โทราห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โตราห์)
ม้วนคำภีร์โทราห์ที่Glockengasse Synagogueเก่า (บูรณะใหม่), โคโลญ

โทราห์[1] (อังกฤษ: Torah; ฮีบรู: תּוֹרָה โทราห์; อาหรับ: التوراة เตารอฮ์; กรีก: Τορά) เป็นชื่อของชุดคัมภีร์ชุดแรกในคัมภีร์ฮีบรู ซึ่งประกอบด้วยหนังสือ 5 เล่มแรกในศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์ หมายถึง บทบัญญัติ ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิลภาษาไทยแปลว่า ธรรมบัญญัติ[2] หรือ พระบัญญัติ

ภายหลังได้มีการแปลเป็นภาษากรีกจึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า เบญจบรรณ[3] (อังกฤษ: Pentateuch) หมายถึง ที่บรรจุห้าอัน คือหนังสือ 5 เล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม ได้แก่

  1. หนังสือปฐมกาล
  2. หนังสืออพยพ
  3. หนังสือเลวีนิติ
  4. หนังสือกันดารวิถี
  5. หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ

โทราห์เขียนด้วยภาษาฮีบรูไบเบิล หรือที่รู้จักกันในชื่อ หนังสือของโมเสส เป็นคัมภีร์ที่พระเจ้าประทานให้กับโมเสส กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโลกและสรรพสิ่ง รวมถึงที่มาของความสัมพันธ์ระหว่างพระยาห์เวห์กับมนุษย์ เช่น การสร้างทรงสร้างของพระเจ้า กำเนิดมนุษย์ ที่มาของบาปกำเนิด พันธสัญญาของพระเจ้า บรรพชนของชนชาติอิสราเอล เรื่องของบัญญัติสิบประการ และพิธีการต่าง ๆ ของชาวอิสราเอล เป็นต้น

ในปัจจุบันโทราห์ใช้ในศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์ ในขณะที่ชาวมุสลิมเชื่อว่า คัมภีร์นี้ถูกบิดเบือน แต่งเติม และตัดตอน อีกทั้งบทบัญญัติหลายประการก็ถูกยกเลิกไปแล้ว และพระผู้เป็นเจ้าได้ประทานอัลกุรอานลงมาแทน ชาวมุสลิมจึงไม่ได้ใช้คัมภีร์นี้

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 591
  2. หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  3. ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 420