แม่หยัวศรีสุดาจันทร์
แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ | |
---|---|
พระมเหสีแห่งกรุงศรีอยุธยา | |
ดำรงพระยศ | พ.ศ. 2091 |
ถัดไป | พระสุริโยทัย |
ประสูติ | ไม่ปรากฏ |
สิ้นพระชนม์ | พ.ศ. 2091[1] |
พระสวามี | สมเด็จพระไชยราชาธิราช ขุนวรวงศาธิราช |
พระราชบุตร | สมเด็จพระยอดฟ้า พระศรีศิลป์ พระธิดาไม่ปรากฏพระนาม |
ราชวงศ์ | สุพรรณภูมิ (โดยเสกสมรส) |
แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2091)[1] เป็นสตรีในประวัติศาสตร์ไทยซึ่งเอกสารทางประวัติศาสตร์ระบุว่าเป็นพระมเหสีในพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระไชยราชาธิราช และขุนชินราช (หรือขุนวรวงศาธิราช)[ก] มีพระราชโอรส 2 พระองค์กับสมเด็จพระไชยราชาธิราช คือ สมเด็จพระยอดฟ้า และพระศรีศิลป์ และเมื่อสมเด็จพระยอดฟ้าเสวยราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาขณะมีพระชนมายุ 11 พรรษา พระนางยังได้สำเร็จราชการแทนพระองค์[4][5]
เอกสารทางประวัติศาสตร์มิได้ระบุถึงภูมิหลังของพระนาง นักประวัติศาสตร์เห็นว่า พระนามแม่หยัวศรีสุดาจันทร์บ่งบอกว่าเดิมพระนางเป็นพระสนมเอกมีชื่อตำแหน่งว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ เมื่อประสูติพระราชโอรสแล้วจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นแม่หยัวเมือง มีสถานะรองจากพระอัครมเหสี[6][7] นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์บางคนเสนอทฤษฎีสนมเอกสี่ทิศซึ่งสันนิษฐานว่าพระนางทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทองแห่งเมืองละโว้[8] ขณะที่บางคนเห็นว่า พระนางทรงมาจากราชวงศ์พระร่วงสายเมืองพิษณุโลก[9] แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดของพระนาง[4]
เอกสารทางประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและของต่างประเทศยังพรรณนาถึงบทบาทของพระนางในการสังหารสมเด็จพระยอดฟ้าซึ่งเป็นโอรสของตน เพื่อเปิดทางให้ขุนชินราชผู้เป็นชายชู้ได้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระนางยังอาจมีส่วนในการปลงพระชนม์สมเด็จพระไชยราชาธิราชผู้เป็นสวามีแห่งตนด้วย ทำให้นักประวัติศาสตร์แต่เดิมมักประณามพระนางว่าเป็นหญิงชั่วร้าย มีพฤติกรรมน่าอับอาย[4][10] แต่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่เห็นว่า การกระทำของพระนางอาจมีเป้าหมายทางการเมืองในอันที่จะฟื้นฟูราชวงศ์เดิมของตนกลับคืนสู่อำนาจ[1][4][11]
เรื่องราวของพระนางได้รับการดัดแปลงเป็นสื่อในวัฒนธรรมประชานิยมหลายรูปแบบ ทั้งนวนิยาย ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์
ในเอกสารทางประวัติศาสตร์
เอกสารไทยสมัยอยุธยา
เอกสารไทยฉบับเก่าแก่ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันซึ่งกล่าวถึงแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ คือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ เรียบเรียงขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2223 ราว 132 ปีหลังเกิดเหตุการณ์ของพระนาง[12] เอกสารนี้กล่าวถึงพระนางไว้สั้น ๆ[12] มีใจความดังนี้[13]
ใน จ.ศ. 907 (พ.ศ. 2088) สมเด็จพระไชยราชาธิราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงยกทัพขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ และทรงตีได้เมืองลำพูนไชยในวันอังคาร ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 4[ข] ต่อมาในวันศุกร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือนเดียวกัน[ค] เกิดนิมิตอุบาทว์ เห็นเลือดติดอยู่ ณ ประตูบ้านเรือนและวัดทุกแห่งทั้งในเมืองและนอกเมือง จึงทรงยกทัพกลับพระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นอีก 2 เดือน ตรงกับเดือน 6 จ.ศ. 908 (พ.ศ. 2089) พระองค์ก็สวรรคต และสมเด็จพระยอดฟ้า พระราชโอรส ทรงสืบราชสมบัติต่อ เกิดเหตุการณ์อุบาทว์ต่าง ๆ เช่น งาช้างพระยาไฟที่ให้เข้าชนช้างเกิดหักเป็น 3 ท่อน ช้างต้นชื่อพระฉัททันต์ร้องเป็นเสียงสังข์ และประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์ กระทั่งวันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 จ.ศ. 910 (พ.ศ. 2091)[ง] สมเด็จพระยอดฟ้าทรง "เป็นเหตุ"[จ] ขุนชินราชจึงได้ราชสมบัติเป็นเวลา 42 วัน ต่อมาขุนชินราชกับแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ "เป็นเหตุ"[จ] พระเทียรราชาจึงทรงได้รับการอัญเชิญขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สิ้นเรื่องราวของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์เพียงเท่านี้
เอกสารไทยสมัยรัตนโกสินทร์
เรื่องราวของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ได้รับการขยายความต่อมาอีกเป็นอันมากในเอกสารสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มจาก พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) และส่งอิทธิพลต่อมายังพระราชพงศาวดารฉบับหลัง ๆ[17] คือ พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เรียบเรียงขึ้นในรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2338[18] พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม เรียบเรียงขึ้นถวายรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2350[19] พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน เรียบเรียงขึ้นจากฉบับ พ.ศ. 2350[20] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงช่วยกันชำระจาก ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ฯ เมื่อ พ.ศ. 2398[21][22] และ พระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเล นายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ พิมพ์เผยแพร่ในรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2407[21]
เอกสารเหล่านี้กล่าวถึงแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ (โดยออกพระนามว่าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์) มีใจความดังนี้[23][24][25][26][27][28]
ใน จ.ศ. 888 (พ.ศ. 2069) สมเด็จพระไชยราชาธิราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงยกทัพขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ ทรงตีได้เมืองลำพูนไชย แต่ต่อมาเกิดนิมิตอุบาทว์ เห็นเลือดตกอยู่ตามประตูบ้านเรือนทุกแห่งทั้งในและนอกเมือง จึงทรงยกทัพกลับพระนครศรีอยุธยา แต่สวรรคตกลางทาง มุขมนตรีจึงอัญเชิญพระศพเข้าพระนคร ขณะนั้นขึ้น จ.ศ. 889 (พ.ศ. 2070) แล้ว สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสวยราชย์มาได้ 15 ปี มีพระราชโอรส 2 พระองค์กับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ทรงพระนามสมเด็จพระยอดฟ้า (บางฉบับเรียกพระแก้วฟ้า) มีพระชนมายุ 11 พรรษา พระราชโอรสพระองค์เล็กทรงพระนามพระศรีศิลป์ มีพระชนมายุ 5 พรรษา เหล่าขุนนางและคณะสงฆ์จึงอัญเชิญสมเด็จพระยอดฟ้าขึ้นสืบราชสมบัติต่อ โดยมีแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ช่วยว่าราชการแผ่นดิน เมื่อเสร็จงานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระไชยราชาธิราชแล้ว พระเทียรราชา ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ก็ทรงคำนึงว่า ถ้ายังทรงเป็นฆราวาสต่อไปจะเกิดภยันตราย จึงเสด็จออกไปผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดราชประดิษฐาน
เมื่อสมเด็จพระยอดฟ้าเสวยราชย์แล้ว เกิดนิมิตร้ายต่าง ๆ เช่น งาช้างพระยาไฟที่ให้เข้าชนช้างเกิดหักเป็น 3 ท่อน ช้างต้นชื่อพระฉัททันต์ร้องเป็นเสียงคนร้องไห้ และประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์ในเวลาค่ำคืน ต่อมาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เสด็จไปประพาส ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา[ฉ] ทอดพระเนตรเห็นพันบุตรศรีเทพ พนักงานเฝ้าหอพระข้างหน้า[ช] ก็เกิดปฏิพัทธ์ รับสั่งให้สาวใช้นำเมี่ยงหมากห่อผ้าเช็ดหน้าไปประทานให้ พันบุตรศรีเทพรับมาแล้วก็รู้ถึงพระทัยพระนาง จึงฝากดอกจำปาให้สาวใช้นำกลับไปถวาย พระนางก็ยิ่งกำหนัดในพันบุตรศรีเทพ รับสั่งให้พระยาราชภักดี[ซ] เลื่อนพันบุตรศรีเทพขึ้นเป็นขุนชินราช พนักงานเฝ้าหอพระข้างใน เมื่อขุนชินราชเข้ามาอยู่หอพระข้างในแล้ว ก็ได้ลักลอบสังวาสกับพระนางมาช้านาน พระนางปรารถนาจะยกขุนชินราชขึ้นครองราชสมบัติ จึงรับสั่งให้พระยาราชภักดีตั้งขุนชินราชเป็นขุนวรวงศาธิราช ให้ปลูกจวนสำหรับพักอาศัยอยู่ริมศาลาสารบัญชี มีหน้าที่พิจารณาเลก[ด] เพื่อจะได้มีกำลังคน และให้ปลูกจวนสำหรับว่าราชการที่ริมต้นหมัน ทั้งให้เอาพระราชอาสน์ไปตั้งให้ขุนวรวงศาธิราชนั่งว่าราชการ ผู้คนจะได้ยำเกรง ต่อมาพระยามหาเสนา[ต] พูดคุยกับพระยาราชภักดีด้วยความร้อนใจที่ "แผ่นดินเป็นทุรยศ" พระนางทราบจึงรับสั่งให้พระยามหาเสนามาเข้าเฝ้าที่ริมประตูดิน[ถ] ครั้นตกค่ำ พระยามหาเสนากลับออกไป ก็ถูกคนลอบแทงตาย
ขณะนั้น พระนางเกิดตั้งครรภ์กับขุนวรวงศาธิราช จึงเรียกประชุมขุนนางมาเสนอให้ยกขุนวรวงศาธิราชขึ้นว่าราชการแผ่นดินจนกว่าสมเด็จพระยอดฟ้าจะทรงเจริญพระชนม์ ไม่มีผู้ใดกล้าขัดข้อง พระนางจึงให้จัดการราชาภิเษกยกขุนวรวงศาธิราชขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ตั้งนายจันแห่งบ้านมหาโลก น้องชายของขุนวรวงศาธิราช เป็นมหาอุปราช[ท] ขุนวรวงศาธิราชเมื่อขึ้นครองราชย์แล้วก็ปรารภกับพระนางว่า ตนเป็นที่จงเกลียดจงชังของเหล่าขุนนาง และหัวเมืองฝ่ายเหนือก็กระด้างกระเดื่อง จึงสั่งให้เรียกเจ้าเมืองฝ่ายเหนือทั้ง 7 เมือง[น] ลงมาผลัดเปลี่ยน หัวเมืองฝ่ายเหนือจะได้จงรักภักดีต่อตน ครั้นปี จ.ศ. 891 (พ.ศ. 2072) ขุนวรวงศาธิราชคิดกันกับพระนางให้นำสมเด็จพระยอดฟ้าไปประหารชีวิตที่วัดโคกพระยา สมเด็จพระยอดฟ้าทรงอยู่ในราชสมบัติ 1 ปีกับ 2 เดือน
ขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ และขุนนางอีกจำนวนหนึ่ง จึงจับกลุ่มกันวางแผนโค่นล้มขุนวรวงศาธิราชกับพระนาง แล้วจะอัญเชิญพระเทียรราชาที่ผนวชนั้นขึ้นสู่ราชสมบัติแทน ก่อนลงมือ คณะผู้ก่อการไปทำพิธีเสี่ยงเทียนที่วัดป่าแก้วเพื่อทำนายถึงความสำเร็จของแผนการ เสี่ยงเทียนเสร็จแล้วประมาณ 15 วัน มีข่าวเกี่ยวกับช้างมงคลจากเมืองลพบุรี ขุนวรวงศาธิราชจึงกำหนดว่าจะออกไปจับช้างดังกล่าว ครั้นเวลาค่ำก่อนวันจับช้าง คณะผู้ก่อการให้หมื่นราชเสน่หานอกราชการไปลอบสังหารมหาอุปราชจัน น้องชายขุนวรวงศาธิราช ที่ท่าเสือ[บ] จากนั้นนำกำลังไปซุ่มซ่อนไว้ที่คลองบางปลาหมอ รอกระบวนเสด็จทางชลมารคของขุนวรวงศาธิราชซึ่งมาพร้อมกับพระนางและธิดาของทั้งคู่ที่เพิ่งคลอด ครั้นกระบวนเรือมาถึง คณะผู้ก่อการก็นำกำลังเข้าจู่โจมเรือพระที่นั่งอย่างฉับพลัน แล้วรุมจับขุนวรวงศาธิราช พระนาง และทารกหญิงนั้นฆ่าเสีย เอาศพเสียบประจานไว้ที่วัดแร้ง ส่วนพระศรีศิลป์ พระราชโอรสของสมเด็จพระไชยราชาธิราชกับพระนางนั้น ให้ไว้ชีวิต ขุนวรวงศาธิราชอยู่ในราชสมบัติได้ 5 เดือน เสร็จแล้วคณะผู้ก่อการจึงอัญเชิญพระเทียรราชาขึ้นสืบราชสมบัติเป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เป็นอันสิ้นเรื่องราวของพระนางเพียงเท่านี้
เอกสารโปรตุเกส
ส่วนเอกสารต่างชาตินั้น ฉบับเก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ได้แก่เอกสารภาษาโปรตุเกสชื่อ Peregrinação ("การจาริก") ซึ่งฟือร์เนา เม็งดึช ปิงตู นักสำรวจชาวโปรตุเกสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช เรียบเรียงขึ้น[41] พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1614 และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อ The Voyages and Adventures of Ferdinand Mendez Pinto, the Portuguese ("การเดินทางและผจญภัยของเฟอร์ดินันด์ เมนเดซ ปินโต ชาวโปรตุเกส") พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1692 ต่อมานันทา วรเนติวงศ์ ข้าราชการกรมศิลปากร แปลจากฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย และกรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ. 2538 ให้ชื่อว่า การท่องเที่ยว การเดินทาง และการผจญภัยของเฟอร์ดินันด์ เมนเดซ ปินโต[42]
เอกสารนี้ระบุดังนี้[43][44] ในช่วง 6 เดือนที่พระสวามีเสด็จไปทัพที่เมืองเชียงใหม่ พระนางทรงคบชู้กับออกขุนชินราชซึ่งเป็นคนส่งอาหาร[ป] ประจำราชสำนักของพระนาง จนทรงพระครรภ์ 4 เดือนกับคนผู้นั้น เมื่อพระสวามีเสด็จกลับมา พระนางทรงเกรงว่าพระองค์จะทรงล่วงรู้ความผิดของพระนาง จึงถวายน้ำนมเจือยาพิษให้พระองค์เสวย พระองค์เสวยแล้วก็สวรรคตภายใน 5 วันหลังจากนั้น พระราชโอรสพระชนมายุ 9 พรรษาทรงขึ้นสืบราชสมบัติต่อ พระนางทรงได้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมา 4 เดือน พระนางทรงให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งกับออกขุนชินราช ด้วยพระทัยปรารถนาจะทรงยกคนผู้นั้นขึ้นนั่งราชบัลลังก์ จึงทรงวางกองกำลังไว้รอบพระกายพระโอรส ประกอบด้วยพลเดินเท้า 2,000 คน และพลม้า 500 คน โดยทรงอ้างว่าเกรงจะมีผู้ลอบทำร้ายพระโอรส แต่กองกำลังนั้นกลับถูกใช้เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของพระนาง เสร็จแล้วพระนางทรงสละตำแหน่งผู้สำเร็จราชการให้แก่ออกขุนชินราช และเพื่อให้ราชบัลลังก์ว่างลง พระนางจึงทรงกำจัดพระโอรสด้วยยาพิษเฉกเช่นเดียวกับที่ทรงกำจัดพระสวามี เมื่อสิ้นพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระเยาว์แล้ว พระนางก็ทรงสถาปนาออกขุนชินราชไว้บนราชอาสน์ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1545 แต่พระนางและชายชู้ไม่อาจอยู่ในอำนาจได้นาน เพราะเหล่าขุนนางซึ่งนำโดยออกญาพิษณุโลก และได้รับความสนับสนุนจากกษัตริย์แห่ง Cambaya ได้เคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มทั้งสอง โดยลวงทั้งสองไปยังงานเลี้ยงสมโภชสุริยเทพ ณ วัดชื่อ Quiay Figrau แล้วสังหารทั้งคู่ที่นั่น ก่อนจะถวายราชบัลลังก์ให้แก่พระเทียนผู้เป็นพระภิกษุแห่งวัด Quiay Mitran เป็นอันสิ้นเรื่องราวของพระนางเพียงเท่านี้
เอกสารฝรั่งเศส
เนื้อความคล้ายคลึงกับในเอกสารโปรตุเกสยังปรากฏในเอกสารภาษาฝรั่งเศสชื่อ Histoire civile et naturelle du royaume de Siam, et des révolutions qui lui ont bouleversé cet empire jusqu'en 1770 ("ประวัติศาสตร์พลเมืองและธรรมชาติของราชอาณาจักรสยาม และในเรื่องการปฏิวัติอันสร้างความปั่นป่วนให้แก่แว่นแคว้นนั้นจนถึงปี 1770")[47] ซึ่งฟร็องซัว-อ็องรี ตูร์แป็ง เขียนขึ้น และได้รับการพิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. 1771 ต่อมาสมศรี เอี่ยมธรรม ข้าราชการกรมศิลปากร แปลจากคำแปลภาษาอังกฤษออกเป็นภาษาไทย และกรมศิลปากรเผยแพร่ใน พ.ศ. 2522 ให้ชื่อว่า ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง[48]
เอกสารนี้ระบุดังนี้[47] พระเจ้าแผ่นดินสยาม (สมเด็จพระไชยราชาธิราช) ซึ่งขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1550 มิได้ทรงอยู่ในความรุ่งโรจน์นานนัก เพราะระหว่างที่เสด็จไปศึกสงครามนั้น พระราชินีผู้เป็นพระมเหสีของพระองค์ทรงลักลอบมีชู้ พระนางทรงเกรงโทษทัณฑ์ จึงถวายน้ำนมถ้วยหนึ่งซึ่งเจือยาพิษให้พระองค์เสวย พระองค์เสวยแล้วก็ประชวรต่อไปอีก 5 วัน[ผ] ระหว่างนั้นทรงใช้เวลาจัดแจงราชการบ้านเมือง ครั้นสวรรคตแล้ว พระราชโอรสของพระองค์ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ แต่พระราชินีมีพระประสงค์จะทรงยกชายชู้ขึ้นนั่งบัลลังก์แทน จึงทรงวางกองกำลังไว้รอบพระกายพระโอรส ประกอบด้วยพลเดินเท้า 2,000 คน และพลม้า 500 คน[ฝ] โดยทรงอ้างว่าเกรงจะมีผู้ลอบทำร้ายพระโอรส แต่กองกำลังนั้นกลับถูกใช้เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของพระนาง จนที่สุดพระนางก็ทรงสามารถสถาปนาชายชู้ไว้บนราชอาสน์ ก่อนพระนางจะทรงกำจัดพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นพระโอรสของพระนางเองด้วยเครื่องดื่มที่เป็นอันตราย[พ] เหล่าขุนนางซึ่งชิงชังพระนาง และได้รับความสนับสนุนจากกษัตริย์แห่ง Cambaye[ฟ] จึงเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มพระนาง โดยลวงพระนางและชายชู้ไปยังงานเลี้ยงสมโภช แล้วสังหารทั้งคู่ที่นั่น ก่อนจะถวายราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายพระองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระเชษฐาหรืออนุชาโดยสายเลือดของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1550 นั้น เจ้าชายพระองค์นี้ทรงยอมสละสมณเพศมาเข้าสู่ชีวิตทางโลก[ม] เป็นอันสิ้นเรื่องราวของพระนางเพียงเท่านี้
เอกสารดัตช์
เรื่องราวของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ยังปรากฏในเอกสารภาษาดัตช์ชื่อ Cort Verhael van't naturel eijnde der vollbrachter tijt ende successie der Coningen van Siam, voor sooveel daer bij d'oude historien bekennt sijn ซึ่งเยเรเมียส ฟาน ฟลีต พ่อค้าชาวดัตช์ที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เขียนขึ้นใน พ.ศ. 2181 ราว 90 ปีหลังเหตุการณ์ของพระนาง[57] ต่อมาหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี แปลจากคำแปลภาษาอังกฤษออกเป็นภาษาไทย เผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ. 2519 ให้ชื่อว่า พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับเยเรเมียส ฟาน ฟลีต[58] และวนาศรี สามนเสน แปลจากคำแปลภาษาอังกฤษออกเป็นภาษาไทยเช่นกัน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2523 ให้ชื่อว่า พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182[57]
เอกสารนี้ออกพระนามแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ว่า "Mee-soo-Seda t'siau" ซึ่งหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ถอดเป็น "แม่ศรีสุดาเจ้า"[59] และวนาศรีถอดเป็น "แม่สีดาเจ้า"[60] เอกสารนี้กล่าวถึงพระนางโดยมีใจความดังนี้[61][62]
ในปลายรัชกาล สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จไปตีเมืองลำพูนได้ และขณะเสด็จกลับพระนคร พระองค์ก็สวรรคตด้วยสาเหตุซึ่งหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ให้คำแปลว่า "สวรรคตไปตามปกติธรรมดา"[59] และวนาศรีให้คำแปลว่า "สิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากสาเหตุตามธรรมชาติ"[63] จากนั้นพระยอดเจ้า ผู้เป็นพระราชโอรส มีพระชนมายุ 10 พรรษา ได้ขึ้นสืบราชสมบัติต่อได้เพียง 3 ปี แม่ศรีสุดาเจ้า ผู้เป็นพระสนมของพระราชบิดา ก็ทรงร่วมมือกับหมอผีประจำราชสำนักซึ่งมีหน้าที่เล่าเรื่องราวเก่าแก่และเรื่องต่างประเทศถวาย ใช้เวทมนตร์และยาพิษปลงพระชนม์ในห้องพระบรรทม ยังความโศกเศร้ามาสู่พสกนิกร
หลังจากนั้น ด้วยความช่วยเหลือของแม่ศรีสุดาเจ้า หมอผีคนดังกล่าวจึงได้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าขุนชินราช ซึ่งไม่เป็นที่พึงประสงค์ของคนทั้งปวง เหล่าขุนนางจึงคบคิดกันลอบปลงพระชนม์ขุนชินราช โดยลวงให้ไปยังสถานที่จับช้าง แล้วยิงด้วยปืนจนตาย เสร็จแล้วคณะผู้ก่อการก็โยนศพขุนชินราชให้ฝูงสุนัขกิน ขุนชินราชอยู่ในราชสมบัติเป็นเวลา 40 วัน ส่วนแม่ศรีสุดาเจ้านั้นทรงถูกประหารด้วยดาบแล้วพระศพถูกโยนทิ้งลงแม่น้ำไป
พระเทียนราชา ซึ่งหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ให้คำแปลว่าเป็น "พระญาติของพระยอดเจ้า"[64] และวนาศรีให้คำแปลว่าเป็น "ลูกพี่ลูกน้องหรือหลานชายของพระยอดเจ้า"[65] ได้ขึ้นสืบราชสมบัติต่อด้วยความยินยอมพร้อมใจของเหล่าขุนนาง ราชบัลลังก์จึงยังเป็นของราชวงศ์เดิม เป็นอันสิ้นเรื่องราวของแม่ศรีสุดาเจ้าเพียงเท่านี้
เอกสารพม่า
ยังมีเอกสารอีกฉบับเป็นภาษาพม่า คือ คำให้การชาวกรุงเก่า เรียบเรียงขึ้นจากคำให้การของชาวอยุธยาที่ถูกจับตัวไปในสงครามเมื่อ พ.ศ. 2310[66] กล่าวถึงแม่หยัวศรีสุดาจันทร์โดยมีใจความดังนี้[67]
พระปรเมศวรเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา มีพระมเหสี 2 พระองค์ พระองค์หนึ่งเป็นฝ่ายขวาทรงพระนามว่าจิตรวดี อีกพระองค์หนึ่งเป็นฝ่ายซ้ายทรงพระนามว่าศรีสุดาจันทร์ พระมเหสีจิตรวดีประสูติพระราชโอรส 2 พระองค์ พระองค์โตทรงพระนามว่าพระเฑียร พระองค์เล็กทรงพระนามว่าพระไชย แต่พระปรเมศวรทรงโปรดปรานพระมเหสีศรีสุดาจันทร์ยิ่งกว่าพระมเหสีจิตรวดี รับสั่งให้พระมเหสีศรีสุดาจันทร์เข้าเฝ้าอยู่ข้างพระที่มิได้ขาด และถ้าพระมเหสีศรีสุดาจันทร์ทรงทูลคัดง้างอย่างใดในเรื่องราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน พระปรเมศวรก็ทรงเชื่อฟังทั้งสิ้น
พระปรเมศวรยังทรงมีมหาดเล็กผู้หนึ่งนามว่านายบุญศรี ทำหน้าที่ขับกล่อมให้ทรงพระบรรทมอยู่เสมอ พระมเหสีศรีสุดาจันทร์มีพระทัยปฏิพัทธ์นายบุญศรี จึงลอบกระทำชู้กับนายบุญศรี และทูลพระปรเมศวรให้ตั้งนายบุญศรีเป็นเสนาบดี พระปรเมศวรก็ทรงตั้งนายบุญศรีเป็นขุนเชียนนเรศ เสนาบดีกรมวัง ขุนเชียนนเรศจึงได้ว่าราชการในพระราชวังทั้งสิ้น เป็นที่เคารพยำเกรงของผู้คน พระปรเมศวรเสวยราชย์มาได้ 23 ปีก็สวรรคต เมื่อสิ้นพระปรเมศวรแล้ว พระมเหสีศรีสุดาจันทร์กับขุนเชียนนเรศก็มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในราชการบ้านเมือง
พระมเหสีศรีสุดาจันทร์จึงทรงเรียกประชุมพระบรมวงศ์และขุนนางทั้งหลาย เสนอให้ยกขุนเชียนนเรศขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะเป็นที่ไว้วางพระทัยมาแต่รัชกาลก่อน เมื่อไม่มีผู้ใดกล้าคัดค้าน พระนางก็รับสั่งให้จัดการราชาภิเษกขุนเชียนนเรศขึ้นครองแผ่นดิน และพระนางเองทรงดำรงตำแหน่งอัครมเหสีของขุนเชียนนเรศ เมื่อได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ขุนเชียนนเรศก็มิได้ยกย่องพระเฑียรกับพระไชย พระราชโอรสของพระปรเมศวร สักเท่าใด ทั้งยังให้นำพงศาวดารเก่า ๆ ไปเผาไฟบ้าง ทิ้งน้ำบ้าง เป็นเหตุให้พงศาวดารขาดตอนมาจนทุกวันนี้ ขุนเชียนนเรศยังปกครองด้วยความกดขี่ เป็นที่เดือดเนื้อร้อนใจของคนทั้งปวง พระยากลาโหม พี่เลี้ยงพระเฑียร จึงคบคิดกับพระพิเรนทรเทพวางแผนโค่นล้มฝ่ายขุนเชียนนเรศ ก่อนดำเนินการ คณะผู้ก่อการได้ทำพิธีเสี่ยงเทียนที่วัดพระศรีสรรเพชญ์เพื่อทำนายถึงความสำเร็จของแผนการ
กระทั่งวันหนึ่งซึ่งได้โอกาส พระยากลาโหมก็ทูลขุนเชียนนเรศว่าพบช้างเผือกในป่าเมืองสรรคบุรี ขุนเชียนนเรศก็สั่งให้เตรียมการจะไปจับช้าง คณะผู้ก่อการจึงนำกำลังลงเรือไปซุ่มรอคอยกระบวนเสด็จทางชลมารคของขุนเชียนนเรศ ครั้นกระบวนเรือมาถึง คณะผู้ก่อการก็นำกำลังเข้าจู่โจมเรือพระที่นั่งอย่างฉับพลัน เอาดาบฟันขุนเชียนนเรศตายอยู่บนเรือ ขุนเชียนนเรศอยู่ในราชสมบัติได้ 2 ปี เมื่อสิ้นขุนเชียนนเรศแล้ว คณะผู้ก่อการก็อัญเชิญพระเฑียรขึ้นสืบราชสมบัติ ทรงพระนามว่าพระมหาจักรวรรดิ์ ส่วนชะตากรรมของพระมเหสีศรีสุดาจันทร์นั้น เอกสารนี้มิได้กล่าวถึงแต่ประการใด เป็นอันสิ้นเรื่องราวของพระนางเพียงเท่านี้
ปัญหาของเอกสาร
เอกสารเกี่ยวกับแม่หยัวศรีสุดาจันทร์มีปัญหาหลายด้าน สำหรับเอกสารไทยซึ่งเป็นพระราชพงศาวดารทั้งหลายนั้นผลิตขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะรวบรวมเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์มาไว้ในแห่งเดียวกันเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าจะต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ทั้งยังไม่ผูกมัดกับการอธิบายสาเหตุหรือความเป็นมา และไม่บรรยายเหตุการณ์ที่กินเวลาหลายช่วงหลายปีให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ข้อมูลในพระราชพงศาวดารจึงมักกระท่อนกระแท่น ไม่มีระเบียบ และขาดแนวเรื่อง[68] โดยเฉพาะ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ นั้น แม้จะให้รายละเอียดเรื่องวันเดือนปีแม่นยำ แต่ก็เขียนเนื้อหาแบบย่นย่อ ปราศจากรายละเอียด นักประวัติศาสตร์จึงมองว่า เข้าใจยาก และแทบไม่เป็นประโยชน์ต่อการจำลองภาพในอดีตของไทย[69][70] ส่วนพระราชพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ก็ผ่านการแต่งเติมและตัดทอนด้วยจุดประสงค์เฉพาะ รวมถึงมีข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา เช่น การแก้ไขหรือเขียนตกไปซึ่งตัวอักษรหรือตัวเลข ทำให้ศักราชผิดจากความจริงไปราว 4–20 ปี[71] ยิ่งเนื้อความเกี่ยวกับท้าวศรีสุดาจันทร์นั้นยังถูกมองว่าผ่านการขยายความให้โลดโผนและลึกลับซับซ้อน ชนิดที่ "เกือบเป็นนิยาย"[17] ข้อมูลในพระราชพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์จึงมีปัญหาเรื่องความถูกต้องแม่นยำ และส่งผลให้ในการใช้งานต้องกลั่นกรองความจริงที่แทรกซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่งด้วย[72]
สำหรับเอกสารภาษาต่างประเทศนั้น เอกสารโปรตุเกสของปิงตูถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากล่าวเกินจริงยิ่งนัก ทั้งปิงตูเองก็เป็นที่รู้จักในนาม "นักโกหกที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก" นักประวัติศาสตร์จึงมองว่าไม่อาจยึดถือปิงตูเป็นพยานหลักฐานเป็นจริงเป็นจังได้[73] ส่วนเอกสารฝรั่งเศสของตูร์แป็งดัดแปลงมาจากบันทึกของปีแยร์ บรีโก มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยา เนื้อหาที่ตูร์แป็งดัดแปลงนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีข้อผิดพลาดมาก และบรีโกเองก็กล่าวหาตูร์แป็งว่าบิดเบือนความคิดของตน[74] และเอกสารดัชต์ของฟาน ฟลีต ก็ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับแหล่งที่มาซึ่งเป็นคำบอกเล่า แม้จะให้ข้อมูลหลายประการที่เป็นประโยชน์และไม่ปรากฏในเอกสารไทยเลยก็ตาม[75]
เอกสารพม่าเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเนื้อหาค่อนข้างสับสนเลอะเลือน โดยเฉพาะในกรณีท้าวศรีสุดาจันทร์ เนื่องจากในการเรียบเรียงนั้นต้องแปลระหว่างภาษาไทย ภาษามอญ และภาษาพม่า[66]
ความเห็นของนักประวัติศาสตร์
พระนาม
เอกสารไทยที่เก่าแก่ที่สุด คือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ นั้น ออกพระนามพระนางว่า "แม่หยัวศรีสุดาจันทร์" (เขียนแบบเก่าว่า "แม่หญัวศรีศุดาจัน"[76] หรือ "แม่หญัวศรีสุดาจัน"[15]) ส่วนเอกสารสมัยรัตนโกสินทร์ออกพระนามว่า "แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์" หรือ "นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์"[77][78][79][80] (เขียนแบบเก่าว่า "นางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจัน"[81] หรือ "นางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์"[82])
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่า ที่เรียก "แม่หยัวศรีสุดาจันทร์" นั้นหมายความว่า เป็นผู้ดำรงตำแหน่งพระสนมเอก มีชื่อประจำตำแหน่งว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ และมีบรรดาศักดิ์เป็นแม่หยัวเมืองตามกฎมนเทียรบาล[ย] แต่ผู้แต่งพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์เรียก "แม่หยัว" ไปเป็น "แม่อยู่หัว"[6] สุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่า การที่กฎมนเทียรบาลจัดลำดับแม่หยัวเมืองไว้ถัดจากพระอัครมเหสี[ย] แสดงว่า แม่หยัวเมืองมีฐานะรองจากพระอัครมเหสี ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นพระสนมเอก ประสูติพระโอรสถึง 2 พระองค์ จึงมีฐานะเป็นแม่หยัวเมือง[7] ส่วนกรมศิลปากรเห็นว่า แม่หยัวเมืองเป็นตำแหน่งพระอัครชายา[15] และราชบัณฑิตยสภาเห็นว่า "แม่หยัว" ก็ดี "แม่หยัวเมือง" ก็ดี หรือ "แม่อยู่หัว" ก็ดี ล้วนเป็นคำในกลุ่มเดียวกัน ใช้สำหรับเรียกพระมเหสี (ภรรยาของพระมหากษัตริย์)[ร]
เกี่ยวกับรากศัพท์นั้น ประเสริฐ ณ นคร เห็นว่า คำ "หยัว" กร่อนมาจาก "อยู่หัว" ดังนั้น "แม่หยัว" ก็คือ "แม่อยู่หัว" และ "แม่หยัวเมือง" ก็คือ "แม่อยู่หัวเมือง"[85] ใน โคลงยวนพ่าย ก็ปรากฏคำว่า "หญัว" และราชบัณฑิตยสถานว่า "สันนิษฐานว่ากร่อนมาจาก อยู่หัว"[86] แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเห็นว่า "หยัว" อาจกร่อนมาจากคำว่า "อยู่" เฉย ๆ ก็ได้ เพราะมีตัวอย่างที่ "อู" กลายเป็น "ว" เช่น "ตู" กลายเป็น "ตัว" และ "ผู้" กลายเป็น "ผัว" ดังนั้นจึงทรงเห็นว่า "แม่หยัวเมือง" ได้แก่ "แม่อยู่เมือง" ใช้เป็นคำเรียกรองจาก "แม่อยู่หัว"[7]
อนึ่ง พระนาม "ศรีสุดาจันทร์" นั้นเป็นพระนามที่ได้จากการดำรงตำแหน่งพระสนมดังกล่าว มิใช่พระนามที่แท้จริงของพระนาง บุคคลอาจมีชื่อที่แท้จริงอย่างใดก็ได้ แต่เมื่อดำรงตำแหน่งพระสนมเอกแล้ว ก็จะได้ชื่อหนึ่งชื่อใดตามที่พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน[ว] ระบุ ซึ่งรวมถึงชื่อ "ศรีสุดาจันทร์" นี้[1][88]
พระชาติกำเนิด
เอกสารทางประวัติศาสตร์มิได้ระบุเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่า พระนางน่าจะเป็นญาติกับขุนชินราชผู้เป็นชายชู้ เห็นได้จากที่ภายหลังขุนชินราชได้รับชื่อ "วรวงศาธิราช" ซึ่งเป็นชื่อราชนิกุล แปลว่าพระญาติของพระเจ้าแผ่นดิน[89][90]
สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เสนอทฤษฎีสนมเอกสี่ทิศว่า ตำแหน่งพระสนมเอกทั้งสี่ตำแหน่งแห่งกรุงศรีอยุธยานั้นน่าจะมีไว้สำหรับผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ใหญ่ทั้งสี่ราชวงศ์ โดยเฉพาะตำแหน่งท้าวศรีสุดาจันทร์น่าจะมีไว้สำหรับผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์อู่ทองแห่งเมืองละโว้[91] ทฤษฎีนี้ยังทำให้สุจิตต์มีความเห็นว่า พระนางน่าจะทรงมีหลักแหล่งอยู่ในพระนครศรีอยุธยา แต่มีเครือญาติสำคัญอยู่ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำลพบุรี–แม่น้ำป่าสัก อันเป็นหัวใจของเมืองละโว้มาแต่โบราณ[92]
