โซยุซ (ท่อส่งแก๊ส)


โซยุซ (รัสเซีย: Союз) เรียกอีกอย่างว่าเส้นทางโอเรนบุร์ก–สหภาพโซเวียตตะวันตก เป็นเส้นทางท่อส่งแก๊สธรรมชาติคู่ขนานทางไกลจากเมืองโอเรนบุร์กในประเทศรัสเซีย (ที่ชายแดนกับคาซัคสถาน) ถึงเมืองอุฌฮอรอดในประเทศยูเครน
เส้นทางนี้ทำหน้าที่ขนส่งแก๊สธรรมชาติจากแหล่งสำรองแก๊สขนาดใหญ่ในภาคใต้ของภูมิภาคอูราลและเอเชียกลางไปยังยุโรปตะวันออก และจากจุดนั้นทำการส่งต่อผ่านท่อส่งทรานส์แก๊ส (Transgas) ไปยังยุโรปกลางและยุโรปตะวันตกต่อไป[1][2]
ประวัติ
[แก้]ใน พ.ศ. 2509 แหล่งแก๊สธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเท่าที่ทราบในขณะนั้นถูกค้นพบทางทิศใต้ห่างประมาณ 30 กิโลเมตรจากเมืองโอเรนบุร์ก ระหว่างการเจาะสำรวจในแอ่งวอลกา-อูราล[3][4] นอกจากแก๊สแล้ว ยังมีแก๊สธรรมชาติเหลวและน้ำมันดิบในปริมาณที่คุ้มค่าในการลงทุน แก๊สมีส่วนผสมของฮีเลียมความเข้มข้นสูงเป็นพิเศษ ซึ่งทำให้คุ้มค่าที่จะสร้างโรงงานดักจับเพื่อนำมาใช้ประโยชน์[4] ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 แหล่งแก๊สโอเรนบุร์ก ได้รับการพัฒนาโดยวิสาหกิจอุตสาหกรรมแก๊สของรัฐโซเวียต (ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นบริษัทกัซปรอม (รัสเซีย: Газпром) การผลิตและการแปรรูปในโรงงานแปรรูปโอเรนบุร์กได้ดำเนินการผลิตเต็มกำลังใน พ.ศ. 2517[5]
การก่อสร้างท่อส่งแก๊สโซยุซเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2518 ถึง 2522 โดยเป็นโครงการร่วมของประเทศในสภาเพื่อความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ (คอมิคอน)[6] ซึ่งมีเป้าหมายในการรวม "สหายประเทศสังคมนิยม" ของสหภาพโซเวียตในกติกาสัญญาวอร์ซอ และเพื่อจัดหาก๊าซธรรมชาติให้กับสาธารณรัฐโซเวียตทางตะวันตก (โดยเฉพาะสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน)[1][7] เพื่อแลกกับการจัดหาแก๊สธรรมชาติของสหภาพโซเวียต ห้าประเทศในคอมิคอน (สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี, สาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวัก, สาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์, สาธารณรัฐประชาชนบัลแกเรีย, สาธารณรัฐประชาชนฮังการี) ได้เข้าร่วมในการก่อสร้างระยะทางหนึ่งในห้าของเส้นทางทั้งหมด คือประมาณประเทศละ 550 กิโลเมตร แต่ละแห่งรวมถึงสถานีจัดการควบคุมแรงดันภายในประเทศของตน ส่วนของเส้นทางสร้างโดยคนงานชาวเยอรมันจากประเทศเยอรมนีตะวันออกในสมัยนั้น รู้จักกันในชื่อท่อส่งแก๊สดรุจบา (รัสเซีย: Дружба, มิตรภาพ) ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศยูเครน[8] ในการนี้คณะกรรมการบริหารของรัฐในคอมิคอน ได้มอบเหรียญรางวัลเชิดชูซึ่งผลิตโดยโรงกษาปณ์เลนินกราด (Ленинградский монетный двор) ให้กับคนงานที่มีผลการปฏิบัติงาน[9]
หลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้น ท่อส่งแก๊สโซยุซ ร่วมกับท่อส่งทรานส์แก๊สซึ่งสร้างเสร็จเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า ทอดไปทางทิศตะวันตกผ่านประเทศเชโกสโลวาเกีย ถูกนำมาใช้เพื่อส่งแก๊สไปยังยุโรปตะวันตกด้วย สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะสหภาพโซเวียตได้เริ่มการเจรจากับประเทศในยุโรปตะวันตก (อิตาลี, ออสเตรีย, สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี) เกี่ยวกับการจัดหาแก๊สในอนาคตในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เมื่อความขัดแย้งระหว่างตะวันออกและตะวันตกกำลังเข้าสู่ระยะของการผ่อนคลายความตึงเครียด ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้เข้าร่วมในการจัดหาเงินทุนและ/หรือจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นล่วงหน้าสำหรับการก่อสร้างท่อส่งแก๊ส ข้อตกลงในเรื่องนี้ที่ใหญ่ที่สุดเป็นสัญญาท่อส่งแก๊สธรรมชาติระหว่างเยอรมัน–โซเวียต[2]
จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน พ.ศ. 2534 ซึ่งทำให้ยูเครนและคาซัคสถานเป็นอิสระทางการเมืองจากรัสเซีย ท่อส่งแก๊สได้ถูกแบ่งส่วนระหว่างแต่ละประเทศ โดยส่วนของรัสเซียยังคงอยู่กับผู้ดำเนินการรายเดิมคือบริษัทกัซปรอม ส่วนของยูเครนตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐวิสาหกิจนัฟโตฮัซ (ยูเครน: Нафтогаз України) ส่วนบริษัทแก๊สของคาซัคสถาน คัซมูไนกัซ (คาซัค: ҚазМұнайГаз) และบริษัทย่อย คัซตรานส์กัซ (คาซัค: ҚазТрансГаз) ได้รับส่วนของท่อส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกในภูมิภาคชายแดนรัสเซีย–คาซัคสถานจากบริษัทกัซปรอม
ในช่วงเปลี่ยนผ่านของสหัสวรรษ เกิดข้อพิพาทที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครนเกี่ยวกับราคาและค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล ที่ยูเครนควรได้รับสำหรับการส่งมอบหรือการขนส่งแก๊สของรัสเซีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ข้อพิพาทด้านแก๊สของรัสเซีย–ยูเครนได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในฝ่ายยูเครนและ/หรือรัสเซีย ซึ่งลดหรือขัดขวางการจัดหาและขนส่งแก๊ส ด้วยเหตุนี้รัสเซียจึงพยายามพัฒนาเส้นทางทางเลือกใหม่เพื่อลดการพึ่งพาการขนส่งผ่านยูเครน ซึ่งคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายโดยเฉพาะกับท่อส่งแก๊สนอร์ดสตรีม และเซาท์สตรีม
ใน พ.ศ. 2555 ปริมาณแก๊สสำรองมากกว่าครึ่งหนึ่งในแหล่งโอเรนบุร์กถูกใช้ประโยชน์แล้ว มีการลดกำลังการผลิตลงตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990[4] อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีการค้นพบแหล่งสำรองใหม่และถูกเชื่อมต่อเข้าระบบเพื่อชดเชยปริมาณที่ลดลง ซึ่งแก๊สจะถูกส่งผ่านเส้นทางโซยุซด้วย ทำให้การดำเนินการของท่อส่งแก๊สจะไม่ถูกยุติลง[10] ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ท่อส่งจะได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยโดยการร่วมลงทุนของบริษัทก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและนักการเงินชาวเยอรมัน[11][12]
เส้นทาง
[แก้]ท่อส่งแก๊สเส้นทางนี้มีความยาวรวมประมาณ 2,750 กิโลเมตร โดยผ่านในประเทศคาซัคสถานประมาณ 300 กิโลเมตร, ผ่านประเทศยูเครน 1,600 กิโลเมตร และส่วนที่เหลือผ่านดินแดนรัสเซีย สถานีควบคุมสำหรับปรับเพิ่มแรงดันตั้งอยู่เป็นระยะห่างกันประมาณ 100 ถึง 150 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางมีทั้งหมด 21 สถานี โดย 12 สถานีอยู่ในยูเครน[12][13] และ 2 สถานีในคาซัคสถาน
