โคมูโซ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นักบวชภิกขาจารแต่งกายอย่างโคมูโซ

โคมูโซ (ญี่ปุ่น: 虚無僧โรมาจิKomusō, "นักบวชสุญตา") ก่อนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 เรียกว่า โคโมโซ (ญี่ปุ่น: 薦僧โรมาจิkomosō, "นักบวชหมวกกก") เป็นคณะนักบวชภิกขาจารของสำนักฟูเกะ อันเป็นสำนักเรียนที่แยกออกมาจากสำนักรินไซของศาสนาพุทธนิกายเซน ซึ่งรับจากความเชื่อจากศาสนาจารย์ชาวจีนอีกที[1] มีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 เฟื่องฟูมากในยุคเอโดะตรงกับช่วง ค.ศ. 1600–1868[2] นักบวชกลุ่มนี้มีลักษณะโดดเด่นเป็นที่สังเกตได้ ด้วยสวมหมวกที่สานจากหญ้าจำพวกกกเรียกว่าเท็งไกหรือเท็งกูอิ (天蓋) สื่อถึงการไม่มีตัวตน[3] และมีเครื่องเป่าลมไม้เรียกว่าชากูฮาจิ (尺八) หรือขลุ่ยไม้ไผ่ญี่ปุ่น เพลงที่เป่ามีชื่อเรียกว่า ฮงเกียวกุ (本曲) เป็นการฝึกสมาธิจากการกำหนดลมหายใจมากกว่ามุ่งให้เป็นเพลง[4] กระทำเพื่อการรู้แจ้งด้วยตนเองหรือซูอิเซ็งอย่างหนึ่ง[5]

ในรัฐบาลโชกุนอาชิกางะ โคมูโซได้รับอนุญาตให้จาริกได้ทั่วญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งก็เพราะโคมูโซบางส่วนเป็นสายลับให้โชกุน บ้างก็เป็นสายลับที่แฝงตัวเป็นโคมูโซ[6] กระทั่งโชกุนโทกูงาวะถูกโค่นลงใน ค.ศ. 1868 หลังจากนั้นจึงมีคำสั่งให้ยุบวัดของสำนักฟูเกะและนักบวชแบบโคมูโซลงใน ค.ศ. 1871 เพราะนักบวชยุ่งเกี่ยวกับทางโลกมากไป และมิได้ประพฤติตนตามหลักสุญตาอย่างที่ควรจะเป็น

อ้างอิง[แก้]

  1. Fuke Shakuhachi Official Site
  2. Blomberg, Catharina (1994). The heart of the warrior: origins and religious background of the Samurai System in Feudal Japan. Catharina Blomberg. pp. 101–103. ISBN 1-873410-13-1.
  3. Nishiyama, Matsunosuke; Groemer, Gerald (1997). Edo culture: daily life and diversions in urban Japan, 1600-1868. University of Hawaii Press. p. 124. ISBN 0-8248-1736-2.
  4. Keister, Jay (2004). "The Shakuhachi as a Spiritual Tool: A Japanese Buddhist Instrument in the West". Asian Music. 35 (2): 104–105.
  5. The Annals of the International Shakuhachi Society, Volume 1. Ed. Dan E Mayers [n.d., c. 1996?]: Christopher Blasdel, “The Shakuhachi: Aesthetics of a single tone,” p. 13.
  6. Turnbull, Stephen R. (2005). Warriors of medieval Japan. Osprey publishing. p. 160. ISBN 1-84176-864-2.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ โคมูโซ