โซกูชิมบุตสึ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โซกุชินบุตสึ)
สรีระของพระฮุ่ยเหนิงในเส้ากวน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

โซกูชิมบุตสึ (ญี่ปุ่น: 即身仏) เป็นประเภทหนึ่งของมัมมี่นักบวชในศาสนาพุทธ คำนี้ยังหมายถึงการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้บำเพ็ญพรตจนมรณภาพและร่างกลายเป็นมัมมี่[1] สามารถพบเห็นในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ

เชื่อว่ามีพระหลายร้อยรูปพยายามปฏิบัติ แต่มีเพียงมัมมี่ 24 ร่างที่มีการค้นพบ มีการเสนอว่าพระคูไก ผู้ก่อตั้งนิกายชิงงนที่ปฏิบัติโซกูชิมบุตสึนำวิธีมาจากราชวงศ์ถังในจีน อันเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกตันตระ[2]

ที่มา[แก้]

มีการค้นพบมัมมี่อายุ 550 ปีของพระสังฆะ แตนจินทางตอนเหนือของภูมิภาคหิมาลัยในอินเดียใน ค.ศ. 1975[3] เชื่อว่าพระรูปนี้เป็นผู้บำเพ็ญซกเซน และมีการค้นพบมัมมี่คล้ายกันในทิเบตและเอเชียตะวันออก[4] การคงสภาพมานานกว่าห้าศตวรรษของมัมมี่นี้อาจมาจากพื้นที่แห้งแล้งและสภาพอากาศที่หนาวเย็น[3]

พอล วิลเลียมส์ นักวิชาการศาสนาพุทธบรรยายว่าโซกูชิมบุตสึที่ปฏิบัติในศาสนาชูเง็นโดน่าจะรับมาจากพระคูไก ผู้ก่อตั้งนิกายชิงงนที่มรณภาพจากการอดอาหารขณะทำสมาธิและสวดมนต์[5] การทำตนเองเป็นมัมมี่นี้มีบันทึกในจีนโดยเกี่ยวข้องกับนิกายเซน[5] การบำเพ็ญพรตอื่นรวมถึงการเผาตนเองดังที่เคยมีการปฏิบัติที่วัดฝ่าหยู่ใน ค.ศ. 396[6]

ในญี่ปุ่น[แก้]

ศาสนาชูเง็นโดเป็นการผสานความเชื่อแบบนิกายวัชรยาน ศาสนาชินโต และลัทธิเต๋า ถือกำเนิดในคริสต์ศตวรรษที่ 7 เน้นย้ำการบำเพ็ญพรต[7] หนึ่งในการบำเพ็ญพรตของศาสนานี้คือโซกูชิมบุตสึซึ่งปฏิบัติในป่าเขาเพื่อบรรลุพุทธภาวะ ศาสนาชูเง็นโดถือว่าภูเขาสามลูกแห่งเดวะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับการบำเพ็ญนี้ ซึ่งความเชื่อนี้ยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน[7][8]

ในญี่ปุ่นสมัยกลาง การปฏิบัตินี้พัฒนาเป็นกระบวนการที่พระจะใช้เวลาสำเร็จใน 3,000 วัน[7] พระจะฉันโมกูจิกิ (แปลตรงตัวว่า "กินต้นไม้")[9][8] ละเว้นจากการฉันธัญพืช ดำรงชีพด้วยใบสน ยางสนและเมล็ดสนในป่าเพื่อกำจัดไขมันทั้งหมดในร่างกาย[9][3] ก่อนจะลดปริมาณอาหารและน้ำจนอวัยวะหดลง[9] ท้ายที่สุดพระจะมรณภาพในขณะทำสมาธิและสวดมนต์ โดยร่างกลายสภาพเป็นมัมมี่ที่ไม่เสื่อมสลาย มัมมี่เหล่านี้ได้รับการเคารพบูชาโดยพุทธศาสนิกชน[8]

การทำตนเองเป็นมัมมี่ปฏิบัติส่วนใหญ่ในแถบยามางาตะ ตอนเหนือของญี่ปุ่นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11–19 โดยพระนิกายชิงงน อันเป็นวัชรยานสายหนึ่ง ผู้ปฏิบัติไม่ได้มองว่าโซกูชิมบุตสึเป็นการฆ่าตัวตาย แต่มองเป็นการบรรลุธรรมรูปแบบหนึ่ง[10]

จักรพรรดิเมจิสั่งห้ามโซกูชิมบุตสึใน ค.ศ. 1879 และการช่วยฆ่าตัวตายรวมถึงการฆ่าตัวตายในศาสนาถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. Jeremiah, Ken. Living Buddhas: The Self-mummified Monks of Yamagata, Japan. McFarland, 2010
  2. Aaron Lowe (2005). "Shingon Priests and Self-Mummification" (PDF). Agora Journal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-08-29. สืบค้นเมื่อ 2012-12-14.
  3. 3.0 3.1 3.2 A 500 year old Mummy with teeth, BBC News
  4. Ken Jeremiah (2010), Living Buddhas: The Self-mummified Monks of Yamagata, Japan, McFarland, pp. 36–37
  5. 5.0 5.1 Paul Williams (2005). Buddhism: Buddhism in China, East Asia, and Japan. Routledge. pp. 362 with footnote 37. ISBN 978-0-415-33234-7.
  6. James A. Benn (2007). Burning for the Buddha: Self-Immolation in Chinese Buddhism. University of Hawaii Press. pp. 33–34, 82–84. ISBN 978-0-8248-2992-6.
  7. 7.0 7.1 7.2 Ken Jeremiah (2010), Living Buddhas: The Self-mummified Monks of Yamagata, Japan. McFarland, pp. 10–11
  8. 8.0 8.1 8.2 Tullio Federico Lobetti (2013). Ascetic Practices in Japanese Religion. Routledge. pp. 130–136. ISBN 978-1-134-47273-4.
  9. 9.0 9.1 9.2 Ken Jeremiah (2010), Living Buddhas: The Self-mummified Monks of Yamagata, Japan, McFarland, pp. 11–14
  10. "Sokushinbutsu – Japanese Mummies". JapanReference.com. สืบค้นเมื่อ 2013-09-30.