โจว จื่อ-ยฺหวี
จื่อ-ยฺหวี | |
---|---|
![]() จื่อ-ยฺหวีในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 | |
เกิด | โจว จื่อ-ยฺหวี 14 มิถุนายน ค.ศ. 1999 ไถหนาน ไต้หวัน |
อาชีพ | นักร้อง |
อาชีพทางดนตรี | |
ที่เกิด | เกาหลีใต้ |
แนวเพลง | |
เครื่องดนตรี | เสียงร้อง |
ช่วงปี | 2015–ปัจจุบัน |
ค่ายเพลง | |
สมาชิกของ | |
ชื่อภาษาจีน | |
อักษรจีนตัวเต็ม | 周子瑜 |
ฮั่นยฺหวี่พินอิน | Zhōu Zǐyú |
จู้อิน | ㄓㄡ ㄗˇ ㄩˊ |
เวด-ไจลส์ | Chou1 Tzŭ3-yü2 |
เป่อ่วยยีภาษาฮกเกี้ยน | Chiu Chú-jû |
ชื่อภาษาเกาหลี | |
ฮันกึล | |
อาร์อาร์ | Jeou Jjeuwi |
เอ็มอาร์ | Chŏu Tchŭwi |
ลายมือชื่อ | |
![]() |
โจว จื่อ-ยฺหวี (จีน: 周子瑜; พินอิน: Zhōu Zǐyú; อักษรโรมัน: Chou Tzu-yu; เกิด 14 มิถุนายน ค.ศ. 1999) ชื่อในการแสดงว่า จื่อ-ยฺหวี (Tzuyu) เป็นนักร้องเคป็อปชาวไต้หวัน เป็นสมาชิกของทไวซ์ (Twice) กลุ่มดนตรีหญิงซึ่งบริษัทเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ จัดตั้งขึ้นในเกาหลีใต้เมื่อปี 2015 ผ่านรายการรีแอลลิตีโชว์ชื่อ ซิกซ์ทีน (Sixteen)
เดือนมกราคม 2016 มีการเผยแพร่ภาพจื่อ-ยฺหวี ถือธงชาติไต้หวัน ทางอินเทอร์เน็ต พร้อมกล่าวหาว่า จื่อ-ยฺหวี สนับสนุนให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราชจากจีน เป็นเหตุให้ชาวจีนเดือดดาล ครั้นวันที่ 15 มกราคม 2016 เจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ให้จื่อ-ยฺหวี ออกวีดิทัศน์ขอขมา เชื่อกันว่า ข้อกล่าวหาจื่อ-ยฺหวี นั้นเป็นไปเพื่อให้มีผลต่อความคิดของสาธารณชนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอันจะมีขึ้นในวันถัดมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางคนระบุว่า เดิมสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (民主進步黨) ซึ่งชูนโยบายหนุนเอกราชไต้หวัน ก็ต้องทบทวนความคิดใหม่หลังเกิดเหตุการณ์ของจื่อ-ยฺหวี อย่างไรก็ดี ครั้นมีการเลือกตั้งแล้ว ปรากฏว่า พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ายังคงได้คะแนนเสียงท่วมท้น ส่งผลให้ผู้สมัครจากพรรคได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์[1]
ประวัติ[แก้]
จื่อ-ยฺหวี กำเนิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 1999 ณ นครไถหนาน ประเทศไต้หวัน ครั้นปี 2012 แมวมองในวงการบันเทิงพบจื่อ-ยฺหวี ที่ "การประชุมเชิงปฏิบัติการทางศิลปะการแสดงของมิวซ์" (MUSE Performing Arts Workshop) ในไถหนาน[2] จึงนำพาจื่อ-ยฺหวี ไปยังเกาหลีใต้ในปีนั้นเพื่อฝึกฝนให้เป็นดารา เมื่อได้ฝึกฝนมากว่าสองปี จื่อ-ยฺหวี จึงปรากฏตนเป็นครั้งแรกในรายการโทรทัศน์ชื่อ ซิกซ์ทีน เมื่อปี 2015 และได้รับเลือกเป็นหนึ่งในหญิงสาวเก้าคนที่ประกอบกันเป็นกลุ่มดนตรีกลุ่มใหม่ชื่อ "ทไวซ์" เพื่อเปิดตัวในเดือนตุลาคม 2015[2]
ในปี 2015 นั้นเอง ทีซีแคนด์เลอร์ (TC Candler) ยังจัดให้จื่อ-ยฺหวี เป็นหนึ่งในร้อยบุคคลผู้มีโฉมหน้างดงามที่สุดด้วย[3]
กรณีธงชาติ[แก้]
เหตุการณ์[แก้]
ในเดือนพฤศจิกายน 2015 จื่อ-ยฺหวี กับเพื่อนร่วมวงทไวซ์ ออกรายการชื่อ มายลิตเติลเทเลวิชัน (My Little Television) ในเกาหลีใต้ ในรายการนั้น จื่อ-ยฺหวี แนะนำตนว่า มาจากไต้หวัน พร้อมถือธงชาติไต้หวันและธงชาติเกาหลีใต้ อนึ่ง ยังปรากฏธงชาติญี่ปุ่นเพื่อบ่งบอกประเทศที่มาของสมาชิกคนอื่น ๆ ด้วย[4]
หฺวาง อัน (黄安) นักร้องชาวไต้หวันซึ่งทำงานอยู่ในจีน นำรูปจื่อ-ยฺหวี ถือธงดังกล่าวลงเผยแพร่ในบัญชีซินล่างเวย์ปั๋วของตัว แล้วกล่าวหาว่า จื่อ-ยฺหวี สนับสนุนให้ไต้หวันแยกตนเป็นเอกราชจากจีน[5] ก่อนหน้านี้ หฺวาง อัน เคยกล่าวหาบุคคลอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันมาแล้ว เช่น หวัง สี่ (王喜) นักร้องชาวฮ่องกงซึ่งถูกหาว่า เขียนเฟซบุ๊กปรามาสจีน จนต้องออกโทรทัศน์ขออภัย[6]
