สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โครงการหลวงอ่างขาง)

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ทดแทนการปลูกฝิ่น สถานีวิจัยแห่งแรก[1]ของโครงการหลวงอยู่บนเทือกเขาแดนลาว ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่[2] มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร และมียอดดอยสูงถึง 1,928 เมตร พื้นที่รับผิดชอบประมาณ 26.52 ตารางกิโลเมตร หรือ 16,577 ไร่ อากาศดี จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2512[3] ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ว่า “ให้เขาช่วยตัวเอง” เปลี่ยนพื้นที่จากไร่ฝิ่นมาเป็นแปลงเกษตรเมืองหนาวที่สร้างรายได้ดีกว่าเก่าก่อนและไม่ผิดกฎหมาย

ประวัติ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ที่หมู่บ้านผักไผ่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาเผ่ามูเซอ ซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่ง สำคัญต่อระบบนิเวศ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่น ๆ ของประเทศได้

จึงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศที่หนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับ พระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่ในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวงจนถึงพ.ศ. 2560 ใช้เป็นสถานีวิจัย และทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิด ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขา ในการนำพืช เหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามว่า "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง"

สภาพทั่วไป[แก้]

พันธุ์พืชเมืองหนาวในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ภาพรวมของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตั้งอยู่ในเขตบ้านคุ้ม หมู่ที่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรประมาณ 1,800 ไร่ มีหมู่บ้านชาวเขาที่สถานีฯ ให้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพรวม 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหลวง บ้านคุ้ม บ้านนอแล บ้านปางม้า บ้านป่าคา และบ้านขอบด้ง ซึ่งประกอบไปด้วยประชากร 4 เผ่าได้แก่ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และจีนฮ่อ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 17.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 องศาเซลเซียสในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุด –3 องศาเซเซียสในเดือนมกราคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,075 มิลลิเมตรต่อปี

การดำเนินงานของสถานี[แก้]

  1. งานศึกษาวิจัย ไม้ผลเขตหนาว และขยายพันธุ์พืชชนิดต่างๆ
  2. งานเผยแพร่และฝึกอบรม เป็นแหล่งวิชาการปลูกพืชบนที่สูงที่สำคัญ เป็นสถานที่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และเกษตรกรของมูลนิธิฯ
  3. งานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกร เป็นการดำเนินงานส่งเสริม และพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร บริเวณรอบสถานี โดยมีส่วนราชการต่างๆ ร่วมดำเนินงานในรูปคณะทำงานศูนย์พัฒนา โครงการหลวง กิจกรรมที่สำคัญได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำ การวางแผน การใช้ที่ดิน การส่งเสริมการปลูกไม้ผล ผัก ชา การฟื้นฟูระบบนิเวศ การฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ และการปลูกป่าชาวบ้าน

การเดินทาง[แก้]

การเดินทาง สามารถเดินทางขึ้นดอยอ่างขางได้ทั้งหมด 3 เส้นทาง แต่เส้นทางที่ใช้เป็นหลัก มีอยู่เส้นทางเดียวคือ ขึ้นดอยอ่างข่างที่กิโลเมตรที่ 137 ณ วัดหาดสำราญ

การเดินทางโดยรถยนต์[แก้]

การเดินทางโดยรถยนต์สามารถเดินทางไปได้หลาย 3 เส้นทาง ดังนี้

  1. ขึ้นดอยอ่างขาง ณ วัดหาดสำราญ กม 137 สามารถใช้เส้นทาง เชียงใหม่-ฝาง (เส้นทางหลวงหมายเลข 107) มาถึงปากทางขึ้นดอยอ่างขาง ให้เลี้ยวซ้ายตามถนน ซึ่งค่อนข้างลาดชัน มีทางโค้งและสูงช้น
  2. ขึ้นดอยอ่างขาง ณ อำเภอเชียงดาว กม 79 จากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง (ทางหลวงหมายเลข 107) เดินทางเรื่อยมาจนถึงอำเภอเชียงดาว บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 79 จะพบทางแยก (เส้นทางหมายเลข 1) เลี้ยวซ้ายผ่าน ต.เมืองงาย บ้านอรุโณทัย บ้านหลวง เส้นทางค่อนข้างแคบแต่ไม่ลาดชัน
  3. เส้นทางจากอำเภอฝาง-หมู่บ้านนอแล มีระยะทางสั้นที่สุด แต่มีความลาดชัดมากและไหล่ทางชำรุด เป็นหลุมบ่อ พื้นถนนเป็นหินกรวด เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเลียบแนวชายแดนไทย-พม่า ตลอดทางจะมีด่านทหาร และพบเห็นทั้งค่ายทหารของไทย และพม่า บริเวณสองริมฝั่งหุบเขา ไม่แนะนำให้ไปโดยเด็ดขาด

การเดินทางโดยรถประจำทาง[แก้]

  1. เดินทางจาก จังหวัดเชียงใหม่ - ดอยอ่างขาง สามารถโดยสารรถประจำทางสายเชียงใหม่-ฝาง หรือ เชียงใหม่-ท่าตอน มาลงที่ปากทางดอยอ่างขาง หน้าวัดหาดสำราญ กิโลเมตรที่ 137 จากนั้นใช้บริการรถสองแถว รถตู้ หรือรถมอเตอร์ไซด์ขึ้นดอยอ่างขางอีกครั้งหนึ่ง หรือเดินทางด้วยรถตู้ประจำทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปยังอ่างขาง ได้เช่นกัน
  2. เดินทางจาก จังหวัดเชียงราย - ดอยอ่างขาง สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทาง เชียงราย - ดอยอ่างขางได้เช่นกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "อ่างขาง โครงการหลวงแห่งแรก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-14. สืบค้นเมื่อ 2023-12-14.
  2. นักท่องเที่ยวสัมผัสความหนาวที่ดอยอ่างขาง - ชมใบไม้เปลี่ยนสี
  3. “ดอยอ่างขาง” โครงการหลวงแห่งแรกจากการเสด็จประพาสต้น

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 19°54′08″N 99°02′25″E / 19.90210°N 99.04017°E / 19.90210; 99.04017