพาเวอร์7.2/10[55]

โปเกมอนเรดและบลูเป็นต้นแบบของเกมที่กลายเป็นแฟรนไชส์ระดับพันล้านดอลลาร์[56] ก่อนปี ค.ศ. 1997 ภาคเรด กรีน และบลู รวมกันขายได้ 10.23 ล้านตลับในประเทศญี่ปุ่น[57] ก่อนเกมจะเลิกจำหน่าย เกมขายได้รวมกัน 9.85 ล้านตลับในสหรัฐอเมริกา[58] ขณะที่ขายได้อีก 3.56 ล้านตลับในสหราชอาณาจักร[ต้องการอ้างอิง] เกมขายได้ทั่วโลกเกิน 31 ล้านหน่วย[59][60] ในปี ค.ศ. 2009 ไอจีเอ็นจัดให้โปเกมอนภาคเรดและบลูให้เป็น "เกม RPG บนเกมบอยที่ขายดีที่สุด" และ "เกม RPG ที่ขายดีที่สุดตลอดกาล"[61]

เกมได้รับคำวิจารณ์ส่วนใหญ่ในด้านบวก มีคะแนนสะสมจากเกมแรงกิงส์อยู่ที่ 88%[51] เกมได้รับคำยกย่องเป็นพิเศษในระบบผู้เล่นหลายคน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนและต่อสู้กับโปเกมอนของคนอื่นได้ เครก แฮร์ริสจากไอจีเอ็นให้คะแนนเกมที่ 10 เต็ม 10 กล่าวว่า "แม้ว่าคุณจะทำภารกิจเสร็จ คุณอาจจะยังมีโปกมอนในเกมไม่ครบทุกตัว ความท้าทายที่ว่าให้จับให้ครบทุกตัวเป็นสิ่งดึงดูดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเกมอย่างแท้จริง" เขายังให้ความเห็นเกี่ยวกับความนิยมของเกม โดยเฉพาะในหมู่เด็ก ๆ ว่าเป็น "เกมที่ชวนให้คลั่ง" (craze)[8] ปีเตอร์ บาร์โทโลว์ จากเกมสปอต ให้คะแนนเกม 8.8 เต็ม 10 ติในเรื่องกราฟิกส์และเสียงว่าธรรมดา แต่เป็นเพียงข้อเสียข้อเดียวในเกม เขาย่กย่องถึงคุณค่าของการกลับมาเล่นซ้ำ เนื่องจากการที่เกมสามารถปรับแต่งได้และเกมมีความหลากหลาย และกล่าวถึงความดึงดูดในระดับสากลว่า "ภายใต้ภาพลักษณ์ภายนอกที่น่ากอด โปเกมอนเป็นเกมสวมบทบาทจริงจังและมีเอกลักษณ์ ที่มีความลึกซึ้ง และเสริมด้วยระบบหลายผู้เล่นที่ยอดเยี่ยม ในฐานะเกมสวมบทบาท เกมนี้ชวนให้ผู้เล่นใหม่ที่ไม่เคยเล่นแนวนี้ สามารถมาเล่นให้สนุกได้ง่าย แต่มันจะสร้างความเพลิดเพลินให้แฟนเกมตัวจริงเช่นกัน พูดง่าย ๆ คือมันเป็นเกมของเกมบอยที่ดีที่สุดจนถึงทุกวันนี้"[13]

ความสำเร็จของเกมมาประสบการณ์แบบใหม่ในการเล่นเกมมากกว่าเอฟเฟกต์ภาพและเสียง เอกสารที่โรงเรียนธุรกิจโคลัมเบียตีพิมพ์ระบุว่าเด็ก ๆ ทั้งชาวอเมริกันและญีปุ่นชอบระบบเกมมากกว่าเอฟเฟต์พิเศษเกี่ยวกับภาพหรือเสียง ในเกมชุดโปเกมอน หากไม่มีเอฟเฟกต์ปลอมเช่นนี้ กล่าวกันว่าจะยกระดับจินตนาการและความสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ ได้[62] หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนให้ความเห็นว่า "ด้วยประเด็นเกี่ยวกับเกมเอนจินและการกำหนดตำแหน่งรายละเอียดภาพ มีบางอย่างที่สดชื่นเกี่ยวกับระบบเกมขั้นสุดยอดที่ทำให้คุณเลิกสนใจกราฟิกส์ 8 บิตได้เลย"[63]

