เซี่ยจื้อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แฮแท)
เซี่ยจื้อในวังต้องห้าม
เซี่ยจื้อบนชุดขุนนางราชวงศ์ชิง
แฮแทที่พระราชวังคย็องบก เกาหลีใต้

เซี่ยจื้อ (จีน: 獬豸; พินอิน: xièzhì) เป็นสัตว์ในประมวลเรื่องปรัมปราของเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เชื่อกันว่า สามารถแยกแยะถูกผิดได้โดยสัญชาตญาณ จึงถือกันเป็นสัญลักษณ์แห่งกระบวนการยุติธรรม

จีน[แก้]

เดิมทีมีสัตว์ชนิดหนึ่งเรียก "จื้อ" (廌) ซึ่งประมวลเรื่องปรัมปราจีนว่า เป็นสัตว์เลี้ยงของเกา เหยา (臯陶) เสนาบดียุติธรรมของจักรพรรดิชุ่น (帝舜) สัตว์นี้เป็นแพะมีเขาแหลมตรงกลางศีรษะ สามารถแยกแยะใครถูกใครผิดได้โดยสัญชาตญาณ เมื่อเกา เหยา พบปัญหาในคดีอาญา ก็จะอาศัยสัตว์ดังกล่าวช่วยเหลือ[1]

ส่วนสัตว์ที่เรียก "เซี่ยจื้อ" นั้นปรากฏในวรรณกรรมจีนย้อนหลังไปได้ถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น ในงานของขุนนางหยาง ฟู่ (楊阜) ซึ่งระบุว่า "สัตว์แห่งความยุติธรรม เมื่อเห็นการทะเลาะวิวาท มันจะตรงเข้าขวิดฝ่ายที่ผิด เมื่อได้ยินการทุ่มเถียงด่าทอ มันจะตรงเข้ากัดฝ่ายที่ผิด"

เอกสารอีกฉบับจากสมัยเดียวกัน คือ โชวเหวินเจี่ยจื้อ (說文解字) กล่าวว่า "จื้อ หรือเซี่ยจื้อ เป็นสัตว์คล้ายวัว แต่มีเขาเดียว สมัยก่อน เมื่อมีคดี มันจะตรงเข้าขวิดฝ่ายที่ผิด" (廌,解廌,獸也,似牛,一角,古者訴訟,令觸不直者。)

เซี่ยจื้อนับถือกันมายาวนานว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย สมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ขุนนางผู้ตรวจราชการจากฝ่ายตรวจการใช้รูปเซี่ยจื้อเป็นเครื่องหมายตำแหน่ง สมัยปัจจุบัน เครื่องแบบสารวัตรทหารในไต้หวันมีรูปเซี่ยจื้ออยู่ และค้อนตุลาการในจีนจะมีรูปเซี่ยจื้อสลักอยู่

ประเทศอื่น[แก้]

ความเชื่อข้างต้นยังแพร่ไปในประเทศเพื่อนบ้าน คือ ญี่ปุ่น และเกาหลี

ในญี่ปุ่น สัตว์นี้เรียก "ไคจิ" (獬豸) หรือ "ชินโย" (神羊) มีลักษณะเป็นสิงโตมีเขาหนึ่งเขาอยู่บนศีรษะ[2]

ส่วนในเกาหลี สัตว์นี้เรียก "แฮแท" หรือ "แฮชิ" (해태) เล่ากันว่า มีร่างเป็นสิงโต มีเขาหนึ่งเขาอยู่บนศีรษะ สวมกระพรวนที่คอ อาศัยอยู่ชายแดนแมนจูเรีย[3] ต้นราชวงศ์โชซ็อน แฮแทปรากฏมากในสถาปัตยกรรม เพราะเชื่อกันว่า มีอำนาจป้องกันเมืองฮันยัง (ปัจจุบัน คือ โซล) จากพิบัติภัยธรรมชาติ และรักษาความสงบเรียบร้อยของพลเมือง ฉะนั้น โซลจึงใช้แฮแทเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำเมืองตั้งแต่ ค.ศ. 2009

อ้างอิง[แก้]

  1. Jeannie Thomas Parker, The Mythic Chinese Unicorn, http://chinese-unicorn.com/ch01/ เก็บถาวร 2015-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. Gould, Charles (2009). Mythical Monsters. BiblioLife. pp. 357–359. ISBN 0-559-10836-2.
  3. An Illustrated Guide to Korean Culture - 233 traditional key words by The National Academy of the Korean Language

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]