เส้นทางโซยุซเริ่มต้นที่โรงงานแปรรูปใกล้โอเรนบุร์ก แก๊สถูกป้อนเข้าสู่ระบบจากแหล่งแก๊สใกล้เคียง (ประมาณ 30 กิโลเมตร ทางใต้ของเมืองโอเรนบุร์ก) และแหล่งแก๊สการาชรานัก (คาซัค: Қарашығанақ мұнай-газ конденсат кен орны) ประมาณ 100 กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงใต้ของโอเรนบุร์กในประเทศคาซัคสถาน รวมถึงการส่งแก๊สจากแหล่งใกล้เขตดอมบารอฟสกี (รัสเซีย: Домбаровский райо́н) ประมาณ 400 กิโลเมตร ทางตะวันออกของโอเรนบุร์ก[14]
ท่อส่งแก๊สมีเส้นทางจากเมืองโอเรนบุร์ก ตามแนวแม่น้ำอูราลไปทางทิศตะวันตกและข้ามชายแดนคาซัคสถานหลังผ่านสถานีควบคุมแรงดันที่หมู่บ้านอะเลคเซียฟกา (รัสเซีย: Алексе́евка) จากนั้นเส้นทางจะวิ่งผ่านเมืองโวรัล (คาซัค: Орал) เป็นระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร ในประเทศคาซัคสถาน
เส้นทางกลับเข้าสู่ดินแดนรัสเซียอีกครั้งใกล้กับหมู่บ้านอะเลคซานดรอฟ ไก (รัสเซีย: Алекса́ндров Гай) ในแคว้นซาราตอฟ เส้นทางนี้เชื่อมกับท่อส่งแก๊สซินตราลายา อาซิยา — ซินตร์ (รัสเซีย: Центральная Азия — Центр, CAC) ซึ่งนำแก๊สจากประเทศอดีตสาธารณรัฐโซเวียตในเอเชียกลางคือ เติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน และคาซัคสถาน ไปยังศูนย์กลางเศรษฐกิจของรัสเซีย[14][15][16] จากจุดเชื่อมต่อซึ่งไม่มีสถานีควบคุมแรงดัน ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรผ่านอาณาเขตของคาซัคสถาน ก่อนที่จะข้ามพรมแดนไปยังรัสเซียอีกครั้งทางตะวันออกของเมืองปัลลาซอฟคา (รัสเซีย: Палла́совка) จากจุดนี้ผ่านหมู่บ้านอันติปอฟคา (รัสเซีย: Антиповка) และเมืองโฟรลาวา (รัสเซีย: Фро́лово) จะผ่านสถานีควบคุมแรงดันมากกว่า 6 แห่ง และระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตรจะถึงชายแดนรัสเซีย–ยูเครน
ทางตะวันออกของยูเครน ใกล้กับเมืองนอวึปสคอว์ (ยูเครน: Новопсков) และหมู่บ้านแชบือลึนกา (ยูเครน: Шебели́нка) แก๊สส่วนเพิ่มเติมถูกป้อนเข้าระบบจากแหล่งแก๊สในท้องถิ่นและรวมเข้ากับสาขาเล็ก ๆ ของท่อส่งเส้นทางอูเรนโกย — ปามารึย — อุฌฮอรอด (Уренгой — Помары — Ужгород) จากไซบีเรียตะวันตกเฉียงเหนือ ในส่วนตะวันตกของเส้นทางหลังจากเมืองแกรแมนชุก (ยูเครน: Кременчук) คือท่อส่งแก๊สดรุชบา ซึ่งสร้างโดยคนงานของเยอรมนีตะวันออก โดยมีสถานีควบคุมความดันอยู่ที่เมืองโอลึกซานดริฟกา (ยูเครน: Олександрівка), ตัลแน (ยูเครน: Тальне́) และไฮซิน (ยูเครน: Га́йсин) จนถึงเมืองบาร์ (ยูเครน: Бар)
หลังจากที่สายทางโซยุซผ่านพื้นที่ของเมืองโดลือนา (ยูเครน: Доли́на) ได้รวมเข้ากับแนวเส้นทางสายหลักอูเรนโกย — ปามารึย — อุฌฮอรอด และสาขาทางใต้ของสายยีมาล — ยิฟโรปา (รัสเซีย: Ямал — Европа)[17] เส้นทางร่วมมีจุดหมายปลายทางที่เมืองอุฌฮอรอด บนพรมแดนยูเครน–สโลวาเกีย จากที่นี่แก๊สจะถูกส่งต่อผ่านท่อส่งแก๊ส Transgas ซึ่งส่งก๊าซผ่านประเทศสโลวาเกียและสาธารณรัฐเช็ก ไปยังออสเตรีย, เยอรมนี และจากที่นั่นไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรปตะวันตก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Pepe (2011). หน้า 107.
