ข้ามไปเนื้อหา

แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Accipitriformes
วงศ์: Accipitridae
สกุล: Gyps
สปีชีส์: G.  himalayensis
ชื่อทวินาม
Gyps himalayensis
Hume, 1869

แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (อังกฤษ: Himalayan griffon vulture; ชื่อวิทยาศาสตร์: Gyps himalayensis) เป็นนกล่าเหยื่อจำพวกอีแร้งขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง

ลักษณะ

[แก้]

ส่วนหัวและลำคอมีขนอุยสีขาว ขนแผงคอสีน้ำตาลอ่อนมีลายขีดสีขาว ลำตัวสีน้ำตาลออกเหลืองหรือสีกากีอ่อน ใต้ท้องสีน้ำตาลอ่อนกว่าด้านหลัง ก้านขนแต่ละเส้นจะมีลักษณะเป็นสีขาวเด่นออกมาจากพื้นสีลำตัว เมื่อยังเล็ก นกวัยอ่อนจะมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีลายสีขาวบนก้านขนอย่างเห็นได้ชัดเจนกว่านกวัยโต มีขนปีกและขนหางสีดำ ขนหางมีทั้งหมด 14 เส้น

มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 110 เซนติเมตร ปีกเมื่อกางออกยาวได้ถึงเกือบ 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 8-12 กิโลกรัม

การกระจายพันธุ์และพฤติกรรม

[แก้]

แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย จัดเป็นแร้งหรืออีแร้งที่มีขนาดใหญ่รองมาจากแร้งดำหิมาลัย (Aegypius monachus) ที่สามารถพบได้แถบเทือกเขาหิมาลัยเช่นเดียวกัน กระจายพันธุ์อยู่ตามแถบเทือกเขาของภูมิภาคเอเชียกลางไปจนถึงจีนและไซบีเรีย โดยปกติจะอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 600-2,500 เมตร เวลาบินหากินจะบินไปจนถึงระดับ 4,500 เมตร หรือสูงกว่านี้ จะหากินเพียงลำพังหรือพบเป็นฝูงเล็ก ๆ เพียง 2-3 ตัว โดยจะหากินตามช่องเขาหรือทางเดินบนเขา หรือบินตามฝูงสัตว์เพื่อรอกินซากของสัตว์ที่ตาย

การขยายพันธุ์และสถานะ

[แก้]

มีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน รังมีขนาดใหญ่โดยทำจากเศษกิ่งไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ทำรังบนหน้าผาสูง ทำรังเดี่ยวหรือรวมกันเป็นหลายรังประมาณ 5-6 รังในที่เดียวกัน ตัวเมียจะวางไข่เพียงครั้งละ 1 ฟอง

แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยไม่ใช่นกประจำประเทศไทย แต่เป็นนกอพยพที่ฤดูหนาวจะบินลงใต้มาอาศัยอยู่ยังประเทศไทยเพราะมีอากาศที่อบอุ่นกว่า สถานะอนุรักษ์ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[2]

ในต้นปี พ.ศ. 2558 พบแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยตัวหนึ่งตกลงที่ทุ่งนา ในพื้นที่ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เมื่อกางปีกออกมีความยาวถึง 3 เมตร คาดว่าอายุไม่น้อยกว่า 10 ปี น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม คาดว่าเป็นเพราะความอ่อนเพลียจึงตกลงมา[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. BirdLife International (2012). "Gyps himalayensis". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
  2. [ลิงก์เสีย] อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย โดย จารุจินต์ นภีตะภัฏ
  3. "อีแร้งน้ำตาลหิมาลัยโผล่สตูล ชาวบ้านพบอ่อนเพลียคาดพลัดถิ่น". แนวหน้า. 10 January 2015. สืบค้นเมื่อ 11 January 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Gyps himalayensis ที่วิกิสปีชีส์