ข้อกล่าวของหฺวาง อัน ทำให้สื่อมวลชนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนตอบโต้จื่อ-ยฺหวี อย่างรุนแรงว่า หากินกับแผ่นดินใหญ่แล้วกลับหักหลังหนุนแผ่นดินแม่ให้แยกตัว[7] ในไม่ช้า สถานีโทรทัศน์จีนก็ถอดรายการเกี่ยวกับกลุ่มทไวซ์ออกทั้งสิ้น และหัวเว่ย (华为) บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ในจีน ก็ปลดสินค้าที่จื่อ-ยฺหวี อนุมัติให้จำหน่ายในนามของเธอ เจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์จึงจำต้องระงับกิจกรรมทั้งหมดของจื่อ-ยฺหวี ในแผ่นดินใหญ่[8]
ครั้นวันที่ 15 มกราคม 2016 พัก จิน-ย็อง (박진영) ประธานเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ เขียนขออภัยสื่อมวลชนจีนในบัญชีเวย์ปั๋วของตัว แล้วให้จื่อ-ยฺหวี อ่านแถลงการณ์ขอขมาลงวีดิทัศน์เผยแพร่ ความตอนหนึ่งว่า[1]
“ | จีนย่อมมีหนึ่งเดียว สองน่านน้ำรวมเป็นหนึ่ง ดิฉันภูมิใจที่ได้เป็นชาวจีนมาเสมอ ดิฉันใคร่ขออภัยอย่างยิ่ง ทั้งต่อบริษัทของดิฉัน และต่อผองเพื่อนในอินเทอร์เน็ตจากสองฝั่งน้ำ ที่ดิฉันได้สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้ ดิฉันละอายใจยิ่งนัก | ” |
ปฏิกิริยา[แก้]
วีดิทัศน์ดังกล่าวทำให้เธอได้รับเสียงปลอบประโลมจากทั่วโลก แต่ก็ทำให้ชาวไต้หวันส่วนใหญ่เสียขวัญ ทั้งโกรธเกรี้ยวที่หญิงสาววัยสิบหกปีถูกปฏิบัติเช่นนี้[9]
ในช่วงนั้นเอง จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสามคนล้วนแถลงให้กำลังใจจื่อ-ยฺหวี ไช่ อิงเหวิน (蔡英文) จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ระบุว่า "พลเมืองชาวสาธารณรัฐจีนไม่สมควรเอาโทษเธอที่โบกธงชาติสนับสนุนบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ เธอถูกบีบให้กล่าววาจาอันเห็นได้ชัดว่า ขัดต่อความประสงค์ที่แท้จริงของเธอ ฉะนั้น นี่ย่อมเป็นเรื่องร้ายแรง ย่ำยีจิตใจชาวไต้หวันทั้งมวล" ส่วนจู ลี่หลุน (朱立倫) จากพรรคชาตินิยม (國民黨) กล่าวว่า รับไม่ได้ที่คนจีนเอาความเกลียดชังไปลงยังเด็กหญิงวัยสิบหกปี เขายังว่า ได้ชมวีดิทัศน์ที่เธอขอขมาแล้ว ยิ่งรับไม่ได้กับการกระทำของหฺวาง อัน และเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ ขณะที่หม่า อิงจิ่ว (馬英九) ผู้ซึ่งกำลังพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี ว่า "ไม่ได้ทำอะไรผิด กลับถูกบีบให้ขอโทษเช่นนี้ ผมอยากบอกหนูโจวว่า หนูไม่จำเป็นต้องขอโทษใครเลย พวกเราสนับสนุนหนูเสมอ"[7]
ผลต่อการเลือกตั้ง[แก้]
เหตุการณ์นี้เป็นที่สนใจของคนทั้งโลก และเชื่อกันว่า อาจมีผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี มีการสำรวจพบว่า หลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว บางคนที่เคยสนับสนุนไช่ อิงเหวิน ซึ่งหนุนเอกราชไต้หวันนั้น ระบุว่า ต้องทบทวนความคิดของตัวอีกครั้ง ถึงอย่างนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ 16 มกราคม 2016 ก็ปรากฏว่า ไช่ อิงเหวิน ยังคงได้รับคะแนนเสียงถล่มทลาย และได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ[1]