เว็บไซต์วิดีโอเกม วันอัปดอตคอม สร้างรายชื่อ "5 เกมยอดเยี่ยมที่'มาทีหลัง'" แสดงชื่อเกมที่ "พิสูจน์ถึงเครื่องเกมที่อาจขายไม่ออก" และเป็นหนึ่งในเกมสุดท้ายที่ออกกับเครื่องเล่นนั้น เมื่อครั้งที่เกมออกจำหน่ายบนเครื่องเกมบอยหลายเกมในปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 เรดและบลูอยู่อันดับที่หนึ่ง[33] และถือเป็น "อาวุธลับ" ของนินเท็นโด นินเท็นโดเพาเวอร์จัดอันดับให้ภาคเรดและบลูเป็นวิดีโอเกมที่ดีที่สุดอันดับที่สามของเครื่องเล่นเกมบอยและเกมบอยคัลเลอร์ โดยกล่าวว่าบางอย่างในเกมจะทำให้พวกเขาเล่นอย่างต่อเนื่องจนพวกเขาจับโปเกมอนได้ทุกตัว[64] เบ็น รีฟส์ จากนิตยสารเกมอินฟอร์เมอร์เรียกพวกเขา (รวมถึงโปเกมอน เยลโลว์ โกลด์ ซิลเวอร์ และคริสตัล) ให้เป็นเกมบอยที่ดีที่สุดอันดับสองและกล่าวว่าเกมมีความลึกมากกว่าที่เห็น[65] นิตยสารทางการของนินเท็นโดตั้งให้เกมเป็นหนึ่งในเกมของนินเท็นโดที่ดีที่สุดตลอดกาล อยู่อันดับที่ 52 ในรายชื่อเกม 100 เกมยอดเยี่ยม[66]

ภาคเรดและบลูอยู่อันดับที่ 72 ในรายชื่อ 100 เกมยอดเยี่ยมตลอดกาลจัดโดยไอจีเอ็นเมื่อปี ค.ศ. 2003 โดยนักวิจารณ์มองว่าเกมทั้งคู่ "ริเริ่มการปฏิวัติวิดีโอเกม" และยกย่องการออกแบบเกมที่มีรายละเอียดลึกและกลยุทธ์ที่ซับซ้อน และการแลกเปลี่ยนกันระหว่างเกมด้วย[67] สองปีถัดมา เกมขึ้นไปอยู่อันดับที่ 70 ในรายชื่อที่ปรับปรุงแล้ว เนื่องจากสิ่งสืบทอดในเกมได้บันดาลให้เกิดวิดีโอเกมภาคต่อ ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ และสินค้าอื่น ๆ มากมาย เป็นการหยั่งรากวัฒนธรรมสมัยนิยมอย่างแข็งแกร่ง[68] ในปี ค.ศ. 2007 เรดและบลูถูกจัดอยู่อันดับที่ 37 และนักวิจารณ์กล่าวถึงความยืนยาวของเกมว่า

สำหรับทุกเกมที่ออกมาในทศวรรษนี้ ทั้งหมดเริ่มต้นตรงนี้ที่เกมโปเกมอนเรด/บลู การผสมผสานที่เป็นเอกลักษณ์อย่างการสำรวจ การฝึกโปเกมอน การต่อสู้ และการแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดเป็นเกมที่มีรายละเอียดลึกซึ้งกว่าที่เกมปรากฏให้เห็นครั้งแรก และเป็นเกมที่บังคับให้ผู้เล่นเข้าสังคมกับคนอื่นเพื่อที่จะได้รับประสบการณ์ที่แท้จริงที่เกมจะนำเสนอได้ เกมมีความยาว ชวนให้จดจ่อ และชวนให้เสพติดแบบที่เกมที่ดีที่สุดเท่านั้นที่จะทำให้เสพติดได้ พูดถึงสิ่งที่จะทำกับเกมออกมาเถอะ แต่มีแฟรนไชส์เกมไม่มากที่สามารถอ้างได้ว่าเกมจะได้รับความนิยมหลังจากเกมออกวางแผงขายเป็นเวลาสิบปีได้[35]

