เฮนรี กุสตาฟ โมไลสัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เฮ็นรี่ โมไลสัน)
เฮนรี กุสตาฟ โมไลสัน
(Henry Gustav Molaison)
เกิด26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926)
ฮาร์ตเฟิร์ด รัฐคอนเนทิคัต
เสียชีวิต2 ธันวาคม ค.ศ. 2008(2008-12-02) (82 ปี)
วินด์เซอร์ล็อกส์ รัฐคอนเนทิคัต
มีชื่อเสียงจากคนไข้ความจำเสื่อมที่ให้ข้อมูลเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับระบบความจำของมนุษย์ รู้จักกันก่อนเสียชีวิตว่า คนไข้ "H.M."

นาย เฮนรี กุสตาฟ โมไลสัน (อังกฤษ: Henry Gustav Molaison, 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1926-2 ธันวาคม ค.ศ. 2008) หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่า "H.M." เป็นคนไข้ความจำเสื่อมชาวอเมริกันผู้ได้รับการตัดสมองกลีบขมับด้านในออกทั้งสองข้าง คือในส่วน 2/3 ด้านหน้าของฮิปโปแคมปัส, parahippocampal cortex, entorhinal cortex, piriform cortex, และอะมิกดะลา เพื่อที่จะบำบัดโรคลมชัก (epilepsy) มีการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะอาการของเขาอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1957 จนกระทั่งถึงเขาเสียชีวิต[Note 1][Note 2] กรณีของเขามีบทบาสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีต่าง ๆ ที่อธิบายความสัมพันธ์กันของการทำงานในสมองและความจำ และในการพัฒนาของประสาทจิตวิทยาเชิงประชาน (cognitive neuropsychology) ซึ่งเป็นสาขาของจิตวิทยาที่มุ่งหมายเพื่อจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและหน้าที่ของสมองกับกระบวนการทางจิตวิทยาเฉพาะอย่าง ๆ เขาได้อาศัยอยู่ในสถานพยาบาลในเมืองวินด์เซอร์ล็อกส์ รัฐคอนเนทิตัต ซึ่งเป็นที่ที่มีการศึกษาประเด็นเรื่องของเขาอย่างมากมาย[1]

สมองของนายโมไลสันได้รับเก็บรักษาไว้ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แซนดีเอโก ซึ่งมีการตัดเป็นส่วน ๆ เพื่อการศึกษาทางมิญชวิทยาในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 2009[2] ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสมองของเขามีการเปิดให้กับนักวิจัยอื่น ๆ แล้ว[3]

ประวัติ[แก้]

ฮิปโปแคมปัส (hippocampus ป้ายอยู่ด้านขวา) ส่วนมากในสมองทั้งสองซีกของนายโมไลสันได้รับการตัดออก

นายเฮนรี โมไลสันเกิดวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) และมีโรคลมชักที่แก้ไม่ได้ (intractable epilepsy) ที่บางครั้งโทษว่า เกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุจักรยานเมื่อเขาอายุ 7 ขวบ (ตอนแรก ๆ อุบัติเหตุนี้บอกว่าเกิดขึ้นที่อายุ 9 ขวบ แต่ต่อมาภายหลังได้รับการแก้โดยมารดาของคนไข้[4]) เขาประสบปัญหาการชักเฉพาะส่วน (focal seizures) เป็นเวลาหลายปี และได้เกิด tonic-clonic seizure[Note 3] หลายครั้งหลายคราวหลังจากครบอายุ 16 ปี ในปี ค.ศ. 1953 หมอได้ส่งให้เขาไปหาประสาทแพทย์ วิลเลียมส์ บีชเชอร์ สโกวิลล์ ที่โรงพยาบาลฮาร์ตเฟิร์ดเพื่อการรักษา[Note 2]