ไม่ช้าหลังรู้ผลเลือกตั้ง สภากิจการแผ่นดินใหญ่ (大陸委員會) หน่วยงานไต้หวันซึ่งรับผิดชอบนโยบายที่ไต้หวันมีต่อจีน จึงออกโรงปกป้องจื่อ-ยฺหวี และแถลงต่อสำนักกิจการไต้หวัน (台灣事務辦公室) หน่วยงานจีนที่ดูแลนโยบายซึ่งจีนมีต่อไต้หวัน ขอให้สนใจเหตุการณ์ทำนองนี้ให้มากยิ่งขึ้น และให้ป้องปรามภาคเอกชนในบ้านเมืองของตัวเสียบ้าง เพราะพฤติการณ์เช่นนี้ย่อมกระทบกระเทือนทั้งต่อจิตใจชาวไต้หวัน และต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน นอกจากนี้ สภาฯ ยังประณามหฺวาง อัน ว่า พฤติกรรมของเขาส่งผลร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ของจีนกับไต้หวัน ในที่สุด สภาฯ วิงวอนให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่าได้คลายความรักใคร่สมัครสมานกัน[10]
ผลต่อหฺวาง อัน[แก้]
คำขอขมาของจื่อ-ยฺหวี ทำให้เกิดการต่อต้านหฺวาง อัน ขึ้นในไต้หวัน สื่อมวลชนไต้หวันยกเลิกรายการที่หฺวาง อัน จะมาปรากฏตัว และลบรายการคาราโอเกะเพลงของหฺวาง อัน ทิ้ง[11]
ประชาชนไต้หวันกว่าหนึ่งหมื่นคนกำหนดจะเดินขบวนประท้วงในวันที่ 24 มกราคม 2016[12] แต่เลิกล้มไปเพราะไม่ประสงค์จะให้เกิดผลกระทบต่อจื่อ-ยฺหวี[13]
หวัง เข่อฟู่ (王可富) นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนชาวไต้หวัน ฟ้องหฺวาง อัน กับเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ เป็นจำเลยที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญาโดยบังคับจิตใจจื่อ-ยฺหวี และริดรอนสิทธิในการกำหนดตนเองของจื่อ-ยฺหวี[14][15]
หฺวาง อัน ประกาศลงบัญชีเวย์ปั๋วของตัวว่า จะแถลงข่าว ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2016 ในไต้หวัน เพื่อชี้แจงข้อมูลฝ่ายตนบ้าง โดยระบุว่า ตนมิได้ทำอะไรผิด หากแต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มากกว่า[11][16] ไม่นานหลังจากนั้น หฺวาง อัน ลบเนื้อหาในบัญชีเวย์ปั๋วของตัวทิ้งทั้งสิ้น คิดเป็นข้อความและรูปภาพราว 4,900 ชุด[13]
ผลต่อเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์[แก้]
วันที่ 18 มกราคม 2016 ไม่กี่วันหลังจื่อ-ยฺหวี ขอขมา หุ้นของเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ในตลาดหุ้นคอสแด็ก (KOSDAQ) ร่วงอย่างหนัก จาก 6,300 วอนลงไปที่ 4,000 วอน และปิดตัวที่ 4,300 วอน[17]
นอกจากคดีที่หวัง เข่อฟู่ ฟ้องในไต้หวันข้างต้นแล้ว ศูนย์เกาหลีหลากวัฒนธรรม (Center for Multicultural Korea) ยังตั้งข้อสงสัยต่อจริยธรรมของเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ ทั้งจะสอบสวนว่า จื่อ-ยฺหวี ขอขมาโดยเต็มใจหรือไม่ ถ้าพบว่า จื่อ-ยฺหวี ถูกบีบให้แถลงขอขมา ก็จะฟ้องเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ กับประธาน คือ พัก จิน-ย็อง ฐานเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ และฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน[18]
ในช่วงเวลาเดียวกัน นักเลงคอมพิวเตอร์นิรนามหลายรายรุกเข้าไปในเว็บไซต์ของเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์และก่อกวนระบบด้วยวิธีโจมตีโดยปฏิเสธการให้บริการ[19] เจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์กล่าวว่า แม้ไม่อาจระบุตัวผู้บุกรุก แต่ก็เชื่อว่า เกี่ยวพันกับกรณีของจื่อ-ยฺหวี[20]
เจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ยังกล่าวว่า เตรียมกำหนดวิธีการใหม่ในการดำเนินกิจกรรมต่างแดน เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งแก่ลูกจ้างของตนอีก วิธีการเหล่านี้รวมถึงการฝึกอบรมเกี่ยวกับความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม ซึ่งจะรวมประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศเอาไว้ด้วย[21]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 1.2 Buckley, Chris & Ramzy, Austin (2016-01-16). "Singer's Apology for Waving Taiwan Flag Stirs Backlash of Its Own".