เกมได้รับเครดิตในเรื่องการเริ่มเปิดทางสู่การเป็นเกมชุดที่ประสบความสำเร็จระดับหลายพันล้านดอลลาร์[33] หลังภาคเรดและบลูออกจำหน่ายห้าปี นินเท็นโดเฉลิมฉลอง "โปเกโมนิเวอร์แซรี" (Pokémoniversary) จอร์จ แฮร์ริสัน รองประธานอาวุโสของฝ่ายสื่อสารและการตลาดของนินเท็นโดอเมริกา กล่าวว่า "อัญมณีเลอค่าเหล่านั้น [โปเกมอนเรดและบลู] ได้พัฒนาเป็นภาครูบีและแซฟไฟร์ การออกจำหน่ายเกมโปเกมอนพินบอลเริ่มการเดินทางโปเกมอนครั้งใหม่ที่จะเปิดตัวในไม่กี่เดือนที่จะมาถึง"[69] เกมชุดนี้ขายได้มากกว่า 300 ล้านเกมแล้ว ทั้งหมดเป็นผลมาจากโปเกมอนเรดและบลูประสบความสำเร็จอย่างมาก[33][70]

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 โปรแกรมเมอร์นิรนามชาวออสเตรเลียคนหนึ่งเผยแพร่รายการทวิตช์เล่นโปเกมอน "การทดลองทางสื่อสังคม" บนเว็บไซต์วิดีโอสตรีมมิง ทวิตช์ โครงการนี้เป็นความพยายามแบบคราวด์ซอร์ซิง (crowdsourcing) เล่นโปเกมอนภาคเรดรุ่นปรับปรุงโดยพิมพ์ชุดคำสั่งลงไปในช่องแชต โดยมีผู้ชมจำนวน 50,000 คนในเวลาเดียวกัน ผลลัพธ์ถูกนำมาเปรียบเทียบกับ "การชมรถชนกันแบบภาพเคลื่อนไหวช้า"[71] เกมเล่นจบในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2014 ด้วยการควบคุมเกมจากผู้ใช้หลายคนแบบต่อเนื่อง ใช้เวลาทั้งหมด 390 ชั่วโมง[72]

พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ สีน้ำเงิน[แก้]

พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ สีน้ำเงิน (ญี่ปุ่น: ポケットモンスター青โรมาจิPoketto Monsutā Ao) เป็นเกมเวอร์ชันที่ 3 ของโปเกมอน ในครั้งแรกนั้นได้ถูกวางจำหน่ายผ่านการสั่งซื้อทางจดหมาย[9] เฉพาะสมาชิกของ โคโรโคโรคอมมิค ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1996 ภายหลังได้วางจำหน่ายทั่วไป เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1999[1] ตัวเกมได้รับการปรับปรุงทั้งงานศิลป์ในเกม และบทสนทนาใหม่[42] โค้ด บทของเกม และงานศิลป์ของภาคนี้เคยใช้เมื่อครั้งจำหน่ายเวอร์ชันสีแดงและสีเขียว โดยปกเกมของเวอร์ชันนี้คือ คาเม็กซ์ ทั้งนี้เวอร์ชันสีน้ำเงินมีโปเกมอนทั้งหมดยกเว้นโปเกมอนที่พบในเวอร์ชันสีแดง และ สีเขียวจำนวนหนึ่ง ทำให้โปเกมอนบางตัวพบได้เฉพาะในภาคดั้งเดิมเท่านั้น

พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ พิคาชู[แก้]

พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ พิคาชู
ปกเกมพ็อกเก็ตมอนสเตอร์ พิคาชู ในโซนอเมริกาเหนือ แสดงภาพโปเกมอนพิคาชู
ผู้พัฒนาเกมฟรีก
ผู้จัดจำหน่ายนินเท็นโด
กำกับซาโตชิ ทาจิริ
อำนวยการผลิตชิเงรุ มิยาโมโตะ
ทาเกฮิโระ อิซุซิ
ทาเคชิ คาวากุจิ
สึเนคาซึ อิชิฮาระ
ออกแบบ
ศิลปินเค็น ซุงิโมริ
เขียนบทซาโตชิ ทาจิริ
โทชิโนบุ มัตสึมิยะ
แต่งเพลงจุนอิจิ มาสึดะ
ชุดโปเกมอน
เครื่องเล่นเกมบอย
เกมบอยคัลเลอร์
วางจำหน่าย
  • JP: 12 กันยายน ค.ศ. 1998
  • AUS: 3 กันยายน ค.ศ. 1999
  • NA: 19 ตุลาคม ค.ศ. 1999
  • EU: 16 มิถุนายน ค.ศ. 2000
แนววิดีโอเกมเล่นตามบทบาท
รูปแบบผู้เล่นคนเดียว, ผู้เล่นหลายคน

พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ พิคาชู (ญี่ปุ่น: ポケットモンスター ピカチュウโรมาจิPoketto Monsutā Pikachū) หรือ โปเกมอน เยลโลว์ สเปเชียลพิคาชูอีดิชัน (Pokémon Yellow: Special Pikachu Edition) เป็นเกมเวอร์ชันที่ 4 ของโปเกมอน โดยได้ปรับปรุงของเกมเวอร์ชันสีแดง, สีเขียว และ สีน้ำเงิน วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1998 ในประเทศญี่ปุ่น บนแพล็ตฟอร์มเกมบอย[73][74]และวางจำหน่ายในอเมริกาเหนือและยุโรปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1999[75] และ 16 มิถุนายน ค.ศ. 2000[76] ตามลำดับ โดยในเวอร์ชันอเมริกาเหนือและยุโรปถูกวางจำหน่ายในรูปแบบแพล็ตฟอร์มเกมบอยคัลเลอร์ ด้านตัวเกมถูกออกแบบให้อ้างอิงจากพ็อกเก็ตมอนสเตอร์ โดยตัวละครผู้เล่นได้รับพิคาชูเป็นโปเกมอนตัวเริ่มต้นของเกมพร้อมทั้งได้โปเกมอนเริ่มต้นทั้ง 3 ตัวอย่าง ฟุชิกิดาเนะ, ฮิโตคาเงะ และ เซนิกาเมะ ตามลำดับเนื้อหา และตัวละครคู่แข่งจะเริ่มต้นด้วยอีวุย รวมทั้งมีตัวละครที่ปรากฏในอนิเมะ เช่น แก๊งร็อกเก็ตทั้ง 3 ซึ่งมี มุซาชิ ,โคจิโร่ และเนียซ ปรากฏตัว เป็นต้น และมีโปเกมอนบางตัวที่ไม่สามารถหาหรือพัฒนาร่างได้ในเวอร์ชันทั้ง 3 เวอร์ชันอีกด้วย

เวอร์ชวลคอนโซล[แก้]

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015 นินเท็นโดประกาศในการนำเสนอนินเท็นโดไดเรกต์ว่าเกมโปเกมอนรุ่นเก่าได้วางจำหน่ายในบริการเวอร์ชวลคอนโซล (Virtual Console) ของนินเท็นโด 3ดีเอส เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 20 ปีที่วางจำหน่ายเกมในญี่ปุ่น โดยเกมดังกล่าวเป็นเกมแรกในเวอร์ชวลคอนโซลที่จำลองการทำงานของสายเกมลิงก์เคเบิลให้สามารถแลกเปลี่ยนและต่อสู้กันระหว่างเกมได้[77] แต่ละภูมิภาคจะได้รับเกมเฉพาะภาคที่เคยวางจำหน่ายในภูมิภาคนั้นเท่านั้น อย่างเช่น เวอร์ชันกรีน วางจำหน่ายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น[78] เกมรุ่นนี้สามารถย้ายโปเกมอนไปยังเกมหลักตั้งแต่ โปเกมอน ซัน และ มูน ผ่านทางโปรแกรมประยุกต์ โปเกมอนแบงค์ได้ด้วย[79]

นอกจากนี้ยังมีสินค้าพิเศษที่พ่วงกับนินเทนโด 2ดีเอส กับแต่ละคอนโซลที่มีสีตามชื่อเวอร์ชัน วางจำหน่ายในญี่ปุ่น ยุโรป และออสเตรเลียเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016[80] และในอเมริกาเหนือมีเครื่องนิวนินเท็นโด 3ดีเอส ตัวเครื่องเป็นลายเดียวกับภาพกล่องเกมเวอร์ชัน เรด และ บลู[81]

ก่อนวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2016 ยอดขายรวมของเกมภาคที่จำหน่ายใหม่อีกครั้งรวมกันแตะ 1.5 ล้านก็อปปี้ ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งขายได้ในอเมริกาเหนือ[82]

