แคว้นกาตาลุญญา

พิกัด: 41°49′N 1°28′E / 41.817°N 1.467°E / 41.817; 1.467
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กาตาลุญญา

[Catalunya] ข้อผิดพลาด: {{Lang}}: ข้อความมีมาร์กอัปตัวเอียง (ช่วยเหลือ) (กาตาลา)
[Cataluña] ข้อผิดพลาด: {{Lang}}: ข้อความมีมาร์กอัปตัวเอียง (ช่วยเหลือ) (สเปน)
[Catalonha] ข้อผิดพลาด: {{Lang}}: ข้อความมีมาร์กอัปตัวเอียง (ช่วยเหลือ) (อารัน)
Flag of Catalonia
ธง
Coat-of-arms of Catalonia
ตราอาร์ม
เพลง: อัลส์ซากาโดส
แผนที่ประเทศสเปนแสดงที่ตั้งแคว้นกาตาลุญญา
แผนที่ประเทศสเปนแสดงที่ตั้งแคว้นกาตาลุญญา
พิกัด: 41°49′N 1°28′E / 41.817°N 1.467°E / 41.817; 1.467
ประเทศ สเปน
ธรรมนูญการปกครองตนเอง9 สิงหาคม 2549 (ฉบับปัจจุบัน)
เมืองหลักบาร์เซโลนา
จังหวัดฌิโรนา, ตาร์ราโกนา, บาร์เซโลนา, แยย์ดา
การปกครอง
 • ประเภทรัฐบาลที่ได้รับมอบอำนาจปกครองตนเองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
 • องค์กรฌานาราลิตัตดากาตาลุญญา
 • ประธานกิม โตร์รา
พื้นที่[1]
 • ทั้งหมด32,113 ตร.กม. (12,399 ตร.ไมล์)
อันดับพื้นที่ที่ 6
ประชากร
 (2559)
 • ทั้งหมด7,522,596 คน[2] คน
 • อันดับประชากรที่ 2
เขตเวลาUTC+1 (เวลายุโรปกลาง)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)UTC+2 (เวลาฤดูร้อนยุโรปกลาง)
รหัส ISO 3166ES-CT
ภาษาราชการภาษากาตาลา ภาษาสเปน และภาษาอารัน
นักบุญองค์อุปถัมภ์นักบุญจอร์จและแม่พระแห่งมุนซาร์รัต
สภานิติบัญญัติสภานิติบัญญัติกาตาลุญญา
ที่นั่ง ส.ส.47 คน (จากทั้งหมด 350 คน)
ที่นั่ง ส.ว.16 คน (จากทั้งหมด 264 คน)
เว็บไซต์ฌานาราลิตัตดากาตาลุญญา

กาตาลุญญา (กาตาลา: Catalunya; สเปน: Cataluña), กาตาลุญญอ (อารัน: Catalonha) หรือ แคทาโลเนีย (อังกฤษ: Catalonia) เป็นภูมิภาคหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือสุดของคาบสมุทรไอบีเรีย ปัจจุบัน สถานะทางรัฐธรรมนูญของภูมิภาคนี้เป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรสเปนซึ่งถือว่ากาตาลุญญาเป็นแคว้นปกครองตนเองแห่งหนึ่งของตน กับฌานาราลิตัตดากาตาลุญญา (ทบวงการปกครองในท้องถิ่น) ซึ่งถือว่ากาตาลุญญาเป็นสาธารณรัฐเอกราชหลังจากที่สภานิติบัญญัติกาตาลุญญาประกาศเอกราชจากสเปนเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560[3]

ภายใต้รัฐธรรมนูญสเปน กาตาลุญญาได้รับการกำหนดให้เป็น "ชาติทางประวัติศาสตร์" (historical nationality) ตามธรรมนูญการปกครองตนเองของแคว้น[4] กาตาลุญญาประกอบด้วยจังหวัด 4 จังหวัด ได้แก่ บาร์เซโลนา, ฌิโรนา, แยย์ดา และตาร์ราโกนา เมืองหลักและเมืองใหญ่ที่สุดในแคว้นคือบาร์เซโลนา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศสเปน (รองจากมาดริด) และเป็นแกนของเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหภาพยุโรป

แคว้นกาตาลุญญามีอาณาเขตจรดประเทศฝรั่งเศสและประเทศอันดอร์ราทางทิศเหนือ จรดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางทิศตะวันออก จรดแคว้นบาเลนเซียและแคว้นอารากอนของประเทศสเปนทางทิศใต้และทิศตะวันตกตามลำดับ พื้นที่ของแคว้นครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของราชรัฐกาตาลุญญาในอดีต (ส่วนที่เหลือกลายเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสในปัจจุบัน) ภาษาราชการของแคว้นได้แก่ภาษากาตาลา ภาษาสเปน และภาษาอารัน (ภาษาถิ่นภาษาหนึ่งของภาษาอ็อกซิตัน)[5]