ขณะที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เห็นต่างว่า พระนางน่าจะทรงมาจากราชวงศ์พระร่วงมากกว่า เพราะนับตั้งแต่เจ้าสามพระยา พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ทรงเสกสมรสกับเจ้าหญิงราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย และประสูติพระราชโอรสออกมาเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้ทรงมีบทบาทในการผนวกกรุงสุโขทัยเข้ากับกรุงศรีอยุธยานั้น การเมืองในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาก็จำต้องได้ฐานสนับสนุนจากราชวงศ์สุพรรณภูมิและราชวงศ์พระร่วงตลอดมา นอกจากนี้ตำแหน่งขุนชินราชก็น่าจะมีที่มาจากพระพุทธชินราชแห่งเมืองพิษณุโลก เมืองหลวงของสุโขทัย อันแสดงให้เห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งนี้น่าจะมีเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ในเมื่อขุนชินราชเป็นพระญาติวงศ์ของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ก็ย่อมจะทรงมาจากราชวงศ์พระร่วงเช่นกัน[93]
อย่างไรก็ดี สุจิตต์และชาญวิทย์เห็นต้องกันว่า แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ย่อมมิใช่สามัญชน หากแต่เป็นเจ้านายในราชวงศ์[92][9]
พระชนมายุ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่า ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์ แม่หยัวศรีสุดาจันทร์น่าจะมีพระชนมายุมากแล้ว โดยทรงระบุว่า "อายุของนางก็เห็นจะกว่า 30 ปีไป ใกล้เรือน 40 ก็เลยวางตัวเปนคนแก่ จึงมีโอกาศถึงสามารถคบชู้ได้"[94]
ส่วนชาญวิทย์ เกษตรศิริ เห็นว่า เนื่องจากสมเด็จพระยอดฟ้า พระโอรสของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ ขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุ 11 พรรษา ในเวลานั้นแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ก็น่าจะมีพระชนมายุราว 24–26 พรรษา และในเวลาที่ทรงถูกประหารชีวิต พระนางก็น่าจะมีพระชนมายุเพียง 25–27 พรรษา[95] ชาญวิทย์ยังเห็นว่า หากคะเนเช่นนี้ พระนางก็น่าจะได้เป็นพระสนมเอกของสมเด็จพระไชยราชาธิราชขณะพระนางมีพระชนมายุราว 13–15 พรรษา และปีประสูติของพระนางน่าจะได้แก่ราว พ.ศ. 2064–2066[96]
ความสัมพันธ์กับสมเด็จพระไชยราชาธิราช
เอกสารทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด (ยกเว้นเอกสารพม่า) ระบุแต่แม่หยัวศรีสุดาจันทร์เป็นพระมเหสีของสมเด็จพระไชยราชาธิราช แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชอาจมีพระ (อัคร) มเหสี แต่พระ (อัคร) มเหสีอาจสิ้นพระชนม์ไปก่อนสมเด็จพระไชยราชาธิราชขึ้นครองราชย์ พระราชพงศาวดารจึงระบุแต่แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ในฐานะที่เป็นพระสนมเอกที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชมีพระราชโอรสด้วย[6]
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เห็นต่างออกไป โดยชาญวิทย์เห็นว่า การที่เอกสารทางประวัติศาสตร์ระบุถึงบทบาทของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ที่ได้ทรงสำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระโอรสของพระนางได้ขึ้นสืบราชสมบัตินั้น บ่งบอกว่า พระนางทรงเป็นที่รักใคร่เสน่หาของสมเด็จพระไชยราชาธิราชมาแต่ก่อนพระองค์จะขึ้นทรงราชย์แล้ว[97] และพิเศษเห็นว่า การที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชมีพระราชโอรสถึง 2 พระองค์กับพระนางเพียงผู้เดียว แสดงว่า พระนางน่าจะเป็นพระชายาคู่ทุกข์คู่ยากของสมเด็จพระไชยราชาธิราชมาตั้งแต่ก่อนพระองค์จะทรงได้ราชสมบัติ แต่พระชาติตระกูลของพระนางอาจไม่อยู่ในข่ายที่จะได้ขึ้นเป็นพระอัครมเหสี สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงสถาปนาให้เป็นเพียงพระสนมเอก และการที่พระนางทรงได้ตำแหน่งแม่หยัวเมืองตามกฎมนเทียรบาล ก็แสดงว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชไม่น่าจะมีบุคคลอื่นใดเป็นพระอัครมเหสีด้วย[98]
ส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นั้นไม่ทรงเชื่อว่า พระนางจะทรงได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จริงดังที่เอกสารระบุ เพราะ "ท้าวศรีสุดาจันทร์เคยเปนแต่พระสนม ไม่รอบรู้ราชการบ้านเมือง สมเด็จพระไชยราชาธิราชจะทรงเห็นสมควรให้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้แลหรือ"[99] นอกจากนี้ยังทรงเห็นว่า "ประเพณีในกรุงศรีอยุธยาไม่เคยมีแบบอย่างที่จะให้สตรีเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แม้มีแบบอย่างในประเทศที่ใกล้เคียง คือ เมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้นเองมีนางพระยาว่าราชการเมือง ก็เปนอัปมงคลบ้านเมือง เกิดข้าศึกศัตรูไปย่ำยี ถึงต้องยอมแพ้แก่กองทัพสมเด็จพระไชยราชาธิราช นับว่าเปนตัวอย่างไม่ดีซึ่งเห็นกันอยู่ในขณะนั้น"[100] กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า เหตุการณ์ที่เป็นไปได้มากกว่า คือ สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงให้พระเทียรราชาสำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะพระเทียรราชาเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่อยู่ในเวลานั้น เป็นเหตุให้การเปลี่ยนผ่านรัชกาลจากสมเด็จพระไชยราชาธิราชมาเป็นสมเด็จพระยอดฟ้าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จนกระทั่งพระเทียรราชาเกิดบาดหมางกับแม่หยัวศรีสุดาจันทร์และเสด็จออกผนวช แม่หยัวศรีสุดาจันทร์จึงทรงได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะไม่มีผู้อื่นจะเป็นแล้ว และเมื่อแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ทรงได้เป็นผู้สำเร็จราชการ บ้านเมืองก็วุ่นวายต่อมาโดยลำดับ[99]
ขณะที่สุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่า การที่เอกสารพม่าระบุว่า แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ทรงได้รับความโปรดปรานจากสมเด็จพระไชยราชาธิราช ถึงขนาดได้รับพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าอยู่ข้างพระที่มิได้ขาด และสามารถทูลคัดง้างได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับราชการแผ่นดิน แสดงว่า ราชสำนักอยุธยาตกอยู่ในความควบคุมของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์มากพอสมควร และการที่พระราชพงศาวดารไทยระบุว่า เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต สมเด็จพระยอดฟ้า พระราชโอรสที่ประสูติจากแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ ได้ขึ้นครองราชย์ต่อ โดยมีแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ "ช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดิน" นั้น แสดงว่า ในรัชกาลสมเด็จพระยอดฟ้า แม่หยัวศรีสุดาจันทร์มีอำนาจควบคุมกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ซึ่งสุจิตต์เห็นว่า "ถ้าไม่เก่งจริงและไม่มีอำนาจพอสมควร ก็คงจะประคองราชการแผ่นดินอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นผู้หญิงและเป็นม่าย"[101]
บทบาทในการสังหารพระสวามีและโอรส
แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ถูกกล่าวหาในหน้าประวัติศาสตร์ว่ามีส่วนในการสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราชผู้เป็นพระสวามี และสมเด็จพระยอดฟ้าผู้เป็นพระโอรส[102] แต่เอกสารต่าง ๆ ก็ระบุไม่ตรงกันในเรื่องการสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราช โดยเอกสารส่วนใหญ่มิได้ระบุว่าเกิดด้วยสาเหตุผิดธรรมชาติ มีเพียงเอกสารโปรตุเกส (และเอกสารฝรั่งเศส) ระบุว่า เกิดขึ้นเพราะแม่หยัวศรีสุดาจันทร์วางยาพิษ[103] ส่วนการสวรรคตของสมเด็จพระยอดฟ้านั้น เอกสารส่วนใหญ่ทั้งของไทยและต่างประเทศระบุสอดคล้องต้องกันว่า แม่หยัวศรีสุดาจันทร์มีส่วนก่อให้เกิดขึ้น เพื่อให้ขุนชินราชผู้เป็นชายชู้ได้ครองบัลลังก์แทน[104]
เอกสาร | แหล่งที่มา | สาเหตุการสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราช | สาเหตุการสวรรคตของสมเด็จพระยอดฟ้า |
---|---|---|---|
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ[13] | ไทย | ไม่ระบุ | ไม่ระบุ (ระบุเพียงว่า "เป็นเหตุ"[จ]) |
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)[105] | ไม่ระบุ | ขุนชินราชคบคิดกันกับแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ให้นำไปประหารที่วัดโคกพระยา | |
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)[106] | |||
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน[107] | |||
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล[108] | |||
พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน[109] | ประชวรปัจจุบัน | ||
พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา[110] | |||
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182[111] | ดัตช์ | สาเหตุตามธรรมชาติ | แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ร่วมมือกับขุนชินราชใช้เวทมนตร์และยาพิษปลงพระชนม์ |
The Voyages and Adventures of Ferdinand Mendez Pinto, the Portuguese[112] | โปรตุเกส | เสวยน้ำนมเจือยาพิษที่พระมเหสีถวาย | พระมารดาวางยาพิษ |
Histoire civile et naturelle du royaume de Siam[113] | ฝรั่งเศส |
เกี่ยวกับการสวรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราชนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อตาม พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตหลังเสด็จกลับถึงพระนครศรีอยุธยาแล้ว กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ไม่น่าจะกล้าคบชู้จนตั้งครรภ์ในเวลานั้นดังที่เอกสารโปรตุเกสระบุ การคบชู้น่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่พระนางได้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนสมเด็จพระยอดฟ้าแล้วดังที่พระราชพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ระบุ[114] ส่วนการสวรรคตของสมเด็จพระยอดฟ้านั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่ทรงเชื่อว่าเป็นฝีมือของพระนาง เพราะทรงเห็นว่า "ธรรมดามารดาถึงจะชั่วช้าอย่างไร ที่จะเปนใจให้ฆ่าบุตรนั้นยากที่จะเปนได้"[115] ดังนั้นจึงทรงเชื่อว่า การสวรรคตของสมเด็จพระยอดฟ้าเป็นการลอบกระทำของขุนชินราชโดยลำพัง ปกปิดมิให้พระนางล่วงรู้ ต่อเมื่อสมเด็จพระยอดฟ้าสวรรคตแล้ว จึงช่วยกันคิดอุบายอำพราง เป็นเหตุให้พงศาวดารระบุว่า พระนางคบคิดกับขุนชินราช[115]