ในรูปแบบอื่น[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. เป็นที่รู้จักในชื่อภาษาญี่ปุ่นคือ ญี่ปุ่น: ポケットモンスター 赤・緑โรมาจิPoketto Monsutā Aka and Midoriทับศัพท์: พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ อากะ และ มิโดริ
  2. ญี่ปุ่น: ポケットモンスター 赤โรมาจิPoketto Monsutā Akaทับศัพท์: พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ อากะ
  3. ญี่ปุ่น: ポケットモンスター 緑โรมาจิPoketto Monsutā Midoriทับศัพท์: พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ มิโดริ
  4. ญี่ปุ่น: ポケットモンスター青โรมาจิPoketto Monsutā Aoทับศัพท์: พ็อกเก็ตมอนสเตอร์ อาโอะ
  5. ญี่ปุ่น: ポケットモンスター ピカチュウโรมาจิPoketto Monsutā Pikachū

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "ポケットモンスター 赤・緑". The Pokémon Company. สืบค้นเมื่อ 2013-03-13.
  2. "ポケットモンスター赤・緑". Nintendo. สืบค้นเมื่อ 2013-03-13.
  3. 3.0 3.1 "ポケットモンスター 青". The Pokémon Company. สืบค้นเมื่อ 2013-03-13.
  4. 4.0 4.1 "ポケットモンスター青". Nintendo. สืบค้นเมื่อ 2013-03-13.
  5. "Game Boy's Pokémon Unleashed on September 28!". Redmond, Washington: Nintendo. September 28, 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 1, 1999. สืบค้นเมื่อ 29 March 2014.
  6. "Pokémon Red Version". Nintendo of Europe. สืบค้นเมื่อ 21 February 2019.
  7. "Pokémon Blue Version". Nintendo of Europe. สืบค้นเมื่อ 21 February 2019.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Harris, Craig (1999-06-23). "Pokemon Red Version Review". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-22. สืบค้นเมื่อ 2008-06-26.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 Staff (November 1999). "What's the Deal with Pokémon?". Electronic Gaming Monthly (124): 216.
  10. Game Freak (1997-12-09). Pokémon Red and Blue, Instruction manual. Nintendo. p. 8.
  11. 11.0 11.1 Game Freak (1998-09-30). Pokémon Red and Blue, Instruction manual. Nintendo. p. 17.
  12. Game Freak (1998-09-30). Pokémon Red and Blue, Instruction manual. Nintendo. p. 10.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 Bartholow, Peter (2000-01-28). "GameSpot review". GameSpot. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-06. สืบค้นเมื่อ 2008-06-26.
  14. Game Freak (1998-09-30). Pokémon Red and Blue, Instruction manual. Nintendo. p. 21.
  15. Game Freak (1998-09-30). Pokémon Red and Blue, Instruction manual. Nintendo. p. 7.
  16. 16.0 16.1 Game Freak (1998-09-30). Pokémon Red and Blue, Instruction manual. Nintendo. p. 36.
  17. "nintendo.com.au – GBC – Frequently Asked Questions". Nintendo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-22. สืบค้นเมื่อ 2008-10-07.
  18. "Game Boy Game Pak Troubleshooting – Specific Games". Nintendo of America Inc. สืบค้นเมื่อ 2009-06-09. MissingNO is a programming quirk, and not a real part of the game
  19. "Pokemon Gold and Silver Strategy Guide: Trading". IGN. สืบค้นเมื่อ 2008-06-27.
  20. Gerstmann, Jeff (2000-02-29). "Pokemon Stadium for Nintendo 64 Review". GameSpot. สืบค้นเมื่อ 2008-09-16.
  21. Villoria, Gerald (2001-03-26). "Pokemon Stadium 2 for Nintendo 64 Review". GameSpot. p. 2. สืบค้นเมื่อ 2008-09-16.
  22. Harris, Craig (2003-03-17). "IGN: Pokemon Ruby Version Review". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-22. สืบค้นเมื่อ 2008-10-25.
  23. Game Freak (1998-09-30). Pokémon Red and Blue, Instruction manual. Nintendo. p. 20.
  24. Game Freak (1998-09-30). Pokémon Red and Blue, Instruction manual. Nintendo. p. 2.
  25. Game Freak (1998-09-30). Pokémon Red and Blue, Instruction manual. Nintendo. p. 3.
  26. IGN Staff. "Guides: Pokemon: Blue and Red". IGN. p. 113. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-22. สืบค้นเมื่อ 2008-10-24.
  27. IGN Staff. "Guides: Pokemon: Blue and Red". IGN. p. 67. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-02. สืบค้นเมื่อ 2008-06-27.
