แมวน้ำลายพิณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แมวน้ำฮาร์ป)
แมวน้ำลายพิณ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Phocidae
สกุล: Pagophilus
(Gray, 1844)
สปีชีส์: P.  groenlandica
ชื่อทวินาม
Pagophilus groenlandicus
Erxleben, 1777
บริเวณแหล่งอาศัย
ชื่อพ้อง[1]
  • Phoca groenlandica (Erxleben, 1777)

แมวน้ำลายพิณ หรือ แมวน้ำหลังอาน (อังกฤษ: Harp seal, Saddleback seal; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pagophilus groenlandicus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำพวกสัตว์กินเนื้อ จัดเป็นแมวน้ำชนิดหนึ่ง ที่เป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Pagophilus ที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์

ลักษณะ[แก้]

แมวน้ำลายพิณมีลักษณะเด่น คิอ บริเวณหลังมีลายด่างดำคล้ายรูปพิณฝรั่ง หรือฮาร์ป อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ พบกระจายพันธุ์อยู่บริเวณแถบขั้วโลกเหนือหรืออาร์กติก นับเป็นแมวน้ำที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากแมวน้ำกินปู (Lobodon carcinophagus) ที่พบในแถบแอนตาร์กติกา ในปี ค.ศ. 2004 คาดว่ามีจำนวนประชากรแมวน้ำลายพิณในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกราว 5.2 ล้านตัว นับว่าสูงกว่าในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ถึงสามเท่า และในปี ค.ศ. 1999 มีการสำรวขประชากรูกแมวน้ำลายพิณ พบว่ามีลูกแมวน้ำที่เกิดใหม่ถึงเกือบหนึ่งล้านตัว

แมวน้ำลายพิณ มีอายุยืนได้ถึง 30 ปี และเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 4-8 ปี ขนาดเมื่อโตเต็มที่อาจหนักได้ถึง 127 กิโลกรัม สามารถว่ายน้ำและดำน้ำได้นานกว่า 15 นาที โดยไม่โผล่ขึ้นมาหายใจ และดำน้ำได้ลึกถึง 275 เมตร เพื่ออาหารจำพวกปู หรือปลา กินเป็นอาหาร คาดว่าแมวน้ำลายพิณขนาดโตเต็มที่จะกินอาหารปีหนึ่งไม่ต่ำกว่าหนึ่งตัน โดยปริมาณอาหารประเภทปลาและแพลงก์ตอนสัตว์ราว 4 ล้านตัน เป็นของแมวน้ำลายพิณกว่าร้อยละ 80 ทำให้ได้ฉายาจากชาวประมงพื้นเมืองในอ่าวเซนต์ลอว์เรนต์ รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศสว่า "Loup-marin de glace" (หมาป่าแห่งดินแดนน้ำแข็ง)

ลูกแมวน้ำลายพิณที่มีขนสีขาว
แม่แมวน้ำลายพิณและลูก

ลูกแมวน้ำลายพิณ มีฉายาเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "Blanchon" (เจ้าตัวขาว) จะมีขนฟูสีขาวสะอาด แม้จะสามารถว่ายน้ำได้เลยตั้งแต่เกิด แต่ก็ต้องการความอบอุ่นจากชั้นไขมันเป็นฉนวนกั้นความหนาวเย็น ดังนั้น เมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่ ลูกแมวน้ำลายพิณจะสะสมไขมันจากนมแม่ ซึ่งเป็นน้ำนมที่ข้นมันที่สุดชนิดหนึ่งในธรรมชาติ (คาดว่าลูกแมวน้ำมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นราว 450 กรัมทุก ๆ ห้าชั่วโมง ขณะที่แม่แมวน้ำก็จะมีน้ำหนักตัวลดลงเท่ากันทุกสามชั่วโมง และแม่แมวน้ำจะผลิตน้ำนมที่มีไขมันสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งสูงกว่าน้ำนมวัวเสียอีก) น้ำหนักตัวของลูกแมวน้ำลายพิณจะเพิ่มขึ้นวันละสองกิโลกรัม เมื่ออายุได้ 10-12 วัน หรืออายุสองสัปดาห์ จะหย่านม ซึ่งถึงขณะนั้นลูกแมวน้ำอาจมีน้ำหนักได้ถึง 30 กิโลกรัม และลูกแมวน้ำจะผลัดขนเผยให้เห็นเป็นขนอ่อนสีเทา (ในระยะนี้ ลูกแมวน้ำถูกเรียกว่า "บีตเตอร์") และหลังจากนั้นอีก 2-3 สัปดาห์ ถึงจะมีสภาพขนเหมือนแมวน้ำตัวเต็มวัย ลูกแมวน้ำขนาดเล็กจะยังไม่มีชั้นไขมันที่หนาพอที่จะป้องกันความหนาวเย็นได้ หากตกลงไปในน้ำแม่แมวน้ำจะรีบดันลูกให้ขึ้นมาบนพื้นน้ำแข็งทันที