วิลเลียม อัลเฟรด เร วูด กงสุลใหญ่อังกฤษประจำเชียงใหม่ คัดค้านกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า "กรมพระยาดำรงฯ ไม่ทรงเต็มพระทัยจะเชื่อว่าพระมารดาของพระแก้วฟ้าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปลงพระชนม์พระแก้วฟ้าเองดังที่ทั้งปิงตูและพงศาวดารระบุไว้ แต่ก็ดูจะเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จะไปกำหนดขอบเขตความเสื่อมทรามของมนุษย์"[116] วูดยังเห็นว่า แม้เอกสารโปรตุเกสของปิงตูมักกล่าวเกินจริง แต่สำหรับสาเหตุการสวรรคตของสมเด็จพระแก้วฟ้า (พระยอดฟ้า) นั้น การถูกวางยาพิษตามที่ปิงตูกล่าวดูจะเป็นไปได้มากกว่ากรณีอื่น[117] ขณะที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มองว่า การประหารชีวิตสมเด็จพระยอดฟ้าที่วัดโคกพระยาดังที่พงศาวดารไทยระบุนั้นก็เป็นไปได้ เพราะความจำเป็นของฝ่ายขุนชินราชที่จะต้องกำจัดสมเด็จพระยอดฟ้าให้เป็นที่ประจักษ์ก็มีอยู่ หากพิจารณาว่ามีกลุ่มอำนาจอื่นในอยุธยาไม่ยอมลงให้แก่ฝ่ายขุนชินราชที่ขึ้นมาครองอำนาจใหม่ แล้วใช้พระนามสมเด็จพระยอดฟ้ามาดำเนินขบวนการโค่นล้มฝ่ายขุนชินราช ทำนองเดียวกับที่เกิดในกรณีกบฏธรรมเถียรซึ่งอ้างพระนามเจ้าฟ้าอภัยทศมาโค่นล้มสมเด็จพระเพทราชา[118]
ส่วนสุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องคบชู้ก็ดี เรื่องฆ่าสวามีหรือโอรสก็ดี อาจเป็นเพียงข่าวลือที่ฝ่ายตรงข้ามใช้บ่อนทำลาย เพราะเอกสารโปรตุเกสจดบันทึกมาจากคำบอกเล่า และเรื่องราวเหล่านี้ก็ไม่ปรากฏในเอกสารไทยสมัยอยุธยา มาปรากฏอีกทีในเอกสารไทยที่เรียบเรียงขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์[119] สุจิตต์ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องแม่หยัวศรีสุดาจันทร์คบชู้ว่า หากยึดตามพระราชพงศาวดาร สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตแล้ว 2 ปี แม่หยัวศรีสุดาจันทร์จึงทรงมีความสัมพันธ์กับขุนชินราช ไม่น่าจะเรียกว่าคบชู้ได้ นอกจากนี้เรื่องการคบชู้น่าจะเป็นการสร้างกระแสข่าวเพื่อทำลายความชอบธรรมของพระนางในการออกว่าราชการแทนสมเด็จพระยอดฟ้า[120]
อย่างไรก็ดี แม้เอกสารทางประวัติศาสตร์จะให้ข้อมูลขัดแย้งกันในเรื่องการสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่บางฉบับก็เลือกที่จะระบุว่าพระองค์สวรรคตเพราะยาพิษ เช่น นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย ให้บทสรุปของรัชกาลพระองค์ว่า "หลังจากเสด็จกลับจากเชียงใหม่ในสงครามครั้งที่ 2 สมเด็จพระไชยราชาธิราชก็เสด็จสวรรคตในปลาย พ.ศ. 2089 โดยถูกท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอก วางยาพิษผสมในนมโคให้เสวย"[5]
วาระซ่อนเร้นทางการเมือง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมองว่า แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ทรงกระทำการต่าง ๆ ไปเพียงเพราะลุแก่อำนาจราคะเท่านั้น มิได้ประสงค์จะข้องเกี่ยวกับการเมืองมาแต่ต้น โดยทรงเขียนไว้ในคำอธิบาย พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (พ.ศ. 2457) ว่า "ท้าวศรีสุดาจันทร์ลอบเปนชู้กับขุนชินราช ตอนนี้เปนแต่การลอบคบชู้ เห็นว่าจะไม่ได้ตั้งใจจะให้เกี่ยวข้องถึงราชการบ้านเมือง...แต่ท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้นมา เมื่อเห็นว่าจะปิดความชั่วไว้ไม่มิด เกรงไภยอันตราย จึงคิดอุบายแก้ไขเกี่ยวข้องไปถึงราชการ"[121] ใน อธิบายเบ็ดเตล็ดในเรื่องพงศาวดารสยาม (พ.ศ. 2469) ก็ทรงเขียนทำนองเดียวกันว่า "เปนแต่โดยลุอำนาจแก่ราคจริต หาได้คิดเกี่ยวข้องถึงราชการบ้านเมืองอย่างใดไม่ เมื่อมีชู้แล้วก็ตั้งใจเพียงจะปกปิดความชั่วให้มิดชิดอย่างเดียว"[122]
นอกจากนี้กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงออกความเห็นในเชิงประณามหลายครั้ง เช่น ในคำอธิบาย พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (พ.ศ. 2457) ทรงเขียนว่า "เรื่องพงษาวดารตอนนี้เปนเรื่องของความชั่วไม่น่าอธิบาย"[123] ใน อธิบายเบ็ดเตล็ดในเรื่องพงศาวดารสยาม (พ.ศ. 2469) ทรงเขียนว่า "ท้าวศรีสุดาจันทร์เปนผู้ลุอำนาจแก่ราคจริต"[124] และใน พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2493) ทรงเขียนว่า "ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงและมีราคจริตกล้า"[125]
ขณะที่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่มองต่างออกไป สุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่า แม่หยัวศรีสุดาจันทร์นั้นทรงมีวาระทางการเมืองมาตั้งแต่แรก เพราะสุจิตต์เชื่อว่า พระนางทรงสืบเชื้อสายราชวงศ์อู่ทองซึ่งถูกราชวงศ์สุพรรณภูมิชิงอำนาจไป พระนางจึงน่าจะทรงมีเป้าหมายฟื้นฟูราชวงศ์อู่ทองกลับสู่ราชบัลลังก์อีกครั้ง และเป้าหมายนี้ของพระนางก็น่าจะเป็นที่รับรู้กันภายในราชสำนักด้วย เป็นเหตุให้พระราชพงศาวดารระบุว่า เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต และแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ทรงได้ขึ้นสำเร็จราชการ พระเทียรราชาซึ่งเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในราชวงศ์สุพรรณภูมิก็เสด็จออกผนวชลี้ภัยทางการเมืองทันที[126] เช่นเดียวกับชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่มองว่า เรื่องราวทั้งหมดเป็นการช่วงชิงอำนาจในราชวงศ์ และหากมองในด้านความเป็นแม่เป็นลูก อาจประณามแม่หยัวศรีสุดาจันทร์เป็นหญิงชั่วหรือแม่ชั่วที่คบชู้และฆ่าลูก แต่หากมองในมุมที่กว้างขึ้นของการช่วงชิงอำนาจและความเป็นใหญ่ เรื่องราวของพระนางก็มิได้ต่างจากอุบัติการณ์ในยุคก่อนหน้า เช่น กรณีเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา เจ้าสองพี่น้องที่ฆ่ากันตายเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ เป็นเหตุให้ราชสมบัติตกไปอยู่ที่เจ้าสามพระยาแทน หรือแม้แต่กรณีสมเด็จพระไชยราชาธิราชเองก็ทรงได้ราชสมบัติมาด้วยการยึดอำนาจและประหารสมเด็จพระรัฏฐาธิราชพระชนมายุ 5 พรรษา[127]
นอกจากเป้าหมายในการฟื้นฟูราชวงศ์อู่ทองแล้ว สุจิตต์ยังมองว่า แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ยังน่าจะมีเป้าหมายในการจัดการปกครองกรุงศรีอยุธยาแบบรวบอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางตามเจตนารมณ์ของสมเด็จพระไชยราชาธิราชผู้เป็นพระสวามี เพราะเมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ทรงยกเลิกการให้เจ้านายจากส่วนกลางออกไปครองหัวเมืองเหนือ และทรงเรียกเจ้านายกับขุนนางจากราชวงศ์หัวเมืองให้เข้ามารับราชการในส่วนกลาง ซึ่งในจำนวนนี้ก็ปรากฏว่ามีขุนพิเรนทรเทพจากราชวงศ์พระร่วง และขุนนางคนอื่น ๆ เช่น ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา และหลวงศรียศ ทำให้พระนครศรีอยุธยากลายเป็นศูนย์กลางอำนาจอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก เห็นได้จากเมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต และแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ทรงขึ้นสำเร็จราชการ กลุ่มหัวเมืองเหนือก็เริ่มกระด้างกระเดื่อง และขุนนางกลุ่มดังกล่าวก็เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มพระนาง[128] ชาญวิทย์ก็มองทำนองเดียวกัน โดยชี้ให้เห็นว่า คณะผู้ก่อการโค่นล้มพระนางนั้น อย่างน้อยกึ่งหนึ่งเป็นบุคคลจากหัวเมืองเหนือสายราชวงศ์พระร่วงซึ่งถูกผนวกดินแดนเข้ากับกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และถูกลดทอนสถานะและบทบาทลงตามลำดับเพื่อรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่เมื่อเสร็จงานกำจัดแม่หยัวศรีสุดาจันทร์แล้ว ราชสำนักอยุธยาแก้ไขความปั่นป่วนทางหัวเมืองเหนือด้วยการสถาปนาขุนพิเรนทรเทพ หัวหน้าคณะก่อการ ขึ้นเป็น "เจ้า" ที่มีสถานะสูงส่ง และให้กลับไปปกครองหัวเมืองเหนือตามราชประเพณีเดิมก่อนการรวมศูนย์อำนาจ[129]
เหตุการณ์สืบเนื่อง
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ระบุว่า หลังจากพระเทียรราชาทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ 7 เดือน พระเจ้าหงสาปังสเวกี (พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งหงสาวดี) ทรงยกทัพมายังพระนครศรีอยุธยา นำไปสู่สงครามซึ่งเรียกว่าสงครามคราวเสียพระสุริโยทัย[130] พระราชพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ระบุว่า สาเหตุที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงยกทัพมานั้น เป็นเพราะทรงทราบข่าวความวุ่นวายทางการเมืองอันเนื่องมาจากกรณีแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ บ้านเมืองจึงน่าจะเป็นจลาจลอยู่ ถ้าทรงยกทัพรุดไปโจมตี ก็น่าที่จะได้พระนครโดยง่าย[131][132][133][134][135][136]
นอกจากนี้ ในคราวกำจัดแม่หยัวศรีสุดาจันทร์นั้น พระราชพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ระบุว่า พระศรีศิลป์ พระราชโอรสของสมเด็จพระไชยราชาธิราชกับแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ มิได้ทรงถูกกำจัดด้วย แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้เลี้ยงไว้ ภายหลังพระศรีศิลป์ทรงก่อกบฏต่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงทรงถูกประหารชีวิต[137][138][139][140][141][142] เป็นอันสิ้นเชื้อสายของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์แต่เท่านี้[143]
ในวัฒนธรรมประชานิยม
ความเชื่อ
