แสตมป์ทั่วไป
แสตมป์ทั่วไป (อังกฤษ definitive stamp) เป็นแสตมป์ที่วัตถุประสงค์ในการพิมพ์เพื่อใช้งาน แทนที่จะพิมพ์ขึ้นเพื่อการสะสมเหมือนแสตมป์ที่ระลึก ลักษณะของแสตมป์ทั่วไป มักมีหลายราคาครอบคลุมอัตราค่าไปรษณีย์ต่าง ๆ กัน มักทยอยพิมพ์และนำออกจำหน่ายต่อเนื่องกันหลายปี และมีการพิมพ์เพิ่มเติมเมื่อแสตมป์ที่มีอยู่ถูกใช้งานจนเหลือน้อย
คำว่า definitive stamp เริ่มแพร่หลายช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อใช้แยกความแตกต่างจากแสตมป์ที่ระลึก สำหรับประเทศไทยแสตมป์ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสมัยนั้น เรียกว่า แสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์
ราคา
[แก้]ราคาบนดวงแสตมป์จะขึ้นอยู่กับอัตราค่าไปรษณีย์ในแต่ละสมัย แสตมป์ทั่วไปมีทั้งชุดขนาดเล็กที่มีราคาเดียวหรือไม่กี่ราคา จนถึงชุดขนาดใหญ่ที่มีแสตมป์แตกต่างกันหลายสิบดวง ซึ่งราคาจะมีตั้งแต่ต่ำสุดซึ่งแทนหน่วยเงินที่เล็กที่สุด หรือ อัตราค่าไปรษณีย์ต่ำสุด ไปจนถึงราคาสูงสุดสำหรับส่งพัสดุไปรษณีย์ขนาดใหญ่ ส่วนราคาระดับกลาง ๆ มีเพื่อสะดวกในการติดแสตมป์ให้ได้อัตราค่าส่งต่าง ๆ กัน และอาจมีราคาเป็นตัวเลขประหลาดที่ตรงกับค่าฝากส่งบางประเภทที่ใช้บ่อย
แสตมป์ทั่วไปที่ออกเป็นชุดใหญ่มักจะพิมพ์มาเพื่อใช้งานเป็นเวลานานหลายปี ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงค่าไปรษณีย์ระหว่างนั้น ก็มักจะออกแสตมป์ราคาใหม่ ๆ มาเพิ่มเติมรองรับอัตราใหม่
แสตมป์ทั่วไปในบางประเทศยังมีการออกเป็นแสตมป์ไม่ระบุราคา (non-denominatd หรือ no-value indicator, NVI) ซึ่งไม่ใช้ตัวเลขมาแสดงราคาบนดวงแสตมป์ ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เคยออกแสตมป์ที่มีราคาบนดวงเป็นตัวอักษร เช่น A, B, C เป็นต้น มีจุดประสงค์เพื่อสามารถเตรียมการและพิมพ์แสตมป์เมื่อมีการปรับอัตราค่าไปรษณีย์ใหม่ แต่ในขณะเตรียมการยังไม่ทราบอัตราใหม่แน่นอน [1] และเมื่อทราบอัตราใหม่แล้วจะมีการพิมพ์ราคาบนแสตมป์ทั่วไปรุ่นต่อ ๆ มา ระยะหลังสหรัฐอเมริกายังพิมพ์แสตมป์ที่แสดงข้อความ First-class แทนราคาจริงสำหรับจดหมายประเภท first-class (จดหมายทั่วไป) แต่ไม่สามารถใช้ในอัตราใหม่หากค่าไปรษณีย์มีการขึ้นอีก
แสตมป์ไม่ระบุราคาอีกแบบ สามารถนำมาใช้เมื่อมีการปรับอัตราใหม่ได้ โดยแสตมป์ถือว่ามีราคาบนดวงเท่ากับอัตราใหม่ทันที ผู้ซื้อไม่ต้องหาแสตมป์มาติดเพิ่มอีก เช่น สหราชอาณาจักรมีการพิมพ์แสตมป์สำหรับ first-class และ second-class (ช้ากว่า) โดยพิมพ์ข้อความ 1ST และ 2ND แทนราคา[2] แคนาดาก็ออกแสตมป์แบบนี้และใช้เครื่องหมายการค้าว่า PERMANENT stamp และใช้ตัวอักษร P บนใบเมเปิลเป็นสัญลักษณ์[3] ประเทศไทยเคยออกแสตมป์ชุดหนึ่ง เป็นแสตมป์รูปดอกบัว สำหรับส่งจดหมายภายในประเทศ บนแสตมป์ไม่มีราคาหน้าดวง จำหน่ายในรูปสมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็กที่ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น เริ่มจำหน่าย 4 สิงหาคม พ.ศ. 2540 แสตมป์ออกมาในช่วงที่อัตราจดหมายคือสองบาท และสามารถใช้ได้เมื่อปรับอัตราค่าไปรษณีย์ใหม่[4] ปัจจุบันไม่มีจำหน่ายแล้ว
รูปแบบ
[แก้]แสตมป์ทั่วไปมักมีขนาดเล็กไม่เปลืองเนื้อที่ในการติด เนื่องจากเวลาใช้อาจต้องติดแสตมป์จำนวนมาก แสตมป์ราคาสูงอาจพิมพ์ให้มีขนาดใหญ่กว่าแสตมป์ราคาปกติ รูปแบบมักจะเรียบง่าย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์แสตมป์ ภาพบนดวงแสตมป์นิยมสื่อถึงวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ของประเทศ บางประเทศนิยมนำภาพของผู้นำหรือพระมหากษัตริย์มาเป็นแบบบนแสตมป์
