แผลไหม้
แผลไหม้ | |
---|---|
![]() แผลไหม้ระดับสองที่มือ | |
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก | |
ICD-10 | T20–T31 |
ICD-9 | 940–949 |
DiseasesDB | 1791 |
MedlinePlus | 000030 |
eMedicine | article/1278244 |
MeSH | D002056 |
แผลไหม้ (อังกฤษ: burn) เป็นการบาดเจ็บต่อผิวหนังหรือเนื้อเยื่ออื่นอย่างหนึ่ง มีสาเหตุจากความร้อน ไฟฟ้า สารเคมี แรงเสียดทาน หรือการแผ่รังสี[1] แผลไหม้ส่วนใหญ่เกิดจากความร้อนจากของเหลว ของแข็งร้อน หรือไฟ
แผลไหม้ที่กระทบเพียงผิวหนังชั้นบนสุดเรียก แผลไหม้ระดับหนึ่ง แผลดูแดงไม่มีตุ่มพอง และตรงแบบปวดกินเวลาประมาณสามวัน เมื่อการบาดเจ็บลึกถึงผิวหนังข้างใต้ เรียก แผลไหม้ระดับสอง มักมีตุ่มพองและมักเจ็บมาก การหายใช้เวลานานถึงแปดสัปดาห์และอาจมีแผลเป็น ในแผลไหม้ระดับสาม การบาดเจ็บลามไปถึงผิวหนังทุกชั้น มักไม่เจ็บและบริเวณแผลไหม้จะแข็ง แผลมักไม่หายเอง และแผลไหม้ระดับสี่จะเป็นบาดแผลถึงที่เนื้อเยื่อลึกลงไป เช่น กล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ หรือกระดูก แผลไหม้มักมีสีดำและมักนำสู่การเสียส่วนที่ถูกไหม้นั้น
การรักษาขึ้นกับความรุนแรงของแผลไหม้ แผลไหม้พื้นผิวอาจรักษาด้วยยาระงับปวดอย่างง่าย ขณะที่แผลขนาดใหญ่อาจต้องการการรักษาที่ศูนย์รักษาแผลไหม้ ซึ่งใช้เวลานาน การใช้น้ำเย็นจากก๊อกอาจช่วยลดอาการเจ็บปวดและลดความรุนแรงของแผลได้ แต่แผลไหม้ที่เป็นวงกว้างอาจทำให้เกิดภาวะตัวเย็นเกิน แผลไหม้ระดับสองอาจต้องทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ และการทำแผล วิธีการรักษาแผลพุพองยังไม่แน่ชัด แต่การปล่อยแผลให้เป็นอย่างเดิมนั้นอาจสมเหตุสมผล แผลไหม้ระดับสามมักต้องการการผ่าตัด เช่นการตัดแต่งผิวหนัง แผลไหม้ขนาดใหญ่ต้องรักษาด้วยการฉีดของเหลวเข้าเส้นเลือด เพราะการตอบสนองต่อการอักเสบอาจทำให้ของเหลวในหลอดเลือดฝอยไหลออกมา และเกิดการบวมน้ำได้ แผลไหม้ในกรณีร้ายแรงอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ
ขณะที่แผลไหม้ขนาดใหญ่อาจอันตรายถึงชีวิต แต่การรักษาในสมัยใหม่นับตั้งแต่ ค.ศ. 1960 ได้พัฒนาประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการรักษาในเด็กและวัยหนุ่มสาว[2] ทั่วโลกมีคน 11 ล้านคนรับการรักษา และมีผู้เสียชีวิตจากแผลไหม้ 300,000 คนต่อปี[3] ในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยประมาณ 96% ที่เข้ารับการรักษาที่ศูนย์รักษาแผลไหม้รอดชีวิตมาได้[4] ผลการรักษาระยะยาวขึ้นกับขนาดของแผลไหม้และอายุของผู้ป่วย
อ้างอิง[แก้]
- ↑ Herndon D (ed.). "Chapter 4: Prevention of Burn Injuries". Total burn care (4th ed.). Edinburgh: Saunders. p. 46. ISBN 978-1-4377-2786-9.
- ↑ Herndon D (ed.). "Chapter 1: A Brief History of Acute Burn Care Management". Total burn care (4th ed.). Edinburgh: Saunders. p. 1. ISBN 978-1-4377-2786-9.
- ↑ Peck, MD (November 2011). "Epidemiology of burns throughout the world. Part I: Distribution and risk factors". Burns : journal of the International Society for Burn Injuries. 37 (7): 1087–100. doi:10.1016/j.burns.2011.06.005. PMID 21802856.
- ↑ "Burn Incidence and Treatment in the United States: 2012 Fact Sheet". American Burn Association. 2012. สืบค้นเมื่อ 20 April 2013.