การคุกคามของมนุษย์[แก้]

แมวน้ำลายพิณ เป็นสัตว์ที่มนุษย์ใช้ล่าเพื่อนำขนมาใช้ประโยชน์ทำเป็นเสื้อขนสัตว์มาแต่อดีต เนื้อและไขมันใช้ในการบริโภคเพื่อป้องกันความหนาวเย็น โดยในทศวรรษ 1850 แม่น้ำลายพิณซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกแมวน้ำถูกล่าในแต่ละฤดูกาลถึงปีละ 500,000 ตัว และการล่าเพื่อเอาขนได้รับความนิยมในช่วงปลายทศวรรษ 1940 ทำให้ปริมาณแมวน้ำลายพิณในแถบนิวฟันด์แลนด์และอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์เหลือไม่ถึง 2,000,000 ตัวในปี ค.ศ. 1972 ซึ่งชาวประมงบางรายกล่าวว่าที่ต้องฆ่าแมวน้ำลายพิณ เพราะถูกแย่งปลาที่จับได้ ในปี ค.ศ. 1987 รัฐบาลแคนาดาได้ออกกฎหมายห้ามล่าลูกแมวน้ำที่มีขนสีขาวเพื่อการพาณิชย์ ทำให้ราคาของหนังลูกแมวน้ำที่ผลัดขนแล้วตกราคาผืนละไม่ต่ำกว่า 40 ดอลล่าร์แคนาดา (ราว 1,100 บาท)

ปัจจุบัน แมวน้ำลายพิณยังถูกล่าอยู่เพื่อการพาณิชย์ภายใต้กรอบของกฎหมายและโควต้าที่มีจำกัด[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ wil
  2. หน้า 70-87, แมวน้ำลายพิณ บนเส้นทางแห่งความขัดแย้ง โดย เคนเนดี วอร์น. นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย: มีนาคม 2547

หนังสืออ่านเพิ่ม[แก้]

The Northwest population:

The White Sea and West Ice populations:

  • Hamre, J.(1994). Biodiversity and exploitation of the main fish stocks in the Norwegian- Barents Sea ecosystem. Biodiversity and Conservation 3:473-492
  • Haug, T., Kroeyer, A.B., Nilssen, K.T., Ugland, K.I. and Aspholm, P.E., (1991). Harp seal (Phoca groenlandica ) invasions in Norwegian coastal waters: Age composition and feeding habits. ICES journal of marine science. Vol. 48, no. 3:363-371
  • ICES 2001. Report of the Joint ICES/NAFO Working Group on Harp and Hooded Seals, ICES Headquarters, 2–6 October 2000. ICES CM, 2001, ACFM:8, 40 pp.
  • Nilssen, K.T., Pedersen, O.-P., Folkow, L.P., & Haug. T. 2000. Food consumption estimates of Barents Sea harp seals. NAMMCO Sci. Publ. 2:9-28.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pagophilus groenlandicus ที่วิกิสปีชีส์