  28. IGN Staff. "Guides: Pokemon: Blue and Red". IGN. p. 99. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-22. สืบค้นเมื่อ 2009-02-04.
  29. IGN Staff. "Guides: Pokemon: Blue and Red". IGN. p. 165. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-22. สืบค้นเมื่อ 2009-02-04.
  30. Plaza, Amadeo (2006-02-06). "A Salute to Japanese Game Designers". Amped IGO. p. 2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-07-13. สืบค้นเมื่อ 2006-06-25.
  31. 31.0 31.1 31.2 31.3 Larimer, Time (1999-11-22). "The Ultimate Game Freak". TIME Asia. p. 2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-12. สืบค้นเมื่อ 2008-09-16.
  32. Larimer, Time (1999-11-22). "The Ultimate Game Freak". TIME Asia. p. 1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-12. สืบค้นเมื่อ 2008-09-16.
  33. 33.0 33.1 33.2 33.3 1UP Staff. "Best Games to Come Out Late in a System's Life". 1UP. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-26. สืบค้นเมื่อ 2008-09-16.
  34. "Pokémon interview" (ภาษาญี่ปุ่น). Nintendo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-19. สืบค้นเมื่อ 2009-06-06.
  35. 35.0 35.1 "IGN's Top 100 Games 2007 | 37 Pokemon Blue Version". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-22. สืบค้นเมื่อ 2008-09-15.
  36. Staff. "2. 一新されたポケモンの世界". Nintendo.com (ภาษาญี่ปุ่น). Nintendo. p. 2. สืบค้นเมื่อ 2010-09-10.
  37. 37.0 37.1 Kohler, Chris (2004). Power-Up: How Japanese Video Games Gave the World an Extra Life (1st ed.). BradyGames. pp. 237–250. ISBN 0-7440-0424-1.
  38. Masuda, Junichi (2009-02-28). "HIDDEN POWER of Masuda: No. 125". Game Freak. สืบค้นเมื่อ 2009-06-09.
  39. Staff (2004-02-18). 写真で綴るレベルX~完全保存版! (ภาษาญี่ปุ่น). AllAbout.co.jp. สืบค้นเมื่อ 2010-05-21.
  40. Tomisawa, Akihito (August 2000). ゲームフリーク 遊びの世界標準を塗り替えるクリエイティブ集団 (ภาษาญี่ปุ่น). ISBN 4-8401-0118-3.
  41. Nutt, Christian (2009-04-03). "The Art of Balance: Pokémon's Masuda on Complexity and Simplicity". Gamasutra. สืบค้นเมื่อ 2009-06-09.
  42. 42.0 42.1 Chen, Charlotte (December 1999). "Pokémon Report". Tips & Tricks. Larry Flynt Publications: 111.
  43. "Iwata Asks – Pokémon HeartGold Version & SoulSilver Version". Nintendo.com. สืบค้นเมื่อ 2012-10-16.
  44. DeVries, Jack (2008-11-24). "IGN: Pokemon Report: OMG Hacks". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-06. สืบค้นเมื่อ 2009-02-16.
  45. Staff (November 1999). "What's the Deal with Pokémon?". Electronic Gaming Monthly (124): 172.
  46. Tobin, Joseph Jay (2004). Pikachu's Global Adventure: The Rise and Fall of Pokémon. Duke University Press. p. 66. ISBN 0-8223-3287-6.
  47. 47.0 47.1 Ashcraft, Brain (2009-05-18). "Pokemon Could Have Been Muscular Monsters". Kotaku. สืบค้นเมื่อ 2009-06-26.
  48. IGN Staff. "Guides: Pokemon: Blue and Red". IGN. p. 62. สืบค้นเมื่อ 2008-10-24.
  49. "GB Pokémon Complete Sound CD". VGMdb. สืบค้นเมื่อ 2015-07-07.
  50. Hanson, Ben (May 13, 2014). "Pokémon's Music Master: The Man Behind The Catchiest Songs". Game Informer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 13, 2014.
  51. 51.0 51.1 51.2 "Pokemon Red Version for Game Boy". GameRankings. CBS Interactive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-05. สืบค้นเมื่อ 2019-02-13.
  52. "Pokemon Blue Version for Game Boy". GameRankings. CBS Interactive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-09. สืบค้นเมื่อ 2019-02-13.
  53. McCaul, Scott. "Pokemon Blue Version -Review". Allgame. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 14, 2014. สืบค้นเมื่อ December 4, 2012.
  54. "ポケットモンスター 赤/緑 まとめ [ゲームボーイ]". Famitsu (ภาษาญี่ปุ่น). Enterbrain, Inc.
  55. "Now Playing: Pokémon". Nintendo Power. 113: 112. October 1998.