วัดแร้ง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถานที่เสียบประจานพระศพของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ ได้กลายสภาพเป็นป่าละเมาะ[144] และมีผู้ตั้งศาลขนาดเล็กอุทิศแด่พระนาง[145] ต่อมาใน พ.ศ. 2566 มีผู้เปิดร้านกาแฟในบริเวณดังกล่าว และจัดสร้างศาลขึ้นใหม่ มีขนาดใหญ่ ประดิษฐานพระรูปของพระนาง ขนาดเท่าคนจริง ทรงเครื่องแบบนางกษัตริย์ โดยระบุว่า ต้องการให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ไปพร้อมกัน[146]
หนังสือ
รพีพร (นามปากกาของสุวัฒน์ วรดิลก) ดัดแปลงเรื่องราวของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์เป็นนวนิยายเรื่อง ท้าวศรีสุดาจันทร์ โดยระบุว่า ตนเห็นว่า พระนางเป็นหญิงสาวสามัญชนที่เข้าไปมีบทบาทในราชสำนัก แต่ประวัติศาสตร์ให้ความยุติธรรมต่อพระนางน้อยเกินไป มีการบันทึกที่เหยียดหยามและกดขี่ทางเพศ ตนจึงเขียนนวนิยายขึ้นด้วยความประสงค์จะให้มองเรื่องราวในอีกด้านหนึ่ง[147]
นอกจากนี้ยังมีนวนิยายชื่อ รักร้อนบัลลังก์ร้าว ท้าวศรีสุดาจันทร์ ฉลอง เจยาคม เขียน พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2548[148] และหนังสือชื่อ ท้าวศรีสุดาจันทร์ บุญชัย ใจเย็น เขียน[149]
ภาพยนตร์
ในภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท (พ.ศ. 2544) ใหม่ เจริญปุระ แสดงเป็นแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ โดยได้รับการคัดเลือกจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง[150]
ในภาพยนตร์เรื่อง กบฏท้าวศรีสุดาจัน (พ.ศ. 2548) ยศวดี หัสดีวิจิตร แสดงเป็นแม่หยัวศรีสุดาจันทร์[151]
ภาพยนตร์ทั้งฉบับ พ.ศ. 2544 และ 2548 นำเสนอภาพลักษณ์ของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์จากมุมมองเดียวกัน คือ เป็นผู้ร้ายที่สร้างความวิบัติให้แก่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นมุมมองเดียวกับในพระราชพงศาวดารไทย[151] โดยเฉพาะในฉบับ พ.ศ. 2544 นั้น กำพล จำปาพันธ์ มองว่า นำเสนอแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ในฐานะที่เป็นด้านตรงข้ามของพระสุริโยทัยตามแบบประวัติศาสตร์ของผู้ชนะ โดยนำเสนอพระสุริโยทัยว่าเป็น "หญิงดี" ยอมรับประเพณีคลุมถุงชนเพราะเห็นแก่บ้านเมือง และคอยช่วยเหลือพระเทียรราชาผู้เป็นพระสวามี แม้ในยามที่พระเทียรราชาประสบปัญหาจนต้องหนีไปผนวชเอาตัวรอด พระสุริโยทัยก็ติดต่อขุนพิเรนทรเทพซึ่งเป็นคนรักเก่าให้มาช่วยเหลือ และท้ายที่สุดพระสุริโยทัยก็ยอมสละชีวิตในศึกสงครามเพื่อช่วยพระสวามีให้รอด ขณะที่แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ปฏิเสธความรักแบบคลุมถุงชนด้วยการเลือกสามีด้วยตนเอง คือ ขุนชินราช ซึ่งในเวลาที่ลอบมีสัมพันธ์สวาทด้วยกันนั้นยังมีตำแหน่งเป็นเพียงพันบุตรศรีเทพผู้เฝ้าหอพระ และนำเสนอแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ว่ามีพฤติกรรมที่พึงประณามว่าเป็น "หญิงชั่ว"[151]
อนึ่ง ภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท ยังปรับเปลี่ยนให้สมเด็จพระยอดฟ้าเป็นพระโอรสของตัวละครที่สร้างขึ้นใหม่ คือ พระมเหสีจิตรวดีผู้ดำรงตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แทนการเป็นพระโอรสของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ โดยให้เหตุผลว่า ผู้เขียนบทรับไม่ได้ที่จะนำเสนอภาพมารดาฆ่าบุตรของตนเอง[31]
ละคร
ในละครโทรทัศน์เรื่อง แม่หยัว (พ.ศ. 2567) ดาวิกา โฮร์เน่ แสดงเป็นแม่หยัวศรีสุดาจันทร์[150] และทำพิธีสักการะแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ที่วัดแร้งด้วยการรำถวายในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2567 ก่อนเริ่มถ่ายทำ[152] ละครเรื่องนี้นำเสนอแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ว่าเป็นหญิงนักสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเองและแผ่นดิน แทนที่จะเป็นหญิงร้าย[153]
หมายเหตุ
- ↑ ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยเก่าบางฉบับ เช่น พระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่นับขุนวรวงศาธิราชเป็นพระมหากษัตริย๋แห่งกรุงศรีอยุธยา[2] และกรมศิลปากรระบุว่า "ยังเป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ที่นับขุนวรวงศาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์ไทยก็มี เพราะถือว่าพระราชพงศาวดารระบุว่า ขุนวรวงศาธิราชได้ผ่านพระราชพิธีราชาภิเษก"[3]
- ↑ ตรงกับวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2088[14]
- ↑ ตรงกับวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2088[14]
- ↑ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2091[15]
- ↑ 5.0 5.1 5.2 ราชบัณฑิตยสภาว่า "เป็นเหตุ" หมายถึง "มีเหตุการณ์เกิดขึ้น (มักเป็นเหตุการณ์ร้ายแรง) เช่น ครั้นเถิงศักราช 896 มะเมียศก พระราชกุมารท่านนั้นเปนเหตุ จึงได้ราชสมบัติแก่พระไชยราชาธิราชเจ้า, สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเปนเหตุ จึงขุนชินราชได้ราชสมบัติ 42 วัน แลขุนชินราชแลแม่ญัวศรีสุดาจันทร์เปนเหตุ จึงเชิญสมเด็จพระเธียรราชาธิราชเสวยราชสมบัติ (พงศ.ประเสริฐ)"[16]
- ↑ กฎมนเทียรบาลเรียก "พิมานรัทยา" และวินัย พงษ์ศรีเพียร ว่า "พระที่นั่งพิมานรัทยาเป็นที่ประทับหรือบรรทมในเวลากลางคืน คำที่ใกล้กับรัทยามากที่สุดคือรัถยา แต่คำนี้แปลว่าทางเดิน ไม่เข้าทางความเลย จึงน่าจะเพี้ยนมาจากรัตติยา"[29]
- ↑ ราชบัณฑิตยสภาว่า หอพระเป็น "สถานที่หรือสิ่งปลูกสร้าง โดยมากมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมโดด ๆ มีหลังคาคลุม ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ เช่น สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จพระที่นั่งหอพระ...(พงศ.ประเสริฐ)"[30] แต่วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ เห็นว่า หอพระในที่นี้อาจหมายถึงอาคารขนาดใหญ่ดังเช่นหอพระมณเฑียรธรรมหรือหอพระเทพบิดร เพราะ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอ่ยถึง "หอพระเชษฐอุดร" ในพระราชวังหลวงอยุธยาว่าเป็นสถานที่สำหรับให้พระราชวงศ์และขุนนางเข้าไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอู่ทองก่อนจะไปร่วมพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่วัดพระศรีสรรเพชญ์"[31]
- ↑ พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน มาตรา 24 ว่า พระราชภักดีศรีรัตนราชสมบัดิพิริยภาหะ ศักดินา 5,000 เป็นเจ้ากรมพระคลังมหาสมบัติ[32] ส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่า ออกญาราชภักดีเป็นเจ้ากรมของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์[33]
- ↑ ราชบัณฑิตยสภาว่า "เลก" แปลว่า "คน เช่น สั่งว่าเลกฝ่ายกระลาโหม แลทหารโยธาฝ่ายพลเรือน...(สามดวง: พระไอยการลักภาลูกเมียผู้คนท่านบานผแนก)"[34]
- ↑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ว่า เจ้าพระยามหาเสนาบดี เป็นสมุหพระกลาโหม ประมุขฝ่ายทหาร ถือศักดินา 10,000[35]
- ↑ ประตูชั้นนอกของพระราชวัง ชื่ออย่างเป็นทางการคือประตูบวรนารีมหาภพชนม์ เป็นประตูที่เหล่านางในใช้ผ่านออกไปจ่ายตลาดด้านนอกพระราชวัง[36]
- ↑ ราชบัณฑิตยสภาว่า "มหาอุปราช" หมายถึง "1) เชื้อพระวงศ์ที่มีตำแหน่งรองจากพระมหากษัตริย์ ต่อมาเรียกว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า...2) ขุนนางผู้ดำรงตำแหน่งบังคับบัญชาสูงสุด เช่น เจ้าพญามหาอุปราช...ถือศักดินา 10000 (สามดวง: ตำแหน่งนาพลเรือน)"[37] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่า "ส่วนนายจัน น้องชายขุนวรวงศาธิราช ที่ว่าให้เปนพระมหาอุปราชนั้น ที่จริงเห็นจะเปนเจ้าพระยามหาอุปราชตามตำแหน่งที่มีในทำเนียบ หาได้เปนพระมหาอุปราชาอย่างรัชทายาทไม่"[38]
- ↑ ได้แก่เมืองกำแพงเพชร, เมืองชากังราว, เมืองปากยม (พิจิตร), เมืองพระบาง (นครสวรรค์), เมืองศรีสัชนาลัย, เมืองสองแคว (พิษณุโลก), และเมืองสุโขทัย[39]
- ↑ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[40]
- ↑ พจนานุกรมร่วมสมัย เช่น Dictionarium Anglo-Britannicum (ค.ศ. 1708) ว่า "purveyor" เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดหาข้าวโพด เชื้อเพลิง อาหาร ฯลฯ ให้แก่ราชสำนักของพระราชินี[45] กรมศิลปากรแปลคำนี้ว่า "คนส่งอาหาร"[46]
- ↑ ต้นฉบับว่า "Ce Prince languit encore pendant cinq jours, qu’il employa à régler les affaires publiques."[49] ("เจ้าชายพระองค์นี้ประชวรต่อไปอีก 5 วัน ทรงใช้ช่วงเวลานั้นสะสางกิจการบ้านเมือง") แต่คำแปลของกรมศิลปากรว่า "พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระชนม์อยู่ต่อมาได้เพียง 9 วันเท่านั้น ซึ่งระยะนั้นพระองค์ทรงฝักใฝ่อยู่กับงานของประเทศเป็นอันมาก"[50]
- ↑ ต้นฉบับว่า "On lui accorda deux mille hommes de pied & cinq cens cavaliers"[51] ("ทรงได้รับอนุมัติให้มีพลเดินเท้า 2,000 คนและพลม้า 500 คน") แต่คำแปลของกรมศิลปากรว่า "พระนางได้รับการยินยอมให้มีทหารราบได้ 12,000 คน และทหารม้า 500 คน"[52]
- ↑ ต้นฉบับว่า "le funeste breuvage qu'elle lui présenta de sa propre main"[53] ("เครื่องดื่มอันตรายซึ่งพระนางถวายแด่พระองค์ด้วยพระหัตถ์ของพระนางเอง") แต่คำแปลของกรมศิลปากรว่า "จัดการวางยาพระราชโอรสอย่างลับ"[54]
- ↑ กรมศิลปากรแปลคำนี้ว่า "เขมร"[54]
- ↑ ต้นฉบับว่า "Le trône qu'ils avoient souillé fut rempli par un frere naturel du pere du dernier Roi, qui passa de la tranquillité de la vie religieuse dans le tumulte des affaires."[55] ("ราชบัลลังก์ซึ่งแปดเปื้อนเพราะคนเหล่านั้นก็มีผู้ขึ้นครอง คือ พระเชษฐา/อนุชาแท้ ๆ ของพระราชบิดาของพระราชาพระองค์ก่อน ผู้เสด็จจากความร่มเย็นแห่งชีวิตทางศาสนามาเข้าสู่ความวุ่นวายของสรรพสิ่ง") แต่คำแปลของกรมศิลปากรว่า "ราชบัลลังก์ซึ่งทั้งสองทำให้เสื่อมลงได้ตกเป็นของอนุชาของพระราชบิดาของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน ผู้ซึ่งระหว่างที่เกิดการจลาจลได้แยกตัวไปใช้ชีวิตสันโดษอยู่ในวัด"[56]