{{cite news}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ 2.0 2.1 Gloria Chan (16 January 2016). "Who is the 16-year-old girl at the centre of a political storm ahead of Taiwan's presidential poll?". South China Morning Post.
- ↑ "Tzuyu chosen as most beautiful face in China". Korea Herald. 2015-12-29.
- ↑ Daniel Politi. (2016-01-16). "Did a 16-Year-Old Pop Star Help Pro-Independence Party Win Taiwan’s Election?" Retrieved: 2016-01-18.
- ↑ "Chou Tzu-yu deal in jeopardy after Huang An tip-off". Taipei Times.
- ↑ Hong Kong star’s face blurred out on Chinese state TV show after he shared news report suggesting former premier Zhou Enlai was gay South China Morning Post 11 Jan 2016
- ↑ 7.0 7.1 "Taiwan's presidential candidates unite after apology by K-pop singer Chou Tzu-yu over flag scandal". Shanghaiist. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-02. สืบค้นเมื่อ 2016-03-31.
- ↑ "Taiwanese K-pop singer Chou Tzu-yu mired in flag row". The Straits Times.
- ↑ Li Xueying (16 January 2016). "Video of K-pop singer Chou Tzu-yu apologising for waving flag angers Taiwanese on polling day". The Straits Times.
- ↑ "MAC asks China to rein in private sector in wake of flag controversy". 2016-01-16. สืบค้นเมื่อ 2016-01-18.
- ↑ 11.0 11.1 Horwitz, Josh. "Why a washed-up pop star is suddenly the most hated man in Taiwan". Quartz. Atlantic Media Co. สืบค้นเมื่อ 22 January 2016.
- ↑ "Politicians Weigh into Taiwan Teen Starlet Controversy". The Chosun-Ilbo. 18 January 2016.
- ↑ 13.0 13.1 "China-based Taiwanese singer deletes online messages after flag row". Yonhap News Agency. 20 January 2016.
- ↑ Hsieh, Nine (20 January 2016). "JYP Entertainment and Huang An face lawsuit over teen pop star spat". China Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-10. สืบค้นเมื่อ 2016-01-31.
- ↑ Chen, Christie (18 January 2016). "Timeline of the Chou Tzu-yu flag controversy". Focus Taiwan. Central News Agency.
- ↑ "Huang An to explain his side of story next month". Taipei Times. 19 January 2016.
- ↑ Park, Hyong-ki; Lee, Joel (18 January 2016). "[Newsmaker] JYP in tight spot over Tzuyu furor". The Korea Herald. Herald Corporation. สืบค้นเมื่อ 28 January 2016.
- ↑ Sung, So-young (19 January 2016). "Criticism narrows in on JYP, Park". Korea JoongAng Daily. JoongAng Ilbo. สืบค้นเมื่อ 28 January 2016.
- ↑ "S Korea website 'hacked' over Chou Tzuyu Taiwan flag row". BBC News. BBC. 19 January 2016. สืบค้นเมื่อ 28 January 2016.
- ↑ "Cyber attacks brings down JYP Entertainment website". The Korea Times. The Korea Times. 18 January 2016. สืบค้นเมื่อ 28 January 2016.
- ↑ Kim, Jae-heun (18 January 2016). "JYP Entertainment to overhaul hallyu strategy". The Korea Times. The Korea Times. สืบค้นเมื่อ 28 January 2016.
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
