แผ่นอาหรับ
แผ่นอาหรับ | |
---|---|
![]() | |
ประเภท | ขนาดเล็ก |
การเคลื่อนตัว1 | ทิศเหนือ |
อัตราเร็ว1 | 15–20 มม./ปี |
ลักษณะภูมิศาสตร์ | คาบสมุทรอาหรับ, ทะเลแดง, อ่าวเอเดน, อ่าวเปอร์เซีย, มหาสมุทรอินเดีย |
1โดยเทียบกับแผ่นแอฟริกา |
แผ่นอาหรับ (อังกฤษ: Arabian Plate) เป็นแผ่นธรณีแปรสัณฐานขนาดเล็กที่อยู่ในซีกโลกเหนือด้านตะวันออก
แผ่นอาหรับเป็นหนึ่งในสามแผ่นเปลือกโลก (แผ่นแอฟริกา, แผ่นอาหรับ และแผ่นอินเดีย) ที่มีการเคลื่อนที่ไปทางเหนือและชนกับแผ่นยูเรเชียในประวัติศาสตร์ธรณีวิทยาในปัจจุบัน ลักษณะนี้เป็นผลให้เกิดการรวมกันของชิ้นแผ่น และเกิดเทือกเขาที่ทอดตัวตามแนวตั้งแต่ทิศตะวันตก คือ เทือกเขาพิรินี ตั้งแต่ยุโรปใต้ไปจนถึงประเทศอิหร่าน เกิดเป็นภูเขาอัลโบร์ซและภูเขาซาโกรส ไปจนถึงเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[1]
ขอบเขต[แก้]
แผ่นอาหรับประกอบด้วยคาบสมุทรอาหรับเป็นส่วนมาก ตัวแผ่นขยายไปด้านตะวันตกจนถึงคาบสมุทรไซนายและทะเลแดง และขยายไปทางเหนือจนถึงลิแวนต์ โดยมีขอบเขตดังต่อไปนี้
- ทางทิศตะวันออกติดกับแผ่นอินเดียที่แนวรอยแตกโอเวน
- ทางทิศใต้ติดกับแผ่นแอฟริกาไปทางฝั่งตะวันตก และติดกับแผ่นโซมาเลียและแผ่นอินเดียไปทางฝั่งตะวันออก
- ทางทิศตะวันตกติดกับแนวรอยเลื่อนด้านข้างที่เป็นเขตของแผ่นแอฟริกา เรียกว่า การเคลื่อนผ่านทะเลเดดซี (DST) และเขตเคลื่อนที่แยกออกจากกันกับแผ่นแอฟริกา เรียกว่า รอยแตกทะเลแดง ซึ่งทอดตัวตามยาวในทะเลแดง
- ทางทิศเหนือติดกับแนวลู่เข้าหากันของแผ่นอานาโตเลียและแผ่นยูเรเชีย[2]
ประวัติ[แก้]
แผ่นอาหรับเคยเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นแอฟริกาในระหว่างส่วนมากของบรมยุคฟาเนอโรโซอิก (มหายุคพาลีโอโซอิกถึงมหายุคซีโนโซอิก) จนถึงในสมัยโอลิโกซีนของมหายุคซีโนโซอิก การแตกในทะเลแดงเริ่มขึ้นในสมัยอีโอซีน แต่การแยกของแอฟริกาและอาหรับนั้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 25 ล้านปีที่แล้วในสมัยโอลิโกซีน และตั้งแต่นั้นมา แผ่นอาหรับก็ได้เคลื่อนตัวไปทางแผ่นยูเรเซียอย่างช้า ๆ[3] ขณะที่ช่องเปิดในรอยแตกทะเลแดงนั้นนำไปสู่การเกิดขึ้นของกิจกรรมภูเขาไฟอย่างกว้างขวาง มีภูเขาไฟขนาดใหญ่ในพื้นที่ เรียกว่า โอล์เดอร์ฮาร์รัต (Older Harrats) เช่น ภูเขาไฟฮาร์รัตไคฮ์ยบาร์ และภูเขาไฟฮาร์รัตราฮัต ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ของแผ่นอาหรับด้านตะวันตก กิจกรรมภูเขาไฟบางแห่งยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบเมืองอัลมะดีนะฮ์[4] และมีการปะทุของภูเขาไฟอย่างสม่ำเสมอภายในทะเลแดง[5]
การชนระหว่างแผ่นอาหรับและแผ่นยูเรเซียกำลังผลักดันภูเขาซาโกรสในประเทศอิหร่านขึ้น และเนื่องจากการชนกันของแผ่นทั้งสอง ทำให้เมืองหลายเมืองกำลังตกอยู่ในอันตราย เช่น เมืองในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศตุรกี (ซึ่งอยู่บนแผ่นอาหรับ) โดยอันตรายนั้นประกอบไปด้วยแผ่นดินไหว สึนามิ และภูเขาไฟ
ประเทศ[แก้]
ประเทศที่ตั้งอยู่บนแผ่นอาหรับ ประกอบด้วย บางส่วนของประเทศอิรัก, ลิแวนต์ (ภาคตะวันออกของประเทศเลบานอน ประเทศซีเรีย และประเทศจอร์แดน) ทั้งหมดของคาบสมุทรอาหรับ (ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศโอมาน ประเทศกาตาร์ ประเทศบาห์เรน ประเทศคูเวต ประเทศเยเมน) และประเทศจิบูตีของจะงอยแอฟริกา
อ้างอิง[แก้]
- ↑ Image Science and Analysis Laboratory, NASA-Johnson Space Center. "Tectonics of the Arabian Plate". The Gateway to Astronaut Photography of Earth. NASA. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 6 July 2007. สืบค้นเมื่อ 21 July 2007.
- ↑ arabia2 (2014-09-15). "Plate Boundaries of the Arabian Plate – GEOS 309: Tectonics". Geos309.community.uaf.edu. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-01-23.
- ↑ "Arabian Plate - African/Arabian Tectonic Plates". Africa-arabia-plate.weebly.com. สืบค้นเมื่อ 2016-01-23.
- ↑ "Volcanoes of Saudi Arabia". 2016-03-07. สืบค้นเมื่อ 2016-03-24.
- ↑ Wenbin Xu; และคณะ (2015-05-26). "Birth of two volcanic islands in the southern Red Sea". Nature Communications 6, Article number: 7104.