  56. "Pokemon Franchise Approaches 150 Million Games Sold". Nintendo. PR Newswire. 4 October 2005. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-26. สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
  57. https://web.archive.org/web/20071213230402/http://www.the-magicbox.com/topten2.htm
  58. "US Platinum Videogame Chart". The Magic Box. 2007-12-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-06. สืบค้นเมื่อ 2008-08-03.
  59. "50 Most Popular Video Games of All Time". 247wallst.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-05-21.
  60. "All-time best selling console games worldwide 2018 | Statistic". Statista (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-05-21.
  61. DeVries, Jack (2009-01-16). "IGN: Pokemon Report: World Records Edition". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-30. สืบค้นเมื่อ 2009-02-16.
  62. Safier, Joshua; Nakaya, Sumie (2000-02-07). "Pokemania: Secrets Behind the International Phenomenon". Columbia Business School. สืบค้นเมื่อ 2011-08-05.[ลิงก์เสีย]
  63. Bodle, Andy and Greg Howson (1999-09-30). "Monsters to the rescue". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2009-01-15.
  64. "Nintendo Power – The 20th Anniversary Issue!" (Magazine). Nintendo Power. 231 (231). San Francisco, California: Future US. August 2008: 72. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  65. Reeves, Ben (2011-06-24). "The 25 Best Game Boy Games Of All Time". Game Informer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-11. สืบค้นเมื่อ 2013-12-06.
  66. East, Tom (2009-03-02). "Feature: 100 Best Nintendo Games". Official Nintendo Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-29. สืบค้นเมื่อ 2009-03-18.
  67. Staff (2003-04-30). "The Top 100: 71–80". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-10. สืบค้นเมื่อ 2008-09-15.
  68. "IGN's Top 100 Games 061-070". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-09. สืบค้นเมื่อ 2008-09-15.
  69. Harris, Craig (2003-08-29). "IGN: Nintendo Celebrates Pokemoniversary". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-17. สืบค้นเมื่อ 2008-09-15.
  70. Makuch, Eddie (2017-11-27). "Pokemon Game Sales Pass 300 Million Units". GameSpot (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2018-12-31.
  71. "Twitch plays Pokémon: The largest 'massively multiplayer' Pokémon game is beautiful chaos". The Independent. สืบค้นเมื่อ 2015-02-16.
  72. "Twitch Plays Pokemon conquers Elite Four, beating game after 390 hours". CNET. CBS Interactive. สืบค้นเมื่อ 2015-02-16.
  73. "ポケットモンスター ピカチュウ". The Pokémon Company. สืบค้นเมื่อ 2013-03-13.
  74. "ポケットモンスター ピカチュウ". Nintendo. สืบค้นเมื่อ 2013-03-13.
  75. "Pokémon™ Yellow Special Pikachu Edition". The Pokémon Company International. สืบค้นเมื่อ 2013-03-13.
  76. "Pokémon™ Yellow Special Pikachu Edition". The Pokémon Company International. สืบค้นเมื่อ 2013-03-13.
  77. "Nintendo Direct - 11.12.2015". Nintendo. 2015-11-12. สืบค้นเมื่อ 2015-11-14.
  78. "Nintendo Direct 2015.5.31 プレゼンテーション映像". Nintendo. 2015-11-12. สืบค้นเมื่อ 2015-11-14.
  79. Conditt, Jessica. "Pokemon Sun And Moon Hit The Nintendo 3DS This Holiday". Engadget. สืบค้นเมื่อ 26 February 2016.
  80. Kamen, Matt (12 January 2016). "Pokémon marks 20th birthday with retro 2DS bundles". สืบค้นเมื่อ 3 August 2016.
  81. Farokhmanesh, Megan (12 January 2016). "Pokémon celebrates its 20th anniversary with a New Nintendo 3DS bundle this February". Polygon. สืบค้นเมื่อ 3 August 2016.
  82. "Financial Results Briefing for Fiscal Year Ended March 2016". Nintendo. April 28, 2016. p. 3. สืบค้นเมื่อ May 1, 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]