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 อาณาจักรของชาวแฟรงก์ได้สถาปนาอาณาจักรเคานต์ขึ้นหลายแห่งในบริเวณภูมิภาคชายแดนฮิสปาเนียและภูมิภาคชายแดนกอเทียเพื่อให้เป็นหน้าด่านป้องกันการรุกรานของชาวมุสลิม ต่อมาบรรดาอาณาจักรเคานต์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของภูมิภาคชายแดนทั้งสองได้รวมกันเป็นดินแดนเดียวภายใต้การปกครองของเคานต์แห่งบาร์เซโลนาซึ่งเป็นข้า (ในระบบเจ้าขุนมูลนาย) ขึ้นกับอาณาจักรชาวแฟรงก์ และต่อมาจะมีชื่อเรียกว่า "กาตาลุญญา" ในปี ค.ศ. 1137 กาตาลุญญาและราชอาณาจักรอารากอนได้รวมตัวกันเป็นราชบัลลังก์อารากอนผ่านการอภิเษกสมรสของผู้ปกครองดินแดนทั้งสอง กาตาลุญญากลายเป็นฐานหลักสำหรับการขยายอำนาจทางทะเลของอารากอนในแถบเมดิเตอร์เรเนียน วรรณกรรมกาตาลุญญาเฟื่องฟูในยุคกลางตอนปลาย ระหว่างปี ค.ศ. 1469–1516 กษัตริย์แห่งราชบัลลังก์อารากอนและสมเด็จพระราชินีนาถแห่งราชบัลลังก์กัสติยาได้อภิเษกสมรสและปกครองอาณาจักรทั้งสองร่วมกัน ทั้งนี้ กัสติยาและอารากอน (ซึ่งรวมกาตาลุญญาไว้ด้วย) ยังคงสถาบัน หน่วยงานนิติบัญญัติ และกฎหมายต่าง ๆ ของตนเองไว้ต่างหาก

ระหว่างสงครามฝรั่งเศส-สเปน (ค.ศ. 1639–1659) ชาวกาตาลุญญาได้ก่อการกำเริบ (ค.ศ. 1640–1652) เพื่อต่อต้านการปรากฏของกองทัพกัสติยาในพื้นที่ ทบวงการปกครองกาตาลุญญาประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสควบคุมกาตาลุญญาในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อดินแดนนี้ จนกระทั่งกองทัพสเปนพิชิตกาตาลุญญาคืนได้เป็นส่วนใหญ่ ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาพิเรนีส ค.ศ. 1659 ซึ่งยุติสงครามฝรั่งเศส-สเปน สเปนตกลงยกพื้นที่ตอนเหนือของกาตาลุญญาให้ฝรั่งเศส (ส่วนใหญ่ถูกผนวกเข้ากับเคาน์ตีรูซียง) ในระหว่างสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน (ค.ศ. 1701–1714) ราชบัลลังก์อารากอนประกาศตนอยู่ฝ่ายต่อต้านพระเจ้าเฟลีเปที่ 5 แห่งราชวงศ์บูร์บง เมื่อฝ่ายสนับสนุนพระเจ้าเฟลีเปที่ 5 ได้ชัยชนะจึงออกกฎหมายเลิกล้มสถาบันและเอกสิทธิ์ที่มีมาแต่โบราณของอาณาจักรต่าง ๆ ที่เคยต่อต้านฝ่ายตนเอง และแทนที่ภาษาละตินและภาษาอื่น ๆ (เช่น ภาษากาตาลา) ด้วยภาษากัสติยา (สเปน) ในเอกสารกฎหมาย

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กาตาลุญญาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงครามนโปเลียนและสงครามการ์ลิสต์ แต่ในครึ่งหลังของศตวรรษก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรม เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้นจากการขยายตัวของอุตสาหกรรม จึงเกิดกระแสการฟื้นฟูวัฒนธรรมกาตาลุญญาร่วมกับกระแสชาตินิยม ในขณะเดียวกันก็เกิดขบวนการแรงงานขึ้นมาหลายกลุ่ม และด้วยการกลับมาของระบอบประชาธิปไตยในสมัยสาธารณรัฐสเปนที่ 2 (ค.ศ. 1931–1939) ทบวงการปกครองกาตาลุญญาก็ได้รับการฟื้นฟูในฐานะฝ่ายบริหารของแคว้นปกครองตนเอง หลังสงครามกลางเมืองสเปน รัฐบาลเผด็จการของฟรันซิสโก ฟรังโก ได้ออกมาตรการกดขี่หลายประการ สถาบันต่าง ๆ ของกาตาลุญญาถูกล้มล้าง มีการสั่งห้ามใช้ภาษากาตาลาเป็นภาษาราชการของแคว้นอีกครั้ง จากคริสต์ทศวรรษ 1950 จนถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 กาตาลุญญามีความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จึงดึงดูดแรงงานจำนวนมากจากทั่วประเทศสเปนให้เข้ามาทำมาหากิน ทำให้บาร์เซโลนากลายเป็นเขตมหานครอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปและส่งผลให้กาตาลุญญากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ นับตั้งแต่สมัยการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของสเปน (ค.ศ. 1975–1982) เป็นต้นมา กาตาลุญญาได้รับอิสระทางการเมืองและวัฒนธรรมกลับคืนมาบางส่วน และเป็นแคว้นที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจมากที่สุดแคว้นหนึ่งของสเปนในปัจจุบัน

อ้างอิง

  1. "Indicadors geogràfics. Superfície, densitat i entitats de població: Catalunya". Statistical Institute of Catalonia. สืบค้นเมื่อ 2015-11-23.
  2. "IIdescat. Statistical Yearbook of Catalonia. Population density. Counties and Aran, areas and provinces". www.idescat.cat. สืบค้นเมื่อ 13 July 2017.
  3. "Catalan parliament declares independence from Spain". BBC News. 27 October 2017.
  4. "First article of the Statute of Autonomy of Catalonia. 'Catalonia, as a nationality, exercises its self-government constituted as an autonomous community...'". Gencat.cat. สืบค้นเมื่อ 13 September 2013.
  5. "Statute of Autonomy of Catalonia (2006), Articles 6, 50 - BOPC 224" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 26 สิงหาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2014. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |deadurl= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)