ฮีโมโกลบิน เอฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เฮโมโกลบิน เอฟ)

เฮโมโกลบินของทารก (อังกฤษ: fetal hemoglobin) หรือ เฮโมโกลบินเอฟ (อังกฤษ: hemoglobin F, HbF) หรือ α2γ2 เป็นโปรตีนขนส่งออกซิเจนตัวหลักในทารกในครรภ์และทารกแรกเกิด พบอยู่ในเม็ดเลือดแดงของทารกในครรภ์ มีบทบาทสำคัญในการขนส่งออกซิเจนจากระบบเลือดของมารดาไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ ของตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ โดยเริ่มมีการผลิตเมื่อตัวอ่อนมีอายุครรภ์ประมาณ 6 สัปดาห์ และยังพบในปริมาณสูงหลังเกิดจนถึงอายุประมาณ 2-4 เดือน เฮโมโกลบินเอฟมีส่วนประกอบที่แตกต่างจากเฮโมโกลบินเอที่พบในผู้ใหญ่ ทำให้เฮโมโกลบินเอฟจับกับออกซิเจนได้มากกว่า และช่วยให้ทารกในครรภ์สามารถดึงเอาออกซิเจนมาจากระบบเลือดของมารดาผ่านรกได้

ในทารกแรกเกิด ระดับเฮโมโกลบินเอฟจะค่อยๆ ลดลงจนเท่ากับที่พบในผู้ใหญ่ที่อายุประมาณ 1 ปี คือเหลือน้อยกว่า 1% ของเฮโมโกลบินทั้งหมด โรคของเฮโมโกลบินบางโรค เช่น ทาลัสซีเมียเบต้า มีผลต่อกระบวนการสร้างเฮโมโกลบินเอที่พบในผู้ใหญ่ปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีระดับเฮโมโกลบินเอฟสูงกว่าปกติ