- ↑ 2.0 2.1 Luis-Martín Krämer (2011). "Inauguraldissertation zur Erlangung des Doktorgrades der Wirtschafts- und Sozialwissenschaftlichen Fakultät der Universität zu Köln". Die Energiesicherheit Europas in Bezug auf Erdgas und die Auswirkungen einer Kartellbildung im Gassektor (PDF) (ภาษาเยอรมัน). Köln.
- ↑ Katy Unger (1999). "Seminararbeit". Die Erdöl- und Erdgas-Vorkommen der Russischen Tafel (PDF) (ภาษาเยอรมัน). Freiberg: Institut für Geologie der TU Bergakademie Freiberg. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-04-13. สืบค้นเมื่อ 2022-03-05.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Harald Elsner, และคณะ (กุมภาพันธ์ 2009). "Kurzstudie". ใน BGR Bundesanstalt für Geowissenschaften, Rohstoffe (บ.ก.). Die Rohstoffindustrie der Russischen Föderation (PDF) (ภาษาเยอรมัน). Hannover: BGR.
- ↑ "About Gazprom / Subsidiary companies: Gazprom dobycha Orenburg (former Orenburggazprom)". Gazprom. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013.
- ↑ Götz (2008).
- ↑ Jahrbuch der internationalen Politik und Wirtschaft. Institut für Weltwirtschaft und Internationale Beziehungen der Akademie der Wissenschaften der UdSSR, Institut für Internationale Beziehungen der Akademie für Staats- und Rechtswissenschaft der DDR (ภาษาเยอรมัน). Berlin: Staatsverlag der Deutschen Demokratischen Republik. 1980. p. 51. ISSN 0304-2197.
- ↑ "LexiTV: Das große Abenteuer". Mitteldeutscher Rundfunk (ภาษาเยอรมัน). 6 มิถุนายน 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2015. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013.
- ↑ "Medal for the Construction of the Main Natural Gas Pipeline Soyuz, late 1970s". CollectRussia.com. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013.
- ↑ Roland Götz (มีนาคม 2004). Rußlands Energiestrategie und die Energieversorgung Europas (PDF). SWP-Studien (ภาษาเยอรมัน). Vol. S 6. Berlin: Stiftung Wissenschaft und Politik. ISSN 1611-6372.
- ↑ "Ukraine: Deutsche Bank finanziert Pipeline-Modernisierung". OWC Verlag für Außenwirtschaft (ภาษาเยอรมัน). 13 ธันวาคม 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 เมษายน 2013. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013.
- ↑ 12.0 12.1 "Naftogaz und Ferrostaal wollen ukrainische Pipeline modernisieren". OWC Verlag für Außenwirtschaft (ภาษาเยอรมัน). 12 กรกฎาคม 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013.
- ↑ Centre for Global Energy Studies (ตุลาคม 2007). Natural Gas Pipeline Map (PDF). Energy Charter.
- ↑ 14.0 14.1 "Landkarte". Erdgasreserven und -pipelines in Zentralasien (PDF). Militärgeschichtliches Forschungsamt (ภาษาเยอรมัน). Potsdam: MGFA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2022.
- ↑ "Central Asia – Center". Gazprom. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013.
- ↑ Yenikeyeff, Shamil (พฤศจิกายน 2008). "Kazakhstan's Gas: Export Markets and Export Routes" (PDF). Oxford Institute for Energy Studies. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2008.
- ↑ "Major Gas Pipelines of the Former Soviet Union and Capacity of Export Pipelines". East European Gas Analysis (EEGA) (ภาษาอังกฤษ). 25 พฤศจิกายน 2011. สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2013.
บรรณานุกรม
[แก้]- Friedrich Götz (2008). Russlands Gas: Chance für Europa (ภาษาเยอรมัน). Books on Demand. ISBN 978-3-8334-7454-5.
- Jacopo Maria Pepe (2011). Die Gasversorgung Europas: Das Dreieck EU – Russland – Ukraine zwischen Geopolitik, Geoökonomie und Securitization. Horizonte 21 (ภาษาเยอรมัน). Vol. 3. Universitätsverlag Potsdam. ISBN 978-3-86956-098-4.