เพื่อความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ในการตรวจ แสตมป์ทั่วไปแต่ละราคาจะพิมพ์คนละสีกัน เจ้าหน้าที่ที่ชำนาญเพียงแต่เห็นแสตมป์สีต่าง ๆ กันบนจดหมายหรือพัสดุก็สามารถบอกได้ทันทีว่าติดแสตมป์ทั้งหมดรวมแล้วราคาเท่าใด
ตัวอย่างแสตมป์ทั่วไปที่มีชื่อเสียง
[แก้]แสตมป์ทั่วไปที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดดวงหนึ่ง คือ แสตมป์ทั่วไปรุ่น เมชิน (Machin) ของสหราชอาณาจักร ชื่อรุ่นมาจากนักออกแบบชื่ออาโนลด์ เมชิน (Arnold Machin) แสตมป์เป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เริ่มจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2510 และใช้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ออกใช้งานตั้งแต่สมัยเงิน 1 ปอนด์ แตกย่อยได้เป็น 240 เพนนี จนเปลี่ยนแปลงระบบเงินมาเป็น 1 ปอนด์เท่ากับ 100 เพนนี ผ่านการปรับอัตราค่าไปรษณีย์หลายครั้ง แต่ละครั้งก็มีการออกแสตมป์ราคาใหม่มาเพิ่มเติมจากเดิม จนถึงปัจจุบันมีการพิมพ์แสตมป์แบบไม่ระบุราคาอีกด้วย ในการพิมพ์จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนสี ปรับปรุงแบบแม่พิมพ์ เทคนิกการพิมพ์ ซึ่งถ้าแยกความแตกต่างของแสตมป์ทั้งดูจากราคา สี ลายละเอียด กระดาษ แถบเรืองแสงบนผิวกระดาษ (phosphor) กาว, วิธีการปรุรู ฯลฯ สามารถแยกแสตมป์รุ่นนี้ได้มากกว่าหนึ่งพันแบบ[5]
แสตมป์ทั่วไปของไทย
[แก้]แสตมป์ทั่วไปของไทยนิยมใช้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์บนดวงแสตมป์ตั้งแต่ยุคแรกของการไปรษณีย์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 จะมียกเว้นบ้างก็เช่น ชุดในสมัยรัชกาลที่ 8 ชื่อชุดบางปะอิน (เริ่มจำหน่ายเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2484) ที่นำรูปควายไถนาและรูปพระราชวังบางปะอินมาใช้บนดวงแสตมป์
แสตมป์ทั่วไปสมัยรัชกาลที่ 9 ออกเป็นแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ถึงปัจจุบันเป็นชุดที่ 9 (ข้อมูลเมื่อสิงหาคม พ.ศ. 2550) โดยเป็นพระบรมฉายาลักษณ์หันพระพักตร์ตรงสองชุด สลับกับพระพักตร์ข้างหนึ่งชุดสลับกันไป แสตมป์ชุดที่ 9 ซึ่งเป็นแบบพระพักตร์ข้าง ออกใช้งานตั้งแต่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ประกอบด้วยราคา 50 สตางค์, 1, 2, 4, 5, 6, 7, 9, 10, 12, 15, 20, 25, 30, 50, 100, 200 และ 500 บาท โดยแสตมป์ราคา 500 บาทเป็นแสตมป์ที่มีราคาหน้าดวงสูงที่สุดของไทย
แสตมป์ทั่วไปสมัยรัชกาลที่ 9 ที่ไม่ใช่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ เพิ่งเริ่มมีในระยะหลัง ชุดแรกมีวันแรกจำหน่าย 1 ธันวาคม พ.ศ. 2546 มีสี่แบบ ได้แก่ภาพ ธงชาติ เรือนไทย ช้าง และ ดอกราชพฤกษ์ อีกชุดหนึ่งที่จัดเป็นแสตมป์ทั่วไปได้เช่นกัน เป็นแสตมป์รูปดอกบัวซึ่งกล่าวในหัวข้อราคา ไม่จำหน่ายในรูปแผ่นแสตมป์เหมือนปกติ แต่อยู่ในรูปสมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็กแทน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Answers to FAQ: Nondenomination stamps[ลิงก์เสีย] (United States Postal Service), เข้าถึงข้อมูล 28 สิงหาคม พ.ศ. 2550
- ↑ All About Machins – The Machin FAQ Part 3 เก็บถาวร 2012-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เข้าถึงข้อมูล 28 สิงหาคม พ.ศ. 2550
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-21. สืบค้นเมื่อ 2007-08-28.
- ↑ แสตมป์ชนิดไม่ระบุราคา, จุลสาร ส.ต.ท., พฤศจิกายน พ.ศ. 2540
- ↑ Machins: Great Britain, เข้าถึงข้อมูล 28 สิงหาคม พ.ศ. 2550
- ๑๒๐ ปี ตราไปรษณียากรไทย, บริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด, พ.ศ. 2546
- ศักดิ์เสริม ศิริวงศ์, แสตมป์ไทย 2547 คู่มือการสะสมแสตมป์ไทย, บริษัท สยามแสตมป์เทรดดิ้ง จำกัด