น.พ. สโกวิลล์ได้กำหนดส่วนเฉพาะของสมองที่เป็นแหล่งกำเนิดของการชักคือสมองกลีบขมับด้านใน (medial temporal lobe ตัวย่อ MTL) ในสมองทั้งสองซีก และเสนอว่าให้ตัด MTL ออกเป็นการรักษา ในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1953 มีการผ่าตัดสมองกลีบขมับด้านในในซีกสมองทั้งสองรวมทั้งส่วนของฮิปโปแคมปัสและส่วนที่อยู่ใกล้ ๆ รวมทั้งอะมิกดะลาและ entorhinal cortex ส่วนที่เหลือในฮิปโปแคมปัสต่อมาปรากฏว่าไม่ทำงานเพราะว่าเนื้อเยื่อที่เหลือประมาณ 2 ซ.ม. เกิดการฝ่อ และเพราะว่า entorhinal cortex ทั้งหมดซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ส่งข้อมูลไปยังฮิปโปแคมปัส ถูกทำลายเสียหมด นอกจากนั้นแล้ว บางส่วนของสมองกลีบขมับส่วนหน้าด้านข้าง (anterolateral) ก็ถูกทำลายด้วย

หลังจากการผ่าตัด แม้ว่าจะจัดว่าสำเร็จตามแผนเพื่อระงับอาการชัก เขาได้เกิดภาวะเสียความจำส่วนอนาคต (anterograde amnesia) อย่างรุนแรง และแม้ว่าความจำใช้งาน (working memory) และความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) ของเขาไม่เกิดความเสียหาย เขาไม่สามารถจำเหตุการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของความจำชัดแจ้ง (explicit memory) ได้ ตามนักวิทยาศาสตร์บางท่าน นายโมไลสันไม่สามารถเกิดความรู้โดยความหมาย (semantic knowledge) ใหม่ ๆ[5] แต่ก็มีนักวิจัยอื่น ๆ ที่ถกเถียงกันถึงขนาดขอบเขตของความพิการนี้ เขายังประสบปัญหาภาวะเสียความจำส่วนอดีต (retrograde amnesia) แบบเบา ๆ อีกด้วย คือเขาไม่สามารถจำเหตุการณ์โดยมากในช่วง 1-2 ปีก่อนการผ่าตัด และไม่สามารจำเหตุการณ์บางอย่างไปจนถึง 11 ปีก่อนการผ่าตัด ซึ่งแสดงว่าภาวะเสียความจำย้อนหลังของเขาเป็นไปตามลำดับเวลา แต่ว่า ความจำเชิงกระบวนวิธีระยะยาว (long-term procedural memory) ไม่เกิดความเสียหาย ดังนั้น เขาจึงสามารถเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว (motor skill) ใหม่ ๆ ได้ แม้ว่าจะจำไม่ได้ว่าได้เรียนมาเมื่อไรที่ไหน

ในปี ค.ศ. 1957 น.พ. สโกวิลล์และเบร็นดา มิลเนอร์ได้รายงานถึงกรณีนี้เป็นครั้งแรก[6] ในระยะสุดท้ายของชีวิตของเขา นายโมไลสันเล่นเกมปริศนาอักษรไขว้เป็นประจำ[Note 4] เขาสามารถที่จะให้คำตอบต่อคำถามต่าง ๆ ที่อ้างอิงความรู้ของเขาที่เกิดขึ้นก่อนปี ค.ศ. 1953 ส่วนข้อมูลหลังปี ค.ศ. 1953 เขาสามารถเติมเปลี่ยนข้อมูลเก่า ๆ ด้วยข้อมูลใหม่ เช่น เขาสามารถสร้างความจำเกี่ยวกับ น.พ. โจนาส์ ซอลก์ (ผู้ค้นพบวัคซีนโปลิโอ) โดยเติมเปลี่ยนความจำของเขาเกี่ยวกับโรคโปลิโอ[Note 1]

นายโมไลสันได้เสียชีวิตไปในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551)

ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างความจำ[แก้]

นายโมไลสันมีอิทธิพลอย่างยิ่งไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ที่เขาให้เกี่ยวกับความเสียหายต่อความจำและภาวะเสียความจำ แต่เพราะว่า มีการพิจารณาว่า การผ่าตัดทางสมองโดยเฉพาะของเขาได้เปิดโอกาสให้สร้างความเข้าใจว่า เขตต่าง ๆ โดยเฉพาะในสมองมีความสัมพันธ์กับกระบวนการเฉพาะต่าง ๆ ที่สมมติว่าเกิดขึ้นในการสร้างความจำอย่างไร เพราะเหตุนี้ กรณีของเขาเชื่อกันว่า ได้ให้ข้อมูลทางพยาธิวิทยาเกี่ยวกับสมอง และมีส่วนช่วยในการพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับการสร้างความจำที่เป็นปกติ

คือโดยเฉพาะเรื่องแล้ว ความสามารถที่ปรากฏของเขาในการทำงานที่ต้องระลึกถึงความจำระยะสั้นและความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) และความไม่สามารถจะทำงานที่ต้องระลึกถึงความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memory) บอกเป็นนัยว่า การระลึกถึงความจำต่าง ๆ กันเช่นนี้อาจจะมีการสื่อ อย่างน้อยก็โดยบางส่วน โดยเขตที่ต่าง ๆ กันในสมอง และโดยนัยเดียวกัน ความสามารถในการระลึกถึงความจำระยะยาวที่มีมาก่อนการผ่าตัด กับความไม่สามารถในการสร้างความจำระยะยาวใหม่ ๆ บอกเป็นนัยว่า การเข้ารหัสและการค้นคืนข้อมูลในความจำระยะยาวอาจจะมีการสื่อโดยระบบต่าง ๆ กันในสมอง

อย่างไรก็ดี การสร้างภาพในสมองของโมไลสันในปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 แสดงความเสียหายที่กว้างขวางเกินกว่าที่ทฤษฎีก่อน ๆ ได้กล่าวพาดพิง ทำให้ยากมากที่จะระบุเขตใดเขตหนึ่งโดยเฉพาะ หรือกลุ่มของเขตต่าง ๆ โดยเฉพาะ ที่สามารถอธิบายถึงความบกพร่องของนายโมไลสัน[7]

ของขวัญที่ให้กับวิทยาศาสตร์[แก้]

งานศึกษาเกี่ยวกับนายโมไลสันเป็นการปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบแบบแผนของระบบความจำในมนุษย์ คือได้ให้หลักฐานที่กว้างขวางในการปฏิเสธทฤษฎีเก่า ๆ และในการสร้างทฤษฎีใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับกระบวนการและโครงสร้างทางประสาทที่เป็นฐาน[8] ในบทความต่อไปนี้ จะกล่าวถึงความเข้าใจสำคัญที่เกิดขึ้นพอเป็นโครง

สมองที่รักษาของนายโมไลสันได้กลายเป็นเป้าหมายการศึกษาทางกายวิภาคอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนโดยได้รับทุนมาจากมูลนิธิดานาและจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา โปรเจ็กต์ที่มี ดร. จาโคโป แอนนีส (ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ The Brain Observatory เก็บถาวร 2009-04-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก) เป็นหัวหน้านี้ จะทำการสำรวจในระดับจุลทรรศน์ของสมองนายโมไลสันทั้งหมด เพื่อที่จะแสดงมูลฐานทางประสาทของความเสียหายทางความทรงจำที่ปรากฏในประวัติของนายโมไลสันในระดับเซลล์ ในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 2009 คณะของ ดร. แอนนีสได้ผ่าตัดสมองของนายโมไลสันออกเป็น 2,401 แผ่นเป็นแผ่นบาง ๆ โดยมีแผ่นที่เสียหายเพียงแค่สองแผ่น และแผ่นที่อาจจะมีปัญหาอีก 16 แผ่น และการสร้างสมองจำลอง 3-มิติ ก็ได้เสร็จสิ้นแล้วในต้นปี ค.ศ. 2014[9] ในปัจจุบันกลุ่มงานวิจัยกำลังทำงานระยะที่สองต่อ[2][10]

ภาวะเสียความจำ[แก้]

อาการทั่ว ๆ ไปของนายโมไลสันสามารถกำหนดได้ว่า เป็นภาวะเสียความจำส่วนอนาคต (anterograde amnesia) ที่รุนแรง และมีภาวะเสียความจำส่วนอดีตที่มีระดับต่าง ๆ กันตามกาลเวลา (temporally graded retrograde amnesia)[11] นายโมไลสันไม่สามารถสร้างความจำระยะยาวสำหรับเหตุการณ์หรือความรู้โดยความหมาย (semantic knowledge) ใหม่ ๆ คือเขาได้แต่ใช้ชีวิตที่เป็นไปในปัจจุบันเท่านั้น[12]

เนื่องจากว่า นายโมไลสันไม่มีความบกพร่องทางความจำก่อนการผ่าตัด ดังนั้น การตัดสมองกลีบขมับส่วนในของเขาออกจึงใช้เป็นคำอธิบายความบกพร่องทางความจำของเขา ดังนั้น จึงเชื่อกันว่า สมองกลีบขมับส่วนใน (medial temporal lobe) เป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างทั้งความจำเชิงความหมาย (semantic memory) และความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memory) ระยะยาว (คือ สมองกลีบขมับด้านในได้รับการกำหนดว่าเป็นศูนย์ของการเข้ารหัสความจำอาศัยเหตุการณ์[11]) หลักฐานอื่น ๆ ที่สนับสนุความคิดนี้เกิดในงานวิจัยคนไข้อื่น ๆ ที่มีรอยโรคในส่วนต่าง ๆ ของสมองกลีบขมับส่วนใน[6]

แม้ว่าจะมีภาวะเสียความจำ นายโมไลสันสามารถผ่านการทดสอบทางเชาวน์ปัญญาได้ในระดับปกติ ซึ่งแสดงว่า หน้าที่เกี่ยวกับความจำบางอย่าง (เป็นต้นว่าความจำระยะสั้น ความจำเกี่ยวกับคำศัพท์ และความจำเกี่ยวกับพยางค์) ไม่เกิดความเสียหายเพราะการผ่าตัด[11][12] แต่ว่า ในการทำความเข้าใจและการใช้ภาษาในระดับประโยค นายโมไลสันมีความบกพร่องโดยความสามารถที่คงเหลือมีความบกพร่องคล้ายกับในระบบความจำ[13] นายโมไลสันสามารถที่จะจำข้อมูลต่าง ๆ เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ตรวจสอบได้โดยการทดสอบความจำใช้งานที่จะต้องระลึกถึงตัวเลขที่แสดงให้ดูมาแล้ว ซึ่งคะแนนของเขาก็ไม่ได้แย่กว่ากลุ่มควบคุม[11] ผลงานวิจัยนี้ให้หลักฐานว่า ความจำใช้งานไม่ต้องอาศัยโครงสร้างในสมองกลีบขมับด้านใน ซึ่งก็สนับสนุนความแตกต่างโดยทั่ว ๆ ไปของที่เก็บความจำระยะสั้นและความจำระยะยาว[8] การระลึกถึงศัพท์ต่าง ๆ ได้ของนายโมไลสันอย่างไม่มีปัญหาแสดงหลักฐานว่า ความจำเกี่ยวกับศัพท์ (lexical memory) ไม่ต้องอาศัยโครงสร้างในสมองกลีบขมับด้านใน[12]

การเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว[แก้]

นอกจากความจำใช้งานและเชาวน์ปัญญาที่ไม่เสียหายของเขาแล้ว งานวิจัยเกี่ยวกับความสามารถในการได้มาซึ่งทักษะการเคลื่อนไหวใหม่ ๆ แสดงว่าการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ นั้นไม่เสียหาย[12] ในงานวิจัยหนึ่งของมิลเนอร์ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 นายโมไลสันเรียนรู้ทักษะการวาดรูปโดยมองเงาสะท้อนในกระจก[12] งานวิจัยของคอร์กินในปี ค.ศ. 1968 เพิ่มพูนหลักฐานที่แสดงความไม่เสียหายของการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ[14] ในงานวิจัยนี้ มีการทดสอบนายโมไลสันในงานเกี่ยวกับการเรียนรู้ทักษะ 3 อย่าง ผู้แสดงความสามารถในการเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหวอย่างสมบูรณ์ในงานทั้ง 3 อย่าง

งานวิจัยที่ใช้เทคนิค repetition priming แสดงความสามารถในการสร้างความจำโดยปริยาย (implicit memory) ซึ่งไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจของนายโมไลสัน เปรียบเทียบกับการที่เขาไม่สามารถสร้างความจำเชิงความหมาย (semantic memory) และความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memory) ใหม่ซึ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ของความจำชัดแจ้ง (explicit memory)[12]. ผลงานวิจัยเหล่านี้ให้หลักฐานว่า ความจำเกี่ยวกับทักษะและ repetition priming อาศัยโครงสร้างทางประสาทที่ต่างจากความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์และความจริงต่าง ๆ คือ แม้ว่า ความจำเชิงกระบวนวิธีและ repetition priming จะไม่อาศัยสมองกลีบขมับด้านในที่ถูกตัดออกไปในกรณีของนายโมไลสัน แต่ว่า ความจำเชิงความหมายและความจำอาศัยเหตุการณ์ยังต้องอาศัย[4]

ความไม่สัมพันธ์กันระหว่างความจำโดยปริยายและความจำชัดแจ้งเพราะมีโครงสร้างประสาทที่ไม่สัมพันธ์กันที่เห็นได้ในกรณีของนายโมไลสัน ได้เป็นข้อมูลที่ช่วยให้เราเข้าใจระบบความจำในมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น ความจำระยะยาวไม่ใช่มีส่วนเดียวแต่สามารถแยกออกเป็นความจำเชิงประกาศและความจำแบบไม่ประกาศ (ความจำโดยปริยาย)[11]

ความจำเชิงพื้นที่[แก้]

ตามคำของคอร์กิน[12] งานวิจัยเกี่ยวกับสมรรถภาพความจำของโมไลสันได้ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างทางประสาทของความจำทางพื้นที่ (spatial memory) และการประมวลข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ แม้เขาไม่สามารถที่จะสร้างความจำอาศัยเหตุการณ์หรือความจำเกี่ยวกับความจริงใหม่ ๆ โดยระยะยาว และปรากฏความบกพร่องในการทดสอบความจำทางพื้นที่บางอย่าง นายโมไลสันก็ยังสามารถที่จะวาดแผนผังที่ละเอียดของที่อยู่ของเขา สิ่งที่พบนี้น่าสนใจเพราะว่าโมไลสันได้ย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านนั้น 5 ปีหลังจากการผ่าตัด และดังนั้น เพราะเหตุภาวะเสียความจำส่วนอนาคต (anterograde amnesia) ที่รุนแรงของเขา และเพราะความเข้าใจของระบบความจำที่ได้ในกรณีอื่น ๆ สิ่งที่คาดหมายก็คือว่า การสร้างความจำเชิงแผนที่ภูมิลักษณ์ของนายโมไลสันควรจจะเกิดความเสียหายไปด้วย คอร์กินได้คาดว่า โมไลสัน "สามารถสร้างแผนที่เชิงประชานของแผนใช้พื้นที่ของบ้านของเขาเพราะมีการไปจากห้องสู่ห้องทุก ๆ วัน"[12]: 156  ส่วนในประเด็นเรื่องโครงสร้างทางประสาท คอร์กิน[12] อ้างว่า ความสามารถของนายโมไลสันในการสร้างแผนใช้พื้นที่ เป็นไปได้เพราะว่า โครงสร้างของเครือข่ายประสาทในการประมวลพื้นที่โดยส่วนหนึ่งของเขาไม่มีความเสียหาย (เช่น ส่วนหลังของ parahippocampal gyrus)

นอกจากความจำเกี่ยวกับแผนที่ภูมิลักษณ์แล้ว โมไลสันยังสามารถเรียนรู้งานในการจำและรู้จำภาพต่าง ๆ และงานรู้จำใบหน้าของคนมีชื่อเสียง แต่งานหลังเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการให้เสียงช่วยโดยพยางค์ ความสามารถของนายโมไลสันเกี่ยวกับการรู้จำภาพอาจเป็นเพราะส่วนที่ไม่เสียหายของ perirhinal cortex ด้านล่าง

นอกจากนั้นแล้ว คอร์กิน[12] ยังยืนยันอีกด้วยว่า แม้ว่าโมไลสันจะไม่สามารถสร้างความจำเชิงประกาศใหม่โดยทั่ว ๆ ไป แต่เขายังดูเหมือนกับสามารถสร้างข้อมูลบางอย่างบ้างเล็กน้อยที่ไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับบุคคลสาธารณะ (เช่นสามารถค้นคืนชื่อของคนมีชื่อเสียงเมื่อให้ตัวช่วย) ผลงานวิจัยเหล่านี้แสดงถึงความสำคัญของสมองส่วนรอบ ๆ ฮิปโปแคมปัส (extrahippocampal) ที่ไม่เสียหายต่อความจำเชิงความหมาย (semantic) และความจำเพื่อการรู้จำ (recognition) และช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างต่าง ๆ ในสมองกลีบขมับด้านใน ส่วนความเสียหายอย่างรุนแรงของโมไลสันเกี่ยวกับงานทางพื้นที่บางอย่างให้หลักฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างฮิปโปแคมปัสกับความจำโดยพื้นที่ (spatial memory)[8]

การทำความจำให้มั่นคง[แก้]

ความรู้อีกอย่างหนึ่งที่นายโมไลสันได้ช่วยก็คือโครงสร้างทางประสาทของกระบวนการทำความจำให้มั่นคง (memory consolidation) ในมนุษย์ ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างความจำระยะยาวที่มีเสถียรภาพ[15] คือนายโมไลสันมีภาวะเสียความจำส่วนอดีต (retrograde amnesia) ที่เป็นไปตามลำดับกาลเวลา ที่เขา “ยังสามารถระลึกถึงความจำในวัยเด็กได้ แต่มีปัญหาในการระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีก่อน ๆ การผ่าตัด”[11]: 214  คือ ความจำเก่า ๆ ของเขาไม่มีความเสียหาย แต่ว่า ความจำของปีใกล้ ๆ ก่อนการผ่าตัดมีความเสียหาย นี้เป็นหลักฐานที่แสดงว่า ความจำเก่า ๆ ในวัยเด็กไม่ได้อาศัยสมองกลีบขมับส่วนใน (medial temporal lobe) เปรียบเทียบกับความจำหลังจากนั้นที่ปรากฏว่าต้องอาศัย[11] โครงสร้างต่าง ๆ ในสมองกลีบขมับส่วนในที่ถูกตัดออก ได้รับสมมติว่ามีบทบาทในการทำความจำให้มั่นคงโดยวิธีที่ “การปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมองกลีบขมับส่วนในและเขตเปลือกสมองด้านข้างต่าง ๆ ได้รับการพิจารณาว่า เป็นการบันทึกความจำนอกสมองกลีบขมับส่วนใน โดยการสร้างอย่างช้า ๆ ซึ่งการเชื่อมต่อโดยตรง (โดยไม่ผ่านฮิปโปแคมปัส) ระหว่างเขตเปลือกสมองต่าง ๆ ที่เป็นตัวแทน (คือเป็นที่บันทึก) ของประสบการณ์”[11]: 214 

ดูเพิ่ม[แก้]

  • ฟิเนียส์ พี. เกจ, หัวหน้ากรรมกรสร้างทางรถไฟในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่มีบุคคลิกภาพเปลี่ยนไปอย่างสำคัญหลังจากเกิดการบาดเจ็บในกะโหลกศีรษะ

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 เฮนรี กุสตาฟ โมไลสัน หรือที่รู้จักเกือบตลอดทั้งชีวิตของเขาว่า H.M. เพื่อพิทักษ์ความส่วนตัวของเขา กลายเป็นคนไข้ที่ได้รับการศึกษามากที่สุดในประวัติวิทยาศาสตร์สมองหลังจากปี ค.ศ. 1953 เมื่อการผ่าตัดสมองเชิงทดลองได้ทำให้เขาไม่สามารถสร้างความจำเชิงประกาศใหม่ ๆ ในเวลาที่เขามีอายุ 27 ปี ... หลังจากทำการทดลองเล่นเกมแก้ปัญหาซ้ำ ๆ กัน ชายผู้สูญเสียความจำผู้นี้ก็ได้เรียนรู้ที่จะให้คำตอบที่ถูกต้อง คุณหมอสก็อตโกได้กล่าวว่า "เราพบว่าเขาสามารถเรียนรู้ข้อมูลความจริงใหม่ ๆ ถ้าเขามีอะไรในความจำอยู่แล้วที่จะใช้เป็นตัวช่วยยึดความจำใหม่" --- จาก Benedict Carey (December 6, 2010). "No Memory, but He Filled In the Blanks". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-05.
  2. 2.0 2.1 ในปี ค.ศ. 1953 เขาได้รับการผ่าตัดสมองเชิงทดลองในเมืองฮาร์ตเฟิร์ดเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการชัก แต่กลับฟื้นขึ้นมามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงโดยแก้ไขอะไรไม่ได้ คือ เขาเกิดอาการที่ประสาทแพทย์เรียกว่าภาวะเสียความจำ (amnesia) อย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ เขาได้สูญเสียสมรรถภาพในการสร้างความจำเชิงประกาศใหม่ ๆ ---จาก Benedict Carey (December 4, 2008). "H. M., an Unforgettable Amnesiac, Dies at 82". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-05.
  3. tonic-clonic seizure หรือ grand mal seizure เป็นการชักทั่วสมองอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับคนไข้โรคลมชักและโรคที่ทำให้เกิดการชักอื่น ๆ โดยมาก แต่ไม่ใช่เป็นการชักประเภทเดียวที่มีอยู่ เป็นการชักที่อาจทำให้เกิดขึ้นโดยจงใจในการรักษาโดยใช้ electroconvulsion therapy
  4. ภายใต้ปัญหาชีวิตต่าง ๆ เหล่านี้ เขาเล่นเกมปริศนาต่าง ๆ (เต็มหนังสือ) เล่มแล้วเล่มเล่า ซึ่งเป็นนิสัยที่เขามีตั้งแต่เป็นเด็กวัยรุ่น ในเบื้องปลายชีวิตของเขา เขาได้เก็บสมุดปริศนาอักษรไขว้พร้อมกับปากกาไว้ใกล้ ๆ ตัวตลอดเวลา ในตะกร้าที่ติดอยู่ที่อุปกรณ์ช่วยเดินของเขา ---จาก "The Man Who Couldn't Remember". NOVA scienceNOW. June 1, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-12-09.

อ้างอิง[แก้]

  1. Schaffhausen, Joanna. "Henry Right Now". The Day His World Stood Still. BrainConnection.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-09. สืบค้นเมื่อ 2008-08-05.
  2. 2.0 2.1 Arielle Levin Becker (November 29, 2009). "Researchers To Study Pieces Of Unique Brain". The Hartford Courant. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-06. สืบค้นเมื่อ 2014-08-06.
  3. Scientists Digitize Psychology’s Most Famous Brain, Wired.com
  4. 4.0 4.1 Corkin, Suzanne (1984). "Lasting consequences of bilateral medial temporal lobectomy: Clinical course and experimental findings in H.M.". Seminars in Neurology. New York, NY: Thieme-Stratton Inc. 4 (4): 249–259. doi:10.1055/s-2008-1041556.
  5. H. Schmolck, E.A. Kensinger, S. Corkin, & L. Squire (2002). "Semantic knowledge in Patient H.M. and other patients with bilateral medial and lateral temporal lobe lesions" (PDF). Hippocampus. 12 (4): 520–533. doi:10.1002/hipo.10039. PMID 12201637.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  6. 6.0 6.1 William Beecher Scoville and Brenda Milner (1957). "Loss of recent memory after bilateral hippocampal lesions". Journal of Neurology, Neurosurgery and Psychiatry. 20 (1): 11–21. doi:10.1136/jnnp.20.1.11. PMC 497229. PMID 13406589.
  7. Corkin, Susanna; Amaral, David G.; González, R. Gilberto; Johnson, Keith A.; Hyman, Bradley T. (15 May 1997). "H. M.'s Medial Temporal Lobe Lesion: Findings from Magnetic Resonance Imaging". The Journal of Neuroscience. 17 (10): 3, 964–3, 979.
  8. 8.0 8.1 8.2 B. Kolb and I. Q. Whishaw, I. Q. (1996). Fundamentals of human neuropsychology (4th ed.). New York, NY: W. H. Freeman.
  9. Moll, Maryanne (2014-01-29). "Henry Molaison's (or HM) brain digitized to show how amnesia affects the brain". TechTimes. สืบค้นเมื่อ 2014-02-08.
  10. Annese, Jacopo. "The Brain Observatory". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-20. สืบค้นเมื่อ 2009-03-16.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 11.7 E. E. Smith and S. M. Kosslyn (2007). Cognitive Psychology: Mind and Brain (1st ed.). Upper Saddle River, NJ: Pearson/Prentice Hall. ISBN 0-13-182508-9.
  12. 12.00 12.01 12.02 12.03 12.04 12.05 12.06 12.07 12.08 12.09 S. Corkin (2002). "What's new with the amnesic patient H.M.?" (PDF). Nature Reviews Neuroscience. 3 (2): 153–160. doi:10.1038/nrn726. PMID 11836523. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2004-09-12. สืบค้นเมื่อ 2014-08-06.
  13. D.G. MacKay, James, L.E., J. K. Taylor & Marian, D.E. (2007). "Amnesic H.M. exhibits parallel deficits and sparing in language and memory: Systems versus binding theory accounts". Language and Cognitive Processes. 22 (3): 377–452. doi:10.1080/01690960600652596.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  14. S. Corkin (1968). "Acquisition of motor skill after bilateral medial temporal-lobe excision". Neuropsychologia. 6 (6): 255–265. doi:10.1016/0028-3932(68)90024-9.
  15. M. W. Eysenck, and M. T. Keane (2005). Cognitive Psychology: A Student’s Handbook (5th ed.). Hove, UK: Psychology Press. ISBN 0-86377-375-3.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

[[วิกิพีเดีย:|ข้อมูลบุคคล]]
ชื่อ Hm}
ชื่ออื่น เฮนรี กุสตาฟ โมไลสัน
รายละเอียดโดยย่อ
วันเกิด 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1926
สถานที่เกิด เมืองฮาร์ตเฟิร์ด รัฐคอนเนทิคัต
วันตาย 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551
สถานที่ตาย เมืองวินด์เซอร์ล็อกส์ รัฐคอนเนทิคัต