- ↑ 21.0 21.1 กฎมณเทิยรบาล มาตรา 3 ว่า "กำหนดพระราชกฤษฎีกาไอยการพระราชกุมารพระราชนัดา ฝ่ายพระราชกุมารเกิดด้วยพระอัคมเหษีคือสมเดจ์หน่อพระพุทธเจ้า อันเกิดด้วยแม่หยัวเมืองเปนพระมหาอุปราช เกิดด้วยลูกหลวงกินเมืองเอก เกิดด้วยหลานหลวงกินเมืองโท เกิดด้วยพระสนมเปนพระเยาวราช"[83]
- ↑ ราชบัณฑิตยสภาว่า "แม่ยูหวัว <แม่อยู่หัว, แม่หยัวเมือง, แม่ญั่ว> น. แม่อยู่หัว, เป็นคำเรียกพระมเหสี เช่น จิงพ่ยูหวัวเจาท่มีพระสาดท่ใหนาใวกบัอาราม 400 ใร แม่ยูหวัวเจาท่ใวนา 335 ใร [จึงพ่ออยู่หัวเจ้าธมีพระศาสน์ ธให้นาไว้กับอาราม 400 ไร่ แม่อยู่หัวเจ้าธไว้นา 335 ไร่] (จ.วัดสรศักดิ์, 1/25), ตั้งพระราชบุตรีของพระองค์ ทรงพระนามฉิม เปนลูกสนมนั้น เปนพระแม่อยู่หัวนางพญา (พงศ.บริติช), แม่หยัวเมือง, แม่ญั่ว ก็ว่า เช่น ฝ่ายพระราชกุมารเกิดด้วยพระอัคมเหษีคือสมเดจ์หน่อพระพุทธเจ้า อันเกิดด้วยแม่หยัวเมืองเปนพระมหาอุปราช (สามดวง: กฎมณเทิยรบาล), แลขุนชินราชแลแม่ญั่วศรีสุดาจันทร์เปนเหตุ (พงศ.ประเสริฐ)"[84]
- ↑ พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน มาตรา 3 ว่า "นางท้าวพระสนมเอกทัง 4 คือ ท้าวอินสุเรนทร 1 ท้าวศรีสุดาจัน 1 ท้าวอินทรเทวี 1 ท้าวศรีจุลาลักษ 1 นาคละ [นาคนละ] 1000"[87]
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2548, p. 32)
- ↑ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2554, p. 12)
- ↑ กรมศิลปากร (2542, p. 359)
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2546, p. 186)
- ↑ 5.0 5.1 มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2554, p. 95)
- ↑ 6.0 6.1 6.2 พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา เล่ม 1 (2457, p. 533)
- ↑ 7.0 7.1 7.2 สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, p. 69)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, p. 64)
- ↑ 9.0 9.1 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2548, p. 36)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, pp. 3–4)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, pp. 92–94)
- ↑ 12.0 12.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, p. 29)
- ↑ 13.0 13.1 พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ (2457, pp. 125–127)
- ↑ 14.0 14.1 กรมศิลปากร (2542, p. 221)
- ↑ 15.0 15.1 15.2 กรมศิลปากร (2542, p. 222)
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา (2563, p. 198)
- ↑ 17.0 17.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, p. 34)
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา (2565, p. 183)
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา (2565, p. 185)
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา (2565, p. 187)
- ↑ 21.0 21.1 ราชบัณฑิตยสภา (2565, p. 188)
- ↑ นาฏวิภา ชลิตานนท์ (2524, p. 235)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) (2502, pp. 19–31)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (2479, pp. 19–31)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล (2549, pp. 30–40)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับที่เป็นสมบัติของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน (2507, pp. 37–49)
- ↑ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ฯ (2558, pp. 34–41)
- ↑ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค 1 (2455, pp. 16–27)
- ↑ วินัย พงษ์ศรีเพียร (2548, p. 92)
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา (2563, p. 339)
- ↑ 31.0 31.1 วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ (2544)
- ↑ กำธร เลี้ยงสัจธรรม (2548, p. 159)
- ↑ ดำรงราชานุภาพ (2469, p. 84)
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา (2563, p. 288)
- ↑ เทพรัตนราชสุดาฯ (2540, p. 19)
- ↑ ภาษิต จิตรภาษา (2566)
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา (2563, p. 251)
- ↑ ดำรงราชานุภาพ (2469, pp. 76–77)
- ↑ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ฯ (2558, p. 12)
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (2563)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, pp. 19–20)
- ↑ ปินโต (2548, pp. 3–4)
- ↑ Pinto (1891, pp. 398–411)
- ↑ ปินโต (2548, pp. 70–83)
- ↑ Kersey (1708, p. 528)
- ↑ ปินโต (2548, p. 70)
- ↑ 47.0 47.1 Turpin (1771, pp. 9–13)
- ↑ กรมศิลปากร (2539, pp. 5–6)
- ↑ Turpin (1771, p. 9)
- ↑ กรมศิลปากร (2539, p. 5)
- ↑ Turpin (1771, p. 11)
- ↑ กรมศิลปากร (2539, p. 6)
- ↑ Turpin (1771, p. 13)
- ↑ 54.0 54.1 กรมศิลปากร (2539, p. 7)
- ↑ Turpin (1771, p. 13)
- ↑ กรมศิลปากร (2539, p. 8)
- ↑ 57.0 57.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, p. 25)
- ↑ ศุภวัฒย์ เกษมศรี (2552, p. 13)
- ↑ 59.0 59.1 ศุภวัฒย์ เกษมศรี (2552, p. 41)
- ↑ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิตฯ (2546, p. 59)
- ↑ ศุภวัฒย์ เกษมศรี (2552, pp. 41–43)
- ↑ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิตฯ (2546, pp. 58–62)
- ↑ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิตฯ (2546, p. 58)
- ↑ ศุภวัฒย์ เกษมศรี (2552, p. 43)
- ↑ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิตฯ (2546, p. 62)
- ↑ 66.0 66.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, p. 30)
- ↑ คำให้การชาวกรุงเก่า (2457, pp. 67–72)
- ↑ นาฏวิภา ชลิตานนท์ (2524, pp. 271–272)
- ↑ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิตฯ (2546, p. 8)
- ↑ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิตฯ (2546, p. 33)
- ↑ นาฏวิภา ชลิตานนท์ (2524, p. 220, 230)
- ↑ นาฏวิภา ชลิตานนท์ (2524, p. 220)
- ↑ Wood (1926, p. 107)
- ↑ Turpin, François Henri (1911, p. 482)
- ↑ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิตฯ (2546, pp. 25–27)
- ↑ ทรงพระกรุณาให้แต่งพระราชพงศาวดารย่อฯ (2510, p. 98)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (2479, p. 21)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล (2549, p. 31)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับที่เป็นสมบัติของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน (2507, p. 38)
- ↑ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค 1 (2455, p. 17)
- ↑ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ฯ (2558, p. 36)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) (2502, p. 21)
- ↑ กำธร เลี้ยงสัจธรรม (2548, p. 53)
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา (2563, p. 258)
- ↑ วินัย พงษ์ศรีเพียร (2548, p. 73)
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน (2544, p. 130)
- ↑ กำธร เลี้ยงสัจธรรม (2548, p. 119)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, p. 61)
- ↑ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา เล่ม 1 (2457, p. 543)
- ↑ ดำรงราชานุภาพ (2469, p. 69)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, pp. 61–70)
- ↑ 92.0 92.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, p. 82)
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2548, pp. 36–38)
- ↑ ดำรงราชานุภาพ (2469, p. 68)
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2548, pp. 33–39)
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2548, p. 33)
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2548, pp. 33–34)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, pp. 82–83)
- ↑ 99.0 99.1 ดำรงราชานุภาพ (2469, p. 62)
- ↑ ดำรงราชานุภาพ (2469, pp. 61–62)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, p. 83)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, pp. 3–4)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, pp. 85–87)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, pp. 3–4)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) (2502, pp. 20, 23)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (2479, pp. 20, 23)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับที่เป็นสมบัติของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน (2507, pp. 37, 41)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล (2549, pp. 31, 33)
- ↑ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ฯ (2558, pp. 35, 37)
- ↑ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค 1 (2455, pp. 16, 19)
- ↑ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิตฯ (2546, pp. 58–60)
- ↑ Pinto (1891, pp. 403, 410)
- ↑ Turpin (1771, pp. 9, 13)
- ↑ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา เล่ม 1 (2457, pp. 541–542)
- ↑ 115.0 115.1 ดำรงราชานุภาพ (2469, p. 75)
- ↑ Wood (1926, p. 110)
- ↑ Wood (1926, pp. 107, 110)
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2548, p. 34)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, pp. 89–90)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, pp. 90–91)
- ↑ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา เล่ม 1 (2457, pp. 542–543)
- ↑ ดำรงราชานุภาพ (2469, p. 70)
- ↑ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา เล่ม 1 (2457, p. 541)
- ↑ ดำรงราชานุภาพ (2469, p. 88)
- ↑ ดำรงราชานุภาพ (2493, p. 4)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, pp. 92–93)
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2548, pp. 34–35)
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540, pp. 93–94)
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2548, pp. 34–37)
- ↑ พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ (2457, p. 126)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) (2502, p. 31)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (2479, p. 31)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับที่เป็นสมบัติของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน (2507, p. 49)
- ↑ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ฯ (2558, p. 41)
- ↑ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค 1 (2455, p. 26)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล (2549, p. 40)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) (2502, pp. 27, 58–60)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (2479, pp. 28, 55–57)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับที่เป็นสมบัติของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน (2507, pp. 45, 76–78)
- ↑ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ฯ (2558, pp. 39, 55–56)
- ↑ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค 1 (2455, pp. 23, 48–49)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล (2549, pp. 36, 56–59)
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2548, p. 39)
- ↑ วัดแร้ง วัดร้างอยุธยาฯ (2562)
- ↑ โคกวัดแร้งฯ (2558)
- ↑ เยือนวัดแร้งฯ (2566)
- ↑ รพีพร (2567)
- ↑ ฉลอง เจยาคม (2567)
- ↑ บุญชัย ใจเย็น (2567)
- ↑ 150.0 150.1 Danita S. (2567)
- ↑ 151.0 151.1 151.2 กำพล จำปาพันธ์ (2567)
- ↑ ผู้จัดการออนไลน์ (2567a)
- ↑ ผู้จัดการออนไลน์ (2567b)
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
- กรมศิลปากร (2539). ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรส โพรดัคส์. ISBN 974-419-094-9.
- กรมศิลปากร (2542). ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ISBN 974-419-215-1.
- กำธร เลี้ยงสัจธรรม, บ.ก. (2548). กฎหมายตรา 3 ดวง เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ. ISBN 974-409-652-7.
- กำพล จำปาพันธ์ (2567). "ท้าวศรีสุดาจันทร์กับตำนานบทใหม่ที่เริ่มจากท่าพับเป็ด". thepeople.co.
- คำให้การชาวกรุงเก่า. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย. 2457.
- "โคกวัดแร้ง วัดร้างที่อยุธยา สถานที่เสียบประจานท้าวศรีสุดาจันทร์". faiththaistory.com. 2558.
- ฉลอง เจยาคม (2567). "รักร้อนบัลลังก์ร้าว ท้าวศรีสุดาจันทร์". scphkk.ac.th.
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2546). อยุธยา (3rd ed.). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ISBN 974-91267-7-7.
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2548). อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง (4th ed.). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ISBN 974-91572-7-3.
- ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ (2469). . พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา (2493). พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช. พระนคร: กรมศิลปากร.
- . ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา. พระนคร: สำนักนายกรัฐมนตรี: 93–103. 2510.
- เทพรัตนราชสุดาฯ, สมเด็จพระ (2540). บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: พี.ค.พริ้นติ้ง. ISBN 974-89872-2-1.
- นาฏวิภา ชลิตานนท์ (2524). ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ISBN 974-571-051-2.
- บุญชัย ใจเย็น (2567). "ท้าวศรีสุดาจันทร์". naiin.com.
- ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2522. OCLC 23483115.
- ปินโต, เมนเดส เฟอร์เนา (2548). รวมผลงานแปลเรื่องบันทึกการเดินทางของเมนเดส ปินโต. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ISBN 974-9527-85-2.
- ผู้จัดการออนไลน์ (2567a). "ใหม่ ดาวิกา จัดเต็มความงดงามเข้าสักการะแม่หยัวท้าวศรีสุดาจันทร์ พร้อมรำถวาย". mgronline.com.
- ผู้จัดการออนไลน์ (2567b). "ใหม่รับศึกหนัก พาแม่หยัวฝ่าทุกคำดูถูก อัปสกิลละครทีวีกลบดรามา หน้าแบบนี้ไม่เหมาะกับชุดไทย". mgronline.com.
- พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 (2nd ed.). กรุงเทพฯ: มติชน. 2546. ISBN 974-322-922-1.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด). พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. 2502.
- "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)". ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. 2479.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล (2nd ed.). กรุงเทพฯ: โฆษิต. 2549. ISBN 974-94899-9-3.
- พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับที่เป็นสมบัติของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. พระนคร: กรมศิลปากร. 2507.
- พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์. 2558. ISBN 978-616-92351-0-1.
- . กรุงเทพฯ: หอพระสมุดวชิรญาณ. 2455.
- พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา เล่ม 1 (2nd ed.). กรุงเทพฯ: หอพระสมุดวชิรญาณ. 2457.
- . ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 1. กรุงเทพฯ: โบราณคดีสโมสร: 113–138. 2457.
- ภาษิต จิตรภาษา (2566). "สำนวน "เจ้าชู้ประตูดิน" มีที่มาจากไหน?". silpa-mag.com.
- มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. ISBN 978-616-7308-25-8.
- "เยือนวัดแร้ง พื้นที่ประวัตติศาสตร์ มีศาลแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์". komchadluek.net. 2566.
- รพีพร (2567). "ท้าวศรีสุดาจันทร์". naiin.com.
- ราชบัณฑิตยสถาน (2544). พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย สมัยอยุธยา โคลงยวนพ่าย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. ISBN 974-8123-62-6.
- ราชบัณฑิตยสภา (2563). พจนานุกรมโบราณศัพท์ ฉบับราชบัณฑิตยสภา. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ISBN 978-616-389-106-8.
- ราชบัณฑิตยสภา (2565). นานาสาระภาษาและหนังสือไทย ฉบับราชบัณฑิตยสภา. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ISBN 978-616-389-157-0.
- "วัดแร้ง วัดร้างอยุธยาที่แค่ได้ยินชื่อก็ชวนขนหัวลุก". ayutthayastation.com. 2562.
- วินัย พงษ์ศรีเพียร, บ.ก. (2548). กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ. กรุงเทพฯ: โครงการวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. ISBN 974-619-138-1.
- วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ (2544). "ประวัติศาสตร์สุริโยไท บทสนทนาอันไม่รู้จบระหว่างปัจจุบันกับอดีต". sarakadee.com.
- ศุภวัฒย์ เกษมศรี (2552). พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับเยเรเมียส ฟาน ฟลีต และผลงานคัดสรรพลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี นักประวัติศาสตร์อาวุโสดีเด่น สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. ISBN 9789746425872.
- สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (2563). "วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร". aya.onab.go.th.
- สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540). ท้าวศรีสุดาจันทร์ "แม่หยัวเมือง" ใครว่าหล่อนชั่ว?. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 974-7311-70-4.
- Danita S. (2567-02-09). "ท้าวศรีสุดาจันทร์ 2024 เทียบ 2 เวอร์ชั่น ใหม่ ดาวิกา ประชันใหม่ เจริญปุระ". thethaiger.com.
ภาษาต่างประเทศ
- Hodges, Ian (1999). "Time in Transition: King Narai and the Luang Prasoet Chronicle of Ayutthaya" (PDF). Journal of the Siam Society (ภาษาอังกฤษ). 87 (1&2): 33–44.
- Kersey, John (1708). Dictionarium Anglo-Britannicum (ภาษาอังกฤษ). London: J. Wilde, for J. Phillips, at the King's-Arms in St. Paul's Church-yeard; D. Rhodes, at the Star, the Corner of Bride-lanc, in Fleet-Street; and J. Cayloz, at the Ship in St. Paul's Church-yard.
- Pinto, Fernão Mendes (1891). The Voyages and Adventures of Ferdinand Mendez Pinto, the Portuguese (ภาษาอังกฤษ). แปลโดย Cogan, Henry. London: T.F. Unwin.
- Turpin, François-Henri (1771). Histoire civile et naturelle du royaume de Siam, et des révolutions qui lui ont bouleversé cet empire jusqu'en 1770: Tome 2 (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: Chez Costard.
- . The Encyclopædia Britannica Volume XXVII (ภาษาอังกฤษ). New York: Encyclopædia Britannica, Inc. 1911.
- Wood, William Alfred Rae (1926). A History of Siam From the Earliest Times to the Year A.D. 1781, With a Supplement Dealing With More Recent Events (ภาษาอังกฤษ). London: T. Fisher Unwin